13 พฤษภาคม 2563

นันทวัน ป้อมค่าย, อภิชาติ แสงสว่าง และปัญญา ชูเลิศ

“บ้าน” ฐานที่มั่นสุดท้าย ???

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับมาตรการการรับมือของทั่วโลก

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ทำให้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศจึงกำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากข้อมูลของ Oxford Coronavirus Government Response Tracker (OxCGRT) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการตอบสนองต่อนโยบายการป้องกันแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่มีมาตรการเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ การงดใช้พื้นที่สาธารณะ การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การทำงานที่บ้าน เป็นต้น จากข้อมูลพบว่ามาตรการที่สำคัญมาตรการหนึ่งที่เป็นกระแสบนโลกออนไลน์ในช่วงเวลานั้น คือ การอยู่บ้าน (Stay at Home) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ [1] จากมาตรการดังกล่าว ทำให้ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตและทำงานที่บ้าน (Work From Home) เป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้มาตรการนี้เช่นเดียวกัน

                                     

ที่มา: Louisa Steyl and Damian Rowe, 2020

ผลจากมาตรการลดการแพร่ระบาด กับแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชาชน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทำให้ประชาชนต้องอยู่ที่บ้านเป็นหลัก บวกกับปัจจัยร่วมต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงาน รวมถึงการงดใช้พื้นที่สาธารณะล้วนส่งผลต่อโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายที่ลดลง และเป็นผลให้การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชาชนทั่วโลกลดลง จากการศึกษาพบว่า มีหลายประเทศที่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรในภาพรวมลดลง ตัวอย่างเช่น ประเทศแคนาดา พบว่า ค่าเฉลี่ยการมีกิจกรรมทางกายในภาพรวมลดลง จาก 201.38 นาทีต่อสัปดาห์ เป็น 154.70 นาทีต่อสัปดาห์ ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  [2]  ขณะที่ประเทศอังกฤษ พบว่า กิจกรรมทางกายที่เพียงพอในภาพรวมลดลงมาจากร้อยละ 65.3 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 58.2 ในปี 2563 [3] ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศบราซิล ที่พบว่ากิจกรรมทางกายที่เพียงพอในภาพรวมลดลงมาจากร้อยละ 30.1 ในช่วงก่อนการแพร่ระบาด เป็นร้อยละ 12.0 ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาด [4] และสถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่ได้แตกต่างกันโดยในปี 2562 การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในภาพรวม อยู่ที่ร้อยละ 74.6 แต่ในปี 2563 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดและมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้กิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงอย่างมาก เหลือเพียงร้อยละ 53.2 แล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เป็นร้อยละ 56.0 [5] ดังรูปที่ 1

 

รูปที่ 1 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย

ช่วงก่อนการแพร่ระบาด ช่วงมาตรการล็อกดาวน์ และช่วงผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ที่มา: The effects of the COVID-19 pandemic on the physical activity of the Thai population: Evidence from Thailand's Surveillance on Physical Activity 2020. (2020)

จากข้อมูลเชิงประจักษ์ข้างต้น ทำให้หลายประเทศตระหนักถึงปัญหาการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอของประชาชนในประเทศของตนเอง ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการการอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด นำมาสู่การออกมาตรการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในช่วงที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดจากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ออกมามากขึ้น [6] ซึ่งชี้ชัดว่าในหลายประเทศให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้าน หรือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้บ้านเป็นฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญมาตรการหนึ่งในการช่วยฟื้นกิจกรรมทางกายให้กับประชากรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน.

 

แนวทางการฟื้นกิจกรรมทางกาย ภายใต้เงื่อนไขการใช้บ้านเป็นฐาน (Home-base)

ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมแคมเปญ หรือการรณรงค์ต่าง ๆ มากมาย เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายโดยใช้บ้านเป็นฐาน อย่างไรก็ตาม การศึกษากิจกรรมแทรกแซง (Intervention) ที่สามารถส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างแท้จริงและเชื่อถือได้ จำเป็นต้องใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ โดยการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมต่าง ๆ และมีการทดลองใช้นวัตกรรมเหล่านั้น เพื่อพิสูจน์ตรวจสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมในเชิงประจักษ์

จากการศึกษาพบว่า ในต่างประเทศมีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้าน หรือใช้บ้านเป็นฐาน อยู่จำนวนไม่น้อย โดยสำหรับบทความนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับข้อค้นพบจากงานวิจัยที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่บ้านของประชาชนได้

ข้อค้นพบจากการศึกษาเรื่องการมีกิจกรรมทางกายที่บ้าน หรือการมีกิจกรรมทางกายโดยการใช้บ้านเป็นฐาน สรุปได้ว่า การมีกิจกรรมทางกายที่บ้าน (Home-base Physical Activity) คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬา โดยใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของบ้านหรือที่พักอาศัย ทั้งพื้นที่ในบ้านและนอกบ้าน เป็นพื้นที่หลักในการทำกิจกรรมทางกายประเภทต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพกายและสุขภาพใจ [7, 8, 9, 10, 11]

จากหลักฐานการวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมแทรกแซง (Intervention) ที่ช่วยฟื้นกิจกรรมทางกายของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาด โดยสามารถจำแนกกิจกรรมแทรกแซงได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) กิจกรรมแทรกแซงสำหรับกลุ่มคนทั่วไป และ 2) กิจกรรมแทรกแซงสำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

         

1. กิจกรรมแทรกแซงสำหรับกลุ่มคนทั่วไป

การฟื้นกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มคนทั่วไปโดยใช้บ้านเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอภายใต้มาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการศึกษาพบว่ามีกิจกรรมแทรกแซงอยู่จำนวนไม่น้อยที่ช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนได้ โดยในส่วนนี้จะขอนำเสนอเป็นกลุ่มกิจกรรมแทรกแซง เพื่อให้เห็นรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันของกิจกรรมแทรกแซงที่ช่วยส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่บ้าน

1.1 การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้าน

กิจกรรมแทรกแซงในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น คลิปหรือวิดีโอออกกำลังกาย แอปพลิเคชันออกกำลังกายต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนในทุกกลุ่มวัย และเป็นที่น่าสังเกตว่ากิจกรรมแทรกแซงส่วนใหญ่จะมีผู้นำกิจกรรมหรือผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำหรือคอยกระตุ้นกิจกรรมอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อมัลติมีเดียเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นการเคลื่อนไหวออกแรง เพื่อให้เด็กได้มีกิจกรรมทางกายได้ที่บ้าน [12] การใช้เกมเป็นเพื่อนในการออกกำลังกาย (Active video gaming) โดยหลายประเทศใช้สื่อประเภทนี้ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนในช่วงอยู่ที่บ้าน นอกจากจะทำให้เกิดความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ ยังทำให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย โดย Active video gaming ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ มีกิจกรรมแทรกแซงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกหนึ่งประเภท คือ กิจกรรมการออกกำลังกายเสมือนจริงที่ทำที่บ้าน ตัวอย่างเช่น การออกกำลังกายแบบ Virtual Reality การออกกำลังกายผ่าน Virtual Training App หรือ กิจกรรม Virtual Run เป็นต้น รวมถึงการออกกำลังกายตามคลิปหรือวิดีโอบนโลกออนไลน์ เช่น ยูทูบ (YouTube) หรือ ซูม (Zoom) ซึ่งล้วนได้รับความสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เนื่องจากสามารถออกแบบการออกกำลังกายของตนเองได้ และสามารถสร้างกลุ่มออกกำลังกายแบบออนไลน์ได้ด้วย [13, 14, 15, 16]

1.2 การสร้างสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจ ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้าน

กิจกรรมแทรกแซงที่สำคัญและพบมากอีกหนึ่งกิจกรรม คือ การสื่อสารให้ความรู้และการสร้างแรงจูงใจ ผ่านช่องทางการสื่อสารประเภทต่าง ๆ เช่น พื้นที่ออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย และมีงานวิจัยที่พบว่าลักษณะการให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจนี้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การสร้างวิดีโอสำหรับสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เห็นความสำคัญของกิจกรรมทางกาย ผ่านยูทูบ (YouTube) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) นอกจากนี้ การสร้างสื่อเพื่อสื่อสารสาธารณะยังมีในลักษณะของการรณรงค์แบบ E-poster เพื่อให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย รวมถึงการออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) โซเชียลมีเดีย และเว็บบล็อก (Web blog) [17, 18, 19]

 

2. กิจกรรมแทรกแซงสำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง

กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง บวกกับการมีโรคประจำตัว เมื่อมีมาตรการให้อยู่ที่บ้านทำให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่หลายประเทศให้ความสำคัญและมีการสร้างกิจกรรมแซงแทรกต่าง ๆ ขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้าน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในเรื่องสุขภาพ รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย การมีกิจกรรมทางกายจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความสำคัญด้านความปลอดภัย แรงจูงใจ และแนวทางในการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับร่างกายและช่วงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 [20]

จากการศึกษาพบว่า มีการใช้กลยุทธ์ โปรแกรม รวมถึงกิจกรรมแทรกแซงในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่สามารถทำได้ที่บ้าน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม โดยมีผู้ดูแล ผู้นำกิจกรรม หรือผู้เชี่ยวชาญ คอยติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องผ่านทางการโทรพูดคุยหรือทางพื้นที่ออนไลน์ โดยมีกิจกรรมดังต่อไปนี้

2.1 การมีกิจกรรมทางกายด้วยเทคโนโลยีเสมือน (Virtual reality หรือ VR)

Virtual Reality หรือ VR คือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงและสภาพแวดล้อมจากจินตนาการ เช่น วิดีโอ ภาพ เสียง ผ่านระบบเทคโนโลยี โดยเทคโนโลยี VR สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านความบันเทิง ด้านการแพทย์ เป็นต้น ในปัจจุบันเทคโนโลยี VR ถูกนำไปใช้ในด้านสุขภาพที่หลากหลายมากขึ้นทั้งในผู้สูงอายุและผู้ป่วย เช่น จิตบำบัด ฟื้นฟูโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการปรับปรุงความสมดุลและความจำของผู้สูงอายุซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้ม และส่งเสริมการลดน้ำหนักในผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือและกิจกรรมแทรกแซงที่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายที่ทำได้บ้าน นอกจากนี้ งานวิจัยยังมีข้อยืนยันแล้วว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายแบบดั้งเดิมกับการออกกำลังกายแบบ VR พบว่า การออกกำลังกายแบบ VR มีประสิทธิภาพมากขึ้นและนำไปสู่การฟื้นตัวที่เร็วขึ้น โดยที่ต้องมีผู้ดูแลและคอยติดตามการทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด [21, 22]

2.2 การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล (Telehealth)

จากข้อจำกัดในการเดินทางหรือการเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์ฝึกอบรมหรือศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงความเพียงพอของสถานบริการ และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการออกกำลังกาย จึงนำไปสู่การสร้างโปรแกรมการออกกำลังกายที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในช่วงการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นรูปแบบของการแนะนำและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล (Telehealth) เช่น โทรศัพท์ วิดีโอคอล แอปพลิเคชัน ข้อความ เป็นต้น [23] จากงานวิจัยพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของความคล่องตัวที่ดีขึ้นในผู้สูงอายุ [24] และแสดงให้เห็นว่าสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและหัวใจล้มเหลวได้ รวมถึงผู้ที่มีความดันโลหิตสูงซึ่งมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการดูแลในศูนย์ การรับรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกายในเชิงบวกมากขึ้น และสามารถออกกำลังกายได้เกือบตลอดเวลาตามโปรแกรมที่ทางผู้ดูแลได้กำหนดไว้ตามความเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยแต่ละคน [25, 26]

2.3 การสร้างแรงบันดาลใจตามโครงสร้างแบบจำลอง BASNEF ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ป่วยบางส่วนยังไม่ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายหลังออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย รวมถึงอุปสรรคด้านสภาพแวดล้อม เช่น การไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ความยากลำบากในการเดินทางไปยังสถานที่เล่นกีฬา และค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น การให้ความรู้จึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยการจัดให้มีการฝึกอบรมสร้างแรงบันดาลใจ 3 ครั้ง ตามโครงสร้างแบบจำลอง BASNEF ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ในระหว่างการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นรายบุคคล ก่อนที่ผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ของผู้ป่วยเกี่ยวกับประโยชน์ของการออกกำลังกายโดยการเข้าร่วมการฝึกอบรมสูงขึ้น และยังลดความเชื่อผิด ๆ หรือทัศนคติบางอย่างของผู้ป่วย เช่น การออกกำลังกายเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งยัง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานบริการต่าง ๆ อีกด้วย [27]

 

ช่วยกันทำให้บ้านเป็นฐานที่มั่นในการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของคนไทย

กิจกรรมแทรกแซง (Intervention) ข้างต้น มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่าสามารถเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนในช่วงที่ต้องอยู่ที่บ้านตามมาตรการของรัฐได้ ทั้งการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้าน ตลอดจนการสร้างสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่บ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย ซึ่งจะเห็นว่ามีการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสม โดยที่กิจกรรมแทรกแซงส่วนใหญ่จะมีผู้นำกิจกรรม ผู้ดูแล หรือผู้เชี่ยวชาญ คอยให้คำแนะนำหรือคอยกระตุ้นอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถนำองค์ความรู้นี้มาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมของสังคมไทยได้ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นกิจกรรมทางกายของคนไทย ท่ามกลางมาตรการการลดความเสี่ยงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอเพียงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน กลุ่มสมาชิก ครอบครัว ฯ ต้องช่วยกันทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราได้มีแรงกายและจิตใจที่พร้อมกลับไปฟื้นเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ครอบครัว และคนที่เรารัก ภายหลังวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง


เอกสารอ้างอิง

[1] Thomas Hale , Noam Angrist , Rafael Goldszmidt , Beatriz Kira , Anna Petherick , Toby Phillips, Samuel Webster, Emily Cameron-Blake , Laura Hallas, Saptarshi Majumdar, and Helen Tatlow. “A global panel database of pandemic policies (Oxford COVID-19 Government Response Tracker).” Nature Human Behaviour 2021. https://doi.org/10.1038/s41562-021-01079-8.

[2] Rhodes, R. E., Liu, S., Lithopoulos, A., Zhang, C. Q., & Garcia-Barrera, M. A. Correlates of Perceived Physical Activity Transitions during the COVID-19 Pandemic among Canadian Adults. Applied psychology. Health and well-being 2020;12(4):1157–1182.

[3] Sport England. Active Lives Adult Survey Mid-March to mid-May 2020 Coronavirus (Covid-19) Report 2020.

[4] Malta Deborah Carvalho, Szwarcwald Célia Landmann, Barros Marilisa Berti de Azevedo, Gomes Crizian Saar, Machado Ísis Eloah, Souza Júnior Paulo Roberto Borges de et al . A pandemia da COVID-19 e as mudanças no estilo de vida dos brasileiros adultos: um estudo transversal, 2020;29(4):e2020407.

[5] Katewongsa P, Widyastari DA, Saonuam P, Haemathulin N, Wongsingha N. The effects of the COVID-19 pandemic on the physical activity of the Thai population: Evidence from Thailand's Surveillance on Physical Activity 2020. J Sport Health Sci. 2020 Oct 9:S2095-2546(20)30134-4. doi: 10.1016/j.jshs.2020.10.001. Epub ahead of print. PMID: 33039655; PMCID: PMC7544599.

[6] Bentlage, E., Ammar, A., How, D., Ahmed, M., Trabelsi, K., Chtourou, H., & Brach, M. Practical Recommendations for Maintaining Active Lifestyle during the COVID-19 Pandemic: A Systematic Literature Review. International journal of environmental research and public health 2020;17: 6265. https://doi.org/10.3390/ijerph17176265

[7] Li, H., Chen, X., & Fang, Y. The Development Strategy of Home-Based Exercise in China Based on the SWOT-AHP Model. International Journal of Environmental Research and Public Health 2021;18:1224. Retrieved from https://www.mdpi.com/1660-4601/18/3/1224

[8] Liu, Q.; Zhou, Y.; Xie, X.; Xue, Q.; Zhu, K.; Wan, Z.; Wu, H.; Zhang, J.; Song, R. The prevalence of behavioral problems among school-aged children in home quarantine during the COVID-19 pandemic in china. J. Affect. Disord 2021;279:412–416.

[9] Maher, J.P.; Hevel, D.J.; Reifsteck, E.J.; Drollette, E.S. Physical activity is positively associated with college students’ positive affect regardless of stressful life events during the COVID-19 pandemic. Psychol. Sport Exerc 2021;52.

[10] Amatori, S.; Donati Zeppa, S.; Preti, A.; Gervasi, M.; Gobbi, E.; Ferrini, F.; Rocchi, M.B.L.; Baldari, C.; Perroni, F.; Piccoli, G.; et al. Dietary Habits and Psychological States during COVID-19 Home Isolation in Italian College Students: The Role of Physical Exercise. Nutrients 2020;12.

[11] Meyer, S.M.; Landry, M.J.; Gustat, J.; Lemon, S.C.; Webster, C.A. Physical distancing physical inactivity. Transl. Behav. Med 2021.

[12] Dunton GF, Do B, Wang SD. Early effects of the COVID-19 pandemic on physical activity and sedentary behavior in children living in the U.S. BMC Public Health 2020;20(1):1351.

[13] Hammami, A., Harrabi, B., Mohr, M., & Krustrup, P. Physical activity and coronavirus disease 2019 (COVID-19): specific recommendations for home-based physical training 2020.

[14] Ricardo Borges Viana and Claudio Andre Barbosa de Lira. Exergames as Coping Strategies for Anxiety Disorders During the COVID-19 Quarantine Period 2020.

[15] Ammar, A., Brach, M., Trabelsi, K., Chtourou, H., Boukhris, O., Masmoudi, L., Bouaziz, B., Bentlage, E., How, D., Ahmed, M., Müller, P., Müller, N., Aloui, A., Hammouda, O., Paineiras-Domingos, L. L., Braakman-Jansen, A., Wrede, C., Bastoni, S., Pernambuco, C. S., Mataruna, L., … Hoekelmann, A. Effects of COVID-19 Home Confinement on Eating Behaviour and Physical Activity: Results of the ECLB-COVID19 International Online Survey. Nutrients 2020;12(6):1583. https://doi.org/10.3390/nu12061583

[16] Cowley, E. S., Watson, P. M., Foweather, L., Belton, S., Mansfield, C., Whitcomb-Khan, G., . . . Wagenmakers, A. J. M. Formative Evaluation of a Home-Based Physical Activity Intervention for Adolescent Girls—The HERizon Project: A Randomised Controlled Trial 2021.

[17] Nigg CR, Zurkinden NLA, Beck DA, Bisang XJB, Charbonnet B, Dütschler B, et al.. Promoting More Physical Activity and Less Sedentary Behaviour During the COVID-19 Situation–SportStudisMoveYou (SSMY): A Randomized Controlled Trial 2021.

[18] Wilson, D., Driller, M., Johnston, B., & Gill, N. The effectiveness of a 17-week lifestyle intervention on health behaviors Q1 among airline pilots during COVID-19 2020.

[19] Odetola, S., Ojo, O., Akinola, O., Nwadibia, C., Oloyede, M., Okunade, O., & Ekechukwu, E. Reach and effect of a virtual campaign for promoting physical activity during the covid19-era 2020.

[20] ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย. คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 2563.

[21] อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง. VR เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง 2562. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564, จาก https://il.mahidol.ac.th/th/i-Learning-Clinic/general-articles.

[22] Gao, Z., Lee, J. E., McDonough, D. J., & Albers, C. Virtual Reality Exercise as a Coping Strategy for Health and Wellness Promotion in Older Adults during the COVID-19 Pandemic. Journal of clinical medicine 2020;9(6):1986. https://doi.org/10.3390/jcm9061986

[23] Lambert, G., Drummond, K., Ferreira, V. et al. Teleprehabilitation during COVID-19 pandemic: the essentials of “what” and “how”. Support Care Cancer 2021;29:551–554. https://doi.org/10.1007/s00520-020-05768-4

[24] Brandão, G. S., Oliveira, L., Brandão, G. S., Silva, A. S., Sampaio, A., Urbano, J. J., Soares, A., Santos Faria, N., Jr, Pasqualotto, L. T., Oliveira, E. F., Oliveira, R. F., Pires-Oliveira, D., & Camelier, A. A. Effect of a home-based exercise program on functional mobility and quality of life in elde

ผู้เขียน
ปัญญา ชูเลิศ

นันทวัน ป้อมค่าย

อภิชาติ แสงสว่าง

ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่