14 มีนาคม 2565

กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม

3555

สถานการณ์การเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (8 Investment) ของประชากรไทย

แนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ภายใต้นโยบายการส่งเสริม PA ระดับสากลและระดับชาติ

พฤติกรรมทางสุขภาพของคนไทยที่ผ่านมานั้น ต้องเผชิญปัญหาความเสี่ยงและเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs (Noncommunicable diseases) ซึ่งข้อมูลเชิงสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพโดยรวมของประชากรไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเป็นที่น่ากังวล โดยในปี 2557-2561 สถานการณ์กลุ่มโรค NCDs (Noncommunicable diseases) ยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประชากรไทยทั้งในแง่ภาระโรคและอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคทางเดินหายใจอุดตัน ซึ่งปัญหาทางสุขภาพเหล่านี้ล้วนเกิดจากพฤติกรรมทางสุขภาพเสี่ยงและไม่เหมาะสมจาก 5 ปัจจัยหลัก อันได้แก่ 1) การบริโภคยาสูบ 2) การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3) การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม 4) การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และ 5) มลพิษทางอากาศและปัญหาสุขภาพจิต [1] ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่เหมาะสมและทำให้ลดพฤติกรรมจาก 5 ปัจจัยเสี่ยงหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ” จึงมีการบูรณาการความร่วมมือขององค์กรด้านสุขภาพ การขนส่งและคมนาคม สิ่งแวดล้อม กีฬาและนันทนาการ การศึกษา การผังเมือง วัฒนธรรมและท้องถิ่น ในการดำเนินงานส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสำหรับทุกคน เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนกับประชากรไทยภายใต้กฎบัตรโตรอนโตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

จากการดำเนินงานดังกล่าว สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยมีทิศทางและแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2555 พบว่า ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพียง ร้อยละ 66.3 และปี 2562 ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายสูงที่สุดถึงร้อยละ 74.6 และลดลงต่ำสุดเป็นร้อยละ 54.3 ในช่วงปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในปี พ.ศ. 2564 กิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 63.0 [2] ซึ่งกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ล้วนเกิดจากการดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมกิจกรรมทางกายภายใต้ความร่วมมือขององค์กรภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรชุมชน ผลักดันไปสู่นโยบายสาธารณะและเกิดเป็นแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับชาติ พ.ศ. 2561-2573 ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโลก (Global Action Plan on Physical Activity 2018-2030) โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนการสร้างบรรทัดฐานสังคมที่ไม่เนือยนิ่ง (Active societies) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active environments) สร้างโอกาสต่อการมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคล (Active people) และสร้างระบบที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active systems)  ซึ่งถือได้ว่าการผลักดันด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายดังกล่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการมีฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยยังคงมีแนวโน้มไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจ

 

การลงทุนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการ

ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านนโยบายการส่งเสริมสุขภาพมาเป็นระยะเวลายาวนาน ขณะที่นโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายมีแนวทางชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้าร่วมลงนามในกฎบัตรโตรอนโต เมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งมีพันธกิจในการสนับสนุนการมีสุขภาวะดีด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับทุกคน ส่งผลให้เกิดนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่สำคัญระดับชาติ ได้แก่ แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งถือว่าการผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เป็นรูปธรรม สามารถส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ด้วยการดำเนินงานขับเคลื่อน 4 กลยุทธ์ ได้แก่ Active societies, Active environments, Active people และ Active systems และในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

The International Society for Physical Activity and Health หรือ “ISPAH” ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิผล โดยทุกประเทศสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการลงทุนทางนโยบายให้เหมาะสมกับความซับซ้อนทั้งด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและบริบทของประเทศ โดยพบว่า การลงทุนที่คุ้มค่าและเหมาะสมต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรทั่วโลก มี 8 ประการ อันได้แก่ 1) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ (Whole-of-School Programmes) 2) การสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active Travel / Transport) 3) การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) 4) การบริการสุขภาพ (Healthcare) 5) การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) 6) การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) 7) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (Work Places) และ 8) ส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-wide Programmes) [3] ซึ่งกลยุทธ์ในการลงทุนส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกาย 8 ประการของ ISPAH นี้ มุ่งหวังที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาครัฐ องค์กร หน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปดำเนินงานด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเท่าทันต่อสถานการณ์การขาดกิจกรรมทางกายทั้งในสถานการณ์ปกติและในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

การเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยการลงทุน 8 ประการ ของประชากรไทย

ตลอดระยะเวลา 10 ที่ผ่านมา แม้ข้อมูลเชิงสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าเป็นผลมาจากนโยบายที่ดำเนินการขับเคลื่อนส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อสะท้อนให้เห็นสถานการณ์การเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการ ของประชากรไทยมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2564 ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของตัวแทนประชากรไทยเกี่ยวกับการเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของคนไทย 8 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ การสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่น การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน และส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจากการวิเคราะห์การเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการของประชากรไทย ในปี พ.ศ. 2564 พบว่า ประชากรไทยเข้าถึงการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการ ในภาพรวมอยู่ในระดับเกรด C+ (ร้อยละ 58.3) และเมื่อทำการวิเคราะห์การลงทุนด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายรายกลยุทธ์ [2] สรุปได้ดังนี้

การเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ (Whole-of-School Programmes) พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะได้รับการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองและครู โรงเรียนมีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และชุมชนมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งการเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ อยู่ในระดับเกรด B- (ร้อยละ 64.5) [4]

การเข้าถึงการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active Travel / Transport) พบว่า ชุมชนทำการออกแบบเส้นทางเพื่อสนับสนุนการเดินเท้าและการใช้จักรยานเพื่อส่งเสริมการเดินสัญจร วิ่ง ออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน ซึ่งการเข้าถึงการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน อยู่ในระดับเกรด B- (ร้อยละ 66.3)

การเข้าถึงการออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) พบว่า ชุมชนหรือเมืองส่วนใหญ่จะออกแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เป็นสวนสาธารณะ สนามกีฬา ลานออกกำลังกายกลางแจ้งและสนามเด็กเล่นตามลำดับ ซึ่งการเข้าถึงการออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง อยู่ในระดับเกรด B+ (ร้อยละ 74.0)

การเข้าถึงการบริการสุขภาพ (Healthcare) พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนที่ไปใช้บริการสถานบริการสุขภาพจะได้รับความรู้ ข้อแนะนำ ทักษะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกายจากเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ซึ่งการเข้าถึงการบริการสุขภาพ อยู่ในระดับเกรด C (ร้อยละ 49.0)

การเข้าถึงสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) พบว่า ประชากรไทยส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพและกิจกรรมทางกายจากโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย สื่อต่าง ๆ ของ สสส. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล อินเทอร์เน็ตทั่วไป และสื่อสถานศึกษา ตามลำดับ ซึ่งการเข้าถึงสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน อยู่ในระดับเกรด C- (ร้อยละ 44.2)

การเข้าถึงการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน ( Sports and Recreation for All) พบว่า ส่วนใหญ่ชุมชนมีการจัดกิจกรรมการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา ตลอดจนมีการเตรียมสนามกีฬาและพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬาในชุมชน จัดกิจกรรมรณรงค์การใช้จักรยาน จัดการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ในชุมชน ตามลำดับ ซึ่งการเข้าถึงการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน อยู่ในระดับเกรด C+ (ร้อยละ 59.2)

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (Work Places) พบว่า ส่วนใหญ่สถานที่ทำงานจะมีการสื่อสารรณรงค์การออกกำลังกาย มีการจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาสีภายในองค์กร จัดการสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย และรณรงค์ให้พนักงานใช้บันไดแทนลิฟต์ตามลำดับ ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน อยู่ในระดับเกรด B- (ร้อยละ 62.6)

