13 กันยายน 2564

คมกฤช ตะเพียนทอง, ณรากร วงษ์สิงห์ และวณิสรา เจริญรมย์

1902

การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับการบรรเทาความรุนแรงของโรคโควิด-19

หลังจากเกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วทุกมุมโลก ทุกประเทศต่างรีบเร่งจัดทำมาตรการการป้องกันเพื่อลดจำนวนการติดเชื้อ มาตรการการรักษาในโรงพยาบาลหรือชุมชนเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและลดการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 นอกจากนี้รัฐบาลของทุกประเทศมีการลงทุนทั้งในด้านสาธารณสุขทั้งที่เป็นการป้องกัน และรักษา เป็นมูลค่ามหาศาลเพื่อให้ประชากรในประเทศปลอดภัยจากการแพร่ระบาดดังกล่าว

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงไม่สามารถยับยั้งได้ ในแวดวงวิชาการแขนงต่างๆ ได้พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับโรคโควิด-19 เพื่อทำความเข้าใจให้แน่ชัดตลอดจนหาหนทางในการป้องกัน ควบคุม และรักษาได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกัน ในกลุ่มนักวิชาการที่สนใจด้านกิจกรรมทางกาย ก็ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการมีกิจกรรมทางกายกับโรคโควิด-19 ทั้งในช่วงเวลาก่อนที่จะเป็นโรค ระหว่างเป็นโรค และหลังจากเป็นโรค โดยพยายามมุ่งเน้นหาคำตอบบนสมมติฐานที่ว่าการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน หรือลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยของโรคโควิด-19 ได้หรือไม่อย่างไรบ้าง

บทความนี้จะขอหยิบยกข้อมูลทางวิชาการและข้อค้นพบที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับการบรรเทาความรุนแรงของโรคโควิด-19 เพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายอย่างเป็นกิจวัตรที่จะช่วยให้ร่างกายของเรามีความพร้อมต่อการรับมือในวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับความรุนแรงของอาการจากการติดเชื้อโควิด-19  ทั่วโลก

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 งานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า นอกเหนือจากปัจจัยด้านอายุและเพศที่มีความสัมพันธ์ต่ออาการที่รุนแรงเมื่อติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว ปัจจัยด้านการมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันและโรคหลอดเลือดหัวใจ ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นและอาจถึงขั้นนำไปสู่การเสียชีวิต (1)

ยังมีข้อค้นพบและหลักฐานทางวิชาการในประเทศต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่ออาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด- 19 ดังต่อไปนี้

ในประเทศสหรัฐอเมริกา: Department of Family and Sports Medicine, Kaiser Permanente Medical Center ได้ทำการศึกษาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อายุ 18 ปีขึ้นไป ก่อนการฉีดวัคซีน จำนวน 48,440 ราย โดยการสอบถามพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยย้อนหลังไป 2 ปีก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ผู้ให้ข้อมูลที่ถูกยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ถึง 2 เท่า อีกทั้ง ผู้ที่ขาดการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอยังมีแนวโน้มที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นจากบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลถึงร้อยละ 73 นอกจากนี้ ยังพบว่า ในกลุ่มผู้ที่ขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากขึ้นอีก 2.5 เท่า จึงอาจสรุปได้ว่า“การขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบที่รุนแรงเมื่อติดเชื้อโรคโควิด-19” (2)

ขณะที่ใน 27 ประเทศทั่วยุโรป: Silvio Maltagliati และคณะ ได้ศึกษาวิจัยผลของความแข็งแรงจากการออกกำลังกายต่อการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลของผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยการใช้ข้อมูลจาก Survey of Health, Ageing and Retirement in Europe ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 และนำข้อมูลในส่วนของ “SHARE COVID-19” ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลด้านสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจของคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปใน 27 ประเทศทั่วยุโรป จำนวน 52,000 คน ไปทำการศึกษาวิเคราะห์การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล จากการศึกษาพบผลการวิจัยที่สอดคล้องกันอีกว่า “ผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีกิจกรรมทางกายและเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง มีโอกาสเข้ารับการรักษาการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล ต่ำกว่าผู้ที่แทบจะไม่เคยออกกำลังกายหรือไม่เคยมีกิจกรรมทางกายเลย” (3)

ในประเทศจีน: Tumor Center of Union Hospital ได้ทำการรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2020 ถึง 14 มีนาคม 2020 และทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 164 คน พบว่า มีผู้ป่วยร้อยละ 62.8 ไม่ได้ออกกำลังกายและขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งผู้ป่วยที่ขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมีอาการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นถึงร้อยละ 25.2 รวมไปถึงเสียชีวิตถึงร้อยละ 5.8 นอกจากนี้จากผลการศึกษายังยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เมื่อทำการควบคุมปัจจัยทางด้านเพศ อายุ การมีภาวะโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะโรคอ้วนแล้ว กลุ่มผู้ที่ขาดการมีกิจกรรมทางกาย มีความเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่ากลุ่มผู้ที่มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอถึง 4 เท่าตัว” (4)

เช่นเดียวกันกับที่พบในประเทศบราซิล: Francis Ribeiro de Souza และคณะ ได้ทำการศึกษาถึงผลจากการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้ป่วยที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องก่อนติดเชื้อ และมาเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อโควิด-19 โดยการศึกษานี้มีผู้เข้าร่วมการวิจัยและให้ข้อมูลทั้งหมดจำนวน 938 คน ผลจากการศึกษาในสมการหลายตัวแปรเมื่อควบคุมปัจจัยคุณลักษณะด้านเพศ อายุ ค่าดัชนีมวลกาย และการมีโรคประจำตัว พบว่า ผู้ที่มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ และ/หรือระดับหนักอย่างอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์อย่างเป็นกิจวัตรก่อนการติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีความชุกในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่ากลุ่มผู้ที่ขาดการมีกิจกรรมทางกายถึงร้อยละ 34.3 (5)

 

สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับความรุนแรงของอาการจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย

ในส่วนของประเทศไทยเอง ข้อมูลเบื้องต้นจากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 ที่รวบรวมข้อมูลผ่านทางระบบออนไลน์ระหว่างเดือนมิถุนายน 2564 ถึง เดือนสิงหาคม 2564 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสุ่มตัวอย่างสอบถามข้อมูลจากประชากรทั่วไป ในจำนวนนั้นพบกลุ่มตัวอย่างที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้เมื่อทำการวิเคราะห์ความรุนแรงของอาการระหว่างการเป็นโรค พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีอาการที่รุนแรงโดยได้รับการรักษาตามอาการและหายได้เองและได้รับการแยกตัวเมื่อครบ 14 วันหลังจากวันเริ่มมีอาการ ส่วนใหญ่มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางและระดับหนักที่เพียงพออย่างต่อเนื่องก่อนที่จะมีการติดเชื้อ ซึ่งมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับงานศึกษาวิจัยที่ทั่วโลกค้นพบ ในขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงจำนวนเล็กน้อยที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมีอายุค่อนข้างมากร่วมด้วย (6,7) อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลในเชิงลึกในสมการหลายตัวแปร

จากผลการวิจัยข้างต้น ยืนยันให้เราทราบถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ (ในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ และ/หรือการมีกิจกรรมทางกายในระดับหนักอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์) โดยสามารถสรุปได้ว่า “ผู้ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพออย่างต่อเนื่องจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดี หากติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างต่อเนื่องจะช่วยลดความรุนแรงของอาการ และอัตราการเสียชีวิตจะลดน้อยลงไปด้วย”

 

แนวทางการปรับพฤติกรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ด้วยการเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในวิถีชีวิต

จากผลการวิจัยข้างต้น เพื่อให้เกิดผลดีและประโยชน์ต่อตัวของท่านได้อย่างสูงสุด นอกเหนือจากความเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายแล้ว การนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับเปลี่ยนให้เป็นพฤติกรรมสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยสามารถปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้

 1. การจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยสำหรับกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมที่จะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ในระยะยาว ในขณะที่ยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ หากผู้คนทุกเพศทุกวัยมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (8) กล่าวคือ

“วัยเด็กและวัยรุ่น 5 - 17 ปี”

ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนักสะสมให้ได้อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน

“วัยผู้ใหญ่ 18 - 59 ปี”

ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ กิจกรรมทางกายระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์

“วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป”

ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมทางกายระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์

2. ทำให้บ้านเป็นพื้นที่ของการมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอในทุกโอกาส เมื่อการดำเนินชีวิตและการออกไปนอกบ้านยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้คนจำนวนไม่น้อยยังคงกังวลต่อการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกับคนอื่น ๆ บ้านก็ยังคงเป็นพื้นที่ของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในทุกโอกาส ดังนั้น หากผู้คนมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยใช้พื้นที่ของบ้านหรือบริเวณรอบบ้านเพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายในทุก ๆ วัน และทุก ๆ โอกาส ก็ช่วยให้สามารถมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในวิถีชีวิตแบบ New normal และจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ด้วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากในหนังสือ “คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน”

https://bit.ly/38ZRnzx

 


อ้างอิง

1. Centers for Disease Control and Prevention. (2020). COVID-19 people of any age with underlying medical conditions. p. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/need-extra-precautions/people-with-medical-conditions.html.

2.  Sallis R, Young DR, Tartof SY, et al. (2021). Physical inactivity is associated with a higher risk for severe COVID-19 outcomes: a study in 48,440 adult patientsBritish Journal of Sports Medicine Published Online First: 13 April 2021. doi: 10.1136/bjsports-2021-104080           

3. Maltagliati S, Sieber S, Sarrazin P, Cullati S, Chalabaev A, Millet GP, Boisgontier MP, Cheval B. (2021). Muscle Strength Explains the Protective Effect of Physical Activity against COVID-19 Hospitalization among Adults aged 50 Years and Older. medRxiv [Preprint]. 2021 Mar 1:2021.02.25.21252451. doi: 10.1101/2021.02.25.21252451. Update in: J Sports Sci. 2021 Aug 11;:1-8. PMID: 33688683; PMCID: PMC7941660.   

4. Yuan Q, Huang HY, Chen XL, Chen RH, Zhang Y, Pan XB, Chen JN, Liu N, Du H. (2021). Does pre-existent physical inactivity have a role in the severity of COVID-19? Ther Adv Respir Dis. 2021 Jan-Dec;15:17534666211025221. doi: 10.1177/17534666211025221. PMID: 34148444; PMCID: PMC8221695.

5. de Souza, F. R., Motta-Santos, D., Dos Santos Soares, D., de Lima, J. B., Cardozo, G. G., Guimarães, L., Negrão, C. E., & Dos Santos, M. R. (2021). Association of physical activity levels and the prevalence of COVID-19-associated hospitalization. Journal of science and medicine in sport, 24(9), 913–918. https://doi.org/10.1016/j.jsams.2021.05.011       

6. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2564) . ข้อมูลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.   

7. แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564 2564. p. https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=119.          

8. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2563). คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

SHARE

ผู้เขียน
ณรากร วงษ์สิงห์


วณิสรา เจริญรมย์


คมกฤช ตะเพียนทอง


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]