19 กันยายน 2564

สโรชา เกสโร

1649

ก้าวสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตวัยเกษียณอายุแบบพฤติพลัง (Step toward transition in active aging retirement life)

เดือนกันยายนถือเป็นช่วงเดือนที่มีความสำคัญกับหลายคน บางคนเคยฉลองกับการได้ทำบัตรประชาชนครั้งแรกที่ได้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากเด็กหญิงกลายเป็นนางสาวหรือจากเด็กชายกลายเป็นนาย เติบโตสู่ช่วงวัยรุ่นเต็มตัว ความรู้สึกในวันนั้นเสมือนเป็นบัตรแสดงสถานะความเป็นผู้ใหญ่ สำหรับประเทศไทยให้ความสำคัญกับประชากรช่วงวัยรุ่นโดยกำหนดวันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ ในทางกลับกัน ประชากรอีกกลุ่มหนึ่งกำลังทำงานทิ้งทวนชีวิตของคนทำงาน หน่วยงานหลายแห่งกำลังเตรียมการรับมือทั้งระดับองค์กรคือช่วงเดือนสุดท้ายของการทำรายงานปิดปีงบประมาณ สำหรับระดับบุคคลมีการเตรียมการด้านการเกษียณอายุของทรัพยากรบุคคลที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจยังคงยึดอายุเกษียณราชการอยู่ที่ 60 ปี แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) จะมีแผนเสนอการขยายเกษียณอายุในหน่วยงานราชการเป็น 63 ปี แต่ยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณา

ณ วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ตามที่ทางองค์การสหประชาชาติกำหนดไว้เพื่อให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันถือเป็นวันแรกของการปลดเกษียณตามระเบียบราชการทั่วไป ย่อมหมายถึง ผู้เกษียณอายุนั้นไม่ต้องไปทำงานประจำอีกต่อไป สถานการณ์การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนรูปแบบไป ในด้านการเงินค่าครองชีพ ผู้เกษียณอายุยังคงได้รับสิทธิและสวัสดิการจากองค์กรที่ตนเคยสังกัดทำงาน   โดยจะได้รับเงินบำเหน็จ/บำนาญหรือเงินสะสมสหกรณ์ตามเงื่อนไขที่ระบุของแต่ละหน่วยงาน ถ้าไม่ใช่หน่วยงานราชการจะเป็นการรับสวัสดิการตามที่กรมกิจการผู้สูงอายุระบุไว้ในหนังสือคู่มือสิทธิผู้สูงอายุ [1] เช่น วัย 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสาร

หากพิจารณาในด้านสุขภาพ ชีวิตวัยเกษียณ ย่อมหมายถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมในวันทำงานปกติ พฤติกรรมการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป รวมถึงกิจกรรมทางกาย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การทำงาน การเดินทาง และกิจกรรมนันทนาการ ได้แก่ออกกำลังกายและเล่นกีฬา ทั้งนี้ จากการศึกษาการมีกิจกรรมทางกายในช่วงเปลี่ยนผ่านการเกษียณอายุด้านอาชีพและรูปแบบการเดินทางของผู้สูงวัยในฟินแลนด์[2] พบว่า การเกษียณอายุเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการออกกำลังกายทุกวัน โดยได้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพซึ่งวัดจากมาตรความเร่งกิจกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเกษียณอายุตามกฎหมาย ช่วงก่อนและหลังเกษียณอายุ ผลปรากฏว่า ก่อนเกษียณ เพศหญิงมีความกระฉับกระเฉงมากกว่าเพศชาย โดยแสดงค่าคำนวณขนาดเวกเตอร์ (VM : Vector Magnitude) ของการมีกิจกรรมทางกาย อยู่ที่ระดับ 2550 (2500-2590)  ช่วงความมั่นใจ 95%  เทียบกับเพศชายอยู่ที่ 2060 (1970-2140) แสดงจำนวนกิจกรรมในแต่ละวัน โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวมากที่สุดคือผู้หญิงทำงาน หลังเกษียณ เพศหญิงมีกิจกรรมทางกายลดลง 3.9% และเพศชายเพิ่มขึ้น 3.1% โดยไม่มีนัยสำคัญ สำหรับผลการศึกษาหลังเกษียณอายุ พบว่า เพศหญิงยังคงกระฉับกระเฉงมากกว่าผู้ชาย มีค่าวีเอ็ม (VM) อยู่ที่ระดับ 2450 (2390–2,500) ความเชื่อมั่นช่วง95% เทียบกับเพศชายอยู่ที่ระดับ 2120 (2010–2230) นอกจากนี้การเดินทางที่กระฉับกระเฉงโดยเฉพาะการปั่นจักรยานก่อนเกษียณสัมพันธ์กับการออกกำลังกายที่สูงขึ้นทั้งก่อนและหลังเกษียณและคนเหล่านี้ก็ยังคงอยู่  กิจกรรมทั้งหมดของพวกเขาดีกว่าผู้ที่เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้ มีข้อสรุปว่า แม้เพศหญิงทำงานลดลงและผู้ชายในอาชีพที่ไม่ใช่แรงงานมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นภายหลังเกษียณ ผู้หญิงมีความกระฉับกระเฉงมากกว่าผู้ชายทั้งก่อนและหลังเกษียณอายุ ผู้ที่เดินทางอย่างกระฉับกระเฉงก่อนเกษียณรักษาระดับกิจกรรมของพวกเขาไว้หลังเกษียณเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุได้มีการจัดโครงการอบรมเตรียมตัวก่อนเกษียณบุคลากรภาครัฐประจำปี รวมทั้ง สนับสนุนการเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ หรือชมรมผู้สูงอายุ ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรท้องถิ่นเพื่อประชากรสูงวัยในชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล โดยเป็นการจัดสถานที่เพื่อการรวมกลุ่มของผู้สูงวัยให้ร่วมกันทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหมายถึงการมีกิจกรรมทางกายด้วย เช่น การรวมตัวกันเต้นแอโรบิกเป็นประจำ  รวมทั้งสถาบันบริการด้านสุขภาพเอกชนได้ออกแบบโปรแกรมอบรม แนะนำให้ความรู้ และมีกิจกรรมสำหรับผู้เตรียมตัวเกษียณอายุ ซึ่งบางแห่งใช้เวลา 3 - 4 วัน เป็นต้น

ฉะนั้น ทางเลือกของผู้เกษียณอายุขึ้นอยู่กับบริบทและการปฏิบัติตนของแต่ละบุคคลซึ่งสามารถกำหนดได้ การเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยที่เกษียณอายุการทำงานประจำ เมื่อไม่ต้องไปทำงานแล้ว สามารถปฏิบัติตนได้อย่างกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วในแบบของพฤติพลัง (active aging) โดยสามารถมีกิจกรรมทางกายได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ทำสวน ปั่นจักรยาน เดินทางด้วยการเดินเท้าแทนการนั่งรถ ออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิกอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วัยเกษียณมักมีการปรับชีวิตประจำวันซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและวิถีชีวิตแบบกระฉับกระเฉง ให้สามารถออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพได้[3] ในการเตรียมตัวก่อนวันเกษียณ ผู้สูงวัยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้มีความพร้อมและเอื้ออำนวยต่อการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตหลังเกษียณจะทำให้เกิดศักยภาพ


อ้างอิง

[1] กรมกิจการผู้สูงอายุ. หนังสือคู่มือสิทธิผู้สูงอายุ. เข้าถึงได้ที่ https://www.dop.go.th/download/laws/benefit_th_20160507132133_1.pdf  เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564

[2] Pulakka, A. et al. (2020). Physical Activity across Retirement Transition by Occupation and Mode of Commute. Medicine and science in sports and exercise52(9), 1900–1907. เข้าถึงได้ที่ https://doi.org/10.1249/MSS.0000000000002326

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7431137/pdf/mss-52-1900.pdf  เมื่อวันที่ 1กันยายน 2564 

[3] Ter Hoeve, Neinke. (2020). Unfavourable sedentary and physical activity behaviour before and after retirement: a population-based cohort study BMJ Open 2020;10:e037659. doi: 10.1136/bmjopen-2020-037659 เข้าถึงได้ที่ https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32723744/ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 

SHARE

ผู้เขียน
สโรชา เกสโร


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]