ในขณะที่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-wide Programmes) พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการส่งเสริมเชิงนโยบาย จัดสรรพื้นที่สุขภาวะ อุปกรณ์ให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายของประชาชน เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ สนามหญ้า อุปกรณ์ พื้นที่สำหรับออกกำลังกาย เป็นต้น และการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางเดินเท้าที่ปลอดภัย ทางจักรยาน ตลอดจน มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงมีการจัดทำแผนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน อยู่ในระดับเกรด C- (ร้อยละ 46.6) [5]

 

ตารางแสดงการเข้าถึงการลงทุน
ด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการ
ของประชากรไทย

จากข้อมูลสถานการณ์การเข้าถึงและการได้รับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ตามข้อแนะนำของ ISPAH สรุปได้ว่า ปัจจุบันการเข้าถึงการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการของประชากรไทย อยู่ในระดับเกรด C+  โดยมีกลยุทธ์ด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ประชาชนเข้าถึงและได้รับมากที่สุด ได้แก่ การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง (เกรด B+) การสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (เกรด B-) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ (เกรด B-) และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (เกรด B-) ตามลำดับ ในขณะที่กลยุทธ์ด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ประชาชนเข้าถึงและได้รับน้อยที่สุด ได้แก่ การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (เกรด C-) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (เกรด C-) การบริการสุขภาพ (เกรด C) และการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (เกรด C+) ตามลำดับ ดังนั้น จากข้อมูลเชิงสถานการณ์ดังกล่าวภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกระดับ ทั้งภาครัฐ องค์กร หน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ จำเป็นต้องลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายมากขึ้น ใน 4 กลยุทธ์ อันได้แก่ “การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน การส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การบริการสุขภาพ และการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน” เพื่อทำให้ประชากรไทยทุกเพศทุกวัยได้รับการเข้าถึงนโยบายต่าง ๆ ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่ครอบคลุม รอบด้าน เท่าเทียมอย่างเหมาะสม

 

การเข้าถึงและการไม่เข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กับระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย

ข้อมูลเชิงสถานการณ์การเข้าถึงหรือได้รับการลงทุนนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทำให้ทราบถึงสถานการณ์การเข้าถึงการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการของประชากรไทยในแต่ละนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเชิงสถานการณ์ไปใช้ในการจัดทำนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับประชากรที่ครอบคลุมทั้ง 8 ประการตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทย ซึ่งพบว่าประชากรที่เข้าถึงหรือได้รับการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มีระดับการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอมากกว่าประชากรที่ไม่ได้รับและไม่สามารถเข้าถึงนโยบาย ซึ่งเห็นถึงประสิทธิผลและความคุ้มค่าในการลงทุนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนนี้จะขอหยิบยกข้อค้นพบที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงการลงทุนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายส่งผลทำให้ประชากรที่เข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงนโยบายมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอแตกต่างกัน [2] เพื่อยืนยันถึงความคุ้มค่าในการลงทุนด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย อย่างน้อย 6 นโยบายหลัก ดังนี้

การได้รับข้อมูลข่าวสารจากการศึกษาเรียนรู้ และจากการสื่อสารสาธารณะ: การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรณรงค์ การให้ความรู้ทางสุขภาพรวมถึงด้านกิจกรรมทางกายจากช่องทางการเรียนรู้หรือช่องทางสื่อสารมวลชนต่าง ๆ  พบว่า ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 71.5 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับข้อมูลข่าวสารทางด้านสุขภาพและด้านกิจกรรมทางกาย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 57.5 ร้อยละ (มากกว่าร้อยละ 14.0)

ชุมชนหรือเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนสามารถใช้เดินและปั่นจักรยานเพื่อการสัญจร: ชุมชนที่ทำการออกแบบเส้นทางเพื่อสนับสนุนการเดินเท้า การใช้จักรยานแทนการขับรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ทำให้ผู้คนสามารถเดินสัญจร วิ่ง ออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน พบว่า ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 67.0 ในขณะที่ชุมชนที่ทำการออกแบบเส้นทางเพื่อการใช้จักรยานยนต์หรือรถยนต์เป็นหลัก ประชากรจะมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 55.3 (มากกว่าร้อยละ 11.7)

ชุมชนหรือเมืองที่ออกแบบสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการทำกิจกรรม เล่นกีฬา นันทนาการและการเคลื่อนไหวร่างกาย: ชุมชนที่พัฒนาสภาพแวดล้อมที่มีสนามกีฬา สถานบริการสุขภาพ สวนสาธารณะ พื้นที่ออกกำลังกาย อุปกรณ์สำหรับนันทนาการ มีเส้นทางสำหรับเดินและปั่นจักรยาน พบว่า ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 65.7 ในขณะที่ชุมชนหรือเมืองที่ไม่ได้พัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 55.5 (มากกว่าร้อยละ 10.2)

การได้รับบริการทางสุขภาพและมีการให้ความรู้ คำแนะนำ ทักษะเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกาย: การได้รับบริการทางสุขภาพโดยมีการให้ความรู้ ข้อแนะนำและทักษะเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายจากสถานบริการทางสุขภาพ พบว่า ประชากรที่ได้รับบริการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 66.3 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยไปใช้บริการทางสุขภาพ มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 56.7 (มากกว่าร้อยละ 9.6)

ชุมชนที่ส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬา จัดแข่งขันกีฬา จัดกิจกรรมนันทนาการ การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายในชุมชน: ชุมชนที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเล่นกีฬา การแข่งขันกีฬา กิจกรรมนันทนาการ การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายในพื้นที่ของชุมชน พบว่า ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 66.4 ในขณะที่ชุมชนที่ไม่ค่อยได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเล่นหรือแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 58.2 (มากกว่าร้อยละ 8.2)

สถานที่ทำงานส่งเสริม พื้นที่ สถานที่ อุปกรณ์และกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน: สถานที่ทำงานส่งเสริมและสนับสนุนให้มีสถานที่ พื้นที่ อุปกรณ์ และกิจกรรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในสถานที่ทำงาน พบว่า ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 67.9 ในขณะที่สถานที่ทำงานที่ไม่ค่อยได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนพื้นที่หรือกิจกรรมทางกาย ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ร้อยละ 65.8 (มากกว่าร้อยละ 2.1)

จากข้อมูลสถานการณ์ของประชากรที่ได้รับและเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สรุปได้ว่าการได้รับหรือการเข้าถึงการสนับสนุนหรือส่งเสริมด้านนโยบาย ส่งผลทำให้ระดับของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยมีมากกว่าประชากรที่ไม่ได้รับและไม่เข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (มากกว่าร้อยละ 14.0) การสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (มากกว่าร้อยละ 11.7) การออกแบบเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง (มากกว่าร้อยละ 10.2) การบริการสุขภาพ (มากกว่าร้อยละ 9.6) การส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (มากกว่าร้อยละ 8.2) และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (มากกว่าร้อยละ 2.1)  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของระดับการมีกิจกรรมทางกายระหว่างการเข้าถึงและได้รับกับการเข้าไม่ถึงและไม่ได้รับนโยบายของประชากรอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการลงทุนด้านนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกมิติ ล้วนมีความจำเป็นและความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยทั้งสิ้น และข้อมูลเชิงสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นมีความสอดคล้องกับแนวทางการลงทุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีความคุ้มค่าสูง (Best and Good Buy Interventions) ที่ควรดำเนินการตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านนโยบายการสื่อสารรณรงค์ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานศึกษา การส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชน และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของสถานที่ทำงาน [6,7]

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงการฉายภาพให้เห็นถึงประสิทธิผลของนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 มาตรการทางนโนยายที่มีต่อระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเท่านั้น หากต้องการทราบถึงความคุ้มค่าของการลงทุนมาตรการทางนโยบายให้เกิดทางเลือกทางนโยบายในเชิงลึก จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล (cost-effectiveness) เพื่อใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ไปสู่การเลือกมาตรการทางนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับประชากรไทยทุกเพศทุกวัย และเหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ต่อไป

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ข้อมูลสถานการณ์การเข้าถึงการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้ทราบถึงสถานการณ์การเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการของประชากรไทยในปัจจุบัน ตลอดจนการมีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นความแตกต่างของการมีกิจกรรมทางกายระหว่างประชากรที่เข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เปรียบเสมือนเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กร หน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปเป็นข้อมูลส่วนประกอบในการตัดสินใจเลือกนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้ง ข้อมูลเชิงสถานการณ์เหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เท่าทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วงสถานการณ์ปกติ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกับประชากรไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์การเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการของประชากรไทย และข้อมูลเชิงเปรียบเทียบความแตกต่างของการมีกิจกรรมทางกายระหว่างประชากรที่เข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายข้างต้น ยืนยันได้ว่าการเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของคนไทยในภาพรวม ดังนั้น เพื่อให้การลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายกับประชากรไทย มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนนี้ จึงขอนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ออกเป็น 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำหรับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ มุ่งเป้าหมายการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในระดับบุคคลมากยิ่งขึ้น เป็นนโยบายเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายด้วยตนเองเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทำกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมากให้น้อยลงเพื่อรักษามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยทุกภาคส่วนสามารถลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ถือว่ามีความคุ้มค่าและสอดคล้องกับสถานการณ์เช่นนี้ 4 นโยบาย ได้แก่

1. สนับสนุนและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media)  ส่งเสริมการให้ความรู้ ความเข้าใจและประโยชน์ที่จะได้รับเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย รวมไปถึงการส่งเสริมผ่านข้อมูลข่าวสารกิจกรรมทางกายและสุขภาพต่าง ๆ ผ่านโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ แรงบันดาลใจ ความเชื่อ ทัศนคติและความตั้งใจ เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพื่อยกระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรทุกเพศทุกวัยในสังคม

2. สนับสนุนและส่งเสริมการสัญจรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงทั้งการเดินหรือปั่นจักรยาน (Active Travel / Transport) การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงในการเดินทาง โดยการปรับเปลี่ยนทัศนียภาพให้เหมาะสม และดึงดูดการใช้งาน เช่น การวางผังเมือง การปรับทางเดินเท้า ทางจักรยาน และทางที่นำไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ ที่เข้าถึงได้ง่าย เชื่อมต่อกัน เพื่อเพิ่มอัตราการเดิน การปั่นจักรยาน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นการลดปัญหามลพิษได้ไปในตัวร่วมด้วย

3. สนับสนุนและส่งเสริมการออกแบบเมืองหรือชุมชนให้มีความกระฉับกระเฉง (Active Urban Design) ส่งเสริมการออกแบบและโครงสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ตอบสนองต่อการมีกิจกรรมทางกาย รูปแบบ Compact city ให้สามารถเชื่อมต่อกัน และเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงเรียน สถานบริการ สวนสาธารณะ อุปกรณ์นันทนาการ และมีถนนที่เชื่อมต่อกันในแต่ละสถานที่ เพื่อให้ผู้คนสะดวกต่อการเดินสัญจรและปั่นจักรยานไปยังจุดหมายหรือเอื้อให้สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ทุกที่ทุกเวลา

4. สนับสนุนและส่งเสริมด้านการบริการสุขภาพ (Healthcare) สนับสนุนนโยบายและระบบผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพให้มีความรู้และเกิดทักษะ สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้อง และเป็นส่วนหนึ่งของ Routine Care มีศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้ากับระบบบริการสุขภาพระดับชุมชน เพื่อส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการหรือกลุ่มกลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวน้อยในทุกระดับ

