5 เมษายน 2565

กลุ่มงานสื่อสารผลผลิตทางความคิด

2755

เพิ่มพื้นที่ “สื่อ” เพื่อเพิ่มพื้นที่และเพิ่มโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทย

สถานการณ์ด้านสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยยังคงน่าเป็นห่วงสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง การถูกจำกัดพื้นที่ การใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดข้ออ้างและข้อจำกัดมากมายในการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามสื่อส่วนใหญ่ก็มีแต่ข่าวที่ทำให้สุขภาพจิตของประชาชนแย่ลง ทั้งจากปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ความยากจน อาชญากรรม และความรุนแรงต่าง ๆ ในสังคม ทว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพโดยเฉพาะการสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายให้ประชาชนไทยนั้น ยังไม่เป็นที่กว้างขวางและทั่วถึงมากนัก จากผลการสำรวจสถานการณ์ด้านนโยบายส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ด้านกิจกรรมทางกายให้กับประชาชน ในการศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (8 Investment) ของประชากรไทยของกลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) [1] พบว่าในสถานการณ์ด้านนโยบายส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ด้านกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนในประเทศไทยยังจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ โดยจากการสำรวจ พบว่า มีการเข้าถึงสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) ตามข้อแนะนำของ ISPAH พบว่า ประชากรไทยส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพและกิจกรรมทางกายจากโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย สื่อต่าง ๆ ของ สสส. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล อินเทอร์เน็ตทั่วไป และสื่อจากสถานศึกษา โดยมีเหตุผลของการเข้าถึงสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน จัดอยู่ในระดับเกรด C- (ร้อยละ 44.2) เท่านั้น [2] จึงมีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อการสื่อสารสาธารณะ สื่อสารมวลชน เพื่อให้ประชากรไทยได้รับข้อมูลข่าวสารและสามารถเข้าถึงนโยบายด้านการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เป็นประโยชน์และเข้าถึงในวงกว้างมากขึ้น

จากข้อมูลสถานการณ์การรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายของประชากรไทยในช่วงปี 2555-2564 จากผลการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การรับรู้กิจกรรมทางกายของประชากรไทยอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาตลอด ทว่า ในปี 2563 ที่มีการรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับประชากรอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดแคมเปญรณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้การรับรู้กิจกรรมทางกายของประชากรไทยเพิ่มขึ้นสูงแบบก้าวกระโดดเป็น 1 เท่าตัว จากการรับรู้กิจกรรมทางกายในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 31.9 เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 62.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 30.6 ทว่า การรับรู้กิจกรรมทางกายของประชากรไทยกลับต่ำลงอีกครั้งเมื่อปี 2564 ซึ่งตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 46.3 นับว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและไม่ควรให้การรับรู้ต่ำลงไปมากกว่าเดิม ส่วนเหตุผลของการรับรู้ที่ต่ำลงนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป ทว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไทยไม่ได้สนใจสุขภาพหรือกิจกรรมทางกายของตนเอง เพราะจำเป็นต้องสนใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องปากท้องของตนเองและครอบครัวมากกว่า เพราะฉะนั้น นโยบายการสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทยควรมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพิ่มพื้นที่ในการสื่อสารให้มากขึ้น ใช้ประโยชน์ของสื่อมวลชนเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในวงกว้างได้มากขึ้น ทั้งยังควรส่งเสริมการรับรู้ในเรื่องของผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการมีกิจกรรมทางกาย เพราะจะทำให้คนเข้าใจได้ง่าย และเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำแล้วได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

รูปที่ 1: ร้อยละของการรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2555-2564 ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2555-2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

 

นอกจากนั้นการจะเพิ่มความน่าสนใจในการสื่อสารการรับรู้กิจกรรมทางกายได้ สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ช่องทางการรับรู้ หรือแหล่งสื่อที่ใช้ของผู้รับสารนั่นเอง เพราะในประชากรแต่ละกลุ่มแต่ละช่วงวัย ต่างก็มีความชอบและความต้องการแตกต่างกัน

 

ช่องทางการรับรู้กิจกรรมทางกาย จำแนกตามประเภทของแหล่งสื่อที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร

จากผลการศึกษาช่องทางการรับรู้กิจกรรมทางกายของประชากรไทย จำแนกตามประเภทสื่อ ของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 จะเห็นว่า ประชาชนสามารถรับรู้กิจกรรมทางกายได้มากถึง ร้อยละ 27.2 จากสื่อโฆษณา การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโทรทัศน์, วิทยุ, อินเทอร์เน็ต มากที่สุดจากสื่อทั้งหมด รองลงมาคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล/สถานบริการสุขภาพอื่น ๆ ที่รับรู้กิจกรรมทางกายมากถึง ร้อยละ 15.2 ถัดมาคือ รับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ของสสส. และสื่อประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เป็นต้น อยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 13.9 และ 13.2 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วสื่อที่ทำให้ประชาชนรับรู้กิจกรรมทางกายคือ สื่อประเภทที่มีความต่อเนื่องของการเผยแพร่ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และเป็นสื่อหลักที่ประชาชนใช้ เช่น โฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนใช้ติดตามข่าวสารในยุคปัจจุบันอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เป็นต้น นอกจากนั้น คือแหล่งสื่อที่ประชาชนทุกคนเคยสัมผัสเพราะความจำเป็นของการรับบริการทางสุขภาพอย่างการไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล และสถานบริการสุขภาพอื่น ๆ ที่สำคัญคือ จากข้อมูลยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า การดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของ สสส. ผ่านช่องทางสื่อประเภทต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยสสส. และภาคีเครือข่ายนั้น มีความสำคัญต่อการรับรู้กิจกรรมทางกายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันกับสื่อหลัก ดังนั้น การดำเนินงานสร้างความตระหนักรู้ด้านกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนของ สสส. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ มีความสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินงาน เพื่อช่วยกันสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนชาวไทย การสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อการสร้างสุขภาพดีอย่างเหมาะสม และควรค่าแก่การลงทุนดำเนินการอย่างยิ่ง เพราะ สสส. และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมสุขภาพประชากรมาตลอดนั้นต่างมีส่วนสร้างความน่าเชื่อถือและสามารถโน้มน้าวใจให้ผู้รับสารมีทัศนคติที่ดีต่อการมีกิจกรรมทางกาย [8] ส่วนการลงทุนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ตรงจุดก็มีสิ่งที่ต้องตระหนักอยู่ไม่แพ้กันคือการให้ความสำคัญกับสารและสื่อที่สร้างขึ้นมาให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มวัยด้วย

รูปที่ 2: ช่องทางการรับรู้กิจกรรมทางกายของประชากรไทย จำแนกตามประเภทสื่อผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
 

เจเนอเรชัน (Generation) กับการรับรู้กิจกรรมทางกาย

การสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายให้กับประชาชนนั้น ผู้กำหนดนโยบายมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถชี้แนะแนวทาง รวมทั้งสั่งการไปได้ในทุกระดับเพื่อสานต่อนโยบายให้เกิดการนำไปใช้ โดยในฐานะผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการสร้างสื่อเอง มีหน้าที่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างคุ้มค่าที่สุด การสร้างเนื้อหาเพื่อการเข้าถึงกลุ่มคนที่มีวัยต่างกัน ความต้องการในการรับรู้ย่อมต่างกัน เพราะประเภทสื่อที่ประชาชนเข้าถึงนั้นต่างกันไปตามช่วงวัย ซึ่งจากผลการสำรวจผลการรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย จำแนกตามเจเนอเรชัน (Generation) พบว่า ในปี 2564 ร้อยละการรับรู้กิจกรรมทางกายของประชากรทุกกลุ่มวัยลดต่ำลงทุกช่วงวัยจากปี 2563 โดยในปี 2564 พบว่า Gen X (อายุ 41-59 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2508-2523 และกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 57-75 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2489-2507 มีร้อยละการรับรู้กิจกรรมทางกายมากที่สุดและเท่ากัน คือร้อยละ 48.2 รองลงมาคือ Gen Z (อายุ 9-24 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2540-2555 ร้อยละ 47.3 ถัดมาคือกลุ่ม Millennial (อายุ 25-40 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2524-2539 ร้อยละ 45.2 และใกล้เคียงกันคือกลุ่ม Upper (76+) ร้อยละ 44.8 และน้อยที่สุดคือกลุ่ม Alpha ร้อยละ 32.0 ซึ่งจากผลการสำรวจข้างต้น เป็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องของการรับรู้ที่น้อยลงอย่างมากจากปี 2563 ทว่าก็ยังสามารถที่จะหาแนวทางช่วยให้การรับรู้กิจกรรมทางกายไม่น้อยลงไปมากกว่านี้ โดยวิธีการใช้การสื่อสารที่ตรงกับช่วงวัย ทั้งข้อความ ข่าวสาร และช่องทางที่ตรงกับการเข้าถึงและการรับรู้ให้ได้มากที่สุด การให้ความสำคัญกับสื่อที่ต้องตระหนักถึงกลุ่มวัยของผู้รับสาร เพราะไม่สามารถใช้ภาษาและข้อความที่เหมือนกันได้

รูปที่ 3: การรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย จำแนกตามเจเนอเนชัน (Generation) ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563-2564.ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

ทั้งนี้มีข้อแนะนำเรื่องของการใช้สื่อเพื่อการสื่อสาร จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง Get the message? A scoping review of physical activity messaging ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อความเข้าใจถึงวิธีการสร้างและส่งข้อความการมีกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิภาพต่อกลุ่มประชากรที่มีช่วงวัยต่างกัน อีกทั้งยังเพื่อทราบถึงช่องว่างในเรื่องที่ศึกษานี้ โดยทำการศึกษาด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบ Systematic Reviews และ Meta-Analyses ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ข้อความที่เหมาะสมในการสื่อสารสำหรับแต่ละช่วงวัย มีดังนี้ [3]

เด็กและเยาวชน

- แนะนำให้ใช้ข้อความที่มีการกำหนดเป้าหมายเชิงบวกและผลลัพธ์ทางด้านอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และสุขภาพจิต อีกทั้งยังควรเน้นในเรื่องการได้ประโยชน์ทางสังคม ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมจากการมีกิจกรรมทางกาย

- ควรใช้การส่งสารหรือข้อความถึงเด็กและเยาวชนผ่านการมีส่วนร่วม เช่น การใช้วิดีโอ และควรส่งผ่านแหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ เช่น แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

วัยผู้ใหญ่

- การส่งสารถึงประชากลุ่มนี้ควรเน้นที่ผลประโยชน์ทางสังคม และสุขภาพจิตจากการมีกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังกายจะทำให้คุณรู้สึกดี

-ข้อความที่ใช้ ควรสั้น กระชับ และหลีกเลี่ยงภาษาที่มีความรุนแรงหรือคุกคาม และใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการมากนัก ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ

-ข้อความที่ถูกส่งผ่านผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ มักได้รับการตอบรับและความเชื่อถือเป็นอย่างดี

- ควรใช้ข้อความเน้นที่การให้ข้อมูลบอกลำดับความมากน้อยอย่างคำว่า "มากน้อยเพียงใด" (เช่น 150 นาทีต่อสัปดาห์ 30 นาที หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 10 นาทีต่อวัน และ 10,000 ก้าวในแต่ละวัน) ควรระบุให้ชัดเจนว่าปริมาณหรือขนาดใดที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

- การส่งข้อความ จากแหล่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต พบว่า การมีกิจกรรมทางกายร่วมกันในประชากรวัยผู้ใหญ่โดยทั่วไปด้วยวิธีการส่งข้อความ เช่น อีเมล จะได้ผลดีในแง่ของผู้ให้บริการหรือผู้ส่งสาร

ผู้สูงอายุ

-ควรสื่อสารด้วยข้อความที่เน้นอารมณ์เชิงบวก เน้นประโยชน์ทางสังคม และสุขภาพจิต เช่น การมีกิจกรรมทางกายทำให้เพิ่มโอกาสให้การได้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนหรือผู้อื่นในสังคม เป็นต้น

-ข้อความควรถูกส่งผ่านองค์กรที่น่าเชื่อถือ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ หรือนักสังคมสงเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ และผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิก เป็นต้น

ซึ่งจากข้อแนะนำดังกล่าวก็สอดคล้องกับงานวิจัยของพรพรรณ ประจักษ์เนตร (2562) ที่พบว่า ข้อความที่มีแหล่งข้อมูลมาจากวารสารการแพทย์สามารถโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติกิจกรรมทางกายได้ดีกว่า และข้อความที่ส่งผ่านจดหมายข่าวที่มีสัญลักษณ์องค์กรทางด้านสุขภาพและมีการระบุชื่อกรรมการที่น่าเชื่อถือจะช่วยเพิ่มทัศนคติด้านบวกต่อการปฏิบัติกิจกรรมทางกายได้ดีในกลุ่มคนวัยทำงาน [8]

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาวิจัยเรื่อง Awareness of ParticipACTION among Canadian adults: a seven-year cross-sectional follow-up ซึ่งทำการศึกษาติดตามผลด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบ cross­sectional follow­up study โดยทำการศึกษาการมีส่วนร่วมและระดับของการมีกิจกรรมทางกายภายหลังจาก 7 ปีของการรณรงค์ในแคมเปญ ParticipACTION โดยสำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่ จำนวน 7,282 คน ซึ่งสำรวจโดยองค์กรการตลาดและการสื่อสารเพื่อสังคมที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในแคนาดา พบว่า ในช่วง 14 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ถึงพฤษภาคม 2558 ที่มีการสำรวจโดยประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับการตรวจสอบกิจกรรมทางกายที่เกี่ยวข้องกับความตระหนักและความรู้และการมีส่วนร่วม ปี 2557-2558 เพื่อตรวจสอบว่าการรับรู้เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความตั้งใจ และการออกกำลังกายในเวลาว่างหรือไม่ โดยมีประชากรที่ตอบแบบสอบถามถูกจัดว่ามีความกระตือรือร้นประมาณร้อยละ 47 ทั้งยังมีประชากรรับรู้ถึงโครงการ ParticipACTION ร้อยละ 82.2 นอกจากนั้นยังระบุว่าโครงการนี้เป็นองค์กรที่นึกถึงเมื่อนึกถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโปรแกรมและแคมเปญอื่น ๆ ร้อยละ 20.3 และมีผู้รับรู้เกี่ยวกับคู่มือเรื่องอาหารของแคนาดาร้อยละ 92 ขณะที่ร้อยละ 37 มีการระบุว่าตนเองเคยรับรู้ถึงคู่มือการมีกิจกรรมทางกายของแคนาดา ทว่าสำหรับการตระหนักรู้เกี่ยวกับแคมเปญ ParticipACTION โดยทันทีนั้น พบว่าความแตกต่างทางเพศยังไม่มีนัยสำคัญ แต่ในส่วนของอายุนั้นพบว่า มีความสัมพันธ์กับการรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่อายุน้อยที่สุดมีแนวโน้มที่จะรายงานว่ามีการรับรู้หลังจากรับทราบโครงการน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ในทางกลับกันผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุมากที่สุดมักไม่ตั้งใจที่จะรายงานความตระหนักรู้ให้ทราบ เมื่อเทียบระหว่างกลุ่มอายุ 25-44 ปี และกลุ่มอายุ 45-64 ปี นอกจากนี้ ยังศึกษารูปแบบการรับรู้ที่คล้ายคลึงกันสำหรับทั้งในปัจจัยรายได้ครัวเรือนและระดับการศึกษา โดยกลุ่มที่อยู่ในระดับการศึกษาต่ำที่สุดจะตระหนักถึงการมีส่วนร่วมน้อยกว่ากลุ่มที่อยู่ในระดับสูงกว่า โดยไม่ได้คำนึงถึงประเภทของการรับรู้ [4]

ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 ที่ทำการสำรวจผลการรับรู้สื่อประเภทต่าง ๆ ที่แบ่งเป็น 10 ประเภท จำแนกตามช่วงวัยที่แบ่งเป็นเจเนอเรชัน (Generation) ดังนี้

กลุ่ม Alpha ที่เกิดในช่วงปี 2556-ปัจจุบัน จะเข้าถึงสื่อจากโรงเรียนมากที่สุด ร้อยละ 7.80 รองลงมาคือ การโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์,วิทยุ,อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 2.80 และถัดมาคือ สื่อต่าง ๆ ของ สสส. ร้อยละ 1.90

กลุ่ม Gen Z (อายุ 9-24 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2540-2555 จะเข้าถึงสื่อจากโรงเรียน/มหาวิทยาลัยมากที่สุดเช่นกัน คือ ร้อยละ 61.7 รองลงมาคือ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา ร้อยละ 37.5 ถัดมาคือ Social Networking Media เช่น Facebook, Instagram, Twitter ร้อยละ 24.9

กลุ่ม Millennial (อายุ 25-40 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2524-2539 จะเข้าถึงสื่อ Social Networking Media เช่น  Facebook, Instagram,Twitter ได้มากที่สุด คือร้อยละ 44.0 รองลงมาคือการรณรงค์จากสถานที่ทำงาน ร้อยละ 41.7 และถัดมาคือสื่อต่าง ๆ ของ สสส. ร้อยละ 40.7

กลุ่ม Gen X (อายุ 41-59 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2508-2523 จะเข้าถึงสื่อจากการรณรงค์จากสถานที่ทำงานมากที่สุด ร้อยละ 29.1 รองลงมาคือสื่อต่าง ๆ ของ สสส. ร้อยละ 24.7 ถัดมาคือสื่อ Social Networking Media เช่น Facebook, Instagram,Twitter และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ ป้ายรณรงค์ ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 21.20 และ 21.10 ตามลำดับ

กลุ่ม Baby Boomer (อายุ 57-75 ปี) ที่เกิดในช่วงปี 2489-2507 จะเข้าถึงสื่อจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการมากที่สุด ร้อยละ 20.2 รองลงมาคือสื่อจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล/สถานบริการสุขภาพอื่น ๆ ร้อยละ 18.7 ถัดมาคือสื่อจากการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์,วิทยุ,อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 17.6

กลุ่ม Upper (อายุ 76+) จะเข้าถึงสื่อสื่อจะเข้าถึงสื่อจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการมากที่สุดเช่นกัน คือร้อยละ 3.40 รองลงมาคือสื่อจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล/สถานบริการสุขภาพอื่น ๆ ร้อยละ 3.20 ถัดมาคือสื่อจากการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์,วิทยุ,อินเทอเน็ต ร้อยละ 2.40 ดังรูปที่ 4

 

รูปที่ 4: การรับรู้สื่อประเภทต่าง ๆ จำแนกตามช่วงวัยที่แบ่งเป็น เจเนอเนชัน (Generation) ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

การรับรู้สื่อประเภทต่าง ๆ จำแนกตามระดับการศึกษา

ระดับการศึกษาก็มีความสำคัญและควรตระหนักถึงต่อการสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายให้กับประชากรเช่นกัน โดยผลการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 ที่ทำการสำรวจผลการรับรู้สื่อประเภทต่าง ๆ ที่แบ่งเป็น 10 ประเภท จำแนกตามระดับการศึกษาใน 6 ระดับ ดังนี้

กลุ่มที่ไม่ได้เรียน จะเข้าถึงสื่อจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล/สถานบริการสุขภาพอื่น ๆ มากที่สุด ร้อยละ 4.90 รองลงมาคือ จากกลุ่มสุขภาพชุมชนและผู้นำชุมชน ร้อยละ 4.10 ถัดมาคือ จากการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์, วิทยุ, อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 3.70

ระดับอนุบาล จะเข้าถึงสื่อจากโรงเรียนมากที่สุด ร้อยละ 2.90 รองลงมาคือจากการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์, วิทยุ, อินเทอร์เน็ต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานราชการ อยู่ในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ ร้อยละ 1.40

ระดับประถมศึกษา จะเข้าถึงสื่อจากโรงเรียนมากที่สุดเช่นกัน ร้อยละ 18.5 รองลงมาคือจากการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์, วิทยุ, อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 16.7 ถัดมาคือจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล/สถานบริการสุขภาพอื่น ๆ ร้อยละ 15.4

ระดับมัธยมศึกษา จะเข้าถึงสื่อจากโรงเรียนมากที่สุดเช่นกัน ร้อยละ 40.5 รองลงมาคือจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล/สถานบริการสุขภาพอื่น ๆ ร้อยละ 36.3 ถัดมาคือ จากกลุ่มสุขภาพชุมชนและผู้นำชุมชน ร้อยละ 36.0

