13 มีนาคม 2564

ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

ปีใหม่ I นโยบายอะไรดี บทเรียนจาก “คนละครึ่ง” นโยบายยอดฮิตปี 2563

ที่โต๊ะกินข้าวหลังบ้าน (ในวันนั้น)

แม่: “ความใฝ่ฝันของแม่ในวันที่ส่งลูกๆ เรียนจบกันหมดแล้วคือ ตอนเช้าๆ ได้ตื่นมาแล้วไปวิ่งไปเดินออกกำลังกายกับพ่อ
วิ่งเสร็จแล้วก็กลับมานั่งกินกาแฟ กินน้ำเต้าหู้กับขนม ด้วยกัน…แค่นี้แม่ก็มีความสุขมากแล้วลูก”

ผม: (นั่งมองหน้าแม่แบบเงียบๆ และงงๆ)

เช้าวันใหม่เริ่มต้นขึ้นในปีใหม่ เราหลายคนยังมีโอกาสที่จะลืมตาตื่นพร้อมๆ กับความหวังใหม่ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในปีที่กำลังจะดำเนินไป แต่เหมือนจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเริ่มสลัดอาการงัวเงียและประคองร่างให้ตั้งตรงลุกขึ้นนั่ง ความหนักอึ้งของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมไทยที่กดทับอยู่บนบ่าของมนุษย์ธรรมดาๆ ก็ปลุกเราให้ตื่นจากความฝันและความหวังในยามเช้า ภาพจินตนาการของบ่าหลายสิบล้านคู่ที่กำลังแบกรับคานของโครงสร้างทางชนชั้นที่แบ่งกั้นความรวยจนราวกับสิ่งปลูกสร้างสูงเฉียดฟ้าที่คนที่อยู่ตรงฐานมองเท่าไหร่ก็ไม่เห็นยอด…เริ่มปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อสมองและสติทำงานเต็มระบบ

เมื่อชีวิตแตกต่างกัน มุมมองการให้ความสำคัญทางสุขภาพของคนจึงต่างกันออกไปด้วย…ในเมื่อหากทุกๆ เช้าที่เปลือกตาถูกเปิดขึ้น เรื่องที่สมองสั่งการให้นึกถึงเป็นลำดับแรกๆ คือ “เรื่องปากท้อง และการกระเสือกกระสนเพื่อความอยู่รอดของชีวิตของตัวเองและครอบครัว” มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่ “เรื่องสุขภาพจะถูกหมกซุกไว้ใต้หมอนใบเดิมที่หนุนนอนอยู่ทุกคืน” เรื่องราวจากข้อสรุปและเสียงสะท้อนจากการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์ระดับลึกกับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชนจัดสรรของรัฐหลายแห่งของประเทศเหล่านี้ ยืนยันกับเราว่า “เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่สำคัญน้อยกว่าเรื่องการทำมาหากิน รายได้ การมีงานทำ หนี้สิน และความอยู่รอด” ดังนั้น กว่าที่เรื่องสุขภาพจะถูกหยิบขึ้นมาคิด เวลาในแต่ละวันก็หมดไปเสียแล้ว รู้ตัวอีกทีวันใหม่ก็เริ่มต้น พร้อมกับวัฏจักรชีวิตที่วนหมุนไปตามวงจรแบบเดิมที่มีทางเลือกอยู่อย่างจำกัด

ข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ กับโอกาสและสถานะทางสุขภาพของประชากร เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องและผูกติดกันโดยตรงคล้ายเกลียวเชือก ผลการวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น พบว่า เศรษฐสถานะของประชากรที่มีความแตกต่างทางชนชั้นและรายได้มีผลต่อภาวะสุขภาพโดยรวมในทางลบ กล่าวคือ ในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด) มีโอกาสและแนวโน้มของการมีสถานะทางสุขภาพที่แย่กว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง (1) เช่นเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงเรื่องพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ ก็พบว่า ในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยนี้ก็มีโอกาสในการจะได้มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายน้อยกว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง (2) นอกจากนี้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสุขภาพและความไม่เท่าเทียมทางรายได้ใน 194 ประเทศ ระหว่างปี 1990-2014 ยังชี้ให้เห็นว่า นโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวมให้กับประชากรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างทางรายได้และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) ทว่าการดำเนินนโยบายของภาครัฐในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่พัฒนา ยังคงมุ่งเน้นไปที่การจัดการและการแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงทางรายได้เป็นหลัก

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่นโยบาย มาตรการ หรือข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ที่ถูกริเริ่มหรือดำเนินการขึ้น จึงมุ่งตรงไปที่เรื่องของการทำกิน รายได้ และหนี้สินเป็นหลัก หากจะมีนโยบายด้านสุขภาพปะปนอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นนโยบายที่เน้นด้านสิทธิการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หรือที่เปรียบเปรยว่า “ซ่อมมากกว่าสร้าง” ส่งผลให้การพัฒนานโยบายสาธารณะ (Public Policy) ด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชากรไม่ได้รับการให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่การยกระดับคุณภาพชีวิต คือหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิผลที่จะช่วยลดช่องว่างทางรายได้และสังคมของประชากรได้ และหนึ่งในก้าวแรกที่สำคัญของการดำเนินการควรเริ่มต้นดำเนินการไปพร้อมๆ กับเรื่องอื่นๆ ก็คือ “การส่งเสริมสุขภาวะของประชากร” หรือ “สร้างนำซ่อม” โดยในขณะที่สังคมดำเนินไปภายใต้นโยบายของภาครัฐที่ละเลยการส่งเสริมสุขภาพของประชากรอย่างจริงจัง กลุ่มประชากรที่เป็นฐานล่างของความเหลื่อมล้ำก็ยังคงมีชีวิตแบบปราศจากความมั่นคงทางสุขภาพรอเวลาเพื่อที่จะเข้าไปใช้สวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลในวันที่ความเจ็บป่วยมาเยี่ยมเยือน

ถ้าเช่นนั้น หมายความว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อย จะต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งการดิ้นรนนี้ตลอดไป โดยแทบจะไม่มีโอกาสหรือเวลาที่จะหันมาดูแลหรือใส่ใจสุขภาพของตนเลยใช่หรือไม่

 

คำตอบคือ…………. “ส่วนใหญ่ใช่ ถ้าเราไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร !!!”

ถ้าจะตอบว่าไม่ใช่ ก็คงมีบ้างเฉพาะบางคน ผู้ที่มีแรงจูงใจ (Motivation) การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) และมีวิธีการจัดการในการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิผลเท่านั้น ที่จะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ กระทั่งจัดการให้ตนเองหันมาเอาใจใส่เรื่องสุขภาพได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งในส่วนดังกล่าวนี้ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเชิงปัจเจกของบุคคลทั้งสิ้น แต่จากข้อมูลการสำรวจตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้มากนัก โดยพบว่า คนไทยเฉลี่ยร้อยละ 60 ของประเทศยังขาดโอกาสในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างเป็นประจำ (4) อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะสุขภาพโดยรวม

 

ถ้าเช่นนั้นเราควรทำอย่างไร…………..”รณรงค์ให้ความรู้ ดีหรือไม่”

การรณรงค์เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ที่เป็นประโยชน์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ จะใช้ได้ผลดีกับกลุ่มประชากรที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอ มีความพร้อมและปัจจัยสนับสนุนต่างๆ สามารถบริหารจัดการเวลาในการที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปปฏิบัติจริงในวิถีชีวิต ในทางกลับกันในกลุ่มผู้ที่ยังคงติดกับดักความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เป็นอุปสรรคทางตรงที่กำหนดรูปแบบวิถีชีวิตบนความดิ้นรน ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นอาจจะไปสร้างการรับรู้และความตระหนักได้บ้าง ทว่าในแง่ของการปฏิบัติก็แทบจะไม่มี “โอกาส” ในการจะนำไปใช้จริงในชีวิต เข้าข่ายสุภาษิตคำพังเพยของไทยที่ว่า “หัวล้านได้หวี” ก็ไม่ผิดนัก

 

หลากหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การรณรงค์ให้ความรู้อย่างเดียวอาจไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร

การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการกินผักผลไม้ เรื่องพวกนี้เราก็เรียนกันมาตั้งแต่เด็ก ทุกคนรู้ว่าการรับประทานผักผลไม้มีประโยชน์ แต่ทำไมสถานการณ์การรับประทานผักผลไม้ของคนไทยโดยเฉลี่ยยังคงไม่เพียงพอ การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลเกินความต้องการของร่ายกาย ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไฉนยังไม่ได้ผล ต้องมีการจำกัดด้วยแนวทางด้านหีบห่อของบรรจุภัณฑ์ ขณะที่มีข้อยืนยันจากผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการรณรงค์เพื่อการลดละเลิกบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยจำเป็นต้องทำควบคู่กับมาตรการทางนโยบายอื่นๆ เช่น การจำกัดและควบคุมการเข้าถึง จุดจำหน่าย หรือมาตรการทางภาษี เรื่องราวเกี่ยวกับสารกำจัดแมลงอันตรายที่บานปลายอันตรายมาสู่การกำจัดชีวิตมนุษย์ ทุกคนก็ทราบดีว่าอันตรายเพียงใด แต่ยังคงมีการใช้อยู่ทั่วไปในปริมาณมากอย่างไม่ลดละ กระทั่งต้องหาแนวทางทางกฏหมายเพื่อมาควบคุมและยกเลิก รวมไปถึงเรื่องของการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวของประเทศไทยที่ได้รับการชื่นชมยกย่องว่าทำสำเร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ก็ไม่ได้มาจากการรณรงค์ให้ความรู้กับผู้คนแต่เพียงอย่างเดียว การส่งเสริมและลงทุนในการจัดบริการในเชิงรุกด้านการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัว การเสริมมาตรการและแรงจูงใจของภาครัฐเพื่อลดจำนวนเด็กเกิดใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นโยบายในภาพรวมเห็นผล ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ให้ความรู้ทางด้านการดูแลสุขภาพที่ประเทศเราทำมาอย่างต่อเนื่องในอดีตในลักษณะของ “สุขศึกษา” จึงอาจไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์สำหรับใช้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพของประชากรในสังคมไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่อง “การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ” ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นด้านการส่งเสริมสุขภาพที่มีการดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้ผ่านทางช่องทางต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ลองมาไล่เรียงกันดู

– ในวัยเด็ก เราเรียนวิชาสุขศึกษา พลศึกษา คุณครูสอนให้รู้ว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์และช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย

– ในภาพรวมระดับประเทศ เราได้ยินคำว่า “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ”

– เราได้ข้อมูลมาตลอดว่า ใน 1 สัปดาห์ให้หาเวลาออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วัน ๆ ละ 30 นาที ก็จะมีสุขภาพแข็งแรง (ซึ่งปัจจุบันนี้เปลี่ยนแล้วนะครับ ลองหาอ่านดูได้จากเพจ TPAK นี้นะครับมีหลายบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้)

– ภาครัฐเองก็รณรงค์ให้ความรู้มาอย่างต่อเนื่อง สสส. บอกว่า “แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย” “ออกกำลังกายลดพุงลดโรค” หรือ “ชีวิตดี เริ่มที่เราออกกำลังกาย”

– ภาคท้องถิ่น ก็ลงทุนด้วยการสร้างลานกีฬาประจำหมู่บ้าน สวนสาธารณะ หรือสถานที่ออกกำลังกาย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ของตนไปใช้บริการ

– สถานบริการทางด้านสาธารณสุขทุกระดับ ไล่ตั้งแต่ระดับตำบล จนถึงระดับจังหวัด ก็มีบริการให้คำปรึกษาด้านกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายให้กับกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs)

หลากหลายแนวทางรณรงค์และการดำเนินการทางนโยบายเหล่านี้ หากพิจารณาอย่างเชื่อมโยงจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ไปติดกับดักด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่กระทบต่อวิถีชีวิตและโอกาสทั้งสิ้น เพราะต่อให้เรามีสนามกีฬาหรือสวนสาธารณะอยู่หน้าบ้าน แต่หากไม่มีโอกาสที่จะไปใช้มัน ด้วยในทุกๆ เช้าต้องขับรถออกไปทำงานแต่เช้ามืด กลับเข้าบ้านมาอีกทีก็พลบค่ำหมดแรง พื้นที่ทางสุขภาวะที่ตั้งอยู่หน้าบ้านก็กลายเป็นสิ่งก่อสร้างรกตาที่แทบจะไม่ได้ทำหน้าที่ของตน ขณะที่องค์ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ที่ได้รับมาก็ต้องถูกเก็บอยู่ในลิ้นชักส่วนที่ลึกที่สุดของสมองเรา

 

แบบนี้แปลว่า เราไม่มีโอกาสเลยหรือ ???

ปีใหม่ทุกครั้ง…เป็นช่วงเวลาที่เตือนให้เรานึกถึง ความหวังและการเริ่มต้นของโอกาสที่ยังคงมีอยู่เสมอ

หากลองถอดบทเรียนการดำเนินนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพที่ประสบความสำเร็จในกรณีต่างๆ มาใช้กับเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากร ประกอบกับทิศทางและการตอบรับทางนโยบายของประชาชนคนไทยที่มีในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่านโยบาย “คนละครึ่ง” เป็นหนึ่งในนโยบายที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกชนชั้นได้อย่างแท้จริง (แม้จะมีจำนวนสิทธิ์น้อยไปนิดก็ตาม) จะเห็นได้ว่า จำเป็นต้องอาศัยแนวคิด “คนละครึ่ง” อยู่เสมอ นั่นคือ ต้องทำใน 2 มิติ ทั้งในฝั่งของการรณรงค์เพื่อสร้างหรือปรับพฤติกรรมของประชาชน และการทำมาตรการทางนโยบายมาสนับสนุน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องทำทั้งปลั๊กตัวผู้ (พฤติกรรมของประชาชน) และปลั๊กตัวเมีย (มาตรการจูงใจจากภาครัฐ) โดยเริ่มต้นจากการสื่อสารและรณรงค์ให้ประชาชนทราบและตระหนักถึงคุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของการมีสุขภาพที่ดี การให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทาง วิธีการปฏิบัติ และข้อควรระวัง เพื่อเสริมขีดความสามารถของการมีสุขภาวะ จากนั้นภาครัฐเองจะต้องกำหนดมาตรการทางนโยบายเพื่อมาสนับสนุนหรือจูงใจให้เกิดการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากภาครัฐมองให้เห็นอย่างเข้าใจว่าหากจะให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน จะยอมใช้เวลาของพวกเขาเพื่อการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพ ก็ย่อมที่จะจำเป็นต้องมีแรงจูงใจที่คุ้มค่าพอ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีรางวัลมาทดแทนกับเวลาที่พวกเขาจะยอมเสียไป โดยในกรณีของบ้านเราอาจใช้แนวคิดเดียวกับนโยบาย “คนละครึ่ง” มาประยุกต์ใช้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืนในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น

สำหรับประชากรกลุ่มวัยแรงงาน ภาครัฐจะช่วยเรื่องลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาระค่าใช้จ่ายด้านการประกันสังคม หรือแม้กระทั่งการได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อเป็นการจูงใจ หากบุคคลสามารถจัดสรรเวลาเพื่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้ ทั้งนี้แม้จะดูเหมือนว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐต้องขาดรายได้จากภาษีหรือแม้กระทั่งเบี้ยประกันสังคมที่ลดลง ทว่าหากคำนวณกลับกันจะพบว่า ภาครัฐเองจะได้ประโยชน์จากการลดลงของจำนวนวันลาป่วย การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานของพนักงานที่มีสุขภาพดี การลดลงของค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศที่ในแต่ละปีสูงกว่า 4 แสนล้านบาท เช่นเดียวกันกับในกลุ่มวัยเด็กและวัยสูงอายุมาตรการจูงใจที่ใช้แนวคิดคล้ายคลึงกันนี้ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายกรณี หรือหากไม่ต้องการให้ยุ่งยาก ก็อาจจะทำเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย โดยเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มในปัจจุบันที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการ “ก้าวท้าใจ” ในการสะสมจำนวนก้าวและระยะเวลาในการมีกิจกรรมทางกาย โดยเพิ่มเติมเรื่องของมาตรการจูงใจที่มีประสิทธิผลเข้าไปเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสนใจและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

เรื่องที่ว่านี้สามารถปฏิบัติได้บนโลกแห่งความเป็นจริงหรือไม่ ?

ประเทศสิงค์โปร์ ตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ประชากรของตนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมากยิ่งขึ้น จึงได้ริเริ่มโครงการ National Steps Challenge ขึ้นในปี ค.ศ. 2015 และโด่งดังไปทั่วโลก โดยโครงการนี้จูงใจให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอเพื่อที่จะได้รับแต้มคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกกับรางวัลประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือ การสะสมแต้มจะเป็นในลักษณะของคะแนนส่วนบุคคลที่เป็นการแข่งขันกับตนเอง ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับคะแนนที่เรียกว่า “Health Point” ตัวอย่างเช่น หากเดินได้วันละ 7,500-9,999 ก้าว จะได้รับ 25 Health Point ขณะที่หากเดินได้วันละตั้งแต่ 10,000 ก้าวขึ้นไป จะได้รับ 40 Health Point นอกจากนี้ยังสามารถสะสมในรูปแบบของระยะเวลาในการมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนักในแต่ละวัน 20-29 นาที จะได้รับ 25 Health Point แต่หากมีตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป จะได้รับ 40 Health Point ซึ่งแต้มสะสมเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนมูลค่าเป็นเงินสดในคูปองคล้ายกับคะแนนของบัตรเครดิตเพื่อแลกของรางวัลตามร้านค้าต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะร้านอุปกรณ์กีฬาหรือสินค้าทางสุขภาพเท่านั้น แต่รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ในชีวิตประจำวันและครัวเรือนด้วย ทั้งนี้ในโครงการดังกล่าวยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายมิติ ทั้งในแง่การให้ความรู้ แนวทางการปฏิบัติและโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละช่วงวัย การสร้างและสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งผลของการดำเนินกิจกรรมโครงการดังกล่าวส่งผลให้ประชากรของสิงค์โปร์มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มประชากรที่ไม่ค่อยได้มีกิจกรรมทางกายมีจำนวนก้าวการเดินเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7,000 ก้าว ขณะที่อีกประมาณร้อยละ 30 มีจำนวนก้าวเดินมากกว่า 10,000 ก้าวต่อวัน  ซึ่งส่งผลให้อัตราการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรสิงค์โปร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะเวลาอันสั้น (5) ส่งผลดีต่อภาวะสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโรคอ้วนในประชากรที่เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภาครัฐเองจำเป็นต้องตัดสินใจลงทุนเพื่อแลกมาซึ่งสุขภาพของประชากรในประเทศของตน ซึ่งการลงทุนในเรื่องดังกล่าวนี้จะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาวทั้งในมิติของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผลิตภาพแรงงานของประเทศ การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศของตน ทั้งหมดนี้หากคิดบนสมการที่ง่ายที่สุดคือ “หากรัฐบาลสามารถลงทุนจ่ายเงินก้อนโตไปกับนโยบายหลายเรื่องเพื่อจัดการหรือแก้ไขปัญหาระยะสั้น ก็น่าที่จะเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่รัฐบาลจะตัดสินใจลงทุนระยะยาวด้วยงบประมาณที่คุ้มค่าและทยอยจ่ายเพื่อแลกมาซึ่งสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากร” และหากเป็นเช่นนั้น ภาพของความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและรายได้ที่มีอยู่ในสังคมไทย อาจถูกกลบลบลงได้บ้างเมื่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกๆ หน่วยในสังคมได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น ให้สามารถมีโอกาสในการเลือกมีวิถีชีวิตที่ดีต่อการมีสุขภาพโดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนและให้คุณค่าประชากรในประเทศของตน

ท้ายนี้ ความใฝ่ฝันของแม่ น่าจะไม่ได้เป็นตัวแทนความใฝ่ฝันของกลุ่มคนรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยทุกคน แต่มันอาจสะท้อนให้เราเห็นถึงภาระและหน้าที่ รวมถึงวิธีการคิดและให้ความสำคัญของประชากรวัยแรงงาน (ในขณะนั้น) ที่ต้องขวนขวายหารายได้และรับผิดชอบกับภาระในครอบครัว ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่จำเป็นต้องผลัดผ่อนการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพออกไปก่อนกระทั่งเวลาที่เหมาะสม (ซึ่งส่วนใหญ่จะสายเกินไป) สิ่งที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือ ในที่สุดแม่ได้ทำตามสิ่งที่ฝันไว้ได้ก่อนเวลา โดยไม่ต้องรอให้ลูกทุกคนเรียนจบตามที่แม่เคยบอกไว้…ทุกวันนี้ทุกๆ เช้า พ่อกับแม่ได้ออกไปวิ่งรอบๆ หมู่บ้านด้วยกันสองคนบนถนนที่สองข้างทางเป็นทุ่งหญ้าและทุ่งนา จากนั้นก็จะกลับมานั่งกินกาแฟ น้ำเต้าหู้ กับขนมอยู่ตรงโต๊ะกินข้างหลังบ้านตัวเดิมด้วยกัน…ตามที่คิดไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คงเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับบุคคลและครอบครัวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย แต่สิ่งที่จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับพวกเราคนไทยทุกคนคือ “การมีนโยบายสาธารณะที่จะส่งเสริมและกระตุ้นจูงใจให้คนไทยได้มีโอกาสมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างถ้วนหน้า” เราทุกคนมีส่วนที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงโดยเริ่มจาก “การหวงแหนสุขภาพ” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายสาธารณะที่มีพลัง

 

ที่โต๊ะกินข้าวหลังบ้าน (ในวันนี้)

ผม: ผมอยากให้ประเทศเรามีนโยบายดีดี ที่กระตุ้นให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ มีโอกาสได้ออกกำลังกายอย่างที่ตัวเองอยากทำ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องรายได้ไปด้วย เหมือนกับโครงการ “คนละครึ่ง”

แม่: (นั่งมองหน้าผมแบบเงียบๆ และยิ้มๆ

 


เอกสารอ้างอิง

(1) Subramanian, S. V., & Kawachi, I. (2006). Whose health is affected by income inequality? A multilevel interaction analysis of contemporaneous and lagged effects of state income inequality on individual self-rated health in the United States. Health & place, 12(2), 141–156. https://doi.org/10.1016/j.healthplace.2004.11.001

(2) Pabayo, R., Fuller, D., Lee, E. Y., Horino, M., & Kawachi, I. (2018). State-level income inequality and meeting physical activity guidelines; differential associations among US men and women. Journal of public health (Oxford, England), 40(2), 229–236. https://doi.org/10.1093/pubmed/fdx082

(3) Ray, D., Linden, M. (2018).  Health, inequality and income: a global study using simultaneous model. Economic Structures 7, 22. https://doi.org/10.1186/s40008-018-0121-3

(4) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), 2562. รายงานผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2562 . ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

(5) Smart Nation and Digital Government Office, 2020. National Steps Challenge & the Healthy 365 app. Retrieved 31 December 2020. Available from: https://www.smartnation.gov.sg/what-is-smart-nation/initiatives/Health/national-steps-challenge-and-the-healthy-365-app

ผู้เขียน
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่