12 เมษายน 2564

วณิสรา เจริญรมย์, คมกฤช ตะเพียนทอง และณรากร วงษ์สิงห์

1678

กิจกรรมทางกาย: หลากหลายความยืดหยุ่น (Resilience) ที่เกิดขึ้น เมื่อโควิด-19 คุกคาม

 

ย้อนไทม์ไลน์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ในปีที่ผ่านมา ต่อมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการประกาศยกระดับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของความกังวลระหว่างประเทศ (PHEIC) ในวันที่ 30 มกราคม 2563 (1) จนถึงวันนี้เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้วที่ประชากรทั่วโลกต้องปรับวิถีชีวิตให้สามารถดำเนินต่อไปภายใต้การแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้ ที่ยังคงไว้ซึ่งการระบาดอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นเมื่อใด สิ่งที่ประชาชนทำได้มีเพียงแต่การปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์เพียงเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น ระลอกแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 และยังได้ออกมาตรการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ สนามกีฬา ร้านอาหาร สถานบันเทิง และสถานที่ต่าง ๆ อีกมากมายต้องปิดชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศเริ่มดีขึ้น ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ รัฐบาลจึงได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนเป็นระยะ ๆ ทำให้สถานที่ในข้างต้นได้กลับมาเปิดอีกครั้ง และต่อมาในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยก็ได้พบกับการระบาดระลอกใหม่ (Newly Emerging) ซึ่งการระบาดในระลอกนี้ ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการซึ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดสู่ผู้อื่นได้ง่ายจึงเกิดการติดเชื้อจำนวนมากและกระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว (2)

 

ทิศทางแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางกายโลก

ทางรัฐบาลสิงคโปร์เริ่มลงมือส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรภายในประเทศโดยทำความร่วมมือกับบริษัท Apple ในการร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันส่งเสริมสุขภาพ ในชื่อว่า LumiHealth ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เน้นส่งเสริมกิจกรรมและพฤติกรรมสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ Apple Watch เป็นเครื่องมือในการติดตามผล ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นหนึ่งในโครงการ Smart nation ภายใต้การสนับสนุนหลักของรัฐบาลสิงคโปร์ LumiHealth จะใช้ประโยชน์จาก Apple Watch เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นและส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น โดยมีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน ที่ออกแบบมาให้โปรแกรมมีลักษณะสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน แนะนำกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ที่น่าสนใจ  เช่น การเดิน ว่ายน้ำ โยคะ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อผู้ใช้งานสามารถทำตามโปรแกรมที่วางไว้อย่างครบถ้วน ผู้ใช้งานสามารถลงทะเบียนขอรับรางวัลได้สูงสุดถึง 380 ดอลล่าสิงคโปร์ “แม้ว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายของสถานการณ์โควิด-19 แต่สิงคโปร์ยังคงสนับสนุนการลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งไม่มีการลงทุนใดจะสำคัญเท่าการลงทุนกับสุขภาพ” ตามคำกล่าวของ Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพของประชากรภายในประเทศเป็นอย่างมาก (3)

American College of Sports Medicine ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการออกกำลังกายในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของประชากรชาวอเมริกัน โดยพบว่าศูนย์ออกกำลังกายหลายแห่งเริ่มมีการปรับตัวโดยมีการโพสต์โปรแกรมการออกกำลังกายออนไลน์ฟรีเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถทำตามง่าย ๆ ได้ที่บ้าน โดยนักวิชาการทางด้านกิจกรรมทางกายหลายท่านได้มีความกังวลว่า แม้หลายหน่วยงานจะมีการส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายมากขึ้น แต่ในผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนหรือผู้ที่มีระดับการมีกิจกรรมทางกายต่ำนั้น จะไม่มีแนวโน้มในการเพิ่มกิจกรรมทางกายรายวันในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และอาจมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายลดลงกว่าเดิม (4) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวนโพสต์การออกกำลังกายที่บ้าน จากแพลตฟอร์มอินสตาแกรม (Instagram) ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และในแพลตฟอร์มยูทูบ (YouTube) มีการอัปโหลดวิดีโอพร้อมติดป้าย (Tag) “ออกกำลังกายที่บ้าน” โดยเฉลี่ยต่อวันทั่วโลก เพิ่มขึ้นมากกว่า 57 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2564 ถึง 15 มีนาคม 2564 (5)

ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ออกคำสั่งด้านความปลอดภัย คือ งดการมีกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อไวรัสจากคนสู่คนซึ่งส่งผลด้านลบทางสุขภาพ อาจทำให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายลดลง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บ้านเนื่องจากมีแนวโน้มว่าการอยู่บ้านเป็นเวลานานนำไปสู่พฤติกรรมเนือยนิ่ง ดังนั้นจึงมีเหตุผลด้านสุขภาพที่ดีในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องภายในบ้านเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและรักษาการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในปัจจุบันการออกกำลังกายที่บ้านโดยใช้กิจกรรมที่ปลอดภัยเรียบง่าย เช่น การเดินในบ้านและการเดินไปร้านค้าภายในชุมชนตามความจำเป็น การยกและถือของ การเดินขาแบบสลับ รวมถึงซิทอัพและวิดพื้น เนื่องจากไม่ต้องใช้อุปกรณ์ มีพื้นที่น้อยและสามารถทำกิจกรรมดังกล่าวได้ตลอดเวลา และยังมีการสนับสนุนการใช้ eHealth และวิดีโอการออกกำลังกายซึ่งมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายผ่านเทคโนโลยีเพื่อให้ประชากรของประเทศได้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีต่อไป (6) นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานที่ในการทำกิจกรรมทางกายของผู้คนทั่วโลกได้เปลี่ยนรูปแบบไป อาทิเช่น

“การศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกา (7) พบว่า เด็กอายุระหว่าง 5-13 ปี มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เด็กเหล่านั้นได้ปรับรูปแบบการทำกิจกรรมทางกายในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้าน โดยใช้สื่อมัลติมีเดียที่มีภาพและเสียงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และทำกิจกรรม

การศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อกิจกรรมทางกายพฤติกรรมและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวแคนาดา (8) พบว่า ชาวแคนาดาปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ มีรูปแบบการทำกิจกรรมทางกายภายในบ้านและบริเวณรอบบ้าน รวมถึงพื้นที่ในชุมชน นอกจากนี้พบว่ารูปแบบการทำกิจกรรมทางกายที่เปลี่ยนไปไม่มีผลต่อการลดระดับการมีกิจกรรมทางกายต่อวันของชาวแคนาดาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่น้อยกว่าระดับ 0.001

“การศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกายในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ช่วงล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2020 (9) พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการปรับตัวในการทำกิจกรรมทางกายให้เข้ากับสถานการณ์ โดยใช้พื้นที่ภายในบ้านและรอบบ้านในการทำกิจกรรมทางกายทั้งในลักษณะเบาและหนัก

จากข้อมูลดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกได้มีการปรับตัวในการทำกิจกรรมทางกายช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนการเปลี่ยนรูปแบบ และสถานที่การทำกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ตนได้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในแต่ละวัน

 

ทิศทางการปรับเปลี่ยนรูปแบบการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย ระหว่างสถานการณ์โควิด-19

ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรค ประชากรไทยทั้งหมดมีความจำเป็นต้องจำกัดรูปแบบการใช้ชีวิตส่งผลให้ต้องปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ดังกล่าว การมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายจึงเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ด้วยเช่นกัน

เมื่อมองย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าประชาชนคนไทยให้ความใส่ใจกับเรื่องของสุขภาพเป็นอย่างมากสังเกตได้จากสวนสาธารณะ ลานกีฬาของหมู่บ้าน ศูนย์กีฬา ฟิตเนสและสถานที่ต่าง ๆ ที่ให้บริการเกี่ยวกับการออกกำลังกายและกีฬาจะมีผู้คนเข้าไปใช้บริการอย่างหนาแน่นอยู่เสมอ ยังมีหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนคนไทยใส่ใจสุขภาพนั่นก็คือระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยที่ทำการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2555 – 2562 ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.3 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 74.6 ในปี 2562 และหลังจากเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2563 ในช่วงของการแพร่ระบาดระลอกแรกที่มีมาตรการปิดเมือง (Lockdown) นั้น ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงเหลือเพียงร้อยละ 55.5 ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 19.1 (10) แต่ในขณะเดียวกันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชากรไทยมีพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายที่ลดลงนั้นกลับพบว่า ประชากรไทยได้มีการปรับตัวเปลี่ยนสถานที่มีกิจกรรมทางกาย จากการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายเกี่ยวกับสถานที่และพฤติกรรมภาพรวมด้านกิจกรรมทางกายในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2563 พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 52.3 ใช้สถานที่ภายในบ้านหรือที่พักอาศัยสำหรับการทำกิจกรรม และผู้คนกว่าร้อยละ 39.3 ใช้สถานที่ภายในบริเวณบ้านสำหรับการทำกิจกรรม (11) เมื่อสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศเริ่มดีขึ้น รัฐบาลมีการได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนเป็นระยะ จนกระทั่งได้ประกาศให้มีมาตรการผ่อนปรนสถานที่ออกกำลังกายในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงกิจการและกิจกรรมด้านการกีฬาสามารถเปิดให้บริการได้ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการสำรวจพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพของประชากรไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งเป็นรอบที่ 2 ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 พบว่า ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยในภาพรวมจากเดิมร้อยละ 55.5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.3 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบที่ 1 (ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม) ถึงร้อยละ 9.8 แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ร้อยละของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้น แต่ทว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงใช้สถานที่สำหรับการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายโดยใช้สถานที่ภายในบ้านหรือที่พักอาศัยกว่าร้อยละ 47.6 ร้อยละ 38.3 ใช้พื้นที่บริเวณรอบบ้าน และร้อยละ 23.8 ใช้พื้นที่บริเวณในหมู่บ้านหรือชุมชน (12) นอกจากนี้ข้อมูลการค้นหาวิดีโอเกี่ยวกับการออกกำลังกายจาก Google Trends ของ YouTube  ในปี 2563 พบว่า โยคะ ได้รับความนิยมมากสุด รองลงมาเป็นการออกกำลังทั่วไป รวมถึง Body Weight และเต้นแอโรบิก (13)

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของประชากรไทยในการมีพฤติกรรมทางกายช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมออกกำลังที่สนามกีฬา ศูนย์กีฬา หรือฟิตเนส เปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายตามวีดีโอภายในบ้านหรือที่พักอาศัย รวมไปถึงบริเวณรอบบ้าน และภายในหมู่บ้านหรือชุมชนแทน โดยแนวโน้มของการออกกำลังกายของประชากรไทยในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ แบบ New normal ในลักษณะนี้จะได้รับความนิยมไปอีกนานจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น

 

แนวทางการฟื้นตัวกิจกรรมทางกายของคนไทยจากข้อเรียนรู้ในระดับโลกสู่การพัฒนานโยบายในประเทศไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้ประชาชนได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยการใช้บ้านเป็นฐานมากยิ่งขึ้นแต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากโควิด-19 แล้วยังมีโรคกลุ่ม NCDs ที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตซึ่งหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคกลุ่ม NCDs นั่นคือการขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยประชากรทั่วโลกกว่า 1.4 พันล้านคนมีระดับกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางเพื่อเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามแผนปฏิบัติการระดับโลกเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี พ.ศ. 2561-2573 (GLOBAL ACTION PLAN ON PHYSICAL ACTIVITY 2018-2030) ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างโอกาสต่อการมีกิจกรรมทางกายโดยมีข้อปฏิบัติ 6 ข้อ โดยเน้นการเพิ่มโครงการและโอกาสที่จะช่วยให้ผู้คนทุกเพศ ทุกวัยมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน (14) ดังนี้

1. นำแนวคิดการพัฒนาโรงเรียนแบบองค์รวม (Whole-of-School Approach) มาประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีคุณภาพ สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา การละเล่นสำหรับเด็ก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพในระยะยาวเพิ่มความรอบรู้ด้านการมีกิจกรรมทางกาย

2. เสริมสร้างบุคลากรด้านสุขภาพ เจ้าหน้าที่ด้านการบริการสังคมในหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ และหน่วยงานบริการด้านสังคม ใช้ระบบการประเมินและให้คำปรึกษาผู้ป่วยในการเพิ่มกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ให้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพโดยถ้วนหน้า (Universal health care) ให้มีความเหมาะสมกับทรัพยากรชุมชน

3. จัดให้มีโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสวนสาธารณะรวมถึงสถานที่ทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งพัฒนาศูนย์ในชุมชน ลานกีฬาประจำชุมชน เพื่อการเข้าถึงของประชาชนสำหรับการใช้พื้นที่สุขภาวะ

4. จัดให้มีโครงการที่มีความเฉพาะเจาะจง รวมถึงการบริการที่มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่ชุมชน สถานที่บริการทางด้านสังคม สุขภาพ และการดูแลระยะยาว (Long-term care) พื้นที่อำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมครอบครัว เพื่อสนับสนุนการอยู่ดีมีสุขเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ (Healthy ageing)

5. สนับสนุนการพัฒนา การดำเนินโครงการและการบริการในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้กลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวน้อยได้มีโอกาสเพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น เด็กผู้หญิง ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ชุมชนชนบทและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงกลุ่มประชากรชายขอบและประชาชนกลุ่มเปราะบาง

6. ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม (Whole-of-community) ในจังหวัด อำเภอ หรือชุมชน เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วม และผนวกนโยบายที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในประชากรทุกกลุ่มวัยโดยเฉพาะการเพิ่มความร่วมมือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกับคนในชุมชน

 


อ้างอิง

1. องค์การอนามัยโลก (WHO).(2563) Archived: WHO Timeline - COVID-19.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564, จาก. https://1th.me/pLZOU.

2. BBC Thailand. (2563). ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ 26 มี.ค.-30 เม.ย. สกัดโควิด-19 ยังไม่สั่ง “ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564, จาก [https://www.bbc.com/thai/thailand-52030713].

3. Singapore and Apple partner on national health initiative using Apple Watch. 2020. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564, จาก. https://1th.me/lAtZj

4. Hall, G., Laddu, D. R., Phillips, S. A., Lavie, C. J., & Arena, R. (2021). A tale of two pandemics: How will COVID-19 and global trends in physical inactivity and sedentary behavior affect one another? Prog Cardiovasc Dis. 2021;64:108-10.

5. The Washington Post.(2021).People welcome online workouts to fill gap left by shuttered gyms and studios. 2021. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564,  จาก. https://1th.me/rXPWQ

6. Chen P, Mao L, Nassis GP, Harmer P, Ainsworth BE, Li F.(2021) Coronavirus disease (COVID-19): The need to maintain regular physical activity while taking precautions. Journal of Sport and Health Science. 2020;9(2):103-4.

7. Dunton GF, Do B, Wang SD. Early effects of the COVID-19 pandemic on physical activity and sedentary behavior in children living in the U.S. BMC Public Health. 2020;20(1):1351.

8. Lesser IA, Nienhuis CP. The Impact of COVID-19 on Physical Activity Behavior and Well-Being of Canadians. Int J Environ Res Public Health. 2020;17(11):3899.

9. Teran-Escobar C, Forestier C, Ginoux C, Isoard-Gautheur S, Sarrazin P, Clavel A, et al. Individual, Sociodemographic, and Environmental Factors Related to Physical Activity During the Spring 2020 COVID-19 Lockdown. Front Psychol. 2021;12:643109-.

10. ปิยวิฒน์ เกตุวงศา, กรกนก พงษ์ประดิษฐ์, 2563. REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. นครปฐม: บริษัท ภาพพิมพ์2563.

11. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), 2563. ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 (รอบที่ 1). ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

12. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), 2563. ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 (รอบที่ 2). ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

13. Google Trends. (2564). การค้นหาวิดีโอเกี่ยวกับการออกกำลังกายในปี 2563. ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564, จาก. https://1th.me/3gkOR

14. งค์การอนามัยโลก(WHO). GLOBAL ACTION PLAN ON PHYSICAL ACTIVITY 2018-2030. World Health Organization

SHARE

ผู้เขียน
ณรากร วงษ์สิงห์


วณิสรา เจริญรมย์


คมกฤช ตะเพียนทอง


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]