ระดับอนุปริญญา/ปวส./ปวท. จะเข้าถึงสื่อจากสํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬามากที่สุด ร้อยละ 13.2 รองลงมา คือสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ ป้ายรณรงค์ ร้อยละ 11.8 ถัดมาคือ การรณรงค์จากสถานที่ทำงาน ร้อยละ 11.5

ระดับสูงกว่าปริญญาตรี จะเข้าถึงสื่อจากการรณรงค์จากสถานที่ทำงานมากที่สุด ร้อยละ 57.7 รองลงมาคือจาก Social Networking Media เช่น FB, IG,Twitter ร้อยละ 53.0 ถัดมาคือ จากสํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬา ร้อยละ 49.1 ดังรูปที่ 5

 

 
 

 

 

รูปที่ 5: ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

 

ดังนั้น การจะเพิ่มพื้นที่สื่อเพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย สามารถทำได้ในหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกฎ ระเบียบ กติกา ในที่สถานที่ทำงานหรือโรงเรียน การสร้างกิจกรรมร่วมกันในที่ทำงานหรือโรงเรียน การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายประเภท การรณรงค์ส่งเสริมด้วยแคมเปญผ่านสื่อออนไลน์ หรือสื่อโฆษณาต่าง ๆ ซึ่งมีผลการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกายได้ ทั้งยังควรมีการรณรงค์ด้วยการใช้แคมเปญ ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเพิ่มกิจกรรมทางกายได้ โดยสร้างความดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าร่วมในเหตุผลที่หลากหลาย และใช้เหตุผลของการเห็นประโยชน์ร่วมของการมีกิจกรรมทางกายมาใช้ดึงดูดใจด้วย

มีการศึกษาถึงทัศนคติต่อพฤติกรรมการออกกําลังกายเพื่อสุขภาพของอำภาพร ปิงมูล และวิโรจน์ สุทธิสีมา (2561) พบว่า คนส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญการออกกําลังกายเป็นประจำ เหตุเพราะทำให้ได้พบเพื่อนใหม่มากที่สุด รองลงมาคือมีเหตุผลของการออกกำลังกายที่ต่างกันออกไป เช่น การออกกําลังกายทำให้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีสุขภาพดี ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทั้งยังทำให้ปอดและหัวใจแข็งแรง ช่วยลดความเครียด ลดอาการเจ็บป่วยได้ ช่วยลดการสะสมตัวของไขมัน ทำให้รูปร่างกระชับ มีความคล่องตัว เพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาได้ [5] ซึ่งการจัดแคมเปญรณรงค์หรือดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าร่วม สามารถใช้เหตุผลดังกล่าวมาเป็นแรงดึงดูดใจให้คนเข้าร่วมกิจกรรมได้

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเรื่อง Short-Term Impact of a Multimedia Communication Campaign on Children’ s Physical Activity Beliefs and Behavior โดยการศึกษานี้ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญการสื่อสารของเด็กและผู้ปกครองที่มุ่งส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเด็ก ซึ่งองค์ประกอบของการสร้างใช้แคมเปญในปีแรกนั้นใช้วิธีการโฆษณาแบบเสียเงิน (ทีวี, วิทยุ และเว็บไซต์) มีการใช้กิจกรรมชุมชน (เช่น WIXX Zone, “Dance Like และภารกิจ "Street Hockey" โดยมีการประชาสัมพันธ์ ที่มีการสนับสนุนจากรายการโทรทัศน์และกิจกรรมของชุมชน ตลอดจนการเชื่อมโยงแคมเปญและข้อความของ WIXX กับคนดังหรือดาราวัยรุ่น และการพัฒนาความร่วมมือในท้องถิ่น ทำให้ในปีแรกของแคมเปญ WIXX ประสบความสำเร็จ โดยโฆษณาทางทีวี ได้รับความสนใจจากเด็กผู้หญิงและมีโฆษณาสิ่งพิมพ์เพิ่มเติมในนิตยสารสำหรับเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ มีการใช้แอมบาสเดอร์คนแรกของแคมเปญ WIXX เป็นนักเต้นฮิปฮอปเพศชายที่มีการสร้างท่าเต้นของ WIXX ที่อาจดึงดูดใจสาว ๆ ให้มาเข้าร่วมได้ นอกจากนั้นยังมีการวิเคราะห์แบบจำลองการถดถอยลอจิสติกส์ แสดงให้เห็นว่า เด็กผู้หญิงที่ได้รับชมโฆษณา WIXX มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า กิจกรรมทางกายจะช่วยสร้างเพื่อนใหม่ ( [OR] = 1.4, ค่าความเชื่อมั่น 95% [CI] [1.0, 1.9] ) และสามารถทำได้เพื่อความกระฉับกระเฉงแม้ว่าจะยุ่งหรือไม่มีเวลาก็ตาม (OR = 1.4, 95% CI [1.0, 1.8] ) เมื่อเทียบกับเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้รับชม ส่วนในเด็กผู้ชายที่มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า กิจกรรมทางกายจะช่วยให้ได้ใช้เวลากับเพื่อน (OR = 1.4, 95% CI [1.1, 1.9] ) [6] ซึ่งจากการวิจัยดังกล่าวข้างต้น สามารถนำมาปรับใช้กับการจัดแคมเปญรณรงค์เพื่อการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับประชากรได้

 

การกำหนดนโยบายส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้ “สื่อ”

สื่อ คือเครื่องมือสำคัญต่อการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้กำหนดนโยบาย ไปจนถึงระดับประชาชนทั่วไป ทว่า การรับรู้นั้น จะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับสารที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อสารออกไปให้กับผู้รับสารได้รับรู้ โดยจากผลการศึกษางานวิจัยด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบ systematic review เรื่อง Using media to impact health policy-making: an integrative systematic review พบว่า การแทรกแซงของสื่อมีผลกระทบเชิงบวกเมื่อมีการใช้สื่อ เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ ซึ่งนำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญและเริ่มต้นการกำหนดนโยบาย เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการรับรู้ของผู้กำหนดนโยบาย เป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้ที่นำไปสู่การปรับใช้นโยบาย และเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักในการปรับปรุงและการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับได้ [7] จะเห็นได้ว่า สื่อนั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มพื้นที่ “สื่อ” ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สาธารณะและช่วยเพิ่มโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทย

  1. นโยบายการสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทยควรมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในวงกว้างมากขึ้น
  2. ควรส่งเสริมการรับรู้ในเรื่องของผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการมีกิจกรรมทางกาย เพราะจะทำให้คนเข้าใจได้ง่าย และเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำแล้วได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะปัจจุบัน การรับรู้ถึงประโยชน์ข้างเคียงของการมีกิจกรรมทางกาย (Co-benefit) ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญมากนัก เช่น การมีกิจกรรมทางกายเพื่อความหล่อ ความสวย รูปร่างดี ผิวพรรณสดใส เป็นต้น ดังนั้นการใช้ผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการมีกิจกรรมทางกายมาใช้สร้างการรับรู้ให้กับประชากรหนุ่มสาวยุคใหม่ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายให้ประชากรไทยได้
  3. แม้ว่าเรื่องของกิจกรรมทางกายจะถูกจัดลำดับความสำคัญให้เป็นเรื่องที่ถูกตระหนักอยู่ลำดับท้ายของประชาชนอันเนื่องมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเห็นความสำคัญของชีวิตความเป็นอยู่ ความอยู่รอดของชีวิตมากกว่าปัญหาด้านสุขภาพ ทว่าในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับสร้างความตระหนักให้กับประชาชน จนเป็นเรื่องที่ประชาชนเห็นความสำคัญของสุขภาพในลำดับแรกของชีวิต โดยการส่งเสริมนโยบาย ผลักดันนโยบายด้านการสื่อสารสาธารณะให้ประชาชนได้รับรู้ ดังนั้นประเทศไทยควรจัดลำดับความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนไทยในวงกว้างมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประประชากรในประเทศ
  4. ควรผลักดันนโยบายให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความกระฉับกระเฉง (Active society) โดยการเริ่มสร้างความสำคัญกับเรื่องง่าย ๆ ในชีวิต เช่นการมีกิจกรรมทางกายให้กับคนในครอบครัว เพื่อน คนใกล้ตัวก่อนซึ่งเป็นปัจจัยภายในตัวบุคคล ซึ่งการเริ่มจากตัวบุคคลก่อนนั้นจะเป็นแรงกระเพื่อมขยายออกไปในวงกว้างสู่ปัจจัยภายนอกต่อไป ทั้งในสังคมแห่งการทำงานไปจนถึงระดับองค์กร ที่สามารถเริ่มได้โดยการสร้างความรับรู้ด้วยสื่อทุกช่องทางที่ประชากรใช้ในชีวิตประจำวัน
  5. ทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์และส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาคส่วนรัฐบาล ควรส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการมีสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป และตระหนักถึงผลเสียจากการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น ในภาคส่วนเอกชน ก็สามารถนำ ข้อความที่จูงใจในรูปแบบต่าง ๆ ไปใช้กับกลุ่มคนทำงานเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งจากการทำงานและการใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไปได้ โดยการใช้ข้อความที่โน้มน้าวใจ ทำให้รับรู้สมรรถนะของตนเอง เป็นต้น และในส่วนของภาคประชาชนหรือกลุ่มคนทำงานเองนั้น ก็ควรเห็นความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายด้วย โดยสามารถหยุดพักจากการนั่งนาน ครั้งละประมาณ 5 นาที เพื่อลุกขึ้นไปปฏิบัติกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เดินไปดื่มกาแฟ หรือเปลี่ยนไปทำงานเอกสารอื่น ๆ เป็นต้น [8]
  6. องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงสถานศึกษา ควรดำเนินการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายสำหรับคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องมุ่งเน้นและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ทั้งยังต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย โดยสามารถใช้สื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ได้ เช่น สื่อสารผ่าน smart phone และ application ต่าง ๆ [9]
     

อ้างอิง

1. กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม. (2565). สถานการณ์การเข้าถึงนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (8 Investment) ของประชากรไทย. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2565 จาก https://www.tpak.or.th/th/article/483

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

3. Williamson, C., Baker, G., Mutrie, N., Niven, A., & Kelly, P. (2020). Get the message? A scoping review of physical activity messaging. International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Activity, 17(1), 51. doi:10.1186/s12966-020-00954-3

4. Spence, J. C. et al. (2018). Awareness of ParticipACTION among Canadian adults: a seven-year cross-sectional follow-up. Health promotion and chronic disease prevention in canada, 38 (4), s. 179–186. doi:10.24095/hpcdp.38.4.04

5. อำภาพร ปิงมูล และวิโรจน์ สุทธิสีมา. (2561). การสื่อสารกับการออกกําลังกายเพื่อสุขภาพของประชากรในอำเภอเวียงชัยจังหวัดเชียงราย. วารสารการประชุมนําเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาครั้งที่ 13 ปีการศึกษา 2561, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต, 2194-2202. https://rsujournals.rsu.ac.th/index.php/rgrc/article/view/771/538

6. Bélanger-Gravel, A., Cutumisu, N., Lagarde, F., Laferté, M., & Gauvin, L. (2017). Short-Term Impact of a Multimedia Communication Campaign on Children’s Physical Activity Beliefs and Behavior. Journal of Health Communication, 22(1), 1-9. doi:10.1080/10810730.2016.1245802

7. Bou-Karroum, L., El-Jardali, F., Hemadi, N., Faraj, Y., Ojha, U., Shahrour, M., . . . Akl, E. A. (2017). Using media to impact health policy-making: an integrative systematic review. Implementation Science, 12(1), 52. doi:10.1186/s13012-017-0581-0

8. พรพรรณ  ประจักษ์เนตร. (2562). ประสิทธิผลของข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งจากการใช้เวลาหน้าจอในกลุ่มคนทำงาน. วารสารนักบริหาร (2-39),(21-37). https://so01.tci-thaijo.org/index.php/executivejournal/article/view/216329/156277

9. อัจฉรา ปุราคม, มาสริน ศุกลปักษ์, นิตยา แสงชื่น. นโยบายกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุ: การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข 2563;14(2):208-224. https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/5230/hsri-journal-v14n2-p208-224.pdf?sequence=1&isAllowed=y

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย