13 มีนาคม 2564

รุ่งรัตน์ พละไกร

การฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) เส้นทางกลับคืนสู่วิถีชีวิตที่ปกติอย่างมีสุขภาพ

การดูแลสุขภาพประกอบด้วย 4 มิติที่สำคัญ อันได้แก่ การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งเปรียบเหมือนเสา 4 ต้น ที่คอยคุ้มครองป้องกันภัยทางสุขภาพของประชากรโลก ช่วยไม่ให้เกิดภาระโรค (Burden of Disease) และความพิการจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่แน่นอนว่าในช่วงนี้คงไม่มีประเด็นใดที่มาแรงไปกว่ากระแสของการป้องกันโรคด้วยการ “ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19”

ทว่า ประเด็นสำคัญที่เรามักจะไม่ค่อยได้นึกถึง กระทั่งวันที่ต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านั้นทั้งในทางตรงและทางอ้อม นั่นคือ “การฟื้นฟูสมรรถภาพ” โดยการฟื้นฟูสมรรถภาพนี้ เปรียบเสมือนเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามของการป้องกันที่มีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายที่ประสบกับภาวะไม่ปกติทางสุขภาพกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทและศักยภาพที่ควรจะเป็น ช่วยทำให้ร่างกายกลับมาทำหน้าที่ใกล้เคียงเหมือนช่วงสภาวะก่อนการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถด้านต่าง ๆ ไปในช่วงของการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเคลื่อนไหว การนั่ง การเดิน การยืน รวมไปถึงทักษะการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้เอง การฟื้นฟูสมรรถภาพจึงเปรียบเสมือน เส้นทางที่จะนำกลุ่มผู้ป่วยเดินทางกลับสู่การมีวิถีชีวิตที่ปกติหรือใกล้เคียงกับปกติอีกครั้ง

 

1 ใน 3 ของประชากรโลกที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

จากข้อมูลการรายงาน พบว่ามีประชากร 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกได้รับประโยชน์ทางสุขภาพจากการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้ความต้องการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพเพิ่มมากขึ้น โดยความต้องการในการฟื้นฟูสมรรถภาพแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ Occupational therapy, Physical therapy และ Speech therapy ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพแต่ละรูปแบบมีกระบวนการฟื้นฟูที่แตกต่างกัน เพื่อมุ่งหวังผลเดียวกันคือการทำให้สุขภาวะของประชากรโลกดีขึ้น ซึ่งในแต่ละแบบของการฟื้นฟูสมรรถภาพมีรายละเอียดการช่วยเหลือที่อยู่ภายใต้ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพที่ให้บริการทั้งแบบผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก โดยมีความแตกต่างกันที่ระยะของการฟื้นฟู ในกรณีที่ฟื้นฟูสมรรถภาพในขณะที่ยังเป็นผู้ป่วย และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ลักษณะการให้บริการจะเป็นการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพร่วมกับการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการคงที่ และพร้อมที่จะกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ ส่วนในการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก เป็นระยะที่ผู้ป่วยสามารถกลับไปรักษาต่อที่บ้าน แต่ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพบางส่วนให้สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนปกติ จำเป็นต้องมารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นรายครั้ง การบริการลักษณะนี้จะเป็นการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยนอก เน้นการกระตุ้นฟื้นฟูสมรรถภาพครั้งละ 1-2 ชั่วโมง และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ [1] ทั้งนี้รูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้ง 3 รูปแบบมีรายละเอียดดังนี้

 

3 รูปแบบหลักของการฟื้นฟูสมรรถภาพ

Occupational therapy หรือ กิจกรรมบำบัด หมายถึง การนำงานที่ทำเป็นประจำมาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปกติ หลังจากที่ได้รับการบาดเจ็บและผ่านระยะของการรักษาอาการและพ้นจากภาวะวิกฤตแล้ว ร่างกายจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูเพื่อให้ฟื้นหายและกลับมาใช้ร่างกายในการทำงาน ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างใกล้เคียงเดิม[2] โดยเน้น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) ผู้พิการทางกาย ประกอบด้วย อัมพาต, อัมพฤกษ์, ได้รับบาดเจ็บทางสมอง, และมีปัญหาทางการกลืน

 2) เด็กพิเศษ ประกอบด้วย สมาธิสั้น, พัฒนาการล่าช้า, เด็กสมองพิการ (Cerebral Palsy), Down's Syndrome, ปัญหาอ่อน (Mental Retardation), และออทิสติก

3) ผู้ที่มีความบกพร่องทางจิต ประกอบด้วย ผู้ป่วยทางจิตเวช, พิษสุราเรื้อรัง, และโรคซึมเศร้า

4) ผู้สูงอายุ ประกอบด้วย โรคซึมเศร้า และผู้ป่วยที่มีปัญหาความจำ (Dementia, Alzheimer)

การฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยกิจกรรมบำบัดจึงเน้นการนำอุปกรณ์มาช่วยฝึกทำให้กิจกรรมที่ผู้ป่วยเคยทำอยู่แล้วและกระตุ้นทักษะเดิมคืนมา ซึ่งลักษณะของการทำกิจกรรมผู้ป่วยต้องเป็นผู้ลงมือกระทำเอง (Active) เช่น ทักษะการทำกิจวัตรประจำวัน ทักษะการทำงาน ทักษะการมีกิจกรรมทางกาย ทักษะการเล่นต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการเคลื่อนไหว ที่เป็นทักษะของการดำเนินชีวิตซึ่งเป็นหัวใจของการทำกิจกรรมบำบัด ซึ่งมีตัวอย่างของการฝึกในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพดังแสดงในภาพ

ที่มา : https://vickphysiotherapy.com/2016/12/07/making-low-tech-assistive-technology-and-adaptations

Physical therapy หรือ กายภาพบำบัด หมายถึง การฟื้นฟูสุขภาพด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายและใช้อุปกรณ์พิเศษ เพื่อรักษาผู้ป่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวตามปกติได้มากที่สุด โดยส่วนจะเน้นที่การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุต่าง ๆ กระดูกทับเส้นประสาท ข้ออักเสบหรือโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) ผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด ผู้โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง รวมไปถึงโรคเรื้อรังที่สามารถเกิดภาวะพิการได้ โดยจะช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ เอ็น พร้อมทั้งเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นการทำงานและการเคลื่อนไหว การเดิน ขึ้นลงบันได ลุกขึ้นยืนจากเตียงหรือเก้าอี้ รวมทั้งเรียนรู้วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้กลับมาบาดเจ็บอีกด้วยการสอนให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์ช่วยเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง เช่น อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) หรือเก้าอี้รถเข็นวีลแชร์ (Wheelchair) เป็นต้น[3] โดยมีตัวอย่างของการฝึกในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพดังแสดงในภาพ

 

ที่มา: https://www.goldenyears.co.th/services/rehabilitation

Speech therapy หรือ การบำบัดด้านการพูด หมายถึง ภาวะบกพร่องทางภาษาหรือสูญเสียการสื่อความ (Aphasia) ผู้ป่วยที่มีอาการพูดไม่ชัดเนื่องจากความบกพร่องของกลไกประสาทที่ควบคุมอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด (Dysarthria) หรือพูดไม่ชัดเนื่องจากมีความบกพร่องของสมองที่ควบคุมโปรแกรมการพูด (Apraxia of Speech) โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเกิดโรค เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคสมองฝ่อในผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการพูดจะทำร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย เพราะจะช่วยทำให้สมองกลับมาทำงานได้ และไม่เกิดการฝ่อตัวมากกว่าเดิม[4] ดังนั้น การทำกิจกรรมบำบัด การทำกายภาพบำบัดจะเป็นตัวช่วยให้การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการพูดดีขึ้น

 

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ กับบทบาทในการคืนวิถีชีวิตให้ผู้ป่วย

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นสถานที่ที่จะช่วยทำให้สุขภาพของผู้ป่วยกลับฟื้นคืนมา สามารถกลับมาดำเนินชีวิตและช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง และจากข้อมูลและแนวโน้มดังที่ได้เสนอไปข้างต้นที่สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประชากรโลกรวมถึงประชากรไทย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

ในหลาย ๆ ประเทศได้พัฒนาศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อรองรับความต้องการบริการของผู้ป่วย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการเจ็บป่วยในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น The Ottawa Hospital Rehabilitation Centre (TOHRC) เป็นศูนย์เฉพาะทางฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย (Physical Rehabilitation) อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ The Ottawa Hospital ประเทศแคนาดา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถฟื้นหายและกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยให้บริการทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เน้นการประเมินและการรักษาผู้ที่มีความบกพร่อง อาทิเช่น การรักษาที่ต้องตัดแขนขา อาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง การบาดเจ็บที่สมองและโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคปอด อาการปวดเรื้อรัง และความผิดปกติในการสื่อสาร เป็นต้น

นอกจากนี้ในประเทศแคนาดายังมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพชื่อ Canadian Active Rehabilitation Centre เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายที่เน้นการให้บริการด้านการฟื้นฟูผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยมีจุดเน้นที่การใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการมีกิจกรรมทางกาย เน้นการเคลื่อนไหว และใช้รักษาด้วยศาสตร์ด้านกายภาพบำบัด (Physiotherapy) การนวดบำบัด (Massage therapy) และการจัดกระดูก (Chiropractic medicine) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยหลังผ่านระยะวิกฤตฟื้นฟูสมรรถภาพให้ได้ใกล้เคียงก่อนการบาดเจ็บที่สุด

สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกามีการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง การหกล้ม กระดูกหัก มีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูกต่าง ๆ  โดยส่วนใหญ่เน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเคลื่อนไหว เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น New York Center for Rehabilitation & Nursing ที่เน้นการให้บริการด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยเน้นไปที่การเคลื่อนไหวร่างกาย หลังจากผ่านระยะวิกฤตเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลสู่บ้าน เป็นช่วงที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว มีกิจกรรมต่าง ๆ โดยเน้นที่กิจวัตรประจำวันและการเรียนรู้สิ่งที่เป็นพฤติกรรมปกติที่จำเป็น เช่น การเดินทางตรง การขึ้นลงบันได การลุกนั่ง เป็นต้น

 

3 เรื่องแรกที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวเพื่อให้มีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพที่มีคุณภาพ

1. จัดเตรียมสถานที่สำหรับการให้บริการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ซึ่งดำเนินการได้หลายรูปแบบทั้งแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน รวมไปถึงการมีศูนย์เฉพาะ ที่มีพื้นที่เพียงพอต่อการเสริมศักยภาพ ให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ทักษะหลายๆ ด้านในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่จำเป็นต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อการฝึกทักษะดังกล่าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นเสมือนผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดโครงสร้างเชิงสถานที่ดังกล่าวได้

2. พัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งควรมีการผลิตผู้ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายผู้ป่วยให้ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งนักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านนวดบำบัด ผู้เชี่ยวชาญการจัดกระดูก หรือแม้กระทั่งแพทย์ พยาบาลเฉพาะทางฟื้นฟูสมรรถภาพโดยเฉพาะ ภายใต้การกำกับขององค์กรหรือสมาคมฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งประเทศไทย

3. ออกแบบแนวทางการดำเนินงานที่มีกลุ่มเป้าหมายของการดูแลที่ชัดเจน จะช่วยทำให้การดำเนินงานในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น กลุ่มโรคที่สำคัญที่มีความจำเป็นในลำดับต้น ๆ ของการดูแลต่อการหาย หรือดีขึ้นของผู้ป่วย เช่น โรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูก ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาเดินได้เหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะบกพร่องในการดูแลสุขภาวะตนเอง เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวควรมีหน่วยงานหลักในการพัฒนา อาทิเช่น ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ

 


อ้างอิง

1. https://integrisok.com/resources/on-your-health/2018/may/a-guide-to-different-types-of-rehabilitation-therapy

2. Belagaje, S. R. (2017). Stroke rehabilitation. CONTINUUM: Lifelong Learning in Neurology, 23(1), 238-253.

3. O'Sullivan, S. B., Schmitz, T. J., & Fulk, G. (2019). Physical rehabilitation. FA Davis.

4. Koyuncu, E., Çam, P., Altınok, N., Çallı, D. E., Duman, T. Y., & Özgirgin, N. (2016). Speech and language therapy for aphasia following subacute stroke. Neural regeneration research, 11(10), 1591.

ผู้เขียน
รุ่งรัตน์ พละไกร

ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่