2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย หลังผ่อนคลายมาตรการหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง นอกเหนือจากการลงทุนด้านนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายข้างต้นที่ต้องดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่องแล้ว การลงทุนด้านนโยบายเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพื่อทำให้คนไทยทุกเพศทุกวัยได้เข้าถึงนโยบายต่าง ๆ ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่ครอบคลุม รอบด้าน เท่าเทียมอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านกิจกรรมทางกายเพิ่มอีก 4 นโยบาย อันได้แก่

5. สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเต็มรูปแบบ (Whole-Of-School Programmes) สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนกับกิจกรรมทางกายของเด็กในโรงเรียนในช่วงพัก หลังเลิกเรียน ช่วงปิดเทอม รวมไปถึงในชั้นเรียน เพื่อยกระดับให้เป็นห้องเรียนที่กระฉับกระเฉง จะสามารถส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้ในระยะยาว โดยสามารถกำหนดนโยบายที่สามารถทำได้โดยง่าย ให้ครูเป็นผู้นำหรือเป็นต้นแบบของนักเรียน และนักเรียนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม ในการช่วยกันให้เกิดกิจกรรมทางกายของทุกช่วงวัย และสามารถมีกิจกรรมทางกายได้ในทุกช่วงเวลา

6. สนับสนุนและส่งเสริมกีฬาและนันทนาการสำหรับทุกคน (Sports and Recreation for All) ส่งเสริมให้มีการดำเนินการจัดกีฬาและนันทนาการเพื่อมวลชน การสื่อสารมวลชนที่เน้นถึงประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ผลักดันให้กีฬาและนันทนาการเกิดเป็นบรรทัดฐานของสังคม เน้นให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบกิจกรรมหรือสร้างสรรค์พื้นที่ที่เอื้อประโยชน์และเข้าถึงได้ง่าย

7. สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-wide Programmes) สนับสนุนการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงาน องค์กร ทั้งระดับชุมชนหรือท้องถิ่น ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งองค์กรด้านกีฬา เพื่อร่วมมือดำเนินงานอย่างเป็นองค์รวมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแคมเปญรณรงค์ การจัดสภาพแวดล้อม ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายแก่ผู้คนในชุมชน

8. สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (Work Places) ส่งเสริมให้หน่วยงานมีโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ สร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของกิจกรรมทางกายและผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมด้านสุขภาพ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำหนดนโยบายขององค์กรและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูล สร้างพื้นที่ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายของคนวัยทำงาน

 


อ้างอิง

1. กระทรวงสาธารณสุข. (2562). รายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562. สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์. กลุ่มเทคโนโลยีระบาดวิทยาและมาตรการชุมชน กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

3. Milton K, Cavill N, Chalkley A, Foster C, Gomersall S, Hagstromer M, Kelly P, Kolbe-Alexander T, Mair J, McLaughlin M, Nobles J, Reece L, Shilton T, Smith BJ, Schipperijn J. Eight Investments That Work for Physical Activity. J Phys Act Health. 2021 May 14;18(6):625-630. doi: 10.1123/jpah.2021-0112. PMID: 33984836.

4. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2564). สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย พ.ศ. 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

5. กระทรวงสาธารณสุข. (2564). รายงานผลการสำรวจสถานการณ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายใน 5 setting. กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ (กลุ่มบริหารยุทธศาสตร์), กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.

6. Blanchard, Claire & Shilton, Trevor & Bull, Fiona. (2013). Global Advocacy for Physical Activity (GAPA): global leadership towards a raised profile. Global health promotion. 20. 113-21. 10.1177/1757975913500681.

7. คณะกรรมการพัฒนาแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561-2573). (2561). แผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561 - 2573). กรุงเทพฯ : เอ็นซี คอนเซ็ปต์ จำกัด, 2561.

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย