12 กรกฎาคม 2564

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

2307

ฐานข้อมูล Big Data: รากฐานสำคัญเพื่อสนับสนุนการทำงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ที่แพร่กระจายไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง เพื่อป้องกันตนเองให้มีชีวิตรอดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตจากวิถีเดิมที่เคยเป็นมา ที่ปรกติเคยออกจากบ้านเพื่อไปทำงานสำหรับผู้ใหญ่ หรือต้องไปโรงเรียนสำหรับเด็กและเยาวชน ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันถูกดำเนินขึ้นที่บ้านเนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่ง ณ จุดนี้ทำให้เทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญกับมนุษยชาติมากยิ่งขึ้น

ในแต่ละวันมีข้อมูลมากมายเกิดขึ้นจากการใช้งานผ่าน Smart devices ต่าง ๆ เช่น Computers, Smart phones, Smart watches เป็นต้น ข้อมูลจะถูกสร้างขึ้นในทุก ๆ วินาทีจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตออฟไลน์ไปสู่การเปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ การใช้ระบบซื้อขายและบริการทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่ง การคลิก การแชร์ การกดติดตาม การกดถูกใจ การล็อกอิน และกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ที่ได้กระทำผ่าน Smart device ที่ตนเองถือครอง ซึ่งทำให้มีข้อมูลขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 quintillion bytes [1] (หรือเท่ากับ 2,500,000,000 gigabytes) เกิดขึ้นทั่วโลกในแต่ละวันทุก ข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้ได้ถูกรวบรวม จัดเก็บ และประมวลผลอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกเรียกว่า Big Data ซึ่งเป็นระบบการจัดการข้อมูลที่มีปริมาณมากและมีความหลากหลายสูงจากทุกแหล่ง นำไปวิเคราะห์และใช้ในการวางแผนเพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงความต้องการของประชากรให้ได้มากที่สุด ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีการกล่าวถึง Big Data กันมาก โดยเฉพาะในแวดวงการทำธุรกิจ เช่น การทำตลาดการค้าออนไลน์ได้ใช้ Big Data ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคโดยการติดตามพฤติกรรมการหาข้อมูลของลูกค้าว่าสนใจหรือมีความต้องการซื้อสินค้าอะไร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกป้อนเข้าสู่ฐานข้อมูลและนำมาวิเคราะห์โดยการทำงานของ Big Data เพื่อเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าแบบอัตโนมัติซึ่งทำให้มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

จากลักษณะการทำงานจะเห็นได้ว่า Big Data ไม่ใช่เป็นเพียงฐานข้อมูลในแบบทั่ว ๆ ไปที่ถูกจัดเก็บไว้อย่างมีระบบในฐานข้อมูลเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นฐานข้อมูลที่สามารถเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลเพื่อนำเสนอได้ด้วยตัวระบบเอง ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการวางแผนระดับประเทศ การวางแผนธุรกิจในองค์กร การวางแผนด้านการศึกษา การวางแผนด้านการแพทย์ หรือแม้กระทั่งในด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปกติ Big Data มักถูกพัฒนาใช้เพื่อการตลาด ธุรกิจการสื่อสาร หรือแม้กระทั่งการทายผลหวย แต่สำหรับบทความนี้จะหยิบยกการใช้ Big Data มาประยุกต์ใช้ในทางด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำ Big Data เข้ามาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการช่วยประเมินและวางแผนการเพื่อให้ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพด้วยการตระหนักถึงการมีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น

ในแง่มุมของเครื่องมือ Big Data เป็นตัวช่วยให้สามารถทำให้ข้อมูลที่ต่าง ๆ ที่หลากหลายให้กลายเป็นชุดข้อมูลอันทรงพลังในการเข้าถึงและใช้เริ่มต้นสร้างรากฐานระบบ ดังนั้นการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและฐานข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายของประชากรให้สามารถทำงานในรูปแบบ Big Data จึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการวางแผนนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้มีการนำแนวคิดนี้มาใช้บ้างแล้วในบางประเทศ เช่น ในประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Fitness Tracker”[2] ที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือในการติดตามการออกกำลังกายและแสดงผลการออกกำลังกายทันทีหลังจากการวิ่งหรือเดิน อีกทั้งยังเก็บสถิติการนับก้าวในแต่ละวันเพื่อใช้เป็นข้อมูลประเมินสุขภาพและวัดออกมาเป็นค่าระดับความฟิตของแต่ละบุคคลได้ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ระดับความฟิตของแต่ละคนจะพิจารณาจากการวิ่ง 2.4 กม. หรือการเดินเร็ว 2.0 กม. เพื่อใช้ตรวจสอบและประเมินความเร็วของการวิ่งหรือการเดินที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล เพื่อเป็นคำแนะนำในการออกกำลังกายที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพส่วนบุคคลสำหรับบุคคลนั้น ๆ ตามสมรรถภาพของร่างกายแต่ละบุคคลจะสามารถรองรับได้ เพื่อให้ทราบถึงสถานะสุขภาพของตนเอง และช่วยตัดสินว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมหรือไม่ ก่อนเริ่มการออกกำลังกายใด ๆ อีกทั้งในแอปพลิเคชันยังมีแบบสอบถามกิจกรรมทางกาย (PAR-Q) ให้ผู้ใช้สามารถประเมินกิจกรรมทางกายของตนเองได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชัน Fitness Tracker ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในประเทศสิงคโปร์นั้นมีคุณสมบัติที่สามารถจูงใจหลายอย่างให้ผู้คนสนใจโหลดมาติดตั้งเพื่อใช้งาน ซึ่งจากระบบการทำงานผู้ใช้แต่ละบุคคลจะมีรายงานเชิงสุขภาพที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางกายในแต่ละวัน ในขณะที่รัฐในฐานะผู้ออกแบบแอปพลิเคชันสามารถดึงข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำของข้อมูลทางสุขภาพที่มากขึ้นในแต่ละวัน อีกทั้งสิงคโปร์ได้พัฒนาแอปพลิเคชันให้เชื่อมกับ Smartwatch โดยสามารถส่งข้อมูลแบบ real time เกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจ รูปแบบการนอนหลับ และการออกกำลังกาย เพื่อรวบรวมข้อมูลรูปแบบการดำเนินชีวิตจากผู้เข้าร่วมที่มีอายุระหว่าง 17-74 ปี[3] โดยข้อมูลที่รวบรวมจะนำมาวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมสุขภาพของชาวสิงคโปร์ได้ดีขึ้น และสามารถออกแบบกิจกรรมที่จะทำให้คนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นได้ตรงตาม life style แต่ละบุคคล ซึ่งใช้ในการวางแผนนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พร้อมวิเคราะห์รูปแบบและทิศทางการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ National Steps Challenge เป็นหนึ่งตัวอย่างของกิจกรรมที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางกายของสิงคโปร์ในทุกปี ซึ่งทำให้การมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2010 เป็น 10% ในปี 2017[4]


ที่มาภาพ: https://www.justrunlah.com/2016/05/13/5-despicable-ways-to-earn-vouchers-via-hpbs-national-steps-challenge

นอกจาก Big Data จะเป็นเครื่องมือเฝ้าระวังระดับบุคคลแล้วยังเป็นสื่อกลางการสื่อสารในการลดความเนือยนิ่งให้แก่สังคมได้ โดยการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมจากการเพิ่มพูนความรู้และชี้นำให้ผู้คนเข้าใจและชื่นชมถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางการเป็นประจำตามความเหมาะสมของวัย จะเห็นได้ว่าเป็นเหมือนการขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ระบบการทำงานของร้านค้าออนไลน์จะพยายามเสนอสินค้าที่ผู้ใช้ให้ความสนใจอยู่ ซึ่งโอกาสตัดสินใจซื้อจะสูงกว่าปรกติ[5] ในทางเดียวกันหากเราสามารถเสนอข้อมูลความรู้และประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายได้ตรงตามกลุ่มวัยที่เหมาะสม จากการวิเคราะห์ข้อมูลเจาะลึกถึงเชิงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละบุคคลได้ จะทำให้สามารถสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคมหมู่มากได้ว่าการมีกิจกรรมทางการไม่ใช่เพียงเรื่องของการออกกำลังกาย แต่เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกายในทุกอิริยาบถให้เพียงพอในแต่ละวัน[6]

ในบางประเทศได้ใช้ Big Data ในการออกแบบและวางแผนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและปกป้องสิทธิของทุกคน ทุกวัย ในการเข้าถึงสถานที่และพื้นที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกันในเมืองและชุมชนของพวกเขา เพื่อสร้างโอกาสในการออกกำลังกายเป็นประจำตามความสามารถของช่วงวัย โครงสร้างพื้นฐานของเมืองซึ่งรวมถึงระบบที่ให้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง สภาพแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพของประชากรและความเท่าเทียมทางสุขภาพ ระบบเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงของการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย และการเสียชีวิต จากการเกิดโรคจากมลพิษทางอากาศ เสียง และพฤติกรรมเนือยนิ่ง[7]

เมือง Barcelona ประเทศ Spain ได้พัฒนาแผนการวางผังเมืองให้เป็น Smart city โดยใช้ Big Data ในการช่วยวิเคราะห์และวางระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานของประชากรในพื้นที่  ทำให้ทราบถึงความต้องการการใช้พื้นที่ ๆ เกิดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการประยุกต์ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูล Big Data ในการวางแผนการแบ่งเขต ถนน และโครงสร้างพื้นฐานของเมืองโดยอิงจากการรวบรวมข้อมูลพลวัตของผู้อยู่อาศัยและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ ก่อนการเริ่มสร้างระบบการจัดการ น้ำ พลังงาน การสื่อสาร ที่อยู่อาศัย และความคล่องตัวในการสัญจรทุกรูปแบบให้ครอบคลุมกับทุกเพศทุกวัย ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่พัฒนาจากการสนับสนุนด้วยระบบฐานข้อมูล Big Data ที่รวบรวมข้อมูลจากทุกแหล่งฐานข้อมูลมีที่อยู่ทั้งของภาครัฐและเอกชนด้วยความตั้งใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้เปิดกว้างและมีความหลากหลายเพื่อดึงดูดประชาชนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ก่อให้เกิดแนวคิดการจัดทำผังเมืองแบบ “Super block” ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นที่เก้าช่วงตึกให้กลายเป็นย่านเพียงบล็อกเดียวแบบครบวงจรที่มีพื้นที่อาศัยและพื้นที่สาธารณะไว้ใช้ร่วมกัน เป้าหมายเพื่อลดการจราจรในเมืองลง 21% และเพิ่มพื้นที่จากถนนเกือบ 60% เพื่อนำกลับมาใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้กับพลเมือง ตั้งแต่การเพิ่มทางจักรยาน เพิ่มทางเท้าที่กว้างขึ้น และพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้น การจราจรส่วนใหญ่จะถูกควบคุมด้วย Smart traffic และจะจำกัดอยู่ที่บนถนนเส้นหลักรอบ Super block ในขณะที่การขนส่งด้วยเครื่องยนต์ภายใน Super block จำกัดเฉพาะผู้อยู่อาศัยและการขนส่งสินค้าเท่านั้น[8] ผลการจัดทำ Smart city ของ เมือง Barcelona ทำประชากรในพื้นที่กว่า 65,000 คน มีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นจากการเดิน การปั่นจักรยาน และการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ[9]
 

ที่มาภาพ: https://www.uni-med.net/en/the-superblock-model-in-barcelona-bringing-life-back-to-the-city-by-improving-urban-mobility-management

จะเห็นได้ว่า Big Data ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ข้อมูลที่ถูกจัดเรียงไว้ในฐานข้อมูลเท่านั้น หากแต่เป็นระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการพยากรณ์เพื่อแสดงให้ประจักษ์กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งระบบเฝ้าระวังนี้จะเป็นเสมือนสะพานเชื่อมการวางแผนการดำเนินงานที่เอื้อให้เกิดประโยชน์ได้ในหลาย ๆ มิติของระบบการสนับสนุนการทำงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายในประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 พบว่าการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยลดลงจากเดิมร้อยละ 74.6 ในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 54.7 ในปี 2563[10] ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการลดลงอย่างกะทันหันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้คนปรับเปลี่ยนไป ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันลดลง จะเห็นได้ว่าเรามีข้อมูลจากการสำรวจที่ดีในรูปแบบฐานข้อมูล แต่ยังขาดเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ในลักษณะฐานข้อมูล Big Data ที่จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการนำข้อมูลอื่น ๆ มาร่วมวิเคราะห์พร้อมกับพฤติกรรมระดับบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยในการวางแผนหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการฟื้นกิจกรรมทางกายให้เพิ่มมากขึ้นได้ทันท่วงที ดังนั้นการสร้างฐานข้อมูล Big Data จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเพิ่มพลังให้กับระบบเฝ้าระวังและฐานข้อมูลให้สามารถวิเคราะห์เพื่อการวางแผนเชิงนโยบายให้กับ กรมอนามัย สสส. และภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลการวิเคราะห์ได้ด้วยตัวระบบ Big Data ที่สามารถนำข้อมูลจากการสำรวจ และการรวบรวมจากฐานข้อมูลอื่น ๆ ของภาคีเครือข่าย มาใช้งานในการพยากรณ์และการออกแบบ สังคม สภาพแวดล้อม และผู้คนให้เกิดความตื่นตัว มีความกระฉับกระเฉงได้มากยิ่งขึ้น สุดท้ายแล้วการมีฐานข้อมูลที่ดีในรูปแบบ Big Data ก็เป็นเหมือนการมีภูมิคุ้นกันที่มีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและป้องกันการขาดกิจกรรมทางกายในหมู่ประชากรไทยได้เป็นอย่างดี

 


อ้างอิง

1. Marr, B. How Much Data Do We Create Every Day? The Mind-Blowing Stats Everyone Should Read. 2018; Available from: https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2018/05/21/how-much-data-do-we-create-every-day-the-mind-blowing-stats-everyone-should-read/?sh=481aecf360ba.

2. Board, H.P. HEALTH PROMOTION BOARD LAUNCHES NATIONAL PHYSICAL ACTIVITY GUIDELINES. 2018; Available from: https://www.hpb.gov.sg/article/health-promotion-board-launches-national-physical-activity-guidelines.

3. Lim, S.T.a.T.J. How Singapore is using wearables to design health campaigns. 2020; Available from: https://govinsider.asia/citizen-centric/how-singapore-is-using-wearables-to-design-health-campaigns-hpb/.

4. Chew, L., et al., Can a multi-level intervention approach, combining behavioural disciplines, novel technology and incentives increase physical activity at population-level? BMC Public Health, 2021. 21(1): p. 120.

5. Turner, H.C.A., D., Strategic Decision Making: The Effects of Big Data. International Journal of Operations Management, 2021. 1(2): p. 38-45.

6. World Health, O. Every move counts towards better health – says WHO. 2020; Available from: https://www.who.int/news/item/25-11-2020-every-move-counts-towards-better-health-says-who.

7. Giles-Corti, B., et al., City planning and population health: a global challenge. Lancet, 2016. 388(10062): p. 2912-2924.

8. Organization, W.H., Towards More Physical Activity in Cities: Transorming Public Spaces to Promote Physical Activity - a Key Contributor to Achieving the Sustainable Development Goals in Europe. 2017: World Health Organization, Regional Office for Europe.

9. Mueller, N., et al., Changing the urban design of cities for health: The superblock model. Environment International, 2020. 134: p. 105132.

10. Katewongsa, P., et al., The effects of the COVID-19 pandemic on the physical activity of the Thai population: Evidence from Thailand's Surveillance on Physical Activity 2020. Journal of Sport and Health Science, 2021. 10(3): p. 341-348.

SHARE

ผู้เขียน
ดนุสรณ์ โพธารินทร์


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]