29 มีนาคม 2564

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์, รุ่งรัตน์ พละไกร, สโรชา เกสโร และอับดุล อุ่นอำไพ

2152

Building Physical Activity Back Better: ส่องมาตรการ นโยบายนานาประเทศ ฟื้นคืนกิจกรรมทางกายให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม

 

กว่า 1 ปี…

กว่า 1 ปีที่เราได้รู้จักกับโรค “Coronavirus Disease 2019” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “COVID-19” ชื่ออย่างเป็นทางการที่ประกาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกใช้ในภาษาไทยว่า “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ “โควิด-19” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นสายพันธุ์ที่ 7 ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2019 ว่ามีการติดเชื้อในมนุษย์ [1]

กว่า 1 ปีที่ทั่วโลกและประเทศไทยต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นับเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ตามประกาศของ WHO ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลายประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างมากมายทั้งทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม

กว่า 1 ปีที่ประชาชนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิม จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ทั้งการล็อกดาวน์เมืองของประเทศต่าง ๆ การขอความร่วมมือให้ประชาชนกักขัง หรือจำกัดพื้นที่ตัวเองให้อยู่ภายในที่พักอาศัยของตนเองให้มากที่สุด สามารถออกมาข้างนอกได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างการออกมาซื้ออาหารและยา หากอยู่ในที่สาธารณะก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่าง การเว้นระยะห่างกายภาพ (Physical distancing) และการล้างมือด้วยน้ำสะอาดหรือเจลแอลกอฮอล์

กว่า 1 ปีนี้นับว่าเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของหลาย ๆ คน นับตั้งแต่การเรียน การทำงาน การรับประทานอาหาร ตลอดจนการเคลื่อนไหวร่างกาย การมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายและกีฬา ทุกเพศทุกวัยทุกสภาพร่างกายต่างได้รับผลกระทบและต้องเผชิญกับวิกฤตินี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ที่ถูกจำกัดพื้นที่ในการเล่น ครูและนักเรียนต้องเรียนออนไลน์ทั้งที่บางพื้นที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เอื้อต่อการเรียนการสอน คนทำงานหลายคนตกงาน หรือต้องพักงานชั่วคราวทำให้ขาดรายได้ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลานก็ไม่สามารถที่จะเจอลูกหลานได้บ่อยเหมือนเช่นเคย หรือแม้แต่ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการใช้บริการทางสุขภาพก็เข้าถึงบริการได้ลำบากขึ้น ตลอดจนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่อาจเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ดูจะยากลำบากที่สุดในภาวะวิกฤตินี้อาจเป็นการย้ายกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ที่เคยทำได้แบบได้พบปะ เห็นหน้าเห็นตากันแบบตัวเป็น ๆ ในที่สาธารณะ หรือแบบออฟไลน์ (Offline) ไปสู่โลกออนไลน์ (Online) ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การประชุม การเรียนหนังสือ การอบรม การเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬาหรือการเชียร์กีฬา บางกิจกรรมอาจสร้างความน่าตื่นเต้น รู้สึกสนุกสนาน แต่บางกิจกรรมอาจสร้างความเครียด ทำให้รู้สึกหดหู่ หมดพลังในการดำเนินชีวิตไปในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปบ้างแล้วในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปลอดภัยจากโรคอุบัติใหม่นี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่อาจรู้ได้เลยว่าอีกกี่ปีที่โรคนี้จะหายไป หรือไม่โรคอุบัติใหม่นี้อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่เราทุกคนต้องปรับตัว และอยู่กับโรคนี้ให้ได้ต่อไปหลังจากนี้

 

ความท้าทายและการตอบสนองทางมาตรการและนโยบายจากนานาประเทศ

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความท้าทายให้กับกลุ่มคนทำงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทั่วโลกอย่างมาก เพื่อยังคงให้ผู้คนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การจำกัดการเดินทาง และการปิดสถานที่ต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย การมีกิจกรรมทางกายตามปกติในชีวิตประจำวันของผู้คนให้มีระดับการมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างมาก ซึ่งข้อมูลการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยพบว่า ในสถานการณ์ปกติก่อนโควิด-19 ปี 2562 คนไทยมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพออยู่ที่ร้อยละ 74.6 แต่ช่วงโควิด-19 ปี 2563 ระดับกิจกรรมทางกายของคนไทยลดลงเกือบร้อยละ 20 อยู่ที่ร้อยละ 54.7 อีกทั้งระยะเวลาในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอก็ลดลงกว่า 160 นาที [2] ในขณะเดียวกันพฤติกรรมเนือยนิ่งก็เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการใช้หน้าจอก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน จากการที่ต้องนั่งเรียนนั่งประชุมออนไลน์เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกัน อีกทั้งการปิดสวนสาธารณะ สนามกีฬา และศูนย์ออกกำลังกายต่าง ๆ ยิ่งกระทบให้ผู้คนขาดโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น

และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เผชิญกับความท้าทายนี้เช่นกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟื้นกิจกรรมทางกายของคนไทยให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิมได้ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทยจึงทำการรวบรวมมาตรการ และนโยบายจากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่มีความคิดริเริ่มในการดำเนินการด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายช่วงโควิด-19 มานำเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในการริเริ่มดำเนินการฟื้นกิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทยต่อไปในอนาคต โดยยกตัวอย่างของแต่ละประเทศมาดังต่อไปนี้

 

ประเทศแคนาดา

Lawson Foundation [3] ได้เผยแพร่คำแถลงการณ์เกี่ยวกับ การเพิ่มการเล่นกลางแจ้งในศูนย์การเรียนรู้และดูแลเด็กปฐมวัยในบริบทโควิด-19 ซึ่งสังเคราะห์จากความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญโดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของศูนย์การเรียนรู้และดูแลเด็กปฐมวัย (Early Learning and Child Care: ELCC) ที่มีคุณภาพสูงซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นตัวทั้งตัวเด็กและเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ กิจกรรมการเล่นกลางแจ้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายเกี่ยวกับสิทธิการเล่นของเด็ก การส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาการ และการเรียนรู้ต่าง ๆ ของเด็ก

โดยยึดหลักการ 3 ประการต่อไปนี้

  1. แนวทางควรได้รับการพัฒนาโดยการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่นกลางแจ้งของ ELCC และมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอตามหลักฐานที่ปรากฎ
  2. แนวทางปฏิบัติควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กควบคู่ไปกับครอบครัว นักการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ การวิเคราะห์ผลประโยชน์ความเสี่ยง และการประเมินผลกระทบด้านสิทธิเด็กตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติสามารถใช้เพื่อประเมินแนวทางเหล่านั้นได้
  3. โปรแกรม ELCC ควรใช้เวลานอกบ้านให้มากที่สุด โดยเน้นที่ประสบการณ์การสอนที่มีคุณภาพสูงสำหรับเด็ก

ประเทศอังกฤษ

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลอังกฤษเห็นความสำคัญ และได้กำหนดนโยบาย “PE and sport premium” [4] เป็นนโยบายกระตุ้นกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้จัดตั้งงบประมาณกว่า 320 ล้านปอนด์ในการมุ่งมั่น ปรับปรุงคุณภาพหลักสูตรพลศึกษา และกิจกรรมกีฬาของโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อเน้นประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์ต่อนักเรียน โดยให้โรงเรียนทำแผนการดำเนินงานเพื่อขอทุนสนับสนุนจากรัฐบาล และการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะที่เน้นให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นประจำดังต่อไปนี้

  1. จัดกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยที่สุดได้รับโอกาสที่เพิ่มขึ้น
  2. ส่งเสริมการเล่นและใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้นในโรงเรียน ในช่วงระหว่างเวลาว่าง และพักกลางวัน
  3. จัดตั้งงบประมาณเพื่อส่งเสริมกิจกรรม และชมรมกีฬาให้หลากหลาย และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกีฬา นันทนาการในวันหยุด
  4. ริเริ่มการสะสมไมล์ระยะทางในแต่ละวันของเด็ก ๆ เพื่อสร้างนิสัยการมีกิจกรรมทางกายในทุก ๆ วัน และ
  5. เด็ก ๆ ทุกคนเมื่อจบออกไปจำเป็นต้องว่ายน้ำเป็น

และล่าสุดรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านปอนด์ [5] ให้กับหน่วยงานท้องถิ่นกว่า 266 แห่งทั่วอังกฤษ เพื่อสนับสนุนฟื้นฟูศูนย์นันทนาการ โรงยิม ตลอดจนสถานที่ออกกำลังกายสาธารณะที่ได้รับการสนับสนุนผ่าน National Leisure Recovery Fund ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการเงินทุนอย่างมั่นคงสำหรับภาคส่วนนันทนาการให้สามารถวางแผนกลับมาเปิดทำการใหม่อีกครั้งให้สำเร็จ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลและบริหารจัดการโดย Sport England อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะ ‘building back fitter’ หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ บางชุมชนของอังกฤษได้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถออกมาใช้ถนน หรือลานจอดรถเดิมเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมระหว่างครอบครัวในละแวกชุมชนได้ ทั้งวาดภาพระบายสีบนพื้นถนน วิ่งเล่นกับเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการเรียนรู้ทางธรรมชาติระหว่างกัน ยิ่งกว่านั้นบางโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองระดมทุนสำหรับเพิ่มพื้นที่เล่น และมีสถาปนิกมาร่วมกันออกแบบพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อรองรับการเปิดเรียนที่จะมาถึงอีกด้วย อังกฤษจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศตัวอย่างที่พยายามส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย มีกิจกรรมทางกายอยู่เสมอแม้ในท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 [6]

ประเทศออสเตรเลีย

VicHealth’s Walk เป็นหนึ่งในโครงการของรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย [7] ที่มีความตั้งใจให้เด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัวได้มีกิจกรรมทางกาย และส่งเสริมการให้เด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัวมีวิถีชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง โดยเน้นการเข้าถึง และมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยในการเดินเท้า ปั่นจักรยาน สเก็ตบอร์ด ไปโรงเรียนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีข้อแนะนำที่สำคัญ ได้แก่

  1. ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนแก่เด็ก ๆ 
  2. ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับครอบครัวในการทำกิจกรรมทางกายร่วมกัน เพราะส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านมากขึ้น อาจหาเวลาชวนกันไปเดิน ขี่สกู๊ตเตอร์ เล่นสเก็ตบอร์ด หรือพาเด็ก ๆ ไปโรงเรียน
  3. หากทางเดินไปโรงเรียนไกลเกินไป ผู้ปกครองสามารถจอดรถให้ใกล้จากโรงเรียนเพื่อให้มีระยะทางได้เดินไปกับเด็ก ๆ มากขึ้น หรือให้เวลาเด็ก ๆ ได้มีอิสระในระหว่างเดินไปโรงเรียนมากขึ้น
  4. ฝึกการวางแผนให้กับเด็ก ๆ เช่น สอนกลยุทธ์ให้ลูกเมื่อเกิดสิ่งที่ผิดพลาด เช่น หลงทาง หากมีคนแปลกหน้าเข้าหาพวกเขาหรือการป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าว มุ่งเป้าไปที่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และจุดเน้นหลักที่สำคัญของโครงการนั้นมีเป้าหมายดังกล่าว คือ

  1. ปลูกฝังให้เด็กใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้นเพื่อสุขภาพที่ดี
  2. ลดการจราจร ความแออัดและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และ
  3. สนับสนุนชุมชนในการสร้างวิถีชีวิตใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่และความเชื่อมโยงถึงกัน

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ทำให้ต้องระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2018 พบว่า คนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ปฏิบัติตามแนวทางการมีกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิกร้อยละ 53.3 และปฏิบัติตามแนวทางการมีกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิกร่วมกับการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อร้อยละ 23.2 (The National Health Interview Survey, 2018) และในเดือนธันวาคม ปี 2020 World Cancer Research Fund International (WCRF) ประเทศสหรัฐอเมริกา [8] ได้ประกาศนโยบายที่เรียกว่า “MOVING Framework” เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย ที่จะนำไปสู่การลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง ประกอบด้วย 6 นโยบายหลัก ที่ช่วยให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายเพื่อหนุนเสริมกิจกรรมการควบคุมอาหาร ซึ่งเป็นนโยบายที่สอดคล้องนโยบายกิจกรรมทางกายระดับสากล รายละเอียดนโยบายมีดังนี้

  1. สร้างโอกาสการมีกิจกรรมทางกายในโรงเรียน ชุมชน กีฬา นันทนาการ
  2. เสนอโอกาสการมีกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน และฝึกในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายด้วยผู้เชี่ยวชาญ
  3. ออกกฎหมาย และการประกาศ แนวทางของโครงสร้างและพื้นที่โดยรอบสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
  4. นำโครงสร้างของการคมนาคมขนส่งมาช่วยสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย
  5. สื่อสาร สร้างแรงจูงใจและสร้างพฤติกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทักษะเพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย และ
  6. จัดให้มีการให้คำปรึกษา การประเมินสุขภาพเบื้องต้น และฝึกการมีกิจกรรมทางกายในสถานบริการสุขภาพ โดยนโยบายนี้เป็นนโยบายเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโลก หรือ GAPPA ด้าน Active Societies Active Environment Active People เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังที่สำคัญในประชาชน นอกจากนี้ “MOVING Framework” ถูกนำไปขยายผลให้ประเทศต่าง ๆ ของสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้นำสู่ไปการปฏิบัติต่อไป

ประเทศญี่ปุ่น

ด้วยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ช่วงปี 2564-2573 เป็น “ทศวรรษแห่งสูงวัยสุขภาวะดี” (Decade of Healthy Ageing) [8] เพื่อพัฒนาและรักษาศักยภาพในการในทำหน้าที่เตรียมความพร้อมผู้สูงอายุเมื่อต้องเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัย จังหวัดคานางาวะ (Kanagawa) ที่ประกอบไปด้วย 33 เทศบาล ได้นำเทคโนโลยีอย่างแอปพลิเคชัน “ME-BYO” มาใช้เพื่อติดตามผู้สูงอายุในจังหวัด แอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นการพัฒนานโยบายเชิงนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การดูแลตนเอง และการดูแลสุขภาพในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรที่มีอายุ 100 ปี แนวคิดของแอปพลิเคชันนี้ได้คำนึงถึงสภาพร่างกาย และสภาวะจิตใจอย่างเป็นพลวัตมากกว่าเป็นเพียงเส้นบาง ๆ ระหว่างสุขภาพ กับความเจ็บป่วย ซึ่งได้มีการเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดย ME-BYO จะแสดงสถานะปัจจุบันของดัชนีใน 4 มิติ ได้แก่ 1. ทางเลือกในการดำเนินชีวิต (lifestyle choices) 2. ความสามารถในการรับรู้ (cognitive capacities) 3. การทำกิจวัตรประจำวัน (daily living functions) และ 4. สุขภาพจิต (mental health) รวมถึงความเครียด

การตรวจสอบ และการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลสามารถทำได้ฟรีผ่านแอปพลิเคชัน “ My ME-BYO Record” ซึ่งจะมีการจดจำเสียง แอปนี้ช่วยคำนวณดัชนี ME-BYO ของผู้ใช้และตรวจสอบคะแนนผ่าน 15 รายการ อาทิ เพศ อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก ความดันโลหิต การประเมิน Mini Cognitive รายการตรวจสอบ Locomo Five ความเร็วในการเดิน และสภาวะสุขภาพจิต หลังขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์เสียงของบุคคล ในอนาคตจังหวัดมีแผนที่เพิ่มฟังก์ชันการพยากรณ์ เพื่อแสดงสถานการณ์ทางด้านสุขภาพที่เป็นไปได้ในอนาคตโดยมีรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน และในฐานะระบบตรวจสอบแบบเรียลไทม์ดัชนี ME-BYO จะช่วยสนับสนุนการประเมินผลกระทบทั้งในระดับบุคคลและชุมชนได้

 

นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของไม่กี่ประเทศที่มีการดำเนินงานนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย เพื่อฟื้นคืนกิจกรรมทางกายให้กลับมาดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านงบประมาณ หรือการจัดสรรโอกาส พื้นที่ รวมถึงกิจกรรมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิตประจำวัน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงพฤติกรรม ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิด และเห็นถึงปัญหาเชิงลึกของคนในชุมชนเป็นอย่างดี การจัดการโดยท้องถิ่นเพื่อคนในชุมชนจะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะช่วยให้การฟื้นคืนกิจกรรมทางกายของคนไทยกลับมาดีขึ้นกว่าเดิมได้ในไม่ช้า

 


อ้างอิง

[1] https://www.prachachat.net/d-life/news-596743

[2] Piyawat Katewongsa et al., The effects of the COVID-19 pandemic on the physical activity of the Thai population: Evidence from Thailand’s Surveillance on Physical Activity 2020, Journal of Sport and Health Science (2020), https://doi.org/10.1016/j.jshs.2020.10.001

[3] Lawson Foundation. Increasing Outdoor Play in Early Learning and Child Care in the Context of COVID-19. July 2020. English version available at http://www.lawson.ca/op-elcc-covid19.pdf.

[4] https://www.gov.uk/guidance/pe-and-sport-premium-for-primary-schools

[5] https://www.gov.uk/government/news/government-announces-allocation-of-100-million-to-support-recovery-of-leisure-centres

[6] https://www.theguardian.com/artanddesign/2021/feb/25/set-children-free-are-playgrounds-a-form-of-incarceration

[7] https://www.walktoschool.vic.gov.au/councils

[8] https://www.aicr.org/resources/blog/get-moving-physical-activity-policies-for-cancer-prevention/

[9]  Decade of healthy ageing: baseline report. Geneva: World Health Organization; 2020. Licence: CC BY-NC-SA 3.0 IGO.

 

SHARE

ผู้เขียน
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์


อับดุล อุ่นอําไพ


รุ่งรัตน์ พละไกร


สโรชา เกสโร


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]