13 มีนาคม 2564
นฤมล เหมะธุลิน
พฤติกรรมเนือยนิ่ง = ภัยเงียบ
แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อสังคม แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็นำไปสู่การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรได้เป็นอย่างมาก ด้วยเพราะกิจกรรมทางกายเป็นกิจกรรมที่จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทั้งอาชีพและงานบ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำเป็นจะต้องออกแรงและใช้พละกำลังระหว่างปฏิบัติกิจกรรมที่ค่อนข้างมาก แต่ในปัจจุบัน กิจกรรมเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อีกทั้งช่วงเวลาว่างในชีวิตประจำวันยังถูกแทนที่ด้วยการท่องอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์หน้าจอต่าง ๆ จากการศึกษา พบว่า จำนวนการมีกิจกรรมทางกาย มีความสัมพันธ์ระหว่างการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาว่างกับพฤติกรรมเนือยนิ่ง และโรคอ้วนในเด็กและผู้ใหญ่
การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้การนั่งนานเป็นสิ่งที่เพลิดเพลิน
วิวัฒนาการของมนุษย์กับการพัฒนาเทคโนโลยีมีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกได้ยาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลในทางสังคม และหยั่งรากสู่การดำรงชีวิตของผู้คน ซึ่งสะท้อนได้จากการเติบโตของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ของใช้ส่วนตัว ของใช้ภายในบ้าน สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การเรียนและการทำงาน แต่ด้วยผลที่ไม่คาดคิดในมิติสุขภาพ การพัฒนาของเทคโนโลยีกลับกลายเป็นดาบสองคมที่นำมาสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคอ้วน พฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย และการไม่ออกกำลังกาย การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปของเราได้เปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือด้านกำลังแรงงาน สู่การกลายเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อทุ่นแรง และเพื่อการผ่อนคลายและความบันเทิงที่มากจนเกินไป จนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จากข้อมูลเชิงสถานการณ์การสำรวจพฤติกรรมเนือยนิ่ง ในประชากรไทยพบว่า ในปี 2563 เป็นปีที่มีระยะเวลาเฉลี่ยสูงที่สุดถึง 14 ชั่วโมง 32 นาที (1) ข้อมูลดังกล่าวนี้ ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีทำให้การนั่งนานเป็นสิ่งที่เพลิดเพลิน ไม่ใช่การกล่าวอ้างจนเกินจริง แต่ได้ชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมต้องเผชิญภาวะวิกฤติที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์หน้าจอในชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน
ความชุกของพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เพิ่มมากขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับโรคอ้วน ซึ่งผลกระทบด้านสุขภาพของโรคอ้วนมีความรุนแรง และเกี่ยวข้องต่อการเริ่มเป็นโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยกลุ่มโรคเหล่านี้จัดเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งสิ้น “การไม่ออกกำลังกายเป็นทั้งสารตั้งต้นและผลที่ตามมาของโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ” ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถึงร้อยละ 75 หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน ซึ่งอันดับหนึ่งคือ โรคหลอดเลือดสมอง คิดเป็นร้อยละ 4.59 รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นและมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนมากเป็นกลุ่มวัยทำงาน (2)
ขณะที่มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 20 - 30 เมื่อเทียบกับผู้ที่กระฉับกระเฉงและมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ (3) ทั้งนี้ การกำหนดแนวปฏิบัติและข้อเสนอแนะระดับชาติและระดับนานาชาติ แม้ว่าจะมีความแตกต่างเล็กน้อยในด้านความจำเพาะของระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอขั้นต่ำ แต่แนวทางที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันคือ การมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพราะเป็นเกณฑ์ที่จัดว่าอยู่ในระดับที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ จะส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการตายจากทุกสาเหตุได้ประมาณ คิดเป็นร้อยละ 75 และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงกว่า ร้อยละ 50
เทคโนโลยี ไม่ใช่ไม่ดีต่อการเคลื่อนไหวเสมอไป
ในมิติของการเพิ่มกิจกรรมทางกาย/การออกกำลังกาย ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมสุขภาพ การเอาชนะความเพลิดเพลินของอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันสมัยใหม่ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องผ่านอัลกอริทึมเฉพาะตัว ตลอดจนรางวัลและสิ่งจูงใจ การแสดงความสนใจ (กดไลก์) การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ต้องการลดพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์หน้าจอและเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งและทำได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการออกกำลังกายแบบเล่นเกมหรือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่หลากหลาย โดยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มกิจกรรมทางกายด้วยการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น และการปรับปรุงพารามิเตอร์ด้านสุขภาพที่หลากหลาย นอกจากนี้ แอปพลิเคชันและตัวติดตามกิจกรรมทางกาย ยังถือเป็นสัญญาณที่ดีในเรื่องของการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย หากสามารถส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ก็เป็นทิศทางที่ดีในการนำไปปฏิบัติทางคลินิกโดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (5)
โดยแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายในรูปแบบของเครื่องนับก้าว สู่การพัฒนาเป็นเครื่องติดตามกิจกรรมที่สวมใส่ได้โดยมีสายรัดสำหรับออกกำลังกาย สมาร์ตวอทช์ และอุปกรณ์เสริมที่ติดตามจำนวนก้าว การออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพ
ตัวอย่างอุปกรณ์ตรวจจับและติดตาม เสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพด้วยเทคโนโลยี (7)
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ในวารสารการแพทย์คลินิกในปี 2561 โดยได้นำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในบริบทและกลุ่มประชากรต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวคิดออกแบบเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น เกมแนวออกกำลังกาย (Exergaming) ได้รับการยกย่องว่าเป็นสื่อที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประชากรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็ก ผลการศึกษาชี้ให้เห็นจุดแข็งและโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ เช่น ความเพลิดเพลินต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มประชากรเฉพาะ เช่น เด็กที่มีสมาธิสั้นผิดปกติ และความเป็นปัจเจกบุคคล แต่ทั้งนี้ ยังพบจุดอ่อนบางประการ เช่น ข้อจำกัดทางเทคนิคและการรักษาความต่อเนื่องของการใช้งานโปรแกรมในระยะยาว และอาจส่งผลให้เวลาอยู่หน้าจอเพิ่มขึ้น (6)
โอกาสและความท้าทายในการออกแบบเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายของนักวิชาการ นักวิจัย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม ตลอดจนนโยบายด้านกิจกรรมทางกายของประชาชนในยุคปัจจุบัน โจทย์ที่สำคัญคือเรื่องของการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่ออรรถประโยชน์และประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนและตัดสินใจด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนให้ตอบประเด็นปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างฉับพลันและแม่นตรงที่สุด ซึ่งโอกาสและความท้าทายในการออกแบบเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สามารถสรุปเป็นประเด็นได้ ดังนี้
ท้ายที่สุดนี้ ข้อสรุปจากประเด็นด้านการพัฒนาของเทคโนโลยีกับพฤติกรรมด้านสุขภาพ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีผลกระทบโดยตรงกับพฤติกรรมทางสุขภาพของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวโน้มและทิศทางในหมู่นักพัฒนาเริ่มที่จะหันมาจับประเด็นด้านสุขภาพ สะท้อนได้จากพัฒนาการด้านอุปกรณ์ เทคโนโลยี และแอปพลิเคชัน ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คนมีกิจกรรมทางกายผ่านอุปกรณ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในยุคสมัยใหม่ที่เป็นการผสมผสานความฉลาดด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการมีสุขภาพดี แต่สำหรับในมุมนักวิจัย/นักวิชาการ การผสมผสานการบูรณาการเทคโนโลยีกับการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์การออกแบบกิจกรรมและนโยบายก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่และท้าทายความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสำรวจข้อมูลผ่านวิธีการใหม่ ๆ การหยิบเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงหลักประกอบการตัดสินใจและกำหนดแนวทางส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้เกิดความแม่นยำและทันต่อสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในประเด็นด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมด้านสุขภาพก็ยังถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อไปในอนาคต ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตเทคโนโลยีอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุภาพ สู่วิถีชีวิต Smart Active Smart Health ก็เป็นได้
อ้างอิง
1. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และกรกนก พงษ์ประดิษฐ์. (2563). REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. นครปฐม: บริษัท ภาพพิมพ์. Available from: https://tpak.or.th/?p=3984.
2. Hfocus. (2563). คนไทยตายด้วยโรค NCDs ชั่วโมงละ 37 คน เร่งป้องกัน-ควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564, จาก https://www.hfocus.org/content/2018/08/16157.
3. WHO. (2020). Physical activity. [online]. [Available from: https://www.who.int/news-room/fact- sheets/detail/physical-activity.
4. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2564) . ข้อมูลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
5. Woessner, M.N., et al., The Evolution of Technology and Physical Inactivity: The Good, the Bad, and the Way Forward. Frontiers in Public Health, 2021. 9(672).
6. Gao, Z., & Lee, J. E. (2019). Emerging Technology in Promoting Physical Activity and Health: Challenges and Opportunities. Journal of clinical medicine, 8(11), 1830. https://doi.org/10.3390/jcm8111830
7. Physiopedia. (n.d.). Physical Activity and Technology. Retrieved September 20, 2021, from: https://www.physio-pedia.com/Physical_Activity_and_Technology.