25 เมษายน 2566

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

25931

ผลกระทบของวิกฤตฝุ่น “PM2.5” และแนวทางการมีกิจกรรมทางกายที่ปลอดภัย

 


สถานการณ์ฝุ่น PM2.5

ละอองฝุ่นในอากาศที่มีอนุภาคขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้นั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชากรที่อาศัยในประเทศไทย ณ เวลานี้คงหนีไม่พ้น ละอองฝุ่นขนาดเล็กที่มีหน่วยเป็น “ไมครอน” หรือที่คุ้นชินและรู้จักกันดีในชื่อของ “ฝุ่น PM2.5” (Particulate Matters: PM) ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ และมีปริมาณสูงมากในอากาศ จนดูคล้ายกับมีหมอกหรือควันลอยอยู่ในอากาศตลอดเวลา และด้วยขนาดที่เล็กมาก ๆ ทำให้ละอองเหล่านี้สามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูก ไปยังหลอดลม และลึกลงไปจนถึงถุงลม ปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย อันนำไปสู่การเกิดอาการแสบตา แสบจมูก เจ็บคอ ไม่สบาย ไอและมีเสมหะ ในขณะที่ผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พบว่าในปี 2566 ค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าในปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามี 15 จังหวัดของประเทศไทยที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกิน 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องนานเกิน 3 วัน ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือ รวมทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครด้วย ส่งผลให้ในต้นปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 1.52 ล้านคน (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2566)  จึงต้องเฝ้าระวังในประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมทั้งกลุ่มเด็กเล็ก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อแนะนำให้เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งอันจะทำให้สัมผัสต่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเหล่านี้ได้

สถานการณ์มลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับกลุ่มประชากรมากเท่ากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทว่ากำลังเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นทุกขณะ พร้อม ๆ กับการตั้งคำถามด้านการบริหารจัดการไปยังรัฐบาล เนื่องด้วยสถานการณ์ปัญหานี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชากรในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้อากาศ รวมไปถึงมีผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสุขภาพในด้านต่าง ๆ

 

ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกาย

การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคล (Individual factors) และปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก (Environment factors) ที่เป็นอุปสรรคต่อโอกาสของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทย ซึ่งศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยพบว่า ระดับการรับรู้ต่อความรุนแรงของ PM2.5 มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจไม่ออกไปมีกิจกรรมทางกายของประชาชน ร้อยละ 38.1 หมายถึง หากประชาชนรับรู้ว่า PM2.5 มีความรุนแรงมากขึ้นเท่าใด ก็จะมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจจะไม่ออกไปมีกิจกรรมทางกายมากยิ่งขึ้น (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), 2562)  

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าจะส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพิจารณาประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นอีกปัจจัยส่งผลให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยลดลงอย่างมาก (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), 2566) เมื่อสองปัจจัยนี้อุบัติขึ้นในลำดับเวลาเดียวกันดังเช่นเป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดต่อพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย รวมไปถึงผลกระทบที่จะมีต่อพฤติกรรมสุขภาพอื่น ๆ ที่จะตามมาดังต่อไปนี้

ผลกระทบและความเสี่ยงในมิติสุขภาพกาย ได้แก่

1. ประสิทธิภาพการออกกำลังกายลดลง ฝุ่น PM2.5 อาจทำให้ประสิทธิภาพการออกกำลังกายลดลง ทั้งในบุคคลที่มีสุขภาพดีและผู้ที่มีภาวะทางเดินหายใจ เนื่องจากปอดและระบบทางเดินหายใจผิดปกติ การดูดซึมออกซิเจนลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการทำกิจกรรมทางกายลดลง (Weichenthal., 2017)

2. ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง เนื่องจากฝุ่น PM2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ จึงส่งผลให้การทำงานของปอดลดลง ดังนั้น เมื่อมีกิจกรรมทางกายซึ่งจะต้องมีการออกแรงและอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ มลพิษในอากาศจะถูกส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ซึ่งฝุ่น PM2.5 จะสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบป้องกันหรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ในที่สุด (Pope et al., 2004)

3. ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ การสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด และหายใจถี่ ซึ่งอาการเหล่านี้จะลดทอนความสามารถของแต่ละบุคคลในการทำกิจกรรมทางกาย เช่น มีความอึดอัด ไม่อยากมีกิจกรรมทางกาย และอาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงหรืองดการมีกิจกรรมทางกาย (Wu et al., 2016)

4. มีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจ หลอดเลือด สมอง และอาจเสียชีวิตได้ ฝุ่น PM2.5 มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย โรคเกี่ยวกับหลอดในเลือดสมอง เพราะการสะสมฝุ่นละอองพิษผ่านการหายใจส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองจะแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกได้ และอาจนำไปสู่การเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน ความเสี่ยงเหล่านี้อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแรงจูงใจ ความสามารถ และระดับการมีกิจกรรมทางกายของแต่ละคน (Brook et al., 2010 ; Peters et al., 2019)

ผลกระทบและความเสี่ยงในมิติสุขภาพจิต คือ PM2.5 ส่งผลให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายโดยอ้อม เนื่องจากการมีปัญหาสุขภาพจิตทำให้แรงจูงใจ ระดับพลังงาน และการมีส่วนร่วมโดยรวมเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายลดลง (Bowe et al., 2019)

จากความเสี่ยงและผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อการมีกิจกรรมทางกายที่กล่าวข้างต้น  มีข้อสังเกตว่ามีหลายอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายผ่านการทำงาน ซึ่งผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะฝุ่น PM2.5 มากกว่าอาชีพอื่น ๆ เนื่องจากไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานได้ เช่น  ตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานขับรถเมล์  กระเป๋ารถเมล์ คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง พนักงานส่งเอกสารและพัสดุที่ใช้รถจักรยานยนต์ พ่อค้าและแม่ค้าหาบเร่แผงลอยริมถนน พนักงานเก็บขยะ พนักงานกวาดถนน คนงานก่อสร้าง วิศวกรคุมงาน นักกีฬาที่ต้องเล่นกลางแจ้ง เป็นต้น ซึ่งอาชีพต่าง ๆ ดังกล่าวใช้เวลาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน และมลพิษตลอดเวลาที่ทำงานจึงส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ

 

แนวทางการมีกิจกรรมทางกายที่ปลอดภัยในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5

ในช่วงระหว่างรอการจัดการปัญหาด้านฝุ่นพิษที่มีประสิทธิภาพจากภาครัฐ ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งการป้องกัน และดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อให้ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 น้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางการป้องกันความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยที่อาจเกิดขึ้น ทว่าจำเป็นต้องพิจารณาและให้ความระมัดระวังในการปฏิบัติในระหว่างสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 นี้

การมีกิจกรรมทางกายในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีข้อควรคำนึงที่สำคัญหลายประการ ซึ่งผู้เขียนได้สรุปแนวทางสำหรับการมีกิจกรรมทางกายในสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 (กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2566; ชาลินี ถิระศุภะ. 2563) ดังนี้

1. ตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนการมีกิจกรรมทางกาย รับข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ โดยตรวจสอบคุณภาพอากาศผ่านแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ หรือแอปพลิเคชัน air4thai เพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายที่อยู่กลางแจ้งเมื่อพบว่าคุณภาพอากาศไม่ดี และพยายามมีกิจกรรมทางกายในช่วงเวลาที่มีคุณภาพอากาศดีขึ้น เช่น ตอนเช้าตรู่หรือช่วงค่ำที่ระดับมลพิษมีแนวโน้มลดลง

ที่มา: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (2566)

 

2. การจำกัดการมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้งในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูง เพราะถึงแม้ว่าสวนสาธารณะจะมีต้นไม้จำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับปริมาณมลพิษที่มีในอากาศ การกรองฝุ่นหรือมลภาวะย่อมทำได้ไม่เพียงพอแน่นอน ดังนั้น จึงควรงดกิจกรรมทางกายกลางแจ้งที่ต้องออกแรงมาก เช่น การวิ่งหรือปั่นจักรยาน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มการสัมผัสอากาศเสียได้ และให้พิจารณาตัวเลือกการมีกิจกรรมทางกายในร่มแทน เช่น ไปยิมหรือออกกำลังกายที่บ้านเพราะในอาคารมีระบบเครื่องปรับอากาศที่ช่วยกรองฝุ่นพิษเหล่านี้ได้

3. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการมีกิจกรรมทางกาย ในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทางกาย ตัวอย่างเช่น เลือกกิจกรรมทางกายที่เบาและการหายใจน้อย ๆ เช่น เดินแทนการวิ่ง ยืดเหยียดแทนการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องออกแรงมาก เลือกทำงานบ้านแทนการทำงานสวน เป็นต้น

4. สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะการสังเกตและระวังอาการต่าง ๆ เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ หรือรู้สึกไม่สบายหน้าอกในระหว่างหรือหลังกิจกรรมทางกายในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 หากพบอาการเหล่านี้ ให้หยุดการมีกิจกรรมทางกาย และย้ายไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง

5. งดใส่หน้ากากอนามัยขณะที่ทำกิจกรรมทางกายในระดับที่หนัก เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การทำงานที่ใช้แรงอย่างหนัก ฯลฯ เนื่องจากในขณะที่ออกแรงนั้น จะมีการหายใจแรงและถี่มากกว่าปกติ ดังนั้น การใส่หน้ากากอนามัยขณะวิ่งหรือมีกิจกรรมทางกายที่หนักจะไปขัดขวางการหายใจ ร่างกายจะรับอากาศได้น้อยลง ทำให้หายใจลำบาก และเสี่ยงอันตรายจากภาวะขาดออกซิเจน

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการมีกิจกรรมทางกายในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 คือความปลอดภัยของสุขภาพ และควรใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสมเพื่อลดการสัมผัสมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุดในระหว่างการมีกิจกรรมทางกาย รวมทั้งควรปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศที่สามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติม และปรับให้เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีกิจกรรมกายในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5

ปัจจุบัน พรรคการเมืองหลายพรรคต่างหาเสียงและเสนอนโยบายที่จะเข้ามาจัดการปัญหาเรื่องมลพิษ PM2.5 ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติอากาศบริสุทธิ์ การกำหนดมาตรฐานของการก่อสร้างในเขตเมือง การกำหนดมาตรฐานของรถโดยสารสาธารณะ และนโยบายอื่น ๆ ที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีไม่มีสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ หากเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด ที่สำคัญคือ ในมุมของการหาเสียงไม่ได้มีการกล่าวถึงข้อเสนอการจัดการที่เกี่ยวข้องกับมิติของเรื่องการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายของประชากร ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอเชิงนโยบายในส่วนนี้ ขอเสนอแนวทางการจัดการเพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทราบแนวทางการจัดการในเรื่องดังกล่าวนี้ ในประเด็นที่สามารถดำเนินการเพื่อช่วยให้สถานการณ์ปัญหาคลี่คลายลงและส่งเสริมให้ประชากรมีโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น ดังต่อไปนี้

1. หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง มี 2 ประเด็นที่ควรพิจารณาเพื่อกำหนดนโยบายคือ

1) การสร้างระบบติดตามและแจ้งเตือนคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ เป็นปัจจุบัน และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและรับการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับระดับ PM2.5 ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง โดยพิจารณาจากสภาพอากาศในขณะนั้น

2) การออกแบบและการวางผังเมืองที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่อยู่ห่างจากแหล่งมลพิษ การส่งเสริมทางเลือกในการเดินทางสัญจรให้กับประชาชน เช่น ส่งเสริมการเดินและการขี่จักรยานโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อการเดินเท้า ตลอดจนการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่มุ่งลดการเกิด PM2.5 จากการขนส่งและแหล่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

2. หน่วยงานด้านสาธารณสุข มี 2 ประเด็นที่ควรพิจารณาเพื่อกำหนดนโยบายคือ

1) การให้ความรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน โดยมุ่งเน้นการสื่อสาร และรณรงค์สาธารณะให้ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเองระหว่างการมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง ซึ่งอาจรวมถึงการให้คำแนะนำในการเลือกเวลา สถานที่ และประเภทของการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมเพื่อลดการสัมผัส PM2.5

2) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับประชากรที่เปราะบาง การมีกิจกรรมทางกายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันสำหรับทุกคนในทุกบริบทของสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้น นอกจากการกำหนดนโยบายสำหรับจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังควรต้องมีนโยบายเฉพาะเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายที่ลดการสัมผัสกับมลพิษ PM2.5 ในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากมลพิษ PM2.5 ได้ง่ายกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

3. สถานศึกษา องค์กรหรือผู้ประกอบการต่าง ๆ ควรมีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงานและสถานศึกษา โดยอาจสามารถทำได้โดยการจัดชั่วโมงการทำงานและการเรียนที่ยืดหยุ่น หรือการจัดตารางพัก เพื่อให้บุคลากรหรือนักเรียน นักศึกษาสามารถมีกิจกรรมทางกายระหว่างวันทำงานหรือวันเรียน ซึ่งอาจรวมถึงการจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายในร่ม หรือการส่งเสริมโปรแกรมกิจกรรมทางกายภายในสถานที่ทำงานและสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรและนักเรียนสามารถมีกิจกรรมทางกายได้แม้ในช่วงที่มีระดับค่าฝุ่น PM2.5 สูง

4. หน่วยงานด้านวิชาการ ควรมีการสนับสนุนการวิจัยและประเมินผลอย่างจริงจังและต่อเนื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่น PM2.5 กับกิจกรรมทางกาย และผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อใช้ผลการวิจัยที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ มีความน่าเชื่อถือมาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานการณ์ที่มีฝุ่น PM2.5

 

ทั้งนี้ การพิจารณานโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีกิจกรรมกายในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 นั้น มีสิ่งสำคัญบางประการที่ต้องคำนึงถึงคือ แนวทางนโยบายต่าง ๆ ควรมีความยืดหยุ่นสามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ได้ และควรพิจารณาถึงลักษณะเฉพาะของประชากรที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 เพื่อความครอบคลุมและความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายของทุกกลุ่มประชากร ซึ่งการพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานการณ์ที่มลพิษ PM2.5 นั้น มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน อีกทั้งยังต้องการผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องหลากหลายสาขา เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผังเมือง การสื่อสารสาธารณะ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ขาดไม่ได้คือประชาชน กล่าวคือจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการพัฒนาและกำหนดนโยบาย เพื่อให้นโยบายมีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

 


เอกสารอ้างอิง

1. กรมอนามัย. (2566). กรมอนามัยแนะประชาชนหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ลดการสัมผัสฝุ่นสูง. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/news210166/

2. กองกิจกรรมทางกายวัยทำงาน กรมอนามัย. (2562). กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดี. สืบค้นจาก https://dopah.anamai.moph.go.th/web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/tinymce/KPI2564/KPI119/25640111922.pdf

3. กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ. (2566). ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ. สืบค้นจาก http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php

4. ชาลินี ถิระศุภะ. (2563). รับมือกับ pm 2.5 ในวันที่ต้องออกไปวิ่ง. สืบค้นจาก https://stadiumth.com/columns/detail?id=461&tab=thai

5. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2562). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2562.  

6. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2565). รายงานประจำปี ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย 2565

7. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2566). ความเหลื่อมล้ำของการมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทย. สืบค้นจาก https://tpak.or.th/th/article_print/412

8. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2566). สธ. เผย 15 จังหวัดค่าฝุ่น PM 2.5 สูงติดต่อกัน 3 วัน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 1.32 ล้านคน คาดสัปดาห์นี้ กทม.-ปริมณฑลแนวโน้มดีขึ้น. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/65877

9. Bowe, B., Xie, Y., Yan, Y., & Al-Aly, Z. (2019). Burden of Cause-Specific Mortality Associated With PM2.5 Air Pollution in the United States. JAMA Netw Open, 2(11), e1915834. doi:10.1001/jamanetworkopen.2019.15834

10. Brook, R. D., Rajagopalan, S., Pope, C. A., 3rd, Brook, J. R., Bhatnagar, A., Diez-Roux, A. V., . . . Metabolism. (2010). Particulate matter air pollution and cardiovascular disease: An update to the scientific statement from the American Heart Association. Circulation, 121(21), 2331-2378. doi:10.1161/CIR.0b013e3181dbece1

11.Peters, R., Ee, N., Peters, J., Booth, A., Mudway, I., & Anstey, K. J. (2019). Air Pollution and Dementia: A Systematic Review. J Alzheimers Dis, 70(s1), S145-S163. doi:10.3233/JAD-180631

12. Pope, C. A., 3rd, Burnett, R. T., Thurston, G. D., Thun, M. J., Calle, E. E., Krewski, D., & Godleski, J. J. (2004). Cardiovascular mortality and long-term exposure to particulate air pollution: epidemiological evidence of general pathophysiological pathways of disease. Circulation, 109(1), 71–77. https://doi.org/10.1161/01.CIR.0000108927.80044.7F

13. Weichenthal, S., Bai, L., Hatzopoulou, M., Van Ryswyk, K., Kwong, J. C., Jerrett, M., . . . Chen, H. (2017). Long-term exposure to ambient ultrafine particles and respiratory disease incidence in in Toronto, Canada: a cohort study. Environ Health, 16(1), 64. doi:10.1186/s12940-017-0276-7

14. Wu, S., Ni, Y., Li, H., Pan, L., Yang, D., Baccarelli, A. A., Deng, F., Chen, Y., Shima, M., & Guo, X. (2016). Short-term exposure to high ambient air pollution increases airway inflammation. and respiratory symptoms in chronic obstructive pulmonary disease patients in Beijing, China. Environment international, 94, 76–82. https://doi.org/10.1016/j.envint.2016.05.004

 

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย