24 พฤษภาคม 2564

ณัฐพร นิลวัตถา

2596

สื่อมวลชน กับบทบาทในฐานะผู้ผลิตวัคซีน

การสื่อสารรณรงค์ด้านกิจกรรมทางกายสำคัญอย่างไร?

การสื่อสารเพื่อสร้างสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกาย นั่นคือการสร้างความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy) ให้กับประชาชนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมสุขภาพที่เริ่มจากตัวของประชาชนเอง การมีความรอบรู้ทางกาย จะทำให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจ (knowledge and understanding) ซึ่งจะส่งผลต่อสมรรถภาพร่างกายที่ดี (physical competence) ตามไปด้วย [1] ซึ่งวิธีการสร้างความรอบรู้ให้ประชาชนในวงกว้างที่ง่ายและเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วที่สุดคือ การสื่อสารรณรงค์เพื่อนำความรู้ไปสู่การรับรู้และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการสร้างการสื่อสารรณรงค์นั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีทั้งการจัดแคมเปญ การโฆษณา การจัดงานหรือนิทรรศการ การเผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางที่หลากหลาย เพราะกิจกรรมทางกายคือเรื่องใกล้ตัว ตั้งแต่การเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน การเคลื่อนไหวในระหว่างการทำงานและการเรียน รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ล้วนแล้วแต่แฝงไปด้วยการมีกิจกรรมทางกายทั้งสิ้น ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยเริ่มจากพื้นฐานการมีความรอบรู้ทางกาย การเห็นความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จุดเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ภาครัฐและทุกภาคส่วนทำได้ คือการสื่อสารรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้ในวงกว้าง

กิจกรรมทางกายกับการดำเนินนโยบายด้านการสื่อสาร

จากข้อแนะนำของการลงทุนด้านกิจกรรมทางกาย 8 ประการ จากคู่มือ ISPAH’s Eight Investments That Work for Physical Activity โดย International Society for Physical Activity and Health (ISPAH) ที่แนะนำว่า การลงทุนในการส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกายล้วนแล้วแต่ควรค่ากับการลงทุน ในทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ ทุกบริบทสังคม โดยแนะนำให้ภาครัฐมุ่งไปที่การส่งเสริมให้มุ่งเน้นในวิธีการที่เรียบง่าย และสามารถทำได้ในระยะสั้น ๆ เน้นที่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพในระดับบุคคลเป็นหลัก และร่วมกันแก้ปัญหาในความซับซ้อนนั้นจากหลาย ๆ วิธี ซึ่งหนึ่งในวิธีการนั้น คือ PUBLIC EDUCATION, INCLUDING MASS MEDIA หรือ การศึกษาสาธารณะที่รวมถึงสื่อมวลชน หรือขยายความว่า การสื่อสารเพื่อให้ความรู้ของสื่อสาธารณะกับประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งใจความสำคัญแนะนำไว้ว่า สื่อสาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงประชาชนได้โดยง่าย การที่รัฐลงทุนกับการใช้สื่อเป็นตัวกระตุ้น และสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในการมีกิจกรรมทางกาย จึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาสานต่อ [2] ซึ่งในระดับโลกต่างมีหลายประเทศที่นำแนวทางการดำเนินนโยบายด้านการสร้างการรับรู้นี้มาดำเนินงาน

การดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายมีการดำเนินจากหลากหลายประเทศ ทั้งมีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ในระดับนโยบายของชาติและเป็นการดำเนินงานภายในองค์กร ส่วนในระดับที่ดำเนินนโยบายโดยกำหนดเป็นแผนระดับชาติ ขอยกตัวอย่างจากแผนกิจกรรมทางกายแห่งชาติประเทศสก็อตแลนด์ (Let’s make Scotland more active: A Strategy for Physical Activity) ที่มุ่งทำงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่ 1. พัฒนาและคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ที่เนือยนิ่งมีความกระฉับกระเฉง 2. ให้คำแนะนำเชิงประจักษ์และถูกต้องต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายระดับรัฐบาล 3. สร้างการรับรู้และพัฒนาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย และการเข้าถึงข้อมูล และ 4. ทำการวิจัย ติดตาม และประเมินผล ซึ่งจากยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3 นั้นสอดคล้องกันถึงการให้ความรู้เชิงประจักษ์พร้อมกับพัฒนาความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนในระดับต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ [3]

นอกจากนั้นยังมีการดำเนินนโยบายด้านการสื่อสารที่มีการกำหนดเป็นกรอบดำเนินงานในระดับนโยบาย คือ กรอบการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ประเทศออสเตรเลีย (Active Living for All: A Framework for Physical Activity in Western Australia 2012-2016) ที่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ โดยกล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยการพัฒนาระบบสนับสนุน เช่น การวิจัย การสื่อสาร การพัฒนาศักยภาพบุคลากร นโยบาย การลงทุน ฐานข้อมูล การประเมินและติดตามผล การบริหารเครือข่ายและสร้างภาคี เป็นต้น [4] ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามกรอบยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศที่ยกตัวอย่างมานั้น แม้จะมีการกำหนดให้เป็นกรอบการดำเนินงานอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนถึงการมุ่งเน้นนโยบายด้านการสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสาร ที่เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วและง่ายที่สุดก็ตาม รวมทั้งประเทศไทยเองก็เช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการดำเนินนโยบายรณรงค์ด้านการสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายจากหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายอยู่บ้าง จนได้กำหนดให้มีการดำเนินนโยบายด้านการสื่อสารรณรงค์กิจกรรมทางกายอยู่ในแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561-2573) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าด้วยการพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มีเพียงการกำหนดว่า ให้มีการพัฒนาระบบสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และวิจัยกิจกรรมทางกาย โดยใช้กลยุทธ์ในข้อที่ 3.4 ที่กล่าวว่า ให้มีการพัฒนาระบบสนับสนุนการสื่อสารรณรงค์กิจกรรมทางกาย ซึ่งจากแผนดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า แม้จะมีการดำเนินนโยบายโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ไว้มากมาย แต่ทว่าการรับรู้ความหมายของกิจกรรมทางกายของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีข้อจำกัด กลยุทธ์การสื่อสารยังขาดความต่อเนื่อง รวมไปถึงช่องทางการรับรู้สื่อของประชาชนในปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การสื่อสารรณรงค์จึงมีความจำเป็นและต้องมีการประสานความร่วมมือกันจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การพัฒนาประเด็น เนื้อหา ช่องทางให้มีความดึงดูดใจและทันสมัย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมต่อไป [4] ดังนั้นประเด็นการดำเนินนโยบายสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายด้วยการสื่อสารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอยู่เสมอ

วัคซีนเสริมภูมิความรู้ด้านกิจกรรมทางกาย กับข้อเสนอแนะการดำเนินนโยบายด้านการสื่อสารสำหรับประเทศไทย

แม้ประเทศไทยจะมีการดำเนินนโยบายด้านการสื่อสารเพื่อการรับรู้กิจกรรมทางกายให้กับประชาชนอยู่บ้างจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แต่ทว่า ข้อมูลจากการสำรวจการรับรู้ของคนไทยจากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2555-2563 พบว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมานั้น ยังไม่พบว่าปีใดจะมีร้อยละของการรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 40 ยิ่งในปี 2562 ร้อยละการรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายของคนไทยนั้น ลดต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 31.9 หรือประมาณร้อยละ 32 เพียงเท่านั้น [5] ด้วยเหตุนี้เอง การดำเนินนโยบายด้านการสื่อสารและสร้างการรับรู้ด้วยการใช้สื่อรณรงค์ต่าง ๆ จึงควรค่ากับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นอัตราเพิ่มของการรับรู้กิจกรรมทางกายให้กับประชาชน

การรณรงค์เพื่อสื่อสารและการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความหมายและประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย ในหลากหลายมิติ ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนในการสร้างแนวปฏิบัติ (Best Practice) ที่คุ้มค่าตามคำแนะนำของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับโลก เพราะการเลือกใช้แนวทางการสื่อสารนั้น จะสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่มวัย [6] ที่มีการใช่สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การสื่อสารและสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ จะยิ่งนำพาไปสู่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เสมือนกับการมีภูมิคุ้มกันในตนเอง มีองค์ความรู้ในเรื่องกิจกรรมทางกาย ในการปรับหรือเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง อย่างถูกต้องเหมาะสม จนในที่สุด การมีภูมิคุ้มกันอันเกิดจากการดำเนินนโยบายสร้างการรับรู้ผ่านการสื่อสารนี้ จะเกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน

ข้อแนะนำการสร้างสื่อเพื่อการสื่อสารรณรงค์ด้านกิจกรรมทางกาย

การสื่อสารรณรงค์เป็นวิธีการที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายที่สุด ทว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในฐานะผู้สร้างการรับรู้หรือผลิตสารออกสู่สาธารณะ จำเป็นต้องคำนึงถึงความน่าสนใจบนองค์ความรู้ที่เผยแพรอออกไป ซึ่งวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจมีส่วนสำคัญต่อการรับรู้และเข้าถึงของประชาชน จากหลักฐานการวิจัยของเบลเยียม (Belgium) ที่พบว่า การสื่อสารและให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป มีความจำเป็นอย่างมากในการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ทั้งยังเน้นย้ำว่า ข้อความการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายสามารถส่งข้อความเชิงบวกและเน้นย้ำถึงผลลัพธ์ ที่สั้น กระชับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการสื่อสารที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต พร้อมกับเสนอว่า การจะนำเสนอข้อความผ่านสื่อให้กับประชาชนทั่วไปทราบนั้น ควรเป็นข้อความในเชิงคุณภาพ ไม่ควรเป็นข้อความในเชิงปริมาณ อย่างเช่นข้อความว่า “ทุกย่างก้าวมีค่า” กล่าวคือ ใช้ข้อความเน้นย้ำถึงคุณค่าของการกระทำแทนการใช้ตัวเลขเพื่อบอกความสำคัญจะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น “ยิ่งมากยิ่งดี”“การมีกิจกรรมทางกายบ้างดีกว่าไม่มีเลย” รวมไปถึง การใช้สี หรือขีดเส้นใต้เน้นย้ำข้อความ ก็ส่งผลต่อผลลัพธ์ในการรับรู้ให้กับประชาชนได้มากยิ่งขึ้นด้วย [7] สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ควรตระหนักสำหรับการสื่อสารที่จะเข้าถึงประชาชนได้นั้น ต้องคำนึงถึงข้อความของการสื่อสาร ที่ควรวิเคราะห์ทิศทางและค้นหาวิธีดึงดูดใจกับประชาชน และมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ จึงจะสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) ในฐานะหน่วยงานวิชาการที่ดำเนินงานตามแผนให้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่อง ถึงนโยบายการสร้างการรับรู้กิจกรรมทางกายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายด้วยรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย ทั้งการเขียนบทความวิชาการเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทั้งการจัดทำหนังสือคู่มือต่าง ๆ ไปจนถึงการผลิตไฟล์วิดีโอ ไฟล์ภาพ และไฟล์เสียง จวบจนกระทั่งผลิตสื่อ Infographic ที่น่าสนใจอีกมากมาย ในการกระตุ้นการรับรู้ให้กับประชาชน ตามคำแนะนำจาก WHO และ แผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561-2573)

จากข้อมูลดังกล่าว ข้อแนะนำสำหรับการสื่อสารรณรงค์ด้านกิจกรรมทางกาย มีดังต่อไปนี้

  1. วิธีการสื่อสารและรณรงค์ที่เข้าถึงกับประชาชนได้ง่ายและไวที่สุด คือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโฆษณา ทั้งรูปแบบออนแอร์ และออนไลน์
  2. สารที่เป็นองค์ความรู้คือสิ่งสำคัญ ก่อนการเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณะจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูล เพื่อการรับรู้ที่ถูกต้องของประชาชน
  3. การปรับแต่งคำเพื่อการดึงดูด แม้เป็นสิ่งที่อาจจะช่วยเป็นแรงจูงใจให้กับประชาชนได้ แต่ในฐานะสื่อหรือผู้ให้ความรู้กับประชาชน ควรคำนึงถึงความถูกต้องข้อมูล ไม่บิดเบือนความเป็นจริงเพื่อเรียกร้องความน่าสนใจ ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
  4. การสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะการได้ขยายความรู้ออกสู่วงกว้าง ยิ่งมากเท่าใด การรับรู้กับประชาชนก็เกิดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
  5. การสร้างความร่วมมือของภาครัฐกับภาคเอกชนในการเข้าถึงสื่อ เช่น การแทรกแซงกิจกรรมทางกายในหนัง ในละคร ในโฆษณา เป็นสิ่งที่จะเข้าถึงกับประชาชนได้โดยง่าย การใช้วิธีการที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยประโยชน์กับประชาชนคือสิ่งที่ควรค่ากับการลงทุน

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การสร้างการรับรู้ผ่านการสื่อสารที่ถูกต้อง จะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับประชาชน ทั้งในมิติของสุขภาพกาย จิตใจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระตุ้นการรับรู้ผ่านการรณรงค์โดยการสื่อสารนั้น จะยิ่งช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการดูแลรักษาสุขภาพอยู่เสมอ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายโดยหน่วยงานต่าง ๆ มาอยู่บ้างแล้ว แต่การรับรู้ความหมายของกิจกรรมทางกายของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกลยุทธ์การสื่อสารยังขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น การสื่อสารรณรงค์จึงมีความจำเป็นและต้องมีการประสานความร่วมมือกันจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องการพัฒนาประเด็นปัญหา การขยายช่องทางการเผยแพร่ และการพัฒนาให้สื่อมีความดึงดูดใจและทันสมัย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม และที่สำคัญควรตระหนักถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับประชาชนอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการเสริมภูมิคุ้มกันทางสุขภาพ จากการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันสถานการณ์ เพราะ“วัคซีนที่ดีที่สุด = Vaccinate Yourself”

 


อ้างอิง

[1] Edwards, L. C., Bryant, A. S., Keegan, R. J., Morgan, K., & Jones, A. M. (2017). Definitions, Foundations and Associations of Physical Literacy: A Systematic Review. Sports medicine (Auckland, N.Z.), 47(1), 113–126. https://doi.org/10.1007/s40279-016-0560-7

[2] International Society for Physical Activity and Health (ISPAH). ISPAH’s Eight Investments That Work for Physical Activity. November 2020. Available from: https://www.ispah.org/resources/key-resources/8-investments/

[3] Scottish Executive (2003b). Let’s Make Scotland More Active: A strategy for physical activity. Scottish Executive, Edinburgh.

[4] คณะกรรมการพัฒนาร่างแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย. “แผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย”. (พ.ศ. 2561-2573).กรุงเทพฯ : กระทรวงสาธารณสุข, 2560.

[5] ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2563. 2555.

[6] ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), 2563. REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. นครปฐม. ภาพพิมพ์. Available from: https://tpak.or.th/?p=3984.

[7] De Cocker, K., Verloigne, M., Cardon, G., & Van Acker, R. (2021). Public health communication and education to promote more physical activity and less sedentary behaviour: Development and formative evaluation of the ‘physical activity triangle’. Patient Education and Counseling, 104(1), 75-84. doi:https://doi.org/10.1016/j.pec.2020.06.025

 

SHARE

ผู้เขียน
ณัฐพร นิลวัตถา


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]