8 พฤศจิกายน 2564

กลุ่มงานงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

3938

พฤติกรรมเนือยนิ่งเกินเบอร์ จนสุขภาพจิตเสียศูนย์ในที่ทำงาน

พฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ พฤติกรรมที่เราทุกคนปฏิบัติขณะตื่นในกิจกรรมที่มีระดับการเผาผลาญพลังงานในระดับต่ำ(ใช้พลังงาน ≤ 1.5 METs) ตัวอย่างเช่น กิจกรรมที่ปฏิบัติขณะอยู่ในท่านั่งหรือเอนนอน รวมถึงการดูทีวี อ่านหนังสือ ทำงานคอมพิวเตอร์ หรือนอนเล่นโทรศัพท์   

ภาพที่ 1: ระดับการเผาผลาญพลังงานจำแนกตามระดับต่ำไปมาก

ปัจจุบันพบว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า 1 ใน 4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ และ 3 ใน 4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ใช้เวลาในแต่ละวันมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสะสมที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นในประเทศอเมริกา พบว่า ค่ารักษาพยาบาลที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งของประชาชนสูงถึง 150 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และเพิ่มขึ้นมาเกือบทศวรรษแล้ว การใช้ชีวิตแบบมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากอาจกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่งในศตวรรษนี้ [1]

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งของประชากรไทยมีการแกว่งตัวขึ้นลงอยู่เหนือค่าเป้าหมายชาติตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายชาติ พ.ศ. 2561 – 2573 ที่ 13 ชั่วโมงต่อวันมาโดยตลอด และยิ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2563  ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด- 19 อยู่ที่ 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าปกติค่อนข้างมาก ประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอต่อประชากรวัยทำงานเช่นเดียวกับประชากรวัยอื่น ๆ โดยในภาพรวมพบว่าลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 54.7 หรือลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2562 [2]

โดยกิจกรรมที่ทำเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ 1) การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตเพื่อความบันเทิง เช่น ดูหนัง ละคร ฟังเพลง เป็นต้น 2) การดูทีวี 3) การนั่งทำงาน นั่งประชุม หรือนั่งเรียน ทั้งแบบปกติ และแบบออนไลน์ และจากการสำรวจพบว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งเมื่อลดลงจะลดลงครั้งละประมาณ 10-20 นาที แต่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มครั้งละ 30-40 นาที ซึ่งเป็นรูปแบบของการถอยลดแล้วพุ่งสูงขึ้นเพื่อเพิ่มค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving average) นั่นหมายความว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ระยะเวลาเฉลี่ยพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 15 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะนำมาสู่อุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น [2]

นอกจากนี้ยังพบว่าการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานานก่อให้เกิดกระบวนการอักเสบระดับต่ำแบบเรื้อรัง [4-7] เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดสารก่อความเป็นพิษ หรือ ไคนูเรนีน (Kynurenine: KYN) ในร่างกายและสมองของเรา เมื่อมีการสะสมของไครูเรนีนในปริมาณสูงก็นำมาซึ่งภาวะความเครียด และซึมเศร้า ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก KYN สามารถผ่านตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (Blood-brain barrier) ได้ดี[3] จึงสามารถเข้าไปกระตุ้นการเกิดความเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) [4] และภาวะเอ็กไซโททอกซิก (Excitotoxicity)[5, 6] ส่งผลทำให้เกิดการตายของเซลล์ประสาท และทำให้การทำงานของระบบประสาทและสมองเกิดการเสื่อมถอย ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า (Depressive symptoms) ทั้งความรู้สึกไม่มีแรงกระตุ้น เฉื่อยชา ขาดโฟกัส วิตกกังวล ฯลฯ [7-9] และความบกพร่องทางการรู้คิด (Cognitive impairment) เช่น ประสิทธิภาพเรื่องยับยั้งชั่งใจ ความจำ สมาธิจดจ่อ ความคิดเชิงบริหารแย่ลง [10-13] นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าบุคคลที่มีภาวะความสามารถของสมองบกพร่องเล็กน้อย (Mild cognitive impairment)นี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติที่จะกลายเป็นโรคสมองเสื่อมตามมาได้ [14]

ซึ่งพบว่าในปัจจุบันมีการให้ความสำคัญและพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความบกพร่องทางการรู้คิด (Cognitive function) ในผู้ป่วยเพื่อหาแนวทางการรักษาและป้องกันเนื่องจากปัจจุบันยังขาดแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แม้ปัจจุบันพบว่าจะประสบความสำเร็จในการรักษาอาการทางจิตแล้ว[15, 16] นอกจากนี้ความบกพร่องทางการรู้คิดยังถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยขาดความสามารถในการประกอบอาชีพ เข้าสังคม และการหารายได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าความบกพร่องทางการรู้คิดประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขซึ่งการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจส่งผลได้ดังเช่นที่กล่าวไว้

ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ที่รายงานจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าที่เข้ามารับบริการที่สถานพยาบาลช่วงสามปีย้อนหลังปี 2561-2563 จำนวน 467,085, 905,286 และ 1,092,113 ราย ตามลำดับ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทะลุจำนวนหนึ่งล้านราย นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้พยายามฆ่าตัวตายที่เข้ามารับบริการที่สถานพยาบาลก็มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกันจากปี 2562 จำนวน 513 ราย ต่อมาปี 2563 ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิดเพิ่มขึ้นถึง 24,148 ราย และปี 2564 ขณะนี้พบ 20,440 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ [17]

จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้วิถีชีวิตของทุกช่วงวัยเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พบทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความเครียดของคนไทย ข้อมูลผลการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพของประชากรไทยในปี 2563 และ 2564 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เมื่อเปรียบเทียบร้อยละความเครียดและวิตกกังวลในแต่ละช่วงวัยของคนไทยระหว่างปี 2563 กับ 2564 พบว่ากลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง18-59 ปี มีร้อยละของความเครียดและวิตกกังวลในระดับมากและมากที่สุดรวมกันเพิ่มขึ้นจากปี 2563 มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ ซึ่งพบว่ากลุ่มพนักงานเอกชนที่มีความเครียดและวิตกกังวลระดับมากส่วนใหญ่มีลักษณะการทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมง [18] ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าลักษณะการทำงานที่เป็นลักษณะทั่วไปไม่ได้ใช้ทักษะมาก เช่น พนักงานบริษัท รวมถึงผู้ที่มีอาการซึมเศร้าสูงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นภาวะสมองเสื่อมได้ [19, 20] ซึ่งนั้นจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการดำเนินชีวิต ทั้งในแง่พฤติกรรม อารมณ์ และการรับรู้ รวมถึง คุณภาพชีวิต (Quality of life) โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มนี้ได้ในอนาคต

จากข้อค้นพบข้างต้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบกิจกรรมนโยบายที่จะสามารถมาช่วยเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายและลดการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแบบแผนของประเทศออสเตรเลียที่ได้ดำเนินกำหนดเป็นแนวทางร่วมกันของคนในประเทศเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในสถานที่ทำงาน [21] ดังนี้

1. วางแผน พัฒนา และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

- กำหนดให้มีการแสดงข้อความเตือนที่กระตุ้นให้ผู้คนใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ในทุกที่ที่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดและยังมีประสิทธิภาพ

- สร้างเส้นทางเดินรอบนอกสถานที่ทำงานหรือเส้นทาง “เส้นสีแดง” เพื่อส่งเสริมการเดินไปรับประทานอาหารช่วงพักกลางวัน รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายและพื้นที่สำหรับออกกำลังกายในสถานที่ทำงาน

- จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก (เช่น ห้องอาบน้ำ ล็อกเกอร์ และที่จอดจักรยานแบบปลอดภัย) ในสถานที่ทำงานเพื่อเพิ่มการเดินทางแบบใช้จักรยาน หรือ active transport รวมถึงการมีกิจกรรมทางกาย

- จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการมีกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงานที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนในการเข้าถึงสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สโมสรกีฬา รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

- สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในที่ทำงาน เช่น โต๊ะทำงานที่ปรับความสูงได้ หรือจัดให้มีการใช้โต๊ะแบบยืนในห้องประชุมและพื้นที่ส่วนกลาง และควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้บันได รวมทั้งสนับสนุนให้ใช้ถังขยะและเครื่องพิมพ์เอกสารแบบส่วนกลาง

- การสร้างทางเลือกในมีทั้งการนั่งและยืนในสถานที่ที่มีการปฏิสัมพันธ์กันในแต่ละวัน เช่น สถานที่ขนส่งสาธารณะ สถานที่ทำงาน และในบ้าน รวมถึงการจัดหาเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับความสูงได้ เช่น โต๊ะที่ทำงาน

2. การจัดกิจกรรมร่วมกันแบบสังคมและชุมชนเพื่อช่วยส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายก่อน ระหว่าง และหลังเลิกงาน

- กำหนดให้มีเวลาสำหรับการมีกิจกรรมทางกายช่วงพัก เช่น การจัดกลุ่มเดินไปรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน

- สนับสนุนให้มีตัวแทนเพื่อทำหน้าที่เป็นแบบอย่างในการเป็นต้นแบบพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมการยืนช่วงพักเบรก รวมถึงการมีส่วนร่วมในโปรแกรมการมีกิจกรรมทางกาย

- จัดหาสิ่งจูงใจที่ช่วยสนับสนุนให้พนักงานเลือกใช้การเดินทางรูปแบบอื่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมมากขึ้น (เช่น บริการจักรยานฟรี) ในขณะเดียวกันก็ให้มีการลดแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่

3. ส่งเสริมให้พนักงานเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเลิกงาน

- จัดหาและเผยแพร่ชุดข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับข้อดีของการมีกิจกรรมทางกายรวมถึงการแนะนำแนวทางในการเข้าถึงโปรแกรมการออกกำลังกายต่าง ๆ

- ส่งเสริมให้มีการใช้บันไดรวมถึงการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นในที่ทำงานหรือบริเวณใกล้เคียงสถานที่ทำงาน

- การสื่อสารถึงผลกระทบต่อสุขภาพของการนั่งเป็นระยะเวลานานๆติดต่อกัน เช่น การใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อส่งเสริมการยืนระหว่างทำงานโดยให้มีการพักหน้าจอ

- การใช้เทคโนโลยีในมือถือและโซเชียลมีเดียในการกระตุ้นส่งเสริมให้มีการพักเบรกระหว่างทำงานแบบมีส่วนร่วมกันและไม่มีการกำหนดรูปแบบ รวมถึงช่วยส่งเสริมให้เพิ่มการมีส่วนร่วมในโปรแกรมกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น

- ส่งเสริมการใช้ Active Travel สำหรับการเดินทางไปที่ทำงาน (สำหรับตลอดการเดินทางหรือบางเส้นทาง)

- การสร้างการรับรู้ถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จะช่วยให้สังคมดีขึ้น เช่น โปรแกรม Travel Smart Workplace

- สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ “พลวัต” โดยลดการนั่งให้น้อยลงและเพิ่มการเคลื่อนไหวให้มากขึ้นจนเป็นบรรทัดฐานทางสังคมในที่ทำงาน

4. กำหนดนโยบายช่วยลดระยะเวลาของพนักงานที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน

- พัฒนานโยบายจากข้อมูลพื้นฐานและผลวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมตามบริบทในการนำไปใช้ของแต่ละสถานที่ทำงานเกี่ยวกับแนวทางในการลดระยะเวลาการนั่งที่เป็นช่วงเวลานาน

- รวบรวมแนวทางการลดเวลาการนั่งและพฤติกรรมการอยู่ประจำที่ในนโยบายและแนวทางการปฏิบัติระดับชาติเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับการป้องกันโรคเรื้อรัง โดยอ้างอิงจากแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (เช่น กรอบการทำงานส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานขององค์การอนามัยโลก) ทั้งระดับองค์กร บุคคล และสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการนั่งเป็นช่วงเวลานาน

- พัฒนานโยบายในสถานที่ทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถระหว่างการทำงานจากท่านั่งสลับเป็นยืนให้กลายเป็นเรื่องปกติในที่ทำงาน ตลอดจนการจัดสรรงานและการกำหนดเวลาพักเพื่อให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดทั้งวัน

- กำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและสื่อสนับสนุนในสถานที่ทำงานเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนำไปสู่การลดระยะเวลานั่งทำงานเป็นเวลานาน

5. การสอดแทรกกิจกรรมให้อยู่ในบริบททางสังคมและชุมชนเพื่อลดการนั่งเป็นเวลานาน

- ปรับกิจกรรมในสถานที่ทำงานที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการนั่งเป็นเวลานานเพื่อทำให้มีการปรับเปลี่ยนท่านั่งนาน (เช่น การยืนและการยืดเหยียด)

- พัฒนาต่อยอดความคิดริเริ่มหรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่สามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการนั่งเป็นเวลานาน ๆ โดยคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนไม่สูงมาก เช่น การให้คะแนนกับผู้ที่ใช้ทางเลือกแบบกระฉับกระเฉงเพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน การประชุมแบบการยืนหรือการเดิน รวมถึงการสร้างวาระการประชุมแบบยืน

- พัฒนาเกณฑ์การลดระยะเวลาอยู่ประจำที่เป็นเวลานานเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับหลากหลายปัจจัยทั้งสิ่งแวดล้อม ความต้องการในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งปัจจัยเรื่องของสุขภาพที่แตกต่างกัน 

- ให้ความรู้พนักงานถึงวิธีการใช้อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับระดับความสูงได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดทั้งด้านพฤติกรรมและการยศาสตร์

ภายใต้สถานการณ์ที่ประชากรไทยรวมถึงประชากรทั่วโลก มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและพบว่ามีระดับเกณฑ์เกินแนะนำของหน่วยงานทางด้านสุขภาพ ซึ่งจะส่งกระทบทั้งต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงคุณภาพการใช้ชีวิตการทำงานที่แย่ลงตามมา การหาแนวทางแก้ไขเพื่อบรรเทาขนาดของปัญหานั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยมุ่งเน้นทั้งในระดับบุคคล องค์กร ชุมชน และนโยบายที่เกี่ยวข้องนั้นคาดว่าจะเป็นแนวทางที่จะสามารถตอบโจทย์ของประเทศในการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในกลุ่มวัยทำงาน และสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพในทุกมิติของประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและยั่งยืนบรรลุยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่ให้คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 และสร้างให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน

 


เอกสารอ้างอิง

1. Pate, R.R., J.R. O'Neill, and F. Lobelo, The Evolving Definition of "Sedentary". Exercise and Sport Sciences Reviews, 2008. 36(4).

2. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ส.แ.ข., การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์กิจกรรมทางกายระดับประเทศไทยระยะเวลา 9 ปี. 2555-2563: ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย.

3. Fukui, S., et al., Blood–Brain Barrier Transport of Kynurenines: Implications for Brain Synthesis and Metabolism. Journal of Neurochemistry, 1991. 56(6): p. 2007-2017.

4. Reyes-Ocampo, J., et al., Mitochondrial dysfunction related to cell damage induced by 3-hydroxykynurenine and 3-hydroxyanthranilic acid: Non-dependent-effect of early reactive oxygen species production. Neurotoxicology, 2015. 50: p. 81-91.

5. Amori, L., et al., On the relationship between the two branches of the kynurenine pathway in the rat brain in vivo. Journal of Neurochemistry, 2009. 109(2): p. 316-325.

6. Anderson, G., et al., Role of immune-inflammatory and oxidative and nitrosative stress pathways in the etiology of depression: therapeutic implications. CNS Drugs, 2014. 28(1): p. 1-10.

7. O'Connor, J.C., et al., Lipopolysaccharide-induced depressive-like behavior is mediated by indoleamine 2,3-dioxygenase activation in mice. Mol Psychiatry, 2009. 14(5): p. 511-22.

8. Baranyi, A., et al., Quinolinic Acid Responses during Interferon-α-Induced Depressive Symptomatology in Patients with Chronic Hepatitis C Infection - A Novel Aspect for Depression and Inflammatory Hypothesis. PLoS One, 2015. 10(9): p. e0137022.

9. Kruse, J.L., et al., Kynurenine metabolism and inflammation-induced depressed mood: A human experimental study. Psychoneuroendocrinology, 2019. 109: p. 104371.

10. Kindler, J., et al., Dysregulation of kynurenine metabolism is related to proinflammatory cytokines, attention, and prefrontal cortex volume in schizophrenia. Molecular Psychiatry, 2020. 25(11): p. 2860-2872.

11. Meier, T.B., et al., Relationship between neurotoxic kynurenine metabolites and reductions in right medial prefrontal cortical thickness in major depressive disorder. Brain Behav Immun, 2016. 53: p. 39-48.

12. Ramos-Chávez, L.A., et al., Low Serum Tryptophan Levels as an Indicator of Global Cognitive Performance in Nondemented Women over 50 Years of Age. Oxidative Medicine and Cellular Longevity, 2018. 2018: p. 8604718.

13. Hoang, T.D., et al., Effect of Early Adult Patterns of Physical Activity and Television Viewing on Midlife Cognitive Function. JAMA Psychiatry, 2016. 73(1): p. 73-79.

14. arias, S.T., et al., Progression of mild cognitive impairment to dementia in clinic- vs community-based cohorts. Arch Neurol, 2009. 66(9): p. 1151-7.

15. Bowie, C.R. and P.D. Harvey, Cognitive deficits and functional outcome in schizophrenia. Neuropsychiatric disease and treatment, 2006. 2(4): p. 531-536.

16. Li, H., et al., Cognitive intervention for persons with mild cognitive impairment: A meta-analysis. Ageing Res Rev, 2011. 10(2): p. 285-96.

17. MOPH. ร้อยละของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการ. 2019-2021  [cited 2021; Available from: https://hdcservice.moph.go.th/hdc/reports/report.php?source=pformated/formatg.php&cat_id=ea11bc4bbf333b78e6f53a26f7ab6c89&id=706b605192b49d385ba044350af9c46a.

18. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, ข้อมูลผลการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพของประชากรไทยในปี 2563 และ 2564. 2563-2564, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

19. Stern, Y., et al., Influence of education and occupation on the incidence of Alzheimer's disease. Jama, 1994. 271(13): p. 1004-10.

20. Rattanawat, W., D. Nakawiro, and P. Visajan, ความชุกของภาวะความสามารถของสมองบกพร่อง เล็กน้อยในบุคลากรโรงพยาบาลช่วงวัยก่อนเกษียณ. Journal of the Psychiatric Association of Thailand, 2018. 63(1): p. 55-64.

21. Plotnikoff, R., Healy, G., Morgan, P., Gilson, N., Kennedy, S., Blueprint for an active Australia, N.H.F.o. Australia, Editor. 2019.

คลิปวิดีโอของสำนัก

 

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย