13 มีนาคม 2564
ณัฐพร นิลวัตถา
เมื่อพูดถึงคำว่า “กิจกรรมทางกาย” หลายคนมักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการมีกิจกรรมทางกายอยู่มาก ว่ากิจกรรมทางกายคือการออกกำลังกายเพียงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว คำว่า กิจกรรมทางกาย หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อโครงร่าง หรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ช่วยให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 หมวดกิจกรรมด้วยกัน ได้แก่ 1. กิจกรรมทางกายในการทำงาน 2. กิจกรรมทางกายในการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง และ 3. กิจกรรมทางกายเพื่อนันทนาการหรือกิจกรรมยามว่าง (1) ซึ่งแม้ว่าจะมีการถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักสำหรับคำว่ากิจกรรมทางกาย และความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและประโยชน์ของกิจกรรมทางกายนี้เอง ที่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการสร้างการรับรู้ความหมายและประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในวงกว้างมากขึ้น
ความสำคัญในนโยบายด้านการสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้ด้านกิจกรรมทางกาย เริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้างขึ้นเพราะมีการผนวกและบูรณาการการลงทุนทางนโยบายด้านนี้เอาไว้ใน คู่มือ ISPAH’s Eight Investments That Work for Physical Activity ที่จัดทำขึ้นโดย International Society for Physical Activity and Health (ISPAH) ที่มีข้อแนะนำของการลงทุนด้านกิจกรรมทางกายอยู่ 8 ประการ สำหรับส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกาย ในทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ ทุกบริบทสังคม จาก 1 ใน 8 ข้อดังกล่าว คือข้อแนะนำให้ลงทุนกับการสื่อสาร หรือ PUBLIC EDUCATION, INCLUDING MASS MEDIA ซึ่งในข้อแนะนำกล่าวถึง การสื่อสารเพื่อให้ความรู้ของสื่อสาธารณะกับประชาชน เนื่องจากสื่อสาธารณะสามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยง่าย รวดเร็ว และประชาชนเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การจะสื่อสารให้ประชนได้รับรู้และเข้าถึงได้ง่าย [8] โดย ข้อความที่จะต้องสื่อสารนั้น จะต้อง 1. สามารถส่งข้อความได้ชัดเจน 2. สามารถเข้าถึงประชากรได้กลุ่มใหญ่หรือเป็นจำนวนมาก 3. สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งการจะดำเนินการลงทุนกับคำแนะนำแต่ละด้านจะต้องดูบริบทและระบบของสังคม เพื่อนำคำแนะนำดังกล่าวมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน [9] จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ส่งเสริมให้มีการสื่อสารสาธารณะที่ควรมุ่งเน้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ และทราบถึงประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย ที่ไม่ใช่แค่ส่งผลดีต่อสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการส่งผลที่ดีต่อสุขภาพจิต และผลกระทบระยะยาวต่อการลดการเกิดโรค NCDs และประโยชน์ทางอ้อมด้านอื่น ๆ ผ่านสื่อ ที่ประชาชนใช้และเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ในเวทีวิชาการระดับโลกต่างให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ถึงความหมาย และประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการริเริ่มก้าวผ่านข้อจำกัดในวิถีชีวิต และการริเริ่มสร้างค่านิยมให้สังคม เพราะความหมายของคำว่ากิจกรรมทางกายนั้นครอบคลุมทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว เว้นเสียแต่ตอนที่ร่างกายหยุดนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อนเท่านั้น ซึ่งก็ตรงตามข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กิจกรรมทางกาย สามารถทำได้ ทุกที่ ทุกเวลา ทุกโอกาส หรือเรียกว่า “Every Move Count” วลีสำคัญ สำหรับการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวน้อยนั่นเอง
“Every Move Count” ในภาษาไทยนั้นก็แปลออกมาได้ความหมายที่เข้าใจง่ายที่สุดว่า การมีกิจกรรมทางกาย สามารถทำได้ “ทุกที่ ทุกเวลา ทุกโอกาส” ทว่า การสื่อสารด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทยยังมีหน่วยงานที่สื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้หรือรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายอยู่ไม่มากนัก ที่เด่นชัดที่สุด ก็คือการทำงานส่งเสริมสุขภาพของ สสส. ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจการรับรู้ข้อมูลจากสื่อ สสส. และหน่วยงานภาคี ที่มีการสำรวจการรับรู้ข้อมูลจากสื่อ สสส. ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของเด็กและเยาวชน จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า การรับรู้ข้อมูลจากสื่อ สสส. ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้วิธีการออกกำลังกายที่บ้าน ร้อยละ 59.3 รองลงมาคือ การรับรู้การออกกำลังกายออนไลน์/ถ่ายทอดออนไลน์ ร้อยละ 19.2 และสุดท้ายคือ การรับรู้คลิปกิจกรรมการเล่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ มีอยู่เพียงร้อยละ 12.6 เท่านั้น (7) ซึ่งการสำรวจนี้ ถือเป็นตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจที่ทำให้ทราบว่า ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่เข้าถึงสื่อได้ในช่องทางที่หลากหลายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการรับรู้ข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายผ่านสื่อ สสส. อยู่บ้าง ซึ่งการสำรวจนี้จะสามารถต่อยอดคำถามในประเด็นรายละเอียดด้านการรับรู้สื่อด้านกิจกรรมทางกายต่อไปเพื่อประโยชน์ทางนโยบายในอนาคตได้ และเป็นแนวทางการทำงานด้านการสื่อสาร ที่สื่อในองค์กรต่าง ๆ จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์การสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ได้ในวงกว้างมากขึ้นตามบริบทของประเทศไทย
รูปข้อมูลการสำรวจการรับรู้ข้อมูลจากสื่อ สสส. และหน่วยงานภาคี ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ของเด็กและเยาวชน จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563
โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
“เข้าถึง...เข้าใจ” ประเด็นสำคัญต่อการสื่อสารประโยชน์ของกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน
การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลำดับที่ 4 (non-communicable diseases: NCDs) ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ (2) ซึ่งแน่นอนว่าหากประชากรป่วยด้วยโรค NCDs มากขึ้น รายจ่ายทางสุขภาพย่อมตามมาอย่างมหาศาล ซึ่งการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคจึงมีความสำคัญมากที่สุด ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทว่ามีปัจจัยหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้มากที่สุด คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้กับประชาชน และวิธีการสร้างความรู้ความเข้าใจที่จะสามารถส่งผ่านไปได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงประชากรได้ง่ายและไวที่สุด คือการสื่อสาร ด้วยช่องทางที่หลากหลาย ตามแต่ความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั่นเอง
แนวคิดสำคัญที่จะสามารถนำมาใช้ประยุกต์เข้ากับการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกาย สามารถเริ่มสร้างได้ด้วยการสร้างความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy) เพราะการมีความรอบรู้ทางกาย จะทำให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (3) ซึ่งการสร้างความรอบรู้นี้สามารถเริ่มทำได้ตามกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า กรอบแนวคิด V-Shape นำโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมีด้วยกัน 6 ขั้น (4) โดยเริ่มจาก ขั้นแรก การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ ถัดมาคือ ขั้นที่สอง การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งการสื่อสารที่สำคัญจะอยู่ใน 2 กระบวนการแรกนี้ และเป็นกระบวนการที่สำคัญสำหรับการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายอย่างถูกต้อง หลังจากนั้น ขั้นตอนอื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ ดังกรอบแนวคิด คือ ในขั้นที่สาม การโต้ตอบซักถาม แลกเปลี่ยน ไปจนถึงขั้นที่สี่ การตัดสินใจ แล้วเข้าสู่ขั้นที่ห้า เกิดการบอกต่อ ซึ่งเมื่อเกิดขั้นตอนทั้งห้าขั้นที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จะอยู่ในขั้นสุดท้าย ซึ่งก่อนจะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้ จะต้องเริ่มทำตามขั้นตอนเข้าถึง และเข้าใจ โดยใช้การสื่อสารเข้ามาช่วยนั่นเอง
รูปกรอบแนวคิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ (V-Shape)
โดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
จากกรอบแนวคิดข้างต้นนั้น สามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน ไปจนถึงผู้สูงอายุได้ ทว่าการใช้แนวคิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มนำมาใช้ในเด็ก โดยผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชน ที่เป็นสภาวะแวดล้อมรอบตัวเด็ก จะสามารถช่วยปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก รวมทั้งได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับตัวเด็กด้วย
ภาพรวมของการสื่อสารด้านกิจกรรมทางกายที่ผ่านมาทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ
ส่วนใหญ่แล้วงานด้านการสื่อสารกิจกรรมทางกายที่พบเห็นได้จากที่ผ่านมา คือ ผลงานการสื่อสาร จาก สสส. ที่คนไทยส่วนใหญ่พบเห็นผ่านทางโฆษณาในโทรทัศน์ อาทิ โฆษณาส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย โดยใช้คำขวัญที่จำง่าย อย่างประโยคที่ว่า “แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย”หรือ “แกว่งแขน ลดพุง ลดโรค” และโฆษณารณรงค์ให้งดเหล้า งดบุหรี่ ที่ประชาชนยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน ทว่า การสื่อสารคำว่า “กิจกรรมทางกาย” ยังพบเห็นได้ไม่บ่อยนักตามสื่อหลักเช่นโทรทัศน์ แต่อย่างไรก็ตาม สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนงานด้าน การสื่อสารให้ประชาชนรู้จักกับนิยามคำว่า กิจกรรมทางกาย โดยความตั้งใจที่จะกระตุ้นให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีการผลักดันนโยบาย มาตรการ ยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมทั้งยังมีการผลักดันในส่วนของสิ่งแวดล้อมที่อื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายด้วย ทั้งนี้ สสส. กำหนดให้หัวใจสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายจะสามารถเพิ่มขึ้นได้จากความร่วมมือของ 3 ส่วน คือ การมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคล (Active People) มีสถานที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมทางกาย (Active place) และนโยบายของการมีกิจกรรมทางกาย (Active Policy) (5) ซึ่งเป็นจุดเน้นหลักของแผนของกรอบการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายสำหรับปี พ.ศ.2565-2574
นอกจากนั้นยังมีวิธีการที่แต่ละประเทศคิดและออกแบบการสื่อสารข้อมูลผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปถึงการจำแนกข้อความหลักที่ใช้ในการสื่อสารด้านกิจกรรมทางกาย ถูกรวบรวมไว้ในส่วนของบทความ เรื่อง “หยุดอ่าน !!! ไม่หยุดอ่าน” ที่เขียนโดย อ.บอล ปิยวัฒน์ จะพูดถึง “Key message” ที่ใช้สำหรับการสื่อสาร และวิธีการที่แต่ละประเทศคิดและออกแบบการสื่อสารข้อมูลผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป โดยในเนื้อหาจะประกอบไปด้วยการจำแนกข้อความหลักที่ใช้ในการสื่อสารของรายงาน Report Card Global Matrix 3.0 ของประเทศต่างๆ ซึ่งถูกจำแนกประเภทเป็น การเล่นและวิถีชีวิตของเด็ก, การออกกำลังกายและเล่นกีฬา, ผลประโยชน์เชิงบวกที่ได้รับ, สถานการณ์ปัญหา/ข้อค้นพบ และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย พร้อมกับการแบ่งประเภทของกลุ่มเป้าหมายของการสื่อสารไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1) พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว 2) โรงเรียน 3) ชุมชน 4) ภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิชาการ และ 5)กลุ่มเป้าหมายที่มีหลายๆ กลุ่ม ซึ่งเนื้อหาและรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากบทความที่ https://www.tpak.or.th/th/article/381
รูปการจำแนกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารของรายงาน Report Card Global Matrix 3.0 ของประเทศต่างๆ
จากบทความเรื่อง “หยุดอ่าน !!! ไม่หยุดอ่าน” ที่เขียนโดย อ.บอล ปิยวัฒน์
การส่งเสริมนโยบายรณรงค์ด้านการสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายในยุทธศาสตร์ของประเทศไทย
ประเทศไทยนั้นมีการดำเนินนโยบายรณรงค์ด้านการสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายที่ถูกกล่าวไว้ใน แผนปฏิบัติการการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓) สอดคล้องตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๗๓) ซึ่งถูกหยิบยกมาจากแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๗๓) ในยุทธศาสตร์หัวข้อใหญ่ใน ยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าด้วยการพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ซึ่งมีเพียงการกำหนดให้มีการพัฒนาระบบสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และวิจัยกิจกรรมทางกาย โดยใช้กลยุทธ์ของการสื่อสาร ที่ถูกกล่าวไว้ในหัวข้อย่อย ในข้อที่ 3.4 ว่า ให้มีการพัฒนาระบบสนับสนุนการสื่อสารรณรงค์กิจกรรมทางกาย ซึ่งจากแผนดังกล่าวได้ระบุไว้เพียง ตัวชี้วัด/เป้าหมายของการดำเนินงานว่าให้มีระบบการสื่อสารรณรงค์กิจกรรมทางกายให้กับประชาชน ตั้งแต่การพัฒนาประเด็น เนื้อหาช่องทาง และการวางแผนการสื่อสาร 1 ระบบ โดยใช้ กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาเนื้อหาและรูปแบบ สำหรับการสื่อสารรณรงค์กิจกรรมทางกาย และ กลยุทธ์ที่ 2 สื่อสารกิจกรรมทางกาย (6) จากแผนปฏิบัติการการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้ระบุไว้เพียงเท่านี้ ทว่า ประเด็นด้านการสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายเป็นประเด็นที่สำคัญ และสามารถส่งเสริมให้เกิดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ในหัวข้อใหญ่ได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการลงทุนกับการส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายจากภาครัฐมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนคนไทย
ข้อเรียนรู้การรณรงค์ด้านการสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายในระดับนานาชาติ สู่การพัฒนานโยบายและกลยุทธ์ของประเทศไทย
ในระดับนานาชาติมีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารและรณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพไว้มากมายที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารและยอมรับในแวดวงวิชาการ ตัวอย่างเช่น มีการศึกษาเรื่อง Use of mass media campaigns to change health behaviour ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้การสื่อสารรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล่าวว่า มีการรณรงค์สื่อสารมากมายและในประเด็นที่ต่างกันออกไปอย่างแพร่หลายผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ที่ได้เผยแพร่เกี่ยวกับ พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การใช้ยาสูบ แอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ พฤติกรรมทางเพศ ความปลอดภัยทางถนน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งการศึกษานี้พบว่า การรณรงค์สร้างการสื่อสารผ่านสื่อมวลชน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงบวกได้ ในทางกลับกันก็สามารถป้องกันปัจจัยเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพในเชิงลบได้เช่นกันกับกลุ่มประชากรจำนวนมาก ซึ่งข้อเสนอแนะทางการศึกษานี้แนะนำให้มีการลงทุนและสนับสนุนการสื่อสารที่เพียงพอต่อประชาชน ทั้งยังแนะนำให้มีการสนับสนุนนโยบายที่ใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชนอีกด้วย (10) ข้อเรียนรู้จากการศึกษานี้คือ สื่อในประเทศไทยของเรา ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนได้ด้วยการเพิ่มพื้นที่ให้สื่อมวลชนใช้เวลาสื่อสารและลงทุนกับการสื่อสารด้านกิจกรรมทางกายมากขึ้น ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจในทุก ๆ วิถีทาง จะสามารถปรับพฤติกรรมของประชาชนได้
นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเรื่อง Physical activity in the mass media: an audience perspective ของออสเตรเลีย ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับ มุมมองของผู้รับสาร ต่อการสื่อสารด้านกิจกรรมทางกาย ในบริบทของออสเตรเลียที่การสื่อสารกิจกรรมทางกายเน้นการรณรงค์สุขภาพด้านสาธารณสุข ข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน ไปจนถึงรายการทีวี การศึกษานี้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ใหญ่ทั้งหมด 46 คน มีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามเพศ กลุ่มอายุ พื้นที่อยู่อาศัย และค่าดัชนีมวลกายเอาไว้ ซึ่งพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ จะจดจำหรือจำได้เพียงแค่รายงานข่าวที่เกี่ยวกับการกระตุ้นให้มีการออกกำลังกาย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างมองว่า สื่อของออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการสื่อสารด้านความเสี่ยงทางสุขภาพมากเกินไป ทั้งยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ไม่มากพอ พร้อมเสนอแนะว่า สื่อ จำเป็นต้องกำหนดกรอบของกิจกรรมทางกายในรายการเรียลลิตี้โชว์ให้ชัดเจน และกำหนดให้สื่อมีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ทางร่างกายที่จะได้มาจากการเคลื่อนไหว พร้อมเสนอแนะให้มีแคมเปญรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง (11) ข้อเรียนรู้จากการศึกษานี้ต่อบริบทไทย ก็สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทยได้ ด้วยการ มีแคมเปญรณรงค์ให้คนมีกิจกรรมทางกาย ผ่านสื่อในช่องทางที่หลากหลาย หรือผ่านรายการเรียลลิตี้โชว์ที่มีมากอยู่แล้วในไทย แต่เพิ่มการให้ความรู้และประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายในแต่ละประเทศควบคู่กันไป ก็จะสามารถทำให้คนรับรู้และเข้าใจรวมทั้งเห็นความสำคัญถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายได้
มากไปกว่านั้น ยังมีการศึกษาของ Harvard College ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีข้อแนะนำถึงบทบาทของสื่อต่อการใช้สื่อมวลชนและเทคโนโลยีเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยใช้แคมเปญกระตุ้นให้ผู้คนลุกจากโซฟาออกมาเคลื่อนไหวด้วยการใช้ รองเท้าวิ่งมาเป็นแรงจูงใจ โดยกิจกรรมของแคมเปญนี้ กระตุ้นให้คนกำหนดเป้าหมาย และเป้าหมายนี้เอง ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของแต่ละบุคคล และยังสามารถเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับการออกกำลังกายไปด้วย รูปแบบของกิจกรรมนี้มีการใช้สมาร์ตโฟน การเล่นเกมในสื่อโซเชียล และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เข้ามาเพิ่มให้กิจกรรมทางกายของผู้ร่วมกิจกรรมให้สนุกยิ่งขึ้น (12) นอกจากนั้น ยังมีคำแนะนำต่อการพัฒนาสื่อและแคมเปญด้านกิจกรรมทางกายผ่านการสื่อสารการตลาดทางสังคม ว่าต้องได้รับทุน และการสนับสนุนจากรัฐบาล พร้อมมีข้อความและการสร้างแบรนด์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย และมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาแคมเปญหรือสื่อที่รัฐและท้องถิ่นต้องดำเนินการ จะต้องเน้นและสื่อสารไปถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น ที่สามารถสร้างได้ผ่านการ สร้างจากข้อความรณรงค์ระดับชาติ สร้างแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมตามบริบทของแต่ละสังคมอย่างน่าสนใจ ผ่านการนำเสนอแบบอย่างและประเภทของการมีกิจกรรมทางกายที่หลากหลาย จะช่วยให้คนหันมาสนใจกิจกรรมทางกายมากขึ้นได้ (13)
ข้อเสนอแนะการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย
การสื่อสารเพื่อการรับรู้ความหมายของกิจกรรมทางกายของประชาชน การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐานการมีความรอบรู้ทางกาย เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย เป็นจุดเริ่มต้นนโยบายที่ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดยุทธศาสตร์การทำงานที่ชัดเจน เพราะหากประชาชนเห็นความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
(1) ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และคณะ. (2563). คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (TPAK) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).พิมพ์ครั้งที่ 1.. นครปฐม.
(2) Lee IM, Shiroma EJ, LobeloF, Puska P, Blair SN, Katzmarzyk PT,et al. Effectof physical inactivityon majornon-communicable diseases worldwide:ananalysisof burdenof disease and life expectancy. Lancet 2012;380(9838):219-29
(3) Edwards, L. C., Bryant, A. S., Keegan, R. J., Morgan, K., & Jones, A. M. (2017). Definitions, Foundations and Associations of Physical Literacy: A Systematic Review. Sports medicine (Auckland, N.Z.), 47(1), 113–126. https://doi.org/10.1007/s40279-016-0560-7
(4) กรมอนามัย. (2563) แนวทางการพัฒนาโรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate School : HLS). สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก: กรุงเทพมหานคร.
(5) พริบพันดาว. (2559). ‘ทุกที่ทุกเวลา’ กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ. เข้าถึงเมื่อ 13 ตุลาคม 2564 จาก shorturl.asia/euS1g
(6) กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.แผนปฏิบัติการการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓) สอดคล้องตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๗๓).กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2561.
(7) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2563). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
(8) International Society for Physical Activity and Health (ISPAH). ISPAH’s Eight Investments That Work for Physical Activity. November 2020. Available from: https://www.ispah.org/resources/key-resources/8-investments/
(9) ISPAH. (2020). Animation: ISPAH’s Eight Investments That Work for Physical Activity | #8Investments. Available from: https://youtu.be/CMjizuPU9tQ
(10) Wakefield, M.A., Loken, B., Hornik, R.C., 2010. Use of mass media campaigns to change health behaviour. The Lancet 376, 1261–1271.. doi:10.1016/s0140-6736(10)60809-4
(11) Ben J. Smith, Catriona M. F. Bonfiglioli, Physical activity in the mass media: an audience perspective, Health Education Research, Volume 30, Issue 2, April 2015, Pages 359–369, https://doi.org/10.1093/her/cyv008
(12) Harvard Chan. Mass Media and Technology to Encourage Activity. Available from: https://www.hsph.harvard.edu/obesity-prevention-source/obesity-prevention/physical-activity-environment/mass-media-and-technology-to-encourage-physical-activity/
(13) National Physical Activity Plan. National Physical Activity Plan for the United States. 2010. Accessed October, 2021.