13 มีนาคม 2564

ปัญญา ชูเลิศ และอับดุล อุ่นอำไพ

กิจกรรมทางกายสลายกรรม

คำว่า ‘เวรกรรม’ ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 25541 นั้นหมายถึง (1) “กระทำที่สนองผลร้ายซึ่งทำไว้แต่ปางก่อน” หรือ (2) “คำแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต เช่น ไม่รู้ว่าเวรกรรมอะไรต้องมาตกระกำลำบากเมื่อแก่” ความเชื่อเกี่ยวกับเวรกรรมนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล คนที่เชื่อหรือไม่เชื่อต่างก็มีเหตุผลของตนเอง แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนเองอาจไม่ค่อยเชื่อเกี่ยวกับเวรกรรมครั้งแต่ชาติปางก่อนนัก หากถ้าเป็นเวรกรรมในชาตินี้ ผู้เขียนมีความเชื่อ 100% ว่าเวรกรรมนั้นมีอยู่จริง!!!

หนึ่งในเวรกรรมที่คนเรามักชอบสร้างกันในชาตินี้ และปรากฏผลกรรมให้เราได้เห็นกันอยู่ทุกวัน โดยไม่ต้องรอเวลาให้ถึงชาติหน้าก็คือ กรรมจากการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs  หรือ Non-communicable diseases ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือ ติดต่อผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ2 แต่เกิดจากพฤติ – ‘กรรม’ ในการดำเนินชีวิต เช่น การกินอาหารหวานมันเค็มจัด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับพักผ่อน หรือการขาดกิจกรรมทางกาย/ ออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง โรคตับแข็ง และโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) เป็นต้น

ความน่ากลัว ของโรคนี้อยู่ที่ ‘คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันไม่น่ากลัว’ (งงหรือไม่งง ??) เพราะกลุ่มในโรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากการสะสม ‘กรรม’ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงแสดง ‘ผลกรรม’ (โรค หรืออาการเจ็บป่วย) ออกมาให้เห็นอย่างช้า ๆ ไม่ได้แสดงผลกรรมอย่างรวดเร็วฉับพลันทันตาเห็น เช่น วันนี้กินเค็ม หรือมีโซเดียมสูงมาก ๆ แล้วพรุ่งนี้จะป่วยเป็นโรคไตทันที! เพราะเหตุนี้จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกกลัว แถมบางคนยังกระหยิ่มยิ้มย่องคิดหรือพูดเข้าข้างตัวเองว่า “ก็กินแบบนี้มาตั้งนานแล้วไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ฉันก็ยังแข็งแรงดีอยู่” รวมถึงบางครั้งก็มีการพูดกระแซะคนที่ดูแลสุขภาพดี แต่ป่วยก่อนตนเองที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า เช่น “ดูอย่างคนนั้นซิ เขาดูแลตัวเองดี กินดี อยู่ดี สุดท้ายตายก่อนฉันเสียอีก…!”

และด้วยความรู้สึกว่ามันไม่น่ากลัวหรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs สูงกว่าโรคหรือสาเหตุอื่น ๆ เกินกว่าครึ่งของสาเหตุการเสียชีวิต โดยในปี 2552 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า มีประชากรโลกร้อยละ 63 เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs2 และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 71 หรือเท่ากับจำนวนการเสียชีวิต 40.5 ล้านคน จากการเสียชีวิตทั้งหมด 56.9 ล้านคน3 สำหรับประเทศไทยในปี 2552 มีประชากรเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs มากกว่า 300,000 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมดในปีดังกล่าว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงร้อยละ 10 นับเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 200,000 ล้านบาท/ปี โดยโรคในกลุ่ม NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุดในไทยมี 6 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง2

 

ญาติที่ใกล้ชิดผู้เขียนเอง ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตที่เกิดจากการสะสมกรรมมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นหนุ่ม ด้วยความเป็นคนที่ชอบกินอาหารรสเค็มจัด ส่งผลให้ปัจจุบันป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง โดยเมื่อ 6 ปีก่อน เริ่มมีอาการป่วยเข้าขั้นวิกฤตจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด เพราะไตเสื่อมสภาพจนไม่สามารถฟอกของเสียในร่างกายได้ และการเดินทางไปฟอกไตที่โรงพยาบาลทุกสัปดาห์ก็ไม่สามารถช่วยได้อีกต่อไปแล้ว ทางเดียวที่ทำได้คือ หาไตใหม่มาเปลี่ยนแทนไตเดิม โชคดีที่ภรรยามีไตที่สามารถเข้ากันได้ และพร้อมเสียสละไตที่มีอยู่ให้ 1 ข้าง เพื่อช่วยยืดชีวิตให้อยู่ต่อได้จนถึงปัจจุบัน แต่การใช้ชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซ้ำร้ายโรคไตยังได้พรากสมบัติที่เก็บสะสมไว้จนแทบจะหมดสิ้น เพราะต้องทยอยขายออกไปเพื่อนำเงินมารักษาตนเอง เรื่องเล่าลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องเดียว แต่เป็นหนึ่งในหลายแสนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับคนไทยเราทุกปี

อย่างไรก็ดี กลุ่มโรค NCDs เป็นผลมาจากการก่อ ‘กรรม’ หรือการสะสมพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หนทางที่จะช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มโรคนี้ก็คือ งดเว้นการสร้าง ‘กรรมไม่ดี’ ด้วยการ ลด-ละ-เลิก อาหารที่มีรสหวานมันเค็มจัด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และสร้าง ‘กรรมดี’ ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สะสมความเครียด และจัดเวลาให้ตนเองได้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยในวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ ควรสะสมการมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือระดับหนักอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์4 แต่หากใครสามารถทำได้อย่างน้อย 300 นาที/สัปดาห์ ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรงดียิ่งขึ้น กิจกรรมทางกายที่กล่าวนี้ ไม่จำเป็นต้องไปออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เราสามารถมีกิจกรรมทางกายได้ในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งจากการทำงานประจำ งานบ้าน งานสวน การเดินทางสัญจรไปในสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการเดิน หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น โดยเน้นให้มีการขยับเคลื่อนไหวหรือออกแรงให้มากกว่าปรกติ (รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วกว่าปรกติ) และต้องทำให้ได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป สะสมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดวันตามโอกาสที่เรามี เพียงเท่านี้…

 

เราก็จะสามารถสร้าง ‘กรรมดี’ ให้กับตนเองได้ในทุกวัน

 


อ้างอิงจาก

1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. 2554.

2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. กลุ่มโรค NCDs ม.ป.ป. [Available from: https://www.thaihealth.or.th/microsite/categories/5/ncds/2/173/176-กลุ่มโรค+NCDs.html.

3. Word Health Organization. NCD mortality and morbidity 2020 [Available from: https://www.who.int/gho/ncd/mortality_morbidity/en/.

4. World Health Organization. Global recommendations on physical activity for health: World Health Organization; 2010.

ผู้เขียน
ปัญญา ชูเลิศ

ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่