3 เมษายน 2566

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ

2237

บทสัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน

 


11 ตุลาคม 2565
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ
          (สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

 

ความเป็นมาในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน

สำหรับเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเรามองความสำคัญอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การพัฒนาประเทศต้องการคนที่มีศักยภาพไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องมีความกระฉับกระเฉง เนื่องจากสภาวการณ์ คนเนือยนิ่งมากขึ้น ดูหน้าจอมากขึ้น ทำงานกับหน้าจอมากขึ้น ทำให้คนแอคทีฟน้อยลง เมื่อคนแอคทีฟน้อยลง เมืองก็จะแอคทีฟน้อยลง ประเทศก็พัฒนาช้าลง

 และเรื่องที่สองคือ การมีกิจกรรมทางกายน้อยจะมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวานความดัน โรคเรื้อรังนำมาสู่ความสูญเสีย ทั้งค่าใช้จ่าย อายุสั้นลง ค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้น

 

สถานการณ์ที่ต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน

หากดูข้อมูลตัวเลขการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทย พบว่า เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอประมาณ 17-25 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มตัวเลขของเด็กที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด -19 เราเห็นชัดว่าเมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีกิจกรรมในโรงเรียน การมีกิจกรรมทางกายจึงลดลง ซึ่งกิจกรรมที่โรงเรียน มีทั้งการละเล่น การเล่นกีฬา ในขณะที่วัยทำงานมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม คนเหล่านี้จะมีการออกแรงอยู่ค่อนข้างมาก แต่ยังไม่พอเพราะเราตั้งเป้าไว้ที่ 80 % เช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอประมาณกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

เมื่อกลับมาดูที่เด็กมีกิจกรรมทางกายเพียง 17-25 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นสิ่งที่น่ากังวล การที่เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะทำให้เด็กแอคทีฟ ฉลาด ในขณะเดียวกันก็ไปลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคอ้วน เราจะเห็นอนาคต ถ้ากิจกรรมทางกายในเด็กไม่เพียงพอตัวเลขลดลงเรื่อย ๆ แสดงว่าภาวะเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น อนาคตของประเทศที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่รวดเร็วก็อาจจะไปด้วยความช้า ดังนั้น ในวัยเด็กเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ เร่งฟื้นฟู  

 

ทิศทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน

ในการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ปัจจัยหลัก 3 ปัจจัยที่เกื้อหนุน ซึ่งกันและกัน

1. การทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการรับรู้ มีความรู้ ตระหนัก เห็นประโยชน์ และมีทักษะ

2. การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อ ถึงแม้คนจะรู้ตระหนัก แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ โอกาสที่เขาจะไปทำกิจกรรมทางกายก็น้อย ผมเชื่อว่าทุกคนรู้ว่าการออกกำลังกายนั้นดี แต่ทำไมคนไม่ออกกำลังกาย หลายคนมักจะบอกว่าไม่มีเวลา เพราะต้องทำงาน หลายคนบอกว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่มีสถานที่ออกกำลังกาย สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ดังนั้นถ้าจะทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คงต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อ ซึ่งไม่ใช่แค่สถานที่ แต่ต้องสร้างแรงจูงใจ  นอกจากนี้ต้องผลักดันในกระบวนการนโยบาย เช่น อุปกรณ์กีฬาต้องถูก การใช้นโยบายด้านการเงินและภาษีเข้ามาช่วย ลดภาษีเรื่องของอุปกรณ์กีฬา คนที่มีกิจกรรมทางกาย หรือคนที่สุขภาพดีจะเสียภาษีน้อย

3. กลไกหรือกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นกลไกภาครัฐ กลไกภาคเอกชน หรือกลไกท้องถิ่น หรือกลไกวิชาการ ต้องมาช่วยกันรวมพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกาย ขณะเดียวกันต้องสร้าง กระบวนการการมีส่วนร่วม กระบวนเรียนรู้ ทำให้คนเข้าใจ ตระหนัก และเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น อาจจะต้องมีเรื่องการจัดการระบบข้อมูล ขณะที่ปัจจุบันมีการใช้ระบบข้อมูลจาก  Device ต่าง ๆ เช่นวัดว่าแต่ละวันเราเดินครบ 10,000 ก้าวหรือไม่ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอหรือไม่ สามารถรู้สถานะสุขภาพของตัวเอง   

ปัจจัยทั้ง 3 ปัจจัย คน สภาพแวดล้อม การสร้างกลไก ระบบ กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมากขึ้น  

 

เครื่องมือในการผลักดันให้เกิดเครือข่ายการทำงานในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน

ชุมชนและท้องถิ่นเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยในการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ท้องถิ่นเรามีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือกองทุนสุขภาพตำบล กองทุนนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช. กับท้องถิ่น สปสช. โดยให้มา 45 บาทต่อหัวต่อปี ขณะเดียวกันท้องถิ่นมีการสมทบ 20-50 เปอร์เซ็นต์ เงินก้อนนี้อยู่ที่กองทุน เครือข่ายสุขภาพต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน และท้องถิ่นเอง สามารถเขียนโครงการขอเงินก้อนนี้ที่ไปทำงานเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่เรื่องการออกกำลังกาย ถ้าเราสามารถทำให้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ขอทุน กรรมการกองทุน หรือเจ้าหน้าที่กองทุน เข้าใจว่าเรื่องการเพิ่มกิจกรรมทางกาย เป็นเรื่องที่มากกว่าเรื่องของการออกกำลังกาย เมื่อเข้าใจอย่างนี้ให้เขาทราบถึงเรื่องสถานการณ์ของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในกลุ่มวัยต่าง ๆ ของชุมชนว่าเป็นอย่างไร ลองตั้งเป้าหมายอยากจะให้ตัวเลขของการเพิ่มขึ้นของการมีกิจกรรมทางกายของชุมชนเป็นอย่างไร จากนั้นมาวางแผน เขียนโครงการ เพื่อขอทุนจากกองทุน จะทำให้เรามีโครงการการเพิ่มกิจกรรมทางกายในระดับตำบลทั่วประเทศเพิ่มขึ้น นี้เป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งที่ทาง สสส. ดำเนินการมา

 

ผลของความสำเร็จในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน จากการดำเนินการภายใต้โครงการของ สสส.

ประการแรก ที่ผ่านมาคนมักจะเข้าใจว่ากิจกรรมทางกายคือการออกกำลังกาย เราพยายามจะทำให้คนในชุมชนเข้าใจว่ากิจกรรมทางกายคืออะไร การมีกิจกรรมทางกายไม่ใช่ว่าการขยับร่างกาย แต่เราทำให้คนในชุมชน หรือสังคม เข้าใจว่าการมีกิจกรรมทางกายต้องมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งหมายถึงคนเหล่านั้นต้องมีการออกแรงในระดับที่เพียงพอและในระยะเวลาที่เพียงพอ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะสื่อสารให้เครือข่ายทั้งประเทศ ให้เข้าใจเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ

ประการที่สอง ตำบลต่าง ๆ มีแผนการเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยเป็นแผนที่อยู่ในกองทุนตำบล ฉะนั้นจะต้องมีโครงการที่จะให้การสนับสนุน ตัวเลขของการมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับเพิ่มกิจกรรมทางกายของกองทุนสุขภาพตำบลเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันมีระบบติดตาม ประเมินผลโครงการต่าง ๆ ได้ผลมากน้อยแค่ไหน  โดยส่วนใหญ่การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกายจากโครงการที่เราทำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทาง สสส. ทำให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น แต่เมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา เกิดภาวะล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตัวเลขที่ควรจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ขยับได้ไม่มาก แต่คาดการณ์ว่าหลังจากที่โควิด-19 คลี่คลายแล้ว โครงการต่าง ๆ การเพิ่มขึ้นของชาวบ้านที่มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น

 

การเริ่มต้นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมทางกายในชุมชน ให้กับทุกกลุ่มวัย ให้กับหน่วยงานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำไปปฏิบัติ

ขณะที่เราทำงานระดับตำบลกับกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล เราได้ยกระดับการทำงานในระดับอำเภอไปพร้อมกันด้วย  ในระดับอำเภอมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน มีสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขา มีหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพในระดับอำเภอ หากลองนึกภาพในระดับตำบล มีกองทุนและกลไกการทำงาน ซึ่งถ้าสามารถรวมตำบลหลาย ๆ ตำบลเข้าด้วยกัน นั่นก็คือจะมีกองทุนและกลไกการทำงานระดับอำเภอ ซึ่งปัจจุบันการประสานความร่วมมือในแต่ละตำบล จะมีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นกลไกในการประสาน

สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้ คือไปทำให้ระดับตำบลมีแผนงานกิจกรรมทางกาย แล้วรวมแผนทั้งหมดรวมตัวกันเป็นแผนงานระดับอำเภอ และใช้กลไกที่นายอำเภอเป็นประธานมาเป็นตัวประสาน ผลักดัน ช่วยกันเติมว่าพื้นที่ตรงไหนมีช่องว่างอยู่ในเรื่องของกิจกรรมทางกาย จะขยับตรงนั้นได้อย่างไร มีโครงการอะไรเข้าไป นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามยกระดับจากตำบลเป็นอำเภอ ขณะเดียวกันในระดับจังหวัด เราเริ่มที่จังหวัดภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี

ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปเที่ยวปีหนึ่งหลายล้านคน ถ้าเราสามารถทำให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในเรื่องของการมีกิจกรรมทางกาย หรือมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น จะเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า การทำงานในการเพิ่มกิจกรรมทางกายไม่ใช่แค่การทำโครงการในชนบทหรือชุมชน แต่เป็นโครงการที่สามารถทำในตัวเมือง ทำกับนักท่องเที่ยว ทำให้เรียนรู้ เรื่องการมีกิจกรรมทางกาย และเอาเรื่องเหล่านี้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง พื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นพื้นที่นำร่องเช่น  การพัฒนาในย่านเมืองเก่าภูเก็ต  สวนสาธารณะ ย่านชายหาด สถานศึกษารวมถึงพื้นที่ภาคเอกชน เช่น สถานประกอบการโรงแรม นอกจากนี้ ถ้าภูเก็ตได้เป็นเจ้าภาพในงาน Phuket Expo 2028 ซึ่งเป็นมหกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก เราจะนำเอาโมเดลการเพิ่ม กิจกรรมทางกายไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน จะเป็นการนำเอาโมเดลไปประชาสัมพันธ์ให้กับคนทั่วโลกได้รับรู้ว่าที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ในการที่ทำให้คนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น

 

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย