13 มีนาคม 2564
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ด้วยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานด้านการสำรวจกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ อีก 60 ประเทศทั่วโลก ร่วมมือกับเครือข่ายการวิจัย Active Healthy Kids Global Alliance เพื่อจัดทำสมุดพก (Report Card) เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพอื่น และปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานข้อมูลเชิงสถานการณ์ให้ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงผู้ที่อยู่รอบตัวและมีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของเด็ก ได้รับทราบถึงระดับพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กและเยาวชนของประเทศอื่นๆ
ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่คณะทำงานระดมสมองคิดกันเพื่อหาวิธีการสื่อสารเพื่อให้สิ่งที่นำเสนอ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้อง “หยุดอ่าน” คือ เห็นแล้วต้องหยุดมาอ่าน มากกว่า อ่านแล้วอยากรู้สึกหยุด
ด้วยเหตุนี้ผมก็เลยได้มีโอกาสไปค้นไปอ่านรายงานเรื่องนี้ที่ประเทศต่างๆ ได้ทำไว้ในอดีต จึงพบประเด็นที่น่าสนใจที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องของผลของการศึกษาวิจัยว่าเป็นอย่างไร แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่แต่ละประเทศคิดและออกแบบการสื่อสารข้อมูลผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ตามเป้าหมายและแนวคิดที่คณะทำงานของประเทศนั้นๆ ต้องการจะสื่อสารให้ไปถึงผู้รับสารหลัก ทั้งนี้จากรายงาน Report Card Global Matrix 3.0 จำนวน 42 ประเทศที่เผยแพร่รายงานดังกล่าวในปี 2018 ที่ผ่านมา ผมคิดว่ามี 2 เรื่องหลักๆ ที่ค้นพบจากการอ่านดังนี้.
เรื่องแรก “ข้อความหลัก” หรือ “Key message” ที่ใช้สำหรับการสื่อสาร เป็นข้อความที่คณะทำงานออกแบบเพื่อต้องการให้ผู้อ่านรายงานหรือสื่อประเภทต่างๆ ของโครงการเกิดการรับรู้ในครั้งแรกที่ได้รับการสื่อสาร เมื่อดูในเรื่องนี้พบว่า จากทั้งหมด 42 ประเทศ มี 14 ประเทศที่สื่อสารข้อความหลักผ่านทางการเอากิจกรรมการเล่น การทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันของเด็กมาเป็นตัวสื่อสารในลักษณะของการรณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติที่มากยิ่งขึ้น รองลงมาเป็นการสื่อสารข้อความเชิงการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมโอกาส พื้นที่ สภาพแวดล้อม กิจกรรม รวมถึงการพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับประเทศ (12 ประเทศ) การหยิบยกเอาข้อค้นพบหรือสภาพปัญหาที่ได้จากการสำรวจข้อมูลมาเป็นตัวสื่อสารให้เห็นถึงภาวะวิกฤตของการเคลื่อนไหวน้อย เนือยนิ่งมาก (8 ประเทศ) การส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬา (7 ประเทศ) ที่น่าสนใจคือ ประเทศแคนาดา ที่เป็นประเทศเดียวที่ใช้ประโยชน์ที่ได้รับจากการมีกิจกรรมทางกายในเรื่องของความพร้อมต่อการเรียนรู้และระบบสมองมาเป็นข้อความหลักในการสื่อสารซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
ตาราง 1: การจำแนกข้อความหลักที่ใช้ในการสื่อสารของรายงาน Report Card Global Matrix 3.0 ของประเทศต่างๆ
นอกจากประเด็นเรื่องของการออกแบบและกำหนดข้อความหลักในการสื่อสารแล้ว ยังพบว่า ประเด็นเรื่องของการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้อ่านรายงานที่แต่ละประเทศได้มุ่งเป้าหมายไว้ ก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรในรายละเอียด คือ แม้ว่าในภาพรวมจะไม่ได้จำกัดว่า รายงานฉบับนี้ใครจะเป็นผู้อ่านโดยตรง เพราะต้องการส่งข้อมูลสถานการณ์ไปให้กับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเด็กดังที่กล่าวข้างต้น แต่ในแง่ของทิศทางการสื่อสารเมื่ออ่านในรายละเอียดพบว่า สามารถจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่มหลักๆ คือ 1) มากกว่าครึ่งให้ความสำคัญไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นองค์กรภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการและนักวิจัยด้านการส่งเสริมสุขภาพ โดยรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาจะมุ่งเน้นการให้ข้อมูลในเชิงวิชาการ หลักฐานที่พบจากข้อมูล รวมไปถึงแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ (22 ประเทศ) 2) โรงเรียนและคุณครู โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นและสร้างความตระหนักให้เกิดการยกระดับและปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เอื้อและเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอในช่วงเวลาที่อยู่ที่โรงเรียน การออกแบบกิจกรรมและพัฒนาพื้นที่ในโรงเรียนให้มีความเหมาะสม ปลอดภัย และเป็นมิตรกับการเล่นของเด็กๆ (8 ประเทศ) 3) พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว โดยสื่อสารเพื่อให้ความรู้ และกระตุ้นบทบาทให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการร่วมกับบุตรหลาน เน้นนำเสนอให้เห็นถึงประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ 4) มุ่งไปที่กลุ่มบุคคลผู้อ่านในหลายๆ กลุ่มที่เกี่ยวข้องตามประเด็นตัวชี้วัด เนื่องด้วยในเล่มรายงานดังกล่าวจะมีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ดังนั้นจึงพบว่า มี 5 ประเทศที่ใช้แนวทางการนำเสนอที่กว้างให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง และ 5) ชุมชน ทั้งนี้ประเทศสเปน เป็นประเทศที่มีรูปแบบและเนื้อหาการนำเสนอที่เน้นกระตุ้นให้ชุมชนริเริ่มในการดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กๆ ด้วยตนเอง เน้นกระบวนการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพโดยความร่วมมือของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นหลัก
ตาราง 2: การจำแนกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร
ของรายงาน Report Card Global Matrix 3.0 ของประเทศต่างๆ
หากถามว่า แล้วสื่อสารด้วยคำไหนกับใครดีที่สุด เรื่องนี้คำตอบคงต้องรอดูผลการเปลี่ยนแปลงจากตัวเด็กและเยาวชนที่ประเทศต่างๆ จะนำเสนอในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าในรายงาน Report Card Global Matrix 4.0.
สำหรับประเทศไทยเรา การนำเสนอรายงาน Report Card Global Matrix 3.0 ในครั้งนั้น ถูกนำเสนอภายใต้ข้อความหลักคือ “ #ออกมาเล่น Let’s play” ที่ออกแบบให้สะท้อนถึงวิถีชีวิตของเด็กๆ ทุกเพศทุกวัยที่ผูกพันกับการเล่น แต่ในปัจจุบันการเล่นกำลังถูกคุกคามด้วยพฤติกรรมการใช้หน้าจอ ทำให้เด็กๆ เล่นน้อยลง จึงออกแบบให้ข้อความดังกล่าวไปกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจและส่งเสริม ด้วยเหตุนี้เนื้อหาที่นำเสนอจึงเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มคนหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กในบทบาทของแต่ละฝ่าย โดยหวังว่าข้อมูลชุดนี้จะไปช่วยผลักให้เกิดการขยับและขับเคลื่อนทางนโยบายและการเคลื่อนไหวในสังคมที่ก่อให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และ “การเล่น” ของเด็ก อันเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในตัวของเด็กทุกคนในทันทีที่พวกเขาได้มีการขยับร่างกาย เพราะทุกๆ การขยับมีความหมาย ทุกการขยับช่วยยกระดับสุขภาพ (Every Move Counts) ไม่ว่าจะเป็นการขยับร่างกายของเด็ก การลุกขึ้นมาส่งเสริมกิจกรรมการเล่นให้กับบุตรหลาย การขยับนโยบายของชุมชน ประเทศ หรือนโยบายสาธารณะในระดับสังคม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีคุณูปการทั้งสิ้น
สำหรับในปีนี้ Report Card Global Matrix 4.0 คณะวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการคิดเพื่อออกแบบทั้งในส่วนของข้อความหลักที่จะใช้สื่อสาร และกลุ่มเป้าหมายของการรับสาร หากผู้อ่านท่านใดมีไอเดียดีดีก็สามารถแบ่งปันไว้ในคอมเมนต์ท้ายโพสต์นี้ได้ เพื่อให้ทางคณะทำงานได้มีทางเลือกในการคิดที่ดีที่สุด ที่จะนำเสนอข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทยได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ Report Card ของประเทศต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.activehealthykids.org/ และสามารถอ่านรายละเอียดรายงานทั้งฉบับสั้นและฉบับเต็มของประเทศไทยได้ที่ (short form: https://bit.ly/3oK2PbD and long form: https://bit.ly/3oRufMC)
บทความโดย อ.บอล ปิยวัฒน์
คอลัมน์ Inspiring Polisee...ส่องนโยบายกิจกรรมทางกายดีดีทั่วโลก นำเสนอบทความเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนจะค้นหาประเด็นเชิงนโยบายที่น่าสนใจและนำมาเล่าสู่กันฟัง (อย่างไม่บิดเบือนเนื้อหา) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การตระหนักขบคิด สร้างแรงบันดาลใจ และแรงกระตุ้นต่อการขับเคลื่อนนโยบายในสังคมไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื้อหาในบทความส่วนหนึ่งจะประกอบด้วยความเห็น การตีความ และการเสนอความเห็นของผู้เขียนที่ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิชาการและการวิจัยเป็นหลัก โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต้นฉบับได้จากรายการอ้างอิงท้ายบทความ