22 พฤศจิกายน 2564

กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม

4099

ความเหลื่อมล้ำของการมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทย

องค์การอนามัยโลกระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมทางกายทั้งในมิติด้านสุขภาพกายและจิต รวมถึงได้เปิดเผยให้เห็นถึงความเปราะบางและความเหลื่อมล้ำทางโอกาสสำหรับชุมชนและผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เท่าเทียมกัน อันสะท้อนให้เห็นถึงความแยกส่วน ความไม่เท่าเทียม และความไม่เป็นธรรมของระบบส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เป็นอยู่ และสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง (1) จึงได้ทำการแถลงการณ์และเปิดตัว Fair Play Brief ขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อสรุปการดำเนินการดังกล่าวเป็นวาระสำคัญที่ประเทศสมาชิกได้ให้ความสำคัญและนำสู่การออกแบบและดำเนินการเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้มีความเป็นธรรมและเสมอภาคมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอกสารสรุปเชิงสถานการณ์ฉบับนี้ จึงได้ทำการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงสถานการณ์เพื่อสะท้อนให้เห็นในเบื้องต้นว่า มีประชากรกลุ่มใดบ้างที่เป็นกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในมิติของกิจกรรมทางกาย (เคลื่อนไหวน้อย) เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวใช้ประกอบการทำความเข้าใจและออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับการจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม


ประชากรทุกคนควรมีโอกาสอย่างเป็นธรรมในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างเท่าเทียม

ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้เผยแพร่เอกสาร Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people” โดยชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงสถานการณ์ของความเหลื่อมล้ำทางด้านกิจกรรมทางกายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรต่างๆ ในระดับสากลดังต่อไปนี้ (1) (2) (3)

“ผู้ใหญ่ 1 ใน 4 และเด็กและวัยรุ่น 4 ใน 5 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ”

“ผู้สูงอายุหรือผู้พิการขาดโอกาสการเข้าถึงการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม”

“ผู้หญิงมีวิถีกระฉับกระเฉงน้อยกว่าผู้ชาย”

“กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงขาดการมีกิจกรรมทางกายมากกว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ”

ขณะที่สถานการณ์ความเท่าเทียมของการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยสอดคล้องและมีทิศทางเดียวกันกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมเช่นเดียวกัน ข้อค้นพบเหล่านี้ล้วนเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นานาประเทศต้องดำเนินการให้ประชากรทุกคนมีโอกาสอย่างเป็นธรรมในการได้รับส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างเท่าเทียม เพื่อเสริมสร้างให้ประชากรทั่วโลกมีสุขภาวะที่ดีตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)


สถานการณ์ภาพรวมของการมีกิจกรรมทางกายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์พฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยได้ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 เป็นช่วงเวลาที่ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คือ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ร้อยละ 74.6 โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ซึ่งขณะนั้นคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 66.3 (4)

ทว่าในช่วงปี 2563 และ 2564 ทั่วโลกต่างต้องเผชิญต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่ส่งผลกระทบต่อมิติทางสุขภาพในหลายประการ รวมถึงผลกระทบต่อสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากร โดยในปี 2563 การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 54.3 ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเร่งฟื้นระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้กลับมาดังเดิม เพื่อเสริมสร้างวิถีการมีสุขภาวะที่ดีพร้อมกับปรับตัวอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ต่อไป และในปี 2564 นี้เอง จึงส่งผลทำให้ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นร้อยละ 63.0 ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยให้กลับมาเป็นเช่นเดิม (4)

จากสถานการณ์พฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยข้างต้น ในเอกสารสรุปเชิงสถานการณ์ฉบับนี้ จะขอหยิบยกมิติความเหลื่อมล้ำในมิติของลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะเป็นตัวกำหนดและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเห็นถึงความสำคัญและมีข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการออกแบบและกำหนดทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
 

5 กลุ่มประชากรที่กำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำด้านการมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทย

ข้อมูลจากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระหว่างปี 2555 ถึง 2564 ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมและส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย พบว่า สอดคล้องกับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาเหตุทางลักษณะทางประชากรไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเพศ ช่วงวัย ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ และการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ล้วนแต่มีอิทธิพลหรือความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ (4) (5)
ดังรายละเอียดที่น่าสนใจต่อไปนี้

ผู้หญิงไทยมีอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

ข้อมูลจากการสำรวจยืนยันว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมาโดยตลอด โดยพบว่าผู้หญิงมีกิจกรรมทางกายใกล้เคียงกับผู้ชายมากที่สุดในปี 2557 (ผู้ชายร้อยละ 61.9, ผู้หญิงร้อย 59.9) ซึ่งเป็นช่วงของระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยในภาพรวมไม่สูงมากนัก และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2564 สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้ชายก็ยังคงสูงกว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 6.3 (ผู้ชายร้อยละ 66.3, ผู้หญิงร้อยละ 60.0) ซึ่งยืนยันได้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์ทางสังคมจะเป็นเช่นไร ความแตกต่างทางเพศยังคงเป็นปัจจัยความเหลื่อมล้ำทางด้านกิจกรรมทางกายที่สำคัญ ผู้หญิงไทยยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเคลื่อนไหวและมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

แม้ว่าผู้หญิงร้อยละ 44.3 จะเคยได้รับรู้เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารการรณรงค์ให้ความรู้ด้านสุขภาพใกล้เคียงกับผู้ชาย แต่พบว่าเมื่อมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายของชุมชนผู้ชายมักจะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ถึงร้อยละ 66.3 ในขณะที่ผู้หญิงเข้าร่วมเพียงร้อยละ 53.0 เท่านั้น ตลอดจนการใช้พื้นที่และอุปกรณ์ที่ส่งเสริมการทำกิจกรรมทางกายนั้นพบว่าผู้ชายใช้พื้นที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในชุมชนมากกว่าผู้หญิงเช่นเดียวกัน

ความแตกต่างเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้หญิงยังคงน้อยกว่าผู้ชาย ดังนั้น ในการส่งเสริมหรือสนับสนุนดังกล่าว หากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการจัดทำชุดความรู้ ออกแบบกิจกรรม จัดสรรพื้นที่รวมถึงอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้หญิง อาจจะช่วยทำให้ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงโอกาสอย่างเป็นธรรมในการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอมากยิ่งขึ้น


เด็กและเยาวชน เป็นช่วงวัยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอน้อยที่สุด

หากเด็กและเยาวชนได้รับการดูแลด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา ให้เจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรงตามช่วงวัยที่ควรจะได้รับแล้ว ก็จะทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันหน้า แต่สถานการณ์ที่เด็กกำลังเผชิญขณะนี้กลับพบว่า มีเด็กไทยอยู่ในภาวะเตี้ย มีภาวะอ้วน และบางส่วนมีปัญหาผอม ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง พฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการใช้หน้าจอ รวมถึงการขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

จากการสำรวจข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน ในปี 2555 เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 24.9 เท่านั้น ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในปี 2564 ที่พบว่ามีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 24.2 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาผ่านมาปีที่ 10 กิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำแบบคงที่ ในขณะที่ระดับการมีกิจกรรมทางกายของวัยทำงานและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะลดลงมาบ้าง (วัยทำงานร้อยละ 66.8, ผู้สูงอายุร้อยละ 55.6) แต่ก็ยังคงสูงกว่ากลุ่มประชากรวัยเด็กและเยาวชนอยู่มาก

ทั้งนี้พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารการรณรงค์ให้ความรู้สุขภาพต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย และเล่นกีฬา (รับรู้ข้อมูลร้อยละ 31.1) ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในโรงเรียนและสถานศึกษา อาจจะนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา ให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงตามช่วงวัย


กลุ่มคนที่ไม่ได้เรียน และเรียนน้อยมีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ประชากรที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้นมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่า (ระดับประถมศึกษาร้อยละ 54.2, ไม่ได้เรียนหนังสือร้อยละ 61.1, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 61.7 และตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมากกว่าร้อยละ 67.7) กลุ่มประชากรที่มีระดับการศึกษาน้อยกว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพมากกว่าการออกกำลังกาย ทำให้ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของกลุ่มประชากรที่ระดับการศึกษาน้อย มีน้อยกว่ากลุ่มประชากรที่มีระดับการศึกษาที่สูงกว่า

ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสที่เท่าเทียมต่อการเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จำเป็นจะต้องใช้การสื่อสารข้อมูลความรู้ที่หลากหลายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยรูปแบบการสื่อสารควรมีหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะด้วยข้อความหรือรูปภาพที่ครอบคลุมเข้าถึงง่าย ตลอดจนโฆษณาหรือคลิปวิดีโอ โดยให้ชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับบริบท อีกทั้งการสร้างความเข้าใจจำเป็นต้องอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกและผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนหรือศูนย์บริการทางสุขภาพคอยให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้คำปรึกษาแนะนำประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

 

ผู้ไม่มีงาน ไม่มีอาชีพ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่น

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา กลุ่มประชากรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือไม่ทำงานมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 46.5 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการส่งเสริมและสนับสนุนทางสุขภาพมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ข้าราชการบำนาญ เกษตรกรรม และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/ลูกจ้างส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 78.6, 74.4, 72.4 และ 71.2 ตามลำดับ) จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างอยู่ประมาณร้อยละ 30

เนื่องจากลักษณะของการทำงานที่เป็นการใช้พละกำลังแรงกายหรือออกแรงในการทำงานระหว่างประกอบอาชีพ อีกทั้งในกลุ่มของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่สามารถจัดการเวลาของตนเองในระหว่างวัน หรือช่วงหลังเลิกงานที่เอื้อต่อการออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายมากกว่า รวมถึงในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายกลุ่มอาชีพต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ในทางกลับกันมีหลายกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นผู้ที่ไม่มีอาชีพและไม่ได้ทำงานจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงรายได้และเข้าถึงปัจจัยที่ส่งเสริมทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

ดังนั้น แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางประชากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เช่นนี้ คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน จำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมีโอกาสเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ พื้นที่ และอุปกรณ์ได้อย่างปลอดภัย เข้าถึงง่าย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือราคาไม่แพง เพื่อให้กลุ่มคนที่ไม่มีงานทำและไม่ได้ประกอบอาชีพได้เข้าถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายที่เท่าเทียม เพื่อการมีสุขภาพและมีสุขภาวะที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อไป

 

กลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

เมื่อวิเคราะห์จำแนกตามกลุ่มระดับรายได้ พบว่า ประชากรที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่มที่ไม่มีรายได้จะมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่ากลุ่มรายได้อื่น ๆ (กลุ่มที่ไม่มีรายได้ร้อยละ 51.5, กลุ่มที่มีรายได้น้อยร้อยละ 59.3, กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000-30,000 บาทร้อยละ 69.1 และกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปร้อยละ 72.0)

จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยด้านระดับรายได้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อโอกาสการเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เช่น ความสามารถในการจัดสรรเวลา ค่าใช้จ่าย จัดหาอุปกรณ์ และการเข้าถึงพื้นที่สุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมากกว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย

ดังนั้น แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีแก่ประชากรที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้มีโอกาสเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ พื้นที่ และอุปกรณ์ได้อย่างปลอดภัย เข้าถึงง่าย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีราคาที่ไม่แพง เพื่อให้กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้เข้าถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายที่เท่าเทียม รวมไปถึงการสื่อสารความรู้เกี่ยวกับแนวทางการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอที่บ้านหรือบริเวณรอบ ๆ ชุมชน เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงชุดความรู้เพื่อนำไปปฏิบัติให้มีสุขภาวะที่ดี

 

ความท้าทายในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย

สถานการณ์ด้านการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำอันนำไปสู่การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอในกลุ่มประชากรอย่างน้อย 5 กลุ่ม กล่าวคือ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน ผู้ได้รับการศึกษาน้อย ผู้ไม่มีอาชีพ และผู้มีรายได้น้อย ด้วยเหตุนี้ เพื่อการจัดการกับความไม่เท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำให้ประชากรไทยทุกคนมีโอกาสอย่างเป็นธรรมในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างเท่าเทียม ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินงานและขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และการเล่นกีฬา การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ประชากรทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ โดยอาจพิจารณาตามคำแนะนำจากเอกสาร “Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people” ที่จัดทำและเผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) 3 ประการ (1) ดังต่อไปนี้

1. การสื่อสารและรณรงค์ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ทั้งสื่อหลักที่สร้างการรับรู้ในวงกว้างระดับสาธารณะ การสื่อสารที่ออกแบบให้เหมาะสมและหลากหลายผ่านข้อความและรูปภาพเพื่อความเหมาะกับความหลากหลายของชุมชนอย่างมีประสิทธิผลต่อการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน

2. การจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ และพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัยและราคาไม่แพง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น

3. การจัดให้มีกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม หลากหลาย ครอบคลุมการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันโดยสอดคล้องกับระดับความสามารถที่แตกต่างกันในแต่ละคน เพื่อประสบการณ์ที่สนุกสนานและคุ้มค่าให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องร่วมมือกันเร่งดำเนินการ (1) ดังต่อไปนี้

1. ภาครัฐ หน่วยงานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสนับสนุนสำหรับการมีกิจกรรมทางกาย จำเป็นต้องมีกลไกการจัดหาเงินทุนที่หลากหลายเพื่อการลงทุนที่มุ่งลดความไม่เท่าเทียมกันของโครงสร้างให้มีความยั่งยืนและบูรณาการมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนผู้ที่อยู่ในกลุ่มความไม่เท่าเทียมที่กล่าวมาในข้างต้นให้มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางกายอย่างเท่าเทียมเพื่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

2. กำกับดูแล นโยบาย กฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัย การเข้าถึง ลดค่าใช้จ่ายในการมีกิจกรรมทางกาย เช่น กำหนดมาตรฐานการเดินเท้า การปั่นจักรยานให้มีคุณภาพและปลอดภัย การจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น  สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การออกกำลังกายกลางแจ้งภายในชุมชน และรัฐบาลควรใช้นโยบายและกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย เล่นกีฬา และสร้างจูงใจให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายผ่านสถานที่ พื้นที่และบริการที่จัดเตรียมขึ้นไว้

3. บูรณาการระบบการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการมีกิจกรรมทางกายอย่างมีประสิทธิผลผู้ขับเคลื่อนนโยบายด้านกิจกรรมทางกายต้องจัดทำโมเดลความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการมีกิจกรรมทางกายที่ยั่งยืนและวัดผลได้ จัดทำแคมเปญโดยการศึกษาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้ครอบคลุมเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมีการบริการสุขภาพในระดับชุมชนและในการให้บริการด้านสุขภาพระดับโรงเรียน รวมถึงการจัดทำระบบข้อมูลแบบบูรณาการใช้ในการประเมินผลการทำงาน

จากข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม รวมถึงความท้าทายการขับเคลื่อนงานด้านกิจกรรมทางกายที่ทุกคนควรมีโอกาสอย่างเป็นธรรมในการได้รับส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเท่าเทียมข้างต้น แม้ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายจะไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายมากนัก แต่จากการศึกษาที่พบว่า ความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของการมีกิจกรรมทางกาย อันประกอบไปด้วย 1) ความแตกต่างทางสถานะสุขภาพหรือการกระจายทรัพยากรด้านสุขภาพระหว่างกลุ่มประชากร 2) เด็กจากชนบทและครัวเรือนที่ยากจน 3) ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน 4) การเป็นโรคที่มักจะเกิดกับความยากจน 5) การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง 6) การมีอายุคาดเฉลี่ยของประเทศที่มีรายได้ต่ำกับประเทศที่มีรายได้สูง 7) ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพประชากรภายในประเทศ 8) ความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพในเขตเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลาย 9) การมีค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ และ 10) การพัฒนาที่ล่าช้าไม่ทันต่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นชุมชนและเมืองที่ส่งเสริมทางสุขภาพดีที่ยั่งยืน (5) (6)

จากปัจจัยที่กำหนดภาวะสุขภาพตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งปัจจัยปัจเจกบุคคล สภาพแวดล้อม รวมถึงระบบบริการสุขภาพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันและส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ นโยบายด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ (7) ซึ่งความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพเหล่านี้จะมีความสอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์การขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรทั่วโลก (2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมไปในทิศทางเดียวกัน ที่เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาให้คลี่คลายลง

 


อ้างอิง

1. World Health Organization. (2021). Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people. Retrieved from https://www.who.int/publications/i/item/WHO-HEP-HPR-RUN-2021.1

2. Guthold R, et al. (2018). Worldwide trends in insufficient physical activity from 2001 to 2016: a pooled analysis of 358 population-based surveys with 1.9 million participants. The Lancet Global health.2018;6(10):e1077-e86

3. Guthold R, et al. (2020). Global trends in insufficient physical activity among adolescents: a pooled analysis of 298 population-based surveys with 1.6 million participants. The Lancet Child & adolescent health. 2020;4(1):23-35

4. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (TPAK) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

5. World Health Organization. (2013a). Glossary of terms used. Retrieved from https://www.who.int/hia/about/glos/en/

6. World Health Organization. (2018). 10 facts on health inequities and their causes. Retrieved from https://www.who.int/news-room/facts-in-pictures/detail/health-inequities-and-their-causes

7. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2563). สังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม: การปลดล็อกความเหลื่อมล้ำสู่ความยั่งยืน. หนังสือรวมบทความเนื่องในวันสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ครบรอบ 66. สืบค้นวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564. แหล่งข้อมูล https://socadmin.tu.ac.th/uploads/socadmin/file_document/Proceedings%2066.pdf.

 

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย