26 เมษายน 2564

นฤมล เหมะธุลิน

7049

ส่องเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรม กระตุ้นการเคลื่อนไหวร่างกาย


แนวโน้มการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและบ้าน สู่สถานที่ทำกิจกรรมปลอดภัยและปราศจากเชื้อโรค

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างและรุนแรงแทบจะทุกมิติการใช้ชีวิตของผู้คน จนเกิดเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ที่เราไม่เคยเผชิญกับวิกฤตการณ์แบบนี้มาก่อน

จากบทวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ถึงชีวิตใหม่ของคนไทยหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าคนไทยส่วนใหญ่ ยังต้องใช้ชีวิตภายใต้ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโดยที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน และยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย และยังชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ทำให้เกิดการปรับรูปแบบการทำงาน จากที่ทำงานสู่การทำงานที่บ้าน (Work From Home) ซึ่งสามารถทำได้สะดวกสบาย และง่ายขึ้น ตลอดจนการทำธุรกรรมธนาคารออนไลน์ (Mobile Banking) ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ฯลฯ และการรักษาระยะห่างทางสังคมคาดว่าจะอยู่กับสังคมไปอีกสักพัก [1]

จากสถานการณ์และการคาดการณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคมในรูปแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงสู่วิถีชีวิตลดการสัมผัส และการเว้นระยะห่างทางสังคมมากยิ่งขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของผู้คนที่จำเป็นจะต้องหันมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ภายในบ้านของตนเองมากยิ่งขึ้น รวมถึงผู้คนในสังคมยังมีทิศทางการใช้ชีวิตผ่านสังคมวิถีออนไลน์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานออนไลน์ การประชุมออนไลน์ การเรียนออนไลน์ การซื้อสินค้า-สั่งอาหารออนไลน์ หรือแม้แต่การมีกิจกรรมทางกายผ่านออนไลน์

 

เทรนด์เทคโนโลยีกระตุ้นการ “เพิ่มกิจกรรมทางกายแบบดิจิทัล

มีการคาดการณ์ว่า นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ (Digital Health) จะเติบโตขึ้นในอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ โดยพบว่า อุปกรณ์เชื่อมต่อด้านสุขภาพจะเติบโตขึ้น 34% ในปี 2021 และมีมูลค่าถึง 1,246 ล้านดอลลาร์ในปี 2024

นอกจากนี้ ในกลุ่ม Digital Transformation ด้านสุขภาพในยุคโควิด-19 พบว่า ชาวอเมริกัน มีการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมฟิตเนสดิจิทัล Digital Fitness มากขึ้นถึง 30 - 35 % เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังพบว่า ฟิตเนสหลายแห่งเริ่มมีทางเลือกให้กับสมาชิกในการเทรนผ่านระบบออนไลน์ [2]

เทรนด์การออกกำลังกายแบบดิจิทัล และการคาดการณ์พฤติกรรมการออกกำลังกายของเหล่าคนรักสุขภาพ โดย Lincoln International [3] มีดังนี้

1) ผู้บริโภคคาดหวังตัวเลือกในการออกกำลังกายที่สะดวกสบาย และเหมาะกับตารางเวลาในแต่ละวันที่ไม่แน่นอน

2) ฟิตเนสกลายเป็นสิ่งที่ครอบคลุมสำหรับคนทุกวัยมากขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของโรงยิมสำหรับผู้หญิง รวมไปถึงโอกาสในการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

3) โซเชียลมีเดียได้ปลูกฝังชุมชนออกกำลังกายเฉพาะกลุ่ม ในการแบ่งปันเป้าหมายและข้อมูลเกี่ยวกับการออกกำลังกาย และสนับสนุนซึ่งกันและกันตลอดกระบวนการ

4) ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว สู่การมีอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อแอปพลิเคชันออกกำลังกาย และเทคโนโลยีการออกกำลังกายที่บ้าน เป็นต้น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการออกกำลังกายดิจิทัลเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมฟิตเนสดิจิทัล (Digital Fitness) เป็นการเปิดประสบการณ์การมีกิจกรรมทางกายนอกสตูดิโอและการออกกำลังกายที่เชื่อมต่อเข้ากับสังคมออนไลน์โดยแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง เพื่อยกระดับการออกกำลังกายภายในบ้านที่เสมือนกับการเข้าฟิตเนส รวมถึงการให้บริการในรูปแบบสมาชิกรายเดือนที่ขายคอนเทนต์ เช่น การไลฟ์สตรีมมิ่งคลาสออกกำลังกาย วิดีโอออกกำลังกาย ฯลฯ ตลอดจนเครื่องออกกำลังกาย ตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมกระตุ้นการเคลื่อนไหวร่างกาย ในอุตสาหกรรมการออกกำลังกายดิจิทัล มีดังนี้

1) Peloton Bike ปี 2021 Peloton บริษัทจักรยานที่นำเสนอการออกกำลังกายที่บ้าน ให้เป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายที่บ้านสำหรับคนรุ่นใหม่ จากจุดเริ่มต้นการมองเห็น Pain Point ของคนที่ซื้อเครื่องออกกำลังกายเอาไว้ที่บ้านว่ามันไม่ได้สนุกกับการออกกำลังกายเหงา ๆ คนเดียว จากจุดนี้ Peloton จึงพัฒนาให้ตัวเครื่องมีหน้าจอดิจิทัลขนาดใหญ่ พร้อมคลาสปั่นจักรยานออนไลน์ที่สามารถให้เข้าร่วมได้หลายพันคลาส รวมถึงคลาสที่เป็นการ Live Streaming จากห้องออกกำลังกาย อีกทั้งตัวหน้าจอดิจิทัลยังแสดงผลสถิติของผู้เล่น พร้อมเปรียบเทียบกับผู้เล่นคนอื่นที่อยู่ในคลาส ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องสนุกยิ่งขึ้น

2) The Mirror ผลิตภัณฑ์ของ Mirror นำเสนอบริการไลฟ์สตรีมการออกกำลังกายถึงที่บ้าน ด้วยหน้าจอ LCD ในรูปโฉมของกระจก มูลค่า 1,495 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เชื่อมต่อกับโปรแกรมการออกกำลังกาย ตั้งแต่การเวทเทรนนิ่งไปจนถึงโยคะ ผสมผสานเข้ากับการมอบความบันเทิง โดยมีเทรนเนอร์ผู้สอนแบบเสมือนจริง รวมถึงการสร้างประสบการณ์ออกกำลังกายกึ่งเล่นเกม

นอกจากนี้ กระแส Virtual Reality (VR) ที่เป็นการ Training แบบตัวต่อตัวกับเทรนเนอร์ Virtual Class ที่จำลองคลาสออกกำลังกายมาไว้ในบ้าน หรือแม้แต่การออกกำลังกายตามคลิปใน YouTube ก็ยังคงได้รับความนิยมมากเช่นกัน

 

มาตรการต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก กระตุ้นการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย

ต่อเนื่องจากเทรนด์เทคโนโลยีกระตุ้นการ “เพิ่มกิจกรรมทางกายแบบดิจิทัล” เรามาดูในส่วนของตัวอย่างมาตรการต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ที่กระตุ้นการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายกันบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในการริเริ่มส่งเสริมนโยบายให้กับประชาชนไทยต่อไปในอนาคต โดยจะขอหยิบยกตัวอย่างของแต่ละประเทศ ดังต่อไปนี้ [4]

1) ประเทศสวีเดน (Sweden)

ใช้มาตรการการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในที่ทำงาน โดยให้ค่าเบี้ยเลี้ยงสุขภาพ การลดหย่อนภาษีหรือการชำระเงินคืน สำหรับพนักงานในสวีเดน เพื่อให้พนักงานมีจุดมุ่งหมายในการมีกิจกรรมทางกาย และส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ ประเทศสวีเดนยังมียุทธศาสตร์เมืองที่มีชีวิต หรือ นโยบายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการสัญจรด้วยเท้าของชาวสวีเดน เพิ่มสัดส่วนของการเดินการขี่จักรยาน และการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยวิธีการตอบสนองความจำเป็นตามลำดับความสำคัญของโครงสร้างชุมชนและเขตเมือง

2) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

แคมเปญ “จักรยานไปทำงาน” เริ่มในปี 2548 นำโดยองค์กรพัฒนาเอกชน "Pro Velo Switzerland" และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรต่าง ๆ  โดยการลงทะเบียนพนักงานเป็นทีม ทีมละ 4 คน จากนั้นสะสมจำนวนกิโลเมตรที่เดินทางด้วยจักรยานเป็นเวลาสองเดือน ในปี 2561 มี บริษัท จำนวนกว่า 2,114 บริษัท โดยจำนวนคนเข้าร่วม 64,680 คน และจำนวนสะสมรวม 15 ล้านกิโลเมตร โดยการปั่นจักรยานไปทำงาน

3) ประเทศสเปน (Spain)

แคมเปญ “บันได” (A subir por las escaleras: me apunto) ส่งเสริมการใช้บันไดในที่ทำงาน มีการโพสต์ข้อความอย่างเห็นได้ชัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการใช้งานโดยการขึ้นบันได นอกจากนี้ ประเทศสเปนยังส่งเสริมในเรื่องของ “การเลี้ยงดูในเชิงบวก” โดยมุ่งเป้าไปที่พ่อแม่และผู้ปกครองของเด็กอายุ 0–3 ปี และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นสำคัญในยุทธศาสตร์การส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ โดยครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายและการเล่น และพักผ่อนและนอนหลับ โดยมีการฝึกอบรมออนไลน์แบบเปิดและฟรีสำหรับพ่อ-แม่ และบุคคลอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และสามารถส่งต่อวิธีการเลี้ยงดูไปยังกลุ่มอื่น ๆ แบบตัวต่อตัวได้

4) ประเทศเยอรมนี (Germany)

ในปี 2559 มีการเผยแพร่คำแนะนำระดับชาติสำหรับการออกกำลังกายและการส่งเสริมกิจกรรมทางกายซึ่งใช้กับทุกกลุ่มอายุ และผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเรื้อรัง โดยข้อเสนอแนะดังกล่าว มาจากการปรับคำแนะนำในระดับประเทศและในระดับสากล โดยการเชื่อมโยงคำแนะนำอย่างเป็นระบบสำหรับการออกกำลังกายกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

5) ประเทศฟินแลนด์ (Finland)

จุดแข็งที่สำคัญด้านกิจกรรมทางกายของประเทศฟินแลนด์ คือ “On the move” เป็นโครงการปฏิบัติการของรัฐบาลที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2010 เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่กระตือรือร้นในโรงเรียนที่ครอบคลุมของฟินแลนด์ โดยโรงเรียนและเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการจัดทำแผนของตนเอง เพื่อเพิ่มการออกกำลังกายในช่วงเวลาเรียน ช่วงพัก และกิจกรรมก่อนและหลังเลิกเรียน เป็นองค์ประกอบหลัก

 

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในประเทศที่มีการดำเนินงานนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวร่างกายในกิจวัตรประจำวัน หรือ กิจกรรมทางกายให้กับประชาชนของแต่ละประเทศนั้น ๆ ในการดำเนินงานเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการเพิ่มโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มคน ข้อมูลสำคัญจากการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พบว่า ในสถานการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปี 2563 ทำให้การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยลดลง เกือบร้อยละ 20 คิดเป็นร้อยละ 54.7 จากเดิมร้อยละ 74.6 ในปี 2562 (สถานการณ์ปกติ) [5] สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยที่พบว่า ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ที่เคลื่อนไหวอยู่ในบ้าน หรือบริเวณละแวกบ้าน มีปริมาณออกกำลังกายลดลง และข้อจำกัดของมาตรการโควิด-19 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ [6] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังอยู่กับเราต่อไปและส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการคิดค้นนวัตกรรม ตลอดจนการหาทางออกจากวิกฤตการณ์ หรือมาตรการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสและเป็นพื้นที่ในการมีกิจกรรมเคลื่อนไหวทดแทนได้ และเป็นประเด็นที่น่าจับตามองต่อไป


เอกสารอ้างอิง

 1. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI). (2563). แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564, จาก https://tdri.or.th/2020/04/new-normal-life-after-lift-lock-down.

2. Techsauce. (2564). CES 2021 Key Trends - 6 เทคโนโลยีแถวหน้าเมื่อโลกเปลี่ยน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564, จาก https://techsauce.co/tech-and-biz/ces-2021-key-trend-technology.

3. Lincoln International. (2020). Trends in Digital Fitness. [Available from: https://www.lincolninternational.com/perspectives/trends-in-digital-fitness/.

4. World Health Organization (WHO). (2018). Physical activity country.  [Available from: https://www.euro.who.int/en/health-topics/disease-prevention/physical-activity/data-and-statistics/physical-activity-fact-sheets/physical-activity-country-factsheets.

5. Piyawat Katewongsa et al., The effects of the COVID-19 pandemic on the physical activity of the Thai population: Evidence from Thailand’s Surveillance on Physical Activity 2020, Journal of Sport and Health Science (2020), https://doi.org/10.1016/j.jshs.2020.10.001

6. Dunton, G. F., Wang, S. D., Do, B., & Courtney, J. (2020). Early effects of the COVID-19 pandemic on physical activity locations and behaviors in adults living in the United States. Preventive Medicine Reports, 20, 101241. doi:https://doi.org/10.1016/j.pmedr.2020.101241 

 

SHARE

ผู้เขียน
นฤมล เหมะธุลิน


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]