9 สิงหาคม 2564

ณัฏฐนันท์สินี ศิริโกสุม

3019

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ รากฐานที่สำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อความยั่งยืนในอนาคต (Next Normal)

การขาดการมีกิจกรรมทางกายส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2555- 2563 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 55.5 [1] และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของกองโรคไม่ติดต่อ จำนวนผู้ป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของประเทศไทย พบว่า มีจำนวนและอัตราตายด้วยโรค NCDs ที่ประกอบไปด้วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง จำนวน 6,341 คน หรือคิดเป็นอัตรา 128.25 ต่อประชากร 100,000 คน [2] อีกทั้งข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าหนึ่งในสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นั้นก็คือการขาดกิจกรรมทางกาย [3] ดังนั้น การที่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเพื่อการดูแลตนเองหลังการรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ และผู้ที่จะมีส่วนช่วยในการทำงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและใกล้ตัวที่สุด นั่นก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีสุขภาพไม่ดีเนื่องจากการขาดกิจกรรมทางกาย [4] ข้อควรปฏิบัติตนที่ถูกต้อง คำแนะนำของประโยชน์จากการมีกิจกรรมทางกาย ผลเสียจากการขาดกิจกรรมทางกาย  ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน ด้วยการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกาย

เหตุใดจึงต้องสร้างรากฐานเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้ความสำคัญและใช้กิจกรรมทางกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน

การสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ให้ความสำคัญและใช้กิจกรรมทางกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในอนาคต ควรเริ่มตั้งแต่การปรับร่าง แผนการดำเนินงาน อ้างอิงมาจากมาตรการ Active people หมายถึง ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ถูกกำหนดไว้ใน Global Action Plan for Physical Activity 2018-2030 หรือแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลก [5] และปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวกำหนดสุขภาพให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ  นั่นก็คือ การมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ให้ความสำคัญและใช้กิจกรรมทางกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและเชื่อมโยงไปถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ในหัวข้อยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ที่กล่าวถึงการวางรากฐานการพัฒนาคนให้มีความสมบูรณ์ เพื่อให้คนไทยมีทัศนคติและพฤติกรรมตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม

อีกทั้งยังถือเป็นการลงทุนทางด้านทรัพยากรบุคคล บุคลากรทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายนั้น สอดคล้องกับข้อแนะนำการลงทุนด้านกิจกรรมทางกาย 8 ประการ จากคู่มือ ISPAH’s Eight Investments That Work for Physical Activity โดย International Society for Physical Activity and Health (ISPAH) [6] ในเรื่องของ HealthCare หรือการบริการทางสุขภาพ ซึ่งขยายความถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพนั้น มีการพบปะและใกล้ชิดกับประชาชน มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ในคู่มือมีการระบุข้อมูลที่สำคัญว่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพนั้นมีผลต่อการตัดสินใจโดยรวมและการตัดสินใจส่วนบุคคลของผู้ที่เข้ามาพบผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพด้วย ในการวางรากฐานให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจึงจำเป็นต้องมาพร้อมกับการวางรากฐานที่แข็งแรง มั่นคง ของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายถือเป็นบุคคลที่สำคัญต่อการแนะนำและส่งเสริมสุขภาพ ให้มีเครือข่ายในการส่งต่อข้อมูลที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุม ทั้งยังมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างบุคคล เพื่อประสิทธิภาพในการนำความรู้ด้านกิจกรรมทางกายไปสู่การปฏิบัติของประชาชนอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอจนเกิดเป็นรากฐานการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชาชน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ให้ความสำคัญและใช้กิจกรรมทางกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน คือใครบ้าง?

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในแต่ละสาขาวิชาชีพ ในต่างประเทศนั้น ได้มีการนำกิจกรรมทางกายมาเป็นทางเลือกในการให้คำแนะทางการรักษา บำบัด ฟื้นฟู ให้กับผู้ป่วย และสำหรับในประเทศไทยนั้นมีการนำมาใช้อยู่บ้างแต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง หากจะนำมาใช้อย่างจริงจังเพื่อเป็นรากฐานของการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเป็นผู้ส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้ป่วย ควรมีแนวทางหรือรูปแบบใด บทความนี้จึงรวบรวมตัวอย่างมุมมองและบทบาทหน้าที่ของแต่ละสาขาวิชาชีพ ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่สามารถส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับประชาชน มาไว้ดังนี้

ตัวอย่างบทบาทของนักกายภาพบำบัดในบริบทตัวอย่างของประเทศเยอรมนี [7]

สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายหลักของการบำบัดด้วยการออกกำลังกายภายใต้กรอบของการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ข้อมูลที่ระบุไว้ในการศึกษาครั้งนี้[4] กล่าวถึงการสำรวจการปฏิบัติกายภาพบำบัดระดับชาติที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่านักกายภาพบำบัดถือว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเป็นเป้าหมายที่สำคัญ และถือเป็นเทคนิคการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นแง่มุมที่สำคัญของกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติกับผู้มาเข้ารับบริการ อีกทั้งจากการสำรวจมุมมองของนักกายภาพบำบัดในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ในเรื่องของรูปแบบการดำเนินการความสนุกสนานและความสุขในการออกกำลังกาย และกิจกรรมทางกาย เป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมส่งเสริมทางกาย ในด้านการถ่ายทอดความรู้สู่การฟื้นฟูสมรรถภาพ มีนักกายภาพบำบัดบางท่านพยายามเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและกิจกรรมทางกายหลังจากการพักฟื้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม กิจกรรมทางกาย และความเป็นไปได้ในการบูรณาการกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันและให้ข้อมูลทั่วไปตลอดจนให้คำปรึกษาส่วนตัวแก่ผู้พักฟื้น

ตัวอย่างมุมมองของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย[8] 

จากการวิเคราะห์ของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็ง [8] พบว่ามี 4 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมุมมองของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในการรักษาโรคมะเร็ง ประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายในการรักษามีอิทธิพลต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็ง ประการที่สองคือ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งมีความตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการสนับสนุนกิจกรรมทางกาย แต่อยู่ในระบบที่กว้างขึ้นซึ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่สามคือ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งใช้เทคนิคหลายอย่างเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในการให้คำปรึกษาและสุดท้ายคือ ยังมีความท้าทายที่รอให้มีการส่งเสริมทางด้านกิจกรรมทางกายอยู่ ดังนั้นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง   

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ให้ความสำคัญและใช้กิจกรรมทางกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน 

เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย [9] โดยส่วนใหญ่หลังการเข้ารับรักษาจากการเจ็บป่วย สิ่งที่แพทย์ให้คำแนะนำกลับมา นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภทเพราะอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยได้ การให้คำแนะนำเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นแต่ขณะเดียวกันจากการศึกษาเรื่อง Australian adults expect physiotherapists to provide physical activity advice: a survey ชาวออสเตรเลียมีความคาดหวังว่านักกายภาพบำบัดจะให้คำแนะนำในการมีกิจกรรมทางกาย จากการศึกษาพบว่าเป็นสิ่งสำคัญหรือสำคัญมากสำหรับนักกายภาพบำบัดที่จะให้คำแนะนำเพื่อช่วยให้พวกเขาเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายอยู่ที่ 76% [10] ซึ่งถือว่าการให้คำแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายเป็นคำแนะนำที่ประชาชนคาดหวังนอกเหนือจากการให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การเลิกบุหรี่ และการงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ซึ่งจากผลการสำรวจของงานวิจัยของต่างประเทศ เรื่อง Physical Activity Promotion: A Systematic Review of The Perceptions of Healthcare Professionals พบว่า ใน 85.7% ของการศึกษาทั้ง 15 เรื่อง พบว่า มีเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ (HCPs) ที่มีความรู้ด้านกิจกรรมทางกายบางรูปแบบอยู่ที่ 12-64.1%  [11] จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แพทย์ทั่วไป แพทย์ พยาบาล และแพทย์โรคข้อ มีความจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย 

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการมีกิจกรรมทางกายถือเป็นวิธีการปฏิบัติที่สามารถทำได้ง่าย เพราะกิจกรรมทางกายมีความหมายรวมถึง การเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ใช้กล้ามเนื้อโครงร่าง อันก่อให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงานของร่างกาย [1] ซึ่งความต่อเนื่องของการปฏิบัติขึ้นอยู่กับประเภทของกิจกรรมทางกาย เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ จัดเป็นประเภทกิจกรรมแอโรบิก (Aerobic activity) เป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไป เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบทางเดินหายใจ ถือว่าเป็นวิธีการที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายและส่งผลต่อสุขภาพทั้งเรื่องของสมรรถภาพร่างกาย เนื่องจากมีงานวิจัยที่ชี้ชัดแล้วว่า การมีกิจกรรมทางกายเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง และโรคกระดูกพรุน [12] สำหรับประเทศไทยนั้นการผลักดันให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักวิชาการสาธารณสุข มีองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายอย่างครอบคลุมและการให้คำแนะนำด้านกิจกรรมทางกายเป็นทางออกของการรักษา ฟื้นฟู และป้องกันโรค ซึ่งจะเป็นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย หากประชาชนคนไทยได้รับข้อมูลการปฏิบัติตน หรือคำแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายจะสามารถสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ทว่าความยั่งยืนทางสุขภาพนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงองค์ประกอบใดเพียงอย่างเดียว หากแต่จะเกิดขึ้นได้ เพราะความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ของแต่ละภาคส่วน ตั้งแต่การสื่อสารรณรงค์ กระตุ้นให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งการสร้างฐานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้มีระบบและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพในชุมชน ที่อยู่ใกล้ชิดและเข้าถึงกับประชาชนมากที่สุด ควรมีระบบที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือเริ่มจากการวางแผนงาน ร่างแผนการปฏิบัติงานของหน่วยงานจากระดับย่อย ไปจนถึงระดับที่ใหญ่ขึ้นอย่างสอดคล้องกัน โดยมีแนวคิดอยู่บนฐานของการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนของประชาชนในอนาคต

 


อ้างอิง

1. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา, กรกนก พงษ์ประดิษฐ์. ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด -19:Regenerating physicalactivity in Thailand afterCOVID-19pandemic. นครปฐม:ศูนย์พัฒนาองค์ความรูด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ: บริษัท ภาพพิมพ์ จำกัด; 2563.

2. กลุ่มเทคโนโลยี ระบาดวิทยา และมาตรการชุมชน กองโรคไม่ติดต่อ. (2561) . จำนวนและอัตราตายโรคไม่ติดต่อ ปี 2559 - 2561 (รวม 4 โรค / ความดันโลหิตสูง/เบาหวาน/หัวใจขาดเลือด/หลอดเลือดสมอง/หลอดลมอักเสบ/ถุงลมโป่งพอง) . เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 จาก http://www.thaincd.com/2016/mission/documents-detail.php?id=13653&tid=32&gid=1-020

3. World Health Organization. (2021) . Noncommunicable diseases. Available from> https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases#:~:text=Unhealthy%20diets%20and%20a%20lack,in%20terms%20of%20premature%20deaths.

4. Cunningham, C. & O’ Sullivan, R. Healthcare Professionals Promotion of Physical Activity with Older Adults: A Survey of Knowledge and Routine Practice. 18, 6064 (2021) .

5. World Health Organization. Global action plan on physical activity 2018–2030: more active people for a healthier world 2018. Available from: https://apps.who.int/.../272722/9789241514187-eng.pdf...

6. International Society for Physical Activity and Health (ISPAH) . ISPAH’ s Eight Investments That Work for Physical Activity. November 2020. Available from: https://www.ispah.org/resources/key-resources/8-investments/

7. Geidl, W. et al. Physical activity promotion in daily exercise therapy: the perspectives of exercise therapists in German rehabilitation settings. BMC Sports Sci Med Rehabil 11, 28, doi:10.1186/s13102-019-0143-7 (2019) .

8. Roberts AL, Potts HWW, Stevens C, Lally P, Smith L, Fisher A. Cancer specialist nurses' perspectives of physical activity promotion and the potential role of physical activity apps in cancer care. J Cancer Surviv. 2019 Oct;13 (5) :815-828. doi: 10.1007/s11764-019-00801-w. Epub 2019 Sep 2. PMID: 31475306; PMCID: PMC6828618.

9. Albert FA, Crowe MJ, Malau-Aduli AEO, Malau-Aduli BS. Physical Activity Promotion: A Systematic Review of The Perceptions of Healthcare Professionals. Int J Environ Res Public Health. 2020 Jun 18;17 (12) :4358. doi: 10.3390/ijerph17124358. PMID: 32570715; PMCID: PMC7345303.

10. Kunstler, B., Fuller, R., Pervan, S. & Merolli, M. Australian adults expect physiotherapists to provide physical activity advice: a survey. J Physiother 65, 230-236, doi:10.1016/j.jphys.2019.08.002 (2019) .

11. Albert, F. A., Crowe, M. J., Malau-Aduli, A., & Malau-Aduli, B. S. (2020) . Physical Activity Promotion: A Systematic Review of The Perceptions of Healthcare Professionals. International journal of environmental research and public health, 17 (12) , 4358> https://doi.org/10.3390/ijerph17124358

12. Saqib, Z. A., Dai, J., Menhas, R., Mahmood, S., Karim, M., Sang, X., & Weng, Y. (2020) . Physical Activity is a Medicine for Non-Communicable Diseases: A Survey Study Regarding the Perception of Physical Activity Impact on Health Wellbeing. Risk management and healthcare policy, 13, 2949–2962> https://doi.org/10.2147/RMHP.S280339

 

 

SHARE

ผู้เขียน
ณัฏฐนันท์ ศิริโกสุม


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]