29 มิถุนายน 2564

กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม

2483

ล้อม "คลัสเตอร์ (cluster)" : ประโยชน์ของแนวคิดคลัสเตอร์ ที่มากกว่าล้อมโควิดกันคนหาย

ต้นเมษา’64 “ทองหล่อ” กลายเป็นย่านพื้นที่ที่ถูกพูดถึงทั่วประเทศในฐานะเป็น “คลัสเตอร์ (cluster) ใหญ่ที่เป็นจุดแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เกิดกระจายระบาดหนักอีกระลอกในประเทศไทย หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้เกิดคลัสเตอร์เอกมัย คลัสเตอร์บางแค คลัสเตอร์คลองเตย และล่าสุดคลัสเตอร์โรงงาน คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง ที่ส่งผลให้คำว่า “คลัสเตอร์” กลายเป็นคำคุ้นหู ติดปากของคนไทยอย่างรวดเร็วมาถึงปัจจุบัน (ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยได้คุ้นเคยกับคำ ๆ นี้มากนัก)

ล่าสุด “คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง” จำนวน 447 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครกลายเป็นคลัสเตอร์ล่าสุดที่ถูกสั่งปิดล้อมไม่ให้มีการดำเนินกิจการและเคลื่อนย้ายของบุคคลทั้งเข้าและออก (1) ทั้งนี้เนื่องจากกังวลว่าผู้คนหรือสมาชิกในคลัสเตอร์นั้น ๆ จะหนีออกนอกเขตพื้นที่และอาจนำโรคไปแพร่เชื้อยังพื้นที่อื่น ๆ ในวงกว้าง จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของมาตรการ ขณะที่ประชาชนทั่วไป แน่นอนว่าในตอนนี้ เมื่อได้ยินคำว่า “คลัสเตอร์” ขึ้นมา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะชวนให้นึกภาพถึงโซนพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ต้องการที่จะเป็นสมาชิกของคลัสเตอร์นั้น ๆ จนอาจสรุปได้ว่า “คลัสเตอร์” กลายเป็นคำในเชิงลบและไม่พึงประสงค์ของผู้คนในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน

นั่นคือหนึ่งในแง่มุมของการนำแนวคิดคลัสเตอร์ใช้ในเชิงระบาดวิทยาภายใต้สถานการณ์การควบคุมโรคในช่วงเวลานี้ ทว่ายังคงมีอีกหลากหลายมุมที่คลัสเตอร์ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงบวกต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการส่งเสริมสุขภาพที่มีตัวอย่างและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าสนใจหลายกรณี

 

คลัสเตอร์ คืออะไรกันแน่

คลัสเตอร์ (cluster) เป็นแนวคิดที่มองหรือพิจารณาถึงกลุ่มของคน สัตว์ หรือสิ่งของวัตถุต่าง ๆ ที่มารวมตัวกัน หรือถูกจับจัดอยู่ให้รวมกัน โดยจุดร่วมบางประการเป็นตัวกำหนดขอบเขตของคลัสเตอร์ อาทิ ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ ประเภทเศรษฐกิจ สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ กลุ่มของความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เหมือนกัน รวมถึงของเขตเชิงคุณลักษณะต่าง ๆ เป็นต้น

 

คลัสเตอร์ มีประโยชน์อย่างไร

ว่ากันว่าการศึกษาหรือทำความเข้าใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเชิงลึก เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ข้อมูลหรือองค์ความรู้ในภาพรวมมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ หลัง ๆ เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ คำว่า “เสื้อตัด เสื้อโหล” เช่นเดียวกันกับการทำความเข้าใจในเชิงพฤติกรรม ด้วยความหลากหลายของทางเลือกในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน การออกแบบกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพเองก็จำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการออกแบบให้วิเคราะห์เพื่อจำแนกพฤติกรรมของคนออกเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น Cluster, Segment, หรือ Sub-group ทั้งนี้เพื่อให้ผลของการวิเคราะห์สามารถสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนตามแต่ละกลุ่ม  ตามวิถีชีวิตและรสนิยมที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป และเมื่อเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้อย่างดีแล้ว ก็จะสามารถนำผลของการศึกษามาออกแบบแนวทางหรือนโยบายต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามความต้องการ (Demand) ของกลุ่มคนในแต่ละคลัสเตอร์ได้อย่างตรงจุด

ที่ผ่านมา อันที่จริงแล้วเราก็มีการวิเคราะห์ในลักษณะของประชากรกลุ่มย่อย ๆ อยู่บ้าง เพียงแต่ส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ตามคุณลักษณะที่สำคัญทางประชากร เช่น กลุ่มเพศ กลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ กลุ่มจังหวัด กลุ่มคนเมือง หรือกลุ่มภูมิภาค เป็นต้น ทว่าเราไม่ได้เรียกมันว่าเป็นคลัสเตอร์ (แต่แนวคิดก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปมากนัก) แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบันเมื่อคำว่า “คลัสเตอร์” ได้รับการพูดถึงมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงยุคของข้อมูลข่าวสารที่มีทั้งปริมาณและรายละเอียดที่มากยิ่งขึ้น การวิเคราะห์กลุ่มออกเป็นคลัสเตอร์จึงมีความเป็นไปได้และแนวโน้มที่จะถูกหยิบนำมาใช้วิเคราะห์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อการส่งเสริมสุขภาพของประชากร

 

ตัวอย่างดีดี ของการวิเคราะห์คลัสเตอร์เพื่อส่งเสริมสุขภาพในต่างประเทศ

ออสเตรเลียได้มีการทดลองทำการวิจัยโดยจำแนกกลุ่มคนตามพฤติกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน 2 พฤติกรรมคือ 1) การมีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) และ 2) พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) เมื่อนำมาวิเคราะห์ไขว้กันจะได้คน 4 กลุ่มคือ 1) กลุ่มคนมีกิจกรรมทางกายมากและเนือยนิ่งน้อย (ดีที่สุดต่อสุขภาพ) กลุ่มคนกลุ่มนี้จะมีสัญลักษณ์ตัวแทนเป็น “ผึ้งงาน” 2) กลุ่มคนมีกิจกรรมทางกายมากและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมาก จะมีสัญลักษณ์ตัวแทนเป็น “ลิงกอริลลา (gorilla)” 3) กลุ่มคนมีกิจกรรมทางกายน้อยและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งน้อย จะมีสัญลักษณ์ตัวแทนเป็น “ม้าลาย” และ 4) กลุ่มคนมีกิจกรรมทางกายน้อยและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมาก (ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากที่สุด) กลุ่มนี้จะมีสัญลักษณ์ตัวแทนเป็น “โคอาล่า (koala)” ซึ่งการแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 กลุ่มนี้ มีเป้าหมายเพื่อทดลองกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการให้แนวทาง ข้อมูลความรู้ แรงจูงใจ ตลอดจนแนวทางในการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามลักษณะของวิถีชีวิตของคนกลุ่มหรือคลัสเตอร์นั้น ๆ โดยข้อค้นพบได้แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มผึ้งงาน (คนที่มีกิจกรรมทางกายมากและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งน้อย) คนกลุ่มนี้ต้องการเป้าหมายที่ท้าทาย รวมถึงกิจกรรมที่มีความแปลกใหม่ไม่จำเจ ขณะที่ในกลุ่มหมีโคอาล่า เป็นกลุ่มคนที่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากกลุ่มเพื่อนและคนรอบข้างในการกระตุ้นและชักชวนให้ออกมามีกิจกรรมทางกาย ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเสริมแรงให้เกิดความมั่นใจในการที่จะเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความลังเลสงสัยในการปฏิบัติพฤติกรรม (หรือ ขั้น Contemplation ตามทฤษฎี Trans-Theoretical Model)

ที่มา: GHENT University, presented in ISPAH 2018 conference, london, UK, 2018

 

ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ โครงการ National Step Challenge ที่เป็นโครงการรณรงค์สร้างค่านิยมและส่งเสริมกิจกรรมทางกายของคนในประเทศด้วยการนับก้าวเดินระหว่างวัน นอกเหนือจากการทำกิจกรรมส่งเสริมการเดินสะสมแต้มเพื่อแลกรางวัลแล้ว ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการออกแบบให้มีการนำข้อมูลจำนวนก้าวเดินที่เก็บอยู่ในฐานข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และจัดกลุ่มคนออกเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ตามพฤติกรรมการเดิน จำแนกออกเป็น 16 คลัสเตอร์ ไล่ตั้งแต่ กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวน้อย กลุ่มคนที่เดินเฉพาะวันอาทิตย์ กลุ่มคนที่ชอบเดินช่วงวันหยุดในระยะทางสั้น ๆ กลุ่มคนที่เดินตามระยะทางที่โครงการกำหนดเพื่อสะสมคะแนนแลกรางวัล กลุ่มคนที่เดินในช่วงวันทำงาน กลุ่มคนที่มีจำนวนก้าวเดินสะสมระดับสูง เป็นต้น การแบ่งกลุ่มคนออกไปคลัสเตอร์ดังกล่าวนี้ก็เพื่อจะทำความเข้าใจถึงพฤติกรรม ความชอบ และแนวทางการใช้ชีวิตของคนแต่ละกลุ่มว่าเป็นเช่นไร จากนั้นก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด แล้วหาแนวทางการกระตุ้นและส่งเสริมพฤติกรรมที่พอเหมาะพอดีกับคนกลุ่มนั้น ๆ โดยมีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า การมีแนวทางการส่งเสริมการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมกับความชอบและวิถีชีวิตของคนแต่ละกลุ่มจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมสุขภาวะอย่างยั่งยืนได้ (2)

จะเห็นได้ว่าทิศทางของการส่งเสริมสุขภาพโดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในต่างประเทศ ได้มีการนำแนวคิดเรื่องของการแบ่งกลุ่มคนในลักษณะของคลัสเตอร์มาใช้ประโยชน์เพื่อการกระตุ้นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันมาได้สักระยะหนึ่ง ความก้าวหน้าและทันสมัยของการรวบรวมข้อมูลผ่านทางเครื่องมือและอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Of Things (IoT) ได้กลายมาเป็นปัจจัยเอื้อและสนับสนุนให้กระบวนการจำแนกกลุ่มคนเป็นไปได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นในทุกขณะ ซึ่งนี่เองก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การใช้ชีวิตและคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในประเทศเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางที่พวกเขามีสิทธิเลือกอย่างมีคุณภาพอย่างแท้จริง

มองกลับมาที่บ้านเรา...

 

นอกจากใช้คลัสเตอร์ กักกันโควิดแล้ว...ประเทศไทยเราใช้คลัสเตอร์ทำอะไรอีก (บ้างมั้ย)..???

ในประเทศไทยก็มีความพยายามในการทำการศึกษาในเรื่องนี้อยู่บ้าง เพียงแต่กระบวนการนี้อยู่ในขั้นตอนของการเริ่มต้นของการทำงาน ตัวอย่างเช่น มีการนำฐานข้อมูลพฤติกรรมด้านการมีกิจกรรมทางกายมาทำการวิเคราะห์จำแนกคนในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนกลุ่มนั้น ๆ รวมถึงวิเคราะห์ถึงแบบแผนของการมีกิจกรรมทางกายแต่ละประเภท ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็มีความคล้ายคลึงกับการดำเนินงานที่ประเทศสิงคโปร์กำลังดำเนินการอยู่ โดย ในปี 2563 มีคนไทยประมาณ ร้อยละ 20.1 ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายในการทำงาน โดยไม่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาประเภทใดเลย รวมถึงไม่ใช้การเดินทางด้วยเท้าด้วย ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.2 ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างเป็นนิจ ขณะที่อีกประมาณร้อยละ 5.1 ใช้การเดินทางด้วยเท้าเป็นแนวทางหลักในการมีกิจกรรมทางกายของตน (3)

ในระดับของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และสภาพแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข โดยกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย ก็กำลังดำเนินการสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางด้านนโยบาย กิจกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของคนทำงาน ใน 5 คลัสเตอร์ที่เป็นสถานที่ทำงานประเภทต่าง ๆ 1) สถานศึกษา 2) สถานประกอบการ 3) สถานบริการสาธารณสุข 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 5) ระบบคมนาคมและผังเมือง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 5 คลัสเตอร์ดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของประชาชนอย่างเราๆ ทุกเพศวัย ซึ่งผลการสำรวจข้อมูลดังกล่าวนี้จะทำให้เราได้ทราบว่า ปัจจุบันนี้คลัสเตอร์ต่าง ๆ ดังกล่าวได้มีสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมสุขภาพให้คนทำงานของตนอย่างไรบ้าง และมีอะไรที่ควรออกแบบหรือสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้คนในคลัสเตอร์นั้น ๆ มีสภาพแวดล้อมทางสุขภาพที่ดีขึ้นได้

สิ่งเหล่านี้เป็นบางตัวอย่างของการนำแนวคิดเรื่องคลัสเตอร์มาใช้ประโยชน์ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายให้กับคนไทยที่เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ในยุค Next Normal ให้เป็นไปอย่างมีสุขภาวะ เรื่องราวของการศึกษาเชิงคลัสเตอร์เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกสำหรับการสนับสนุนการออกแบบมาตรการและนโยบายตามความต้องการของคนในแต่ละกลุ่มแต่ละคลัสเตอร์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกวิเคราะห์ได้จะถูกนำมาใช้เป็นภูมิคุ้มกัน หรือใช้เป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ให้กับผู้คนในสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิด platform ระดับประเทศในการนำข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายมาวิเคราะห์และสร้างสมการทำนายพฤติกรรมของบุคคลในแต่ละคลัสเตอร์ ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวใช้ประกอบการตัดสินใจในการออกแบบนโยบายและการรณรงค์ที่มีประสิทธิผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เพื่อให้การออกแบบมาตรการรณรงค์เพื่อสร้างการตื่นรู้และความตระหนักด้านกิจกรรมทางกายเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมตามความต้องการของผู้คนในแต่ละคลัสเตอร์อย่างแท้จริง

 


อ้างอิง

(1) กรุงเทพธุรกิจ. (2564). เปิดชื่อ 41 'แคมป์ก่อสร้าง' ปม ‘โควิด’ ระบาดกทม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564,จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945618

(2) Lim, B. Y., Kay, J. & Liu, W. How Does a Nation Walk? Proceedings of the ACM on Interactive, Mobile, Wearable and Ubiquitous Technologies 3, 1-46, doi:10.1145/3328928 (2019).

(3) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), 2563. ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 (รอบที่ 1). ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

 

SHARE

ผู้เขียน
ณรากร วงษ์สิงห์


วณิสรา เจริญรมย์


คมกฤช ตะเพียนทอง


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]