29 มีนาคม 2565

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

9236

ความจำเป็นสำหรับการส่งเสริม “ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ” ให้กับคนไทยทุกกลุ่มวัย

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพเพียงพอที่จะเพิ่มคุณค่าในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คุณค่ากับการใช้ชีวิตเพื่อเป้าหมายของสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ หากเรามองหาวิธีการที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายของสุขภาพที่ดีแล้วนั้น เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า “กิจกรรมทางกาย” ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่สามารถพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมของมนุษย์ได้อย่างเป็นองค์รวม และเป็นหนึ่งในวิถีของการปฏิบัติที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของเราทุกคน ในทางกลับกันไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปฏิบัติได้อย่างเพียงพอและสมบูรณ์แบบเพื่อสุขภาพที่ดีได้ และที่มากไปกว่านั้นปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น จากข้อมูลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2564 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า เด็กและวัยรุ่นร้อยละ 46 ผู้ใหญ่ร้อยละ 74 และผู้สูงอายุร้อยละ 56 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก [1] จากข้อมูลสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายข้างต้นนั้น สอดคล้องกับข้อค้นพบสำคัญด้านอุปสรรคของการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยจากการสำรวจข้อมูลโดยศูนย์ทีแพค พบว่าอุปสรรคของการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยแต่ละกลุ่มวัยนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มเด็กและวัยรุ่น พบว่าเกิดความไม่มั่นใจในทักษะของตัวเองและขาดแรงจูงใจที่จะออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกาย ส่วนวัยผู้ใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงวัยของการทำงาน ดังนั้นอุปสรรคที่สำคัญคือ การไม่มีเวลาสำหรับการมีกิจกรรมทางกาย และขาดแรงจูงใจในการมีกิจกรรมทางกาย อีกทั้งยังพบว่าเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ และไม่ทราบแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญร่วมกับการขาดกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ทำให้ระดับกิจกรรมทางกายของคนไทยทุกกลุ่มวัยอยู่ในระดับที่ต่ำลงในปัจจุบัน [1]

ด้วยเหตุดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการมีกิจกรรมทางกายเพื่อประโยชน์ที่ดีของสุขภาพของคนไทยทุกกลุ่มวัย และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขจัดอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคลเอง (Individual factors) ร่วมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก (Environment factors) ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพาตนเองสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้ได้ตลอดช่วงชีวิต ดังนั้น เราจะทำอย่างไร? เพื่อให้เราสามารถจัดการกับอุปสรรค หรือเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และนำพาตนเองให้สามารถคงพฤติกรรมสุขภาพที่ดีด้วยตนเองได้ แม้อาจมีอุปสรรคอยู่บ้างแต่กิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดียังสามารถดำเนินควบคู่ไปกับวิถีชีวิตประจำวันของตนเองได้ตลอดช่วงชีวิต สิ่งสำคัญที่จะสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีที่เป็นปัจจัยระดับบุคคลนั้นก็คือ การเสริมสร้างให้คนไทยทุกกลุ่มวัยมีความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy) ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ แม้เรื่องดังกล่าวอาจไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก อย่างไรก็ดี ความรอบรู้ทางกาย (PL) มีความเชื่อมโยงถึงการเรียนรู้ การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวมผ่านการเคลื่อนไหวและมีกิจกรรมทางกาย ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ สังคม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิตของตนเองได้

 

ความสำคัญของการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย Physical literacy ตลอดช่วงชีวิต

ความรอบรู้ทางกาย (PL) นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพที่ดีตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู้วัยสูงอายุ โดยวัยเด็ก การส่งเสริมความรู้ ทักษะการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ จะทำให้เกิดความมั่นใจในการมีกิจกรรมกีฬาหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความกล้าที่จะออกไปมีกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมั่นใจ เกิดความสุข สนุกสนาน ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวมีความสำคัญมากในการส่งเสริมให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างพื้นฐานทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมที่ดีและเป็นการสร้างพฤติกรรมการมีสุขภาพที่ดีต่อยอดสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นวัยทำงาน ผู้ใหญ่ที่มีความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่สูงนั้น ย่อมสามารถคงไว้ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และสามารถจัดการตนเองให้ปราศจากความเครียดที่อาจเกิดจากการทำงานหรือชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ ส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยผู้สูงวัยที่สูงอายุจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างกระฉับกระเฉง ชะลอความเสื่อมโทรมของระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้โดยการคงไว้ซึ่งกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ดี แม้ตลอดช่วงชีวิตอาจมีปัจจัยภายใน เช่น ขาดทักษะ ไม่มีเวลา ไม่มีความมั่นใจ และปัจจัยภายนอก เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ สถานการณ์การระบาดของโรค ที่เป็นอุปสรรคต่อการมีกิจกรรมทางกาย แต่ความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่มีนั้น จะเป็นตัวช่วยขจัดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคได้ ด้วยประสบการณ์ การเรียนรู้ และการตัดสินใจและมีวิธีการ ทางเลือก ด้วยตนเองในการคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีได้ตลอดช่วงชีวิต [2]

แหล่งที่มา: https://www.rfsisu.se/globalassets/rf-sisu-orebro-lan-rorelsenatverk/dokument/pdf/physical-literacy-for-the-older-adult.pdf

 

ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) คืออะไร?

ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) หมายถึงทักษะและความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่รวมถึงแรงจูงใจ ความมั่นใจ และความรู้ความเข้าใจของการเคลื่อนไหวร่างกายที่ให้คุณค่าและส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างเป็นองค์รวม (ร่างกาย (Physical) / จิตวิทยา (Psychological) / สังคม (Social/ Behavioral) และความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) ) ซึ่งองค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) [9] ประกอบด้วย

1. Motivation and confidence (Psychological) หรือแรงจูงใจและความมั่นใจ (อารมณ์) หมายถึงความกระตือรือร้นของแต่ละบุคคล ความเพลิดเพลินและความมั่นใจในตนเองในการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการมีกิจกรรมทางกายที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของชีวิต

2. Knowledge and understanding (Cognitive) หรือความรู้ความเข้าใจรวมถึงความสามารถในการระบุและแสดงคุณสมบัติสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหว เข้าใจประโยชน์ต่อสุขภาพของการใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงและเข้าใจถึงความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันออกไป

3. Physical competence (Physical) หรือความสามารถของร่างกาย หมายถึงความสามารถของแต่ละบุคคลในการพัฒนาทักษะและรูปแบบการเคลื่อนไหวต่าง ๆ และความสามารถในการเคลื่อนไหวที่มีความหนักและระยะเวลาที่มากขึ้น ยิ่งร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น จะยิ่งช่วยให้แต่ละบุคคลมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายมากขึ้น

4. Engagement in physical activities for life (Social/ Behavioral) หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดีหมายถึง ความรับผิดชอบส่วนบุคคลในการเลือกมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับตนเองและวิถีชีวิตของตนเอง สามารถจัดลำดับความสำคัญและคงไว้ซึ่งการมีส่วนร่วมของกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตนเองต้องการ ให้เสมือนเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของตนเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ตนเอง

 

ความสำคัญของการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่มวัย

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: ด็กจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนากล้ามเนื้อและช่วยให้เกิดความแข็งแรงและสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีขึ้น แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลสถานการณ์ด้านกิจกรรมทางกายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ในอดีตมีการสำรวจย้อนหลัง 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2558 –2561) เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กอายุ 0-5 ปี ในระดับประเทศ พบว่ามีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ล่าช้ากว่าร้อยละ 30 [3] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเด็กไทยก่อนวัยเรียนยังขาดการส่งเสริมด้านการเคลื่อนไหวที่เพียงพอ เนื่องจากเด็กวัยดังกล่าวเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางสมองและร่างกายที่รวดเร็ว เป็นช่วงแรกของ Active Start ที่กำลังพัฒนาการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การนั่ง การยืน การทรงตัว และการเดิน และเริ่มมีการพัฒนารูปแบบการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น วิ่ง กระโดด ขว้าง อย่างต่อเนื่อง ระบบและการทำงานของสมอง กิจกรรมทางกายง่าย ๆ หรือเกมต่าง ๆ สามารถช่วยในกระบวนการพัฒนาทั้งหมดนี้ได้ ดังนั้นการส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายมีความสำคัญต่อระดับของความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตั้งแต่เยาว์วัย การส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ในเด็กวัยดังกล่าวนั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการของกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขั้น ลดความเสี่ยงของโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในเด็ก ลดความเครียด เพิ่มทักษะทางสังคมที่ดีขึ้น ลดโอกาสในการขาดการออกกำลังกาย และทำให้เด็กชื่นชอบกับกิจกรรมทางกายและคงความกระฉับกระเฉงไปตลอดชีวิต ที่สำคัญจะทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้และเพิ่มพัฒนาการได้ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่โรงเรียน [4]

เด็กและวัยรุ่นอายุ 6-17 ปี: จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมทางกายในแต่ละปีของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทยไม่เพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก มีเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ใช้เวลาว่างจากการเรียนเพื่อทำกิจกรรมทางกาย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อมิติด้านสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นเด็กและวัยรุ่นที่มีความรู้ทางกาย (PL) สูง มีแนวโน้มที่จะมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดี และมักจะมีความสุขกับการมีกิจกรรมทางกายมากกว่าคนที่มีระดับความรอบรู้ทางกายต่ำ สามารถมีทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานที่หลากหลายในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีทัศนคติเชิงบวกต่อการออกกำลังกาย และสามารถต่อยอดการเคลื่อนไหวพื้นฐานสู่การเคลื่อนไหวที่มีความสลับซับซ้อน เช่น การเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ ได้ดี และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศได้ในอนาคต ซึ่งส่งผลดีต่อพฤติกรรมสุขภาพ เช่น มีดัชนีมวลกายที่ลดลง น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีกล้ามเนื้อกระดูกที่แข็งแรง ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เพราะปัจจุบันเด็กที่น้ำหนักตัวเกินหรืออ้วนในช่วงวัยเรียนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ [5]

ผู้ใหญ่ อายุ 18-59 ปี: วัยผู้ใหญ่มักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานจนบางครั้งไม่มีเวลาในการมีกิจกรรมทางกาย ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความคล่องตัวเริ่มลดลง เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อและกระดูกการมีเปลี่ยนแปลง เช่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนขาลดลง ความสามารถในการทรงตัวลดลง ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อลดลง สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความบกพร่องในการทำงานและข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ใหญ่ ทำให้ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ใหญ่ที่มีความรอบรู้ทางกาย (PL) สูง จะยิ่งมีแนวโน้มที่ทำให้ตนเองมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีทั้งการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และมีสุขภาพจิตที่ดีได้ด้วยการมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุได้ [7]

ผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป: เมื่อมนุษย์เข้าสู่วัยชรา จุดเน้นของการส่งเสริมความรอบรู้ทางกายนั้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอายุยืนยาว ผ่านการมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่รวมทั้งความสามารถและความมั่นใจของผู้สูงอายุที่ดีนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมทางกายได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพและอายุที่ยืนยาวขึ้น ยิ่งผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายมากจะยิ่งช่วยลดทัศนคติที่ไม่ดีที่จะมองว่าอายุเป็นอุปสรรคต่อการมีสุขภาพร่างกายที่ดีลงได้ [6] ดังนั้นจึงส่งผลดีต่อการลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้สูงอายุมีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งสามารถช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉงในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสามารถทำกิจกรรมทางสังคมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีได้ด้วยตนเอง [7]

 

การดำเนินงานในการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ในต่างประเทศ

หลายประเทศในยุโรป เช่น สวีเดน สาธารณรัฐเช็ก และเนเธอร์แลนด์ได้ส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ปรับให้เข้ากับรูปแบบวิถีชีวิตของประชากรในประเทศ นอกจากนี้ในกลุ่มประเทศแถบยุโรปที่เป็นสมาชิก Physical Literacy for Life มีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวยุโรปทุกคนผ่านการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย “เราต้องการเห็นผู้คนจำนวนมากขึ้นเคลื่อนไหวตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา เพราะสิ่งนี้มีประโยชน์ที่จำเป็นต่อความผาสุกทางร่างกาย อารมณ์ ความรู้ความเข้าใจ และสังคมของเรา” [8] ในขณะที่ประเทศในเอเชีย เช่น ที่โรงเรียนในประเทศจีนใช้การบูรณาการเข้ากับระบบการเรียนทั้งการส่งเสริมความรู้ ทักษะ และสร้างแรงจูงใจให้เด็กในโรงเรียน มีวัฒนธรรมการมีกิจกรรมทางกายโดยที่เด็กมีความรอบรู้ทางกายได้โดยที่ไม่รู้ตัว นอกจากนี้หลายประเทศในแอฟริกาเชื่อมโยงความรอบรู้ทางกาย (PL) เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ประจำชาติ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียได้ส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ผนวกเข้ากับความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) โดย มีเป้าหมายให้คนรุ่นใหม่มีความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่มากขึ้น เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แบบองค์รวมตลอดชีวิตผ่านการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ สังคม และความรู้ความเข้าใจและความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิต Sport Australia ที่เป็นองค์กรส่งเสริมด้านกีฬาในประเทศออสเตรเลีย ได้กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชีวิตของชาวออสเตรเลียทุกคน ผ่านการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย เราต้องการให้ชาวออสเตรเลียเคลื่อนไหวมากขึ้น บ่อยขึ้นเพราะเรารู้ถึงประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพของเราและความเป็นอยู่ที่ดี และประโยชน์ต่อร่างกายสังคมจิตใจและความรู้ความเข้าใจ” [9] นอกจากนี้ประเทศแคนาดาที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ทั่วโลกยอมรับถึงแนวคิดการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ได้รวบรวมแนวคิดดังกล่าวผนวกเข้ากับสถานศึกษา องค์กรหรือสหพันธ์แห่งชาติ รวมทั้งสร้างเป็นโปรแกรมให้เป็นแนวทางในการพัฒนานักกีฬาในระยะยาวของประเทศ และประเทศสหรัฐอเมริกานำโดย SHAPE America ได้บูรณาการความรอบรู้ทางกาย (PL) เข้ากับความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เข้าไว้ในมาตรฐานแห่งชาติทำให้ระบบการศึกษามีกรอบการทำงานสำหรับการผลิตบุคคลที่มีความรอบรู้ทางกาย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่ดีต่อสุขภาพตลอดชีวิต โดยให้นิยามไว้ว่า “ความรอบรู้ทางกายคือความสามารถ ความมั่นใจ และความปรารถนาที่จะเคลื่อนไหวร่างกายตลอดชีวิต” [10]

 

ช่องว่างการดำเนินงานในการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ในประเทศไทย

หากพูดถึงความรอบรู้ทางกาย (PL) ในประเทศไทยนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ประเทศไทยเอง ยังขาดการดำเนินงานทั้งการให้ความรู้ การพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวัดและการประเมินผล ที่สามารถเป็นข้อมูลอ้างอิงได้ในระดับประเทศ รวมถึงการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับพัฒนาการและความต้องการ รวมทั้งเป้าหมายของการส่งเสริมที่มีความจำเป็นของคนไทยแต่ละช่วงวัย แม้ปัจจุบันจะมีการดำเนินงานในการติดตามสถานการณ์ของระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยทั้งกลุ่ม เด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันยังขาดการดำเนินงานในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน (อายุต่ำกว่า 5 ปี) เนื่องจากผลของการติดตามสถานการณ์ของระดับการมีกิจกรรมทางกายจะเป็นข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมความรอบรู้ทางกายของประเทศไทยได้ อย่างเช่น ตัวอย่างการดำเนินงานสำหรับกลุ่มเฉพาะ ในประเทศแคนาดา ผู้สูงวัยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ที่มีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพที่ดี จึงเกิดการดำเนินงานเพื่อหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุ ซึ่งการดำเนินงานส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย เป็นหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี โดยผลสำรวจผู้สูงอายุในระดับชาติในปี 2020 พบว่าร้อยละ 74 ไม่เคยได้ยินเรื่องความรอบรู้ทางกาย (PL) มาก่อน และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 82 บอกว่าสนใจในการเรียนรู้เพิ่มเติม ในขณะที่ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่พบว่าร้อยละ 39 เข้าใจเกี่ยวกับความรอบรู้ทางกาย (PL) เป็นอย่างดี [11] ดังนั้นจากตัวอย่างการดำเนินงานสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ เพื่อวางแผนส่งเสริมความรอบรู้ทางกายที่เปรียบเสมือนเครื่องมือหนึ่งที่นำพาผู้สูงวัยให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL)

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการส่งเสริมความรอบรู้ทางกายในประเทศไทยนั้น ต้องมีแนวคิดของการดำเนินงานที่เป็นองค์รวม ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะสามารถเข้าถึงได้ มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล สามารถปลูกฝังให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในสภาพแวดล้อมและบริบทที่แตกต่างกันเกิดคุณค่าตลอดช่วงชีวิต และมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาตัวบุคคลทั้งร่างกาย จิตใจและสังคมอย่างเป็นองค์รวม และที่สำคัญการส่งเสริมความรอบรู้ทางกายที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในระดับประเทศ จะเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญที่ช่วยยกระดับกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยทุกเพศทุกวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถดำเนินงานในระดับต่าง ๆ ได้ดังนี้ [12]

1. ผู้กำหนดนโยบาย

  • สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือในการวัด PL ในทุกกลุ่มวัยอย่างเป็นมาตรฐาน
  • ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบติดตามเฝ้าระวัง ระดับของ PL ในการสำรวจพฤติกรรม และความเสี่ยงของประชากรทุกกลุ่มวัยในการควบคุมและป้องกันโรคต่าง ๆ และขยายการเก็บข้อมูล PL ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย
  • รวบรวมแนวทางปฏิบัติที่เพื่อส่งเสริม PL ร่วมกับการสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายโดยรัฐบาลสนับสนุนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการดำเนินงานร่วมกัน
     

2. องค์กรต่าง ๆ ในชุมชน

  • รวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อออกแบบสิ่งแวดล้อมให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่ Active มากขึ้น สามารถประยุกต์แนวคิด PL ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ
  • จัดเวิร์กช็อป/พรีคอนเฟอเรนซ์ในการประชุมระดับชาติและนานาชาติ
  • จัดงาน/เทศกาล เพื่อส่งเสริม "ความรอบรู้ทางกายในเชิงปฏิบัติ" เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้และมีส่วนร่วมกับชุมชน
  • ติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกายและสนามเด็กเล่นในชุมชนเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายของคนในชุมชน
     

3. สถานศึกษา (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียน/มหาวิทยาลัย)

  • ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับ PL ให้กับเด็กและเยาวชนให้เกิดการพัฒนาควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในสถานศึกษาและการมีสุขภาพที่ดี  เช่น
  1. การสนับสนุนกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายในช่วงเวลาพักระหว่างเรียน
  2. สอดแทรกกิจกรรม PL ระหว่างชั่วโมงการเรียนได้
  3. มุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ทักษะเฉพาะด้าน   กีฬาในระหว่างชั่วโมงเรียนพลศึกษา
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้กิจกรรมทางกายในโรงเรียนที่สามารถนำกลับไปปฏิบัติที่บ้านได้ด้วยตนเอง
  5. สื่อสารผลการประเมิน PL ให้อยู่ในสมุดรายงานของนักเรียน
  • สนับสนุนกีฬาทางเลือกหรือกิจกรรมทางกายที่เป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม
  • ส่งเสริมการสัญจรโดยใช้ การเดิน ขี่จักรยาน สเก็ตบอร์ด หรือโรลเลอร์สเก็ตไปโรงเรียน
  • ให้ความรู้แก่หน่วยพยาบาลในโรงเรียนเกี่ยวกับ PL ในการคัดกรองสุขภาพในโรงเรียนประจำปี
     

4. องค์กรเสริมสร้างสุขภาพและสมรรถภาพร่างกาย (ศูนย์ออกกำลังกาย/ฟิตเนส)

  • ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อส่งเสริม PL ให้มีความเข้าใจถึงแนวคิดของ PLที่สามารถประยุกต์เข้ากับโปรแกรมการออกกำลังกายได้และเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย
  • ออกแบบโปรแกรมที่ทำให้ PL เป็นพื้นฐานของโปรแกรมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพสำหรับครอบครัว
  • ใช้กิจกรรมการพัฒนา PL ในบริการสุขภาพให้กับประชาชน
  • มียิมในศูนย์ชุมชนให้กับผู้ที่สนใจในการออกกำลังกาย
  • มีการประเมิน PL ฟรีแก่สมาชิกทั้งก่อนและหลังการใช้บริการ
     

5. องค์กรด้านการกีฬา

  • สร้างแรงบันดาลใจโดยเน้นเรื่องราวของนักกีฬาโอลิมปิก พาราลิมปิก และนักกีฬาชั้นแนวหน้าหรือเป็นที่นิยม ที่มีพัฒนาจากการเล่นกีฬาที่หลากหลายจนสู่การเป็นนักกีฬามืออาชีพ
  • ส่งเสริมการจ้างเจ้าหน้าที่ด้านกีฬาเพื่อสนับสนุนการเล่นกีฬาของคนทุกเพศทุกวัยในชุมชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส
     

6. ผู้ให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์

  • ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับ PL ที่มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพ
  • บูรณาการ PL เข้ากับโปรแกรมสุขภาพขององค์กรต่าง ๆ
  • นิยาม "โรคขาดการมีกิจกรรมทางกาย" เสมือนเป็นการวินิจฉัยอย่างหนึ่งเพื่อตักเตือน เด็ก พ่อแม่ / ผู้ปกครองและผู้ให้บริการถึงผลเสียที่เกิดจากการไม่เคลื่อนไหวทางร่างกาย
  • สนับสนุนงบประมาณ รางวัลให้กับระบบโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน
  • พัฒนาใบสั่งยาที่เป็นการเสริมสร้าง PL และร่วมกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
     

7. หน่วยงานสาธารณสุข

  • ดำเนินการหรือให้ทุนสนับสนุนการวิจัยที่ขยายองค์ความรู้ระหว่าง PL กับการออกแบบโปรแกรมกิจกรรมทางกายและการออกกำลังและการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ
  • สนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประโยชน์ด้านสุขภาพกับ PL
  • การนำแนวคิดแนวปฏิบัติของ PL ผนวกเข้ากับคลินิกสุขภาพชุมชนให้เกิดเป็นมาตรฐาน รวมทั้งการให้ความรู้สำหรับแม่และการเลี้ยงลูก การรวบรวมหลักการ PL ไว้ในหลักสูตรการเรียนและการศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็นต้น
     

8. สื่อและเทคโนโลยี

  • สร้างละครและรายการต่าง ๆ ที่มีสคริปต์ ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ
  • สร้างช่วงเวลาและการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว หรือส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่สามารถทำได้ที่บ้าน และให้ความรู้เกี่ยวกับ PL ที่เชื่อมโยงถึงพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
     

9. ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

  • สนับสนุนการให้ความรู้แก่แผนกทรัพยากรบุคคลเกี่ยวกับ PL เพื่อให้เกิดความสามารถในการส่งเสริม PL ผ่านโปรแกรมและสิ่งจูงใจด้านพฤติกรรมสุขภาพของพนักงาน
  • สนับสนุนการเพิ่มแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของของพนักงานและครอบครัวของพนักงานที่สามารถมีกิจกรรมที่ส่งเสริม PL ร่วมกันได้
  • เสนอโอกาสให้มีอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม PL สำหรับพนักงาน
     

10. สมาชิกในครอบครัว

  • ผสมผสานรวมแนวคิด PL เข้ากับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของสมาชิกในครอบครัว ทั้งการอออกกำลังกายและเล่นกีฬา เป็นต้น
  • พ่อแม่/ผู้ปกครอง ส่งเสริมการเล่นอย่างอิสระให้กับเด็ก ๆ
  • หากิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่สามารถทำร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย
  • เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางกายที่หลากหลาย เพื่อป้องกันความเครียดและส่งเสริมสุขภาพที่ดี
     

ดังนั้น การส่งเสริม “ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL)” ให้กับคนไทยทุกกลุ่มวัย  จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย และการดำเนินงานดังกล่าวจะยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มุ่งเน้นให้เกิด 3 Active ได้แก่ 1. Active People 2. Active Society 3. Active Environment และเกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้จะเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มวัย ทุกระดับ ทุกสถานะ ได้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองผ่านการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพที่ดี รวมทั้งสามารถขจัดปัญหาและอุปสรรคที่ปิดกั้นโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายได้ด้วยตนเอง โดยใช้ความรอบรู้ทางกาย (PL) ความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็นของการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เปรียบเสมือนต้นทุนที่ดีสำหรับการเสริมสร้างและคงไว้ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีของคนไทยตลอดช่วงชีวิต
 


อ้างอิง

1. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

2. Cairney, J., Dudley, D., Kwan, M., Bulten, R., & Kriellaars, D. (2019). Physical literacy, physical activity and health: Toward an evidence-informed conceptual model. Sports Medicine, 49(3), 371-383.

3. National Institute of Child Health, Department of Health, Ministry of Public Health. Developmental situation of Thai children, random survey in   2017 [Internet]. Nonthaburi: National Institute of Child Health; 2017 [cited 2018 Jun 8]. Available from: http://nich.anamai.moph.go.th/download/DSPM/random1_12_2017.pdf.(in Thai).

4. Active Healthy Communities York Region Public Health. (2020) .Early Childhood Educators Physical Literacy Handbook. Available from: https://activeforlife.com/study-physical-literacy-early-childhood/

5. Doherty, B., Lee, J., Keller, J., & Zhang, T. (2019). Promoting school-aged children’s physical literacy in schools: A brief review. Journal of Teaching, Research, and Media in Kinesiology, 5, 45-49.

6. Allender, S., Cowburn, G., & Foster, C. (2006). Understanding participation in sport and physical activity among children and adults: a review of qualitative studies. Health education research, 21(6), 826-835.

7. Higgs, C., Cairney, J., Jurbala, P., Dudley, D., Way, R., & Mitchell, D. (2019). Developing physical literacy—Building a new normal for all Canadians. Sport for Life Society (Canada). Accessed September, 8, 2021.

8. The Physical Literacy for Life project. (2021). Physical Literacy for Life project partners release 12 position statements. Available from: https://physical-literacy.isca.org/update/35/physical-literacy-position-statements

9. Australian Sports Commission. 2019. SPORT AUSTRALIA POSITION STATEMENT ON PHYSICAL LITERACY. Available from: https://www.sportaus.gov.au/physical_literacy

10. SHAPE America. 2015. Physical Literacy in the United States. Available from: https://www.shapeamerica.org/events/physicalliteracy.aspx

11.Jones, G. R., Stathokostas, L., Young, B. W., Wister, A. V., Chau, S., Clark, P., ... & Nordland, P. (2018). Development of a physical literacy model for older adults–a consensus process by the collaborative working group on physical literacy for older Canadians. BMC geriatrics, 18(1), 1-16.

12. Farrey, T., & Isard, R. (2015). Physical literacy in the United States: A model, strategic plan, and call to action. Washington, DC: The Aspen Institute. Available from: https://www.aspeninstitute.org/wp-content/uploads/2020/03/PhysicalLiteracy_ExecSum_AspenInstitute.pdf

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย