13 มีนาคม 2564

กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา

การใช้กลไกการทำงานหลายภาคส่วน (Multi-sectoral collaboration: MSC) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs ให้แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

 


สถานการณ์ของโรค NCDs

ปัจจุบันประชากรโลกกำลังเผชิญกับโรคในกลุ่ม Non-Communicable Diseases: NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตจากโรค NCDs มากถึงปีละ 41 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs มากกว่า 15 ล้านคนต่อปีอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 30 – 69 ปี หรือเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และร้อยละ 85 เกิดในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียปีสุขภาวะและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง สำหรับประเทศไทยพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs มีจำนวนมากถึง 368,872 คน ในปี 2557 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 549,172 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 67.0 โดยจำแนกเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 122,581 คน โรคมะเร็ง 96,988 คน โรคเบาหวาน 30,529 คน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 22,531 คน2 และในระหว่างปี 2557-2561 พบอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ที่สำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 พบโรค NCDs ที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็งรวมทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 123.3, 47.1 และ 31.8 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ3 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรค NCDs นั้นมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีและสามารถป้องกันได้ เช่น การสูบบุหรี่ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการขาดกิจกรรมทางกาย รวมถึงมลพิษทางอากาศ

 

แนวโน้มผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น

ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ 3 ระบบหลัก ได้แก่ สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นอกจากนี้ยังมีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้ อาทิ รัฐวิสาหกิจ อปท. องค์กรมหาชน หน่วยงานที่มี พ.ร.บ. เฉพาะ เป็นต้น ข้อมูลจากรายงานการสร้างระบบประกันสุขภาพแห่งชาติงบประมาณ 25634 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้มีสิทธิและลงทะเบียนในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 66.625 ล้านคน แบ่งเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 47.605 ล้านคน (ร้อยละ 71.45) สิทธิประกันสังคมจำนวน 12.552 ล้านคน (ร้อยละ 18.84) สิทธิสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจจำนวน 5.195 ล้านคน (ร้อยละ 7.80) และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นจำนวน 1.273 ล้านคน (ร้อยละ 1.91) ทั้งนี้ จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 มีผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ประมาณ 10 ล้านคน แต่ปัจจุบัน (ปี 2564) ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 13 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกันตนมาตรา 40 อีกประมาณ 6 ล้านคน5 รวมจำนวนผู้ประกันตนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมมากถึง 19 ล้านคน ซึ่งหากเปรียบเทียบสัดส่วนของผู้ประกันตนกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ ในระบบประกันสุขภาพของไทย โดยอ้างอิงจากข้อมูลในปี 2563 เท่ากับว่าปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (เฉพาะมาตรา 33 และ 39) มากถึงร้อยละ 19.5 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพของไทย

อนึ่ง ประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมคือ กลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 ที่เป็นกลุ่มลูกจ้างเอกชน (Private formal sector) และกลุ่มผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 ที่เคยอยู่ในมาตรา 33 มาก่อนแล้วมีความประสงค์จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิด้านความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจที่เหมือนและแตกต่างจากประชาชนที่อยู่ภายใต้สิทธิ สปสช. อาทิ การได้รับเงินทดแทนขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ชราภาพ หรือกรณีว่างงาน เป็นต้น ซึ่งสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ให้แก่ผู้ประกันตน แต่ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนรวมกับนายจ้างเท่ากันที่ร้อยละ 5 ของเงินเดือนร่วมกับเงินสมทบจากรัฐอีกร้อยละ 2.5 ตามเพดานของเงินเดือน โดยเพดานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท ส่วนผู้ประกันตนโดยสมัครใจในมาตรา 39 ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 70 – 300 บาทต่อเดือน และได้สิทธิประโยชน์ 3 - 5 กรณี ซึ่งสิทธิจะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนเงินสมทบ ที่มากขึ้น แต่สิทธิด้านการรักษาสุขภาพจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเหมือนกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการ หรือสิทธิอื่น ๆ

 

คลื่นสึนามิประชากรและภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ระบบประกันสังคมต้องรับความเสี่ยง

ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2565 ซึ่งผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากสำนักงานประกันสังคมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งแนวโน้มค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเคลื่อนตัวของคลื่น “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ซึ่งเป็นสึนามิประชากรของประเทศไทยกําลังจะกลายเป็นกลุ่มประชากรสูงอายุกลุ่มใหญ่มาก6 โดยส่วนหนึ่งเป็นประชากรวัยแรงงานตอนกลางและตอนปลายที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยหากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ในปี 2563 ประกอบกับข้อมูลการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs ที่พบมากในกลุ่มประชากรวัย 30 – 69 ปี สะท้อนว่าสำนักงานประกันสังคมกำลังเผชิญกับคลื่นผู้ประกันตนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของผู้ประกันตน รวมถึงเงินบำนาญชราภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อการรักษาและดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และหากไม่มีการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะการคลังของกองทุนประกันสังคม รวมถึงการมีสุขภาพที่ไม่ดีของผู้ประกันตนอันจะส่งผลกระทบต่อระบบแรงงานและเศรษฐกิจในภาพรวม

รูปแสดงจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 จำแนกตามอายุและเพศ ปี  2563

ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพระหว่างระบบประกันสังคมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กับประชาชนทั่วไปที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้สำนักงานประกันสังคมต้องเร่งดำเนินการ โดยระบบประกันสังคมถือเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพและสังคมของลูกจ้าง ที่รัฐ นายจ้าง และลูกจ้างร่วมกันสมทบแก่แรงงานในระบบ ส่วนระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นรัฐสวัสดิการที่จัดให้แก่ประชาชนไทยกลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือซึ่งเกิดจากการรวมระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่ในขณะนั้นซึ่งได้แก่ ระบบสวัสดิการผู้ที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูล ระบบบัตรประกันสุขภาพ และผู้ที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ7 ถึงแม้ว่าระบบประกันสุขภาพทั้ง 2 ระบบ จะมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันคือ การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนภายใต้ระบบให้ได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ด้วยมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันในหลายประเด็นตั้งแต่แนวคิด ความเป็นมา การบริหารจัดการ และกฎหมายที่รองรับ จึงทำให้ระบบประกันสุขภาพทั้ง 2 ระบบ ที่มีความแตกต่างกันทั้งการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ เงื่อนไขการใช้และการเข้ารับบริการต่าง ๆ รวมถึงวิธีและอัตราการจ่ายเงินค่าบริการให้กับสถานพยาบาลมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้ มีการศึกษาเชิงบทความวิจัยและบทสังเคราะห์ไว้มากมายถึงความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพระหว่าง 2 กองทุนฯ โดยหนึ่งในการศึกษาที่น่าสนใจและมีการเปรียบเทียบผลการศึกษาความแตกต่างด้านสิทธิประโยชน์ในปี 2554 และในปี 2563 ไว้ค่อนข้างละเอียดคืองานของ พงศธร พอกเพิ่มดี และขนิษฐา ภูสีมุงคุณ เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการและสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ระหว่างระบบประกันสังคมกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2563 8 โดยการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่แตกต่างกันระหว่างระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2563 พบว่า มีความแตกต่างกัน 11 สิทธิประโยชน์ โดยมี 7 สิทธิประโยชน์ ได้แก่ การตรวจยีนแพ้ยา การล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (automated peritoneal dialysis: APD) การดูแลด้านสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (long term care) และแบบประคับประคอง (palliative care) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ที่บ้าน อุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรค ที่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติมีสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแต่ระบบประกันสังคมยังไม่มี และหากพิจารณาจำนวนอุปกรณ์และอวัยวะเทียม พบว่า ระบบประกันสังคมมี 291 รายการ มี 12 รายการที่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติไม่มี และมี 35 รายการที่ราคากลางสูงกว่าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติมี 316 รายการ มี 37 รายการที่ระบบประกันสังคมไม่มี และมี 7 รายการที่มีราคากลางสูงกว่าระบบประกันสังคม ขณะที่มีสิทธิประโยชน์ 2 รายการ ได้แก่ การเปลี่ยนอวัยวะที่ไม่ครอบคลุมการปลูกถ่ายปอดและตับอ่อน จำกัดจำนวนผู้ป่วยต่อปี และไม่คุ้มครองการปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 อวัยวะพร้อมกัน และรากฟันเทียม ที่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่มีสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

นอกจากนี้ การศึกษาฉบับดังกล่าวนี้ยังมีการเปรียบเทียบถึงความเหมือนกันแต่มีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งจะมีผลต่อสิทธิประโยชน์ ความสะดวก และคุณภาพการให้บริการที่อาจจะมีความแตกต่างกันได้ และประเด็นที่น่าสนใจคือผลการเปรียบเทียบการบริหารจัดการและสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ของระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2554 และปี 2563 พบว่า ความแตกต่างด้านสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ระหว่าง 2 ระบบ จากเดิม 15 รายการ เหลือเพียง 11 รายการ และมีสิทธิประโยชน์ที่เหมือนกันแต่บริหารต่างกันจากเดิม 26 รายการ เหลือเพียง 20 รายการ โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ ระบบประกันสังคมมีการปรับวิธีการจ่ายเงินหรืออัตราชดเชยให้สถานบริการที่สำคัญถึง 4 ครั้ง ส่งผลต่อการส่งต่อ และคุณภาพบริการของระบบประกันสังคม เช่น การเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินสำหรับผู้ป่วยในจากแบบเหมาจ่ายรายหัว (capitation) มาเป็นแบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) ปรับวิธีจ่ายเงินสำหรับโรคร้ายแรง เช่น หัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดในสมอง มาเป็นแบบบริหารเฉพาะโรค การมีระบบยา จ(2) ที่เป็นการเพิ่มการเข้าถึงยาที่มีราคาแพง รวมทั้งปรับอัตราการจ่ายชดเชยผู้ป่วยในตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมสูงกว่าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ

การใช้กลไก MSC เข้ามาช่วยยกระดับความเสมอภาคด้านสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพ และลดความเสี่ยงจากโรค NCDs ไปพร้อมกัน

จากการที่ทีมวิชาการของทีแพคได้มีโอกาสร่วมทำงานกับสำนักงานประกันสังคม, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.), Centre for Addiction and Mental Health (camh) Canada และหน่วยงานของภาครัฐ รวมถึงนักวิชาการจากหลากหลายสาขา เข้ามาร่วมพัฒนาศักยภาพของการใช้กลไกการทำงานหลายภาคส่วน (Multi-sectoral collaboration: MSC) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs พบว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งหมายที่จะยกระดับหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคงให้แก่ผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้บรรลุพันธกิจ (Mission) “การบริหารการประกันสังคมและเงินทดแทนโดยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคง” ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้แก่ผู้ประกันตนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กับประชาชนทั่วไปที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งโจทย์ดังกล่าวนี้เองเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เกิดการทำงานโดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นผู้ผลิตความรู้ (Knowledge producers) เพื่อจัดทำข้อมูลและชุดความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพ ข้อมูลด้านสวัสดิการสังคม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับเป็นข้อมูลการตัดสินใจเชิงนโยบายให้แก่ผู้บริหารของสำนักงานประกันสังคม โดยผู้ทำงานหลักจะเป็นผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานประกันสังคมเอง (Ministry-focus academicians) และนักวิชาการภายนอกกระทรวงที่มีความเชี่ยวชาญอาวุโส (Senior ministerial officials) ในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค NCDs มาร่วมในการผลิตชุดความรู้เพื่อให้เกิดเป็นนโยบายที่เหมาะสมแก่ผู้ประกันตน

การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs จึงเป็นหนึ่งในโอกาสและแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกระดับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มสูงขึ้นให้แก่ผู้ประกันตนเช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การป้องกันและควบคุมโรค NCDs มีความซับซ้อนและมีความเกี่ยวพันกับหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่ปัจจัยระดับบุคคลไปจนถึงปัจจัยระดับนโยบาย เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล ได้แก่ การเลิกสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา การลดการทานอาหารที่มีรสจัดทั้งหวาน/มัน/เค็ม การเพิ่มการทานผักและผลไม้ การลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและเพิ่มกิจกรรมทางกาย ไปจนถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้เข้าถึงอาหารสุขภาพและสถานที่ออกกำลังกายได้ง่าย การเข้าถึงบุหรี่ สุราและอาหารหวาน/มัน/เค็มได้ยากและมีราคาแพง ทั้งนี้ การจะปรับสภาพแวดล้อมนั้นต้องการนโยบายสาธารณะซึ่งเกินขอบเขตอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การขึ้นภาษีสินค้าทำลายสุขภาพเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง การควบคุมการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ การกำหนดให้นายจ้างมีการดูแลด้านสุขภาพและสวัสดิการของลูกจ้างอย่างเหมาะสมเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน เป็นต้น การทำงานร่วมมือหลายภาคส่วนจึงถูกเน้นย้ำอย่างมีนัยสำคัญในยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ2 ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีชุดข้อมูลที่มีความรอบด้านและมีน้ำหนักเพียงพอสำหรับให้ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานประกันสังคมได้ตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

ช่องว่างและโอกาสในการเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs

แม้ว่าผลการศึกษาข้างต้นจะสะท้อนว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ระบบประกันสังคมได้มีการยกระดับและปรับปรุงคุณภาพชุดสิทธิประโยชน์ให้มีความเท่าเทียมกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติมากยิ่งขึ้น และมีสิทธิประโยชน์ที่สูงกว่าก็ตาม แต่โดยรวมแล้วระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการบริหารจัดการเฉพาะและสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าระบบประกันสังคม8 นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม และป้องกันโรค พบว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมยังต้องพึ่งพิงหรือเป็นภาระจากเงินกองทุนของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวประเภทบริการ “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ที่เงินส่วนดังกล่าวนี้จ่ายให้กับประชาชนผู้มีสิทธิประมาณ 48 ล้านคน จำนวน 452.60 บาทต่อหัว9 แต่ต้องนำเงินส่วนดังกล่าวนี้ไปใช้สำหรับดูแลประชาชนไทยทุกคน ขณะที่ระบบประกันสังคมได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนได้ตรวจสุขภาพประจำปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทการตรวจ ครอบคลุมทั้งสิ้น 14 รายการ อาทิ การคัดกรองการได้ยิน การตรวจเต้านม ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC น้ำตาลในเลือด FBS การทำงานของไต ไขมันในเส้นเลือดชนิด Total & HDL Cholesterol  มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ซึ่งสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นสิทธิเพื่อการตรวจหาโรคมากกว่าสิทธิประโยชน์เพื่อการป้องกันโรคหรือการเจ็บป่วยจากโรค ดังนั้น จึงมีโอกาสและช่องว่างที่สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนในด้านสิทธิประโยชน์เพื่อการป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตน โดยเฉพาะการป้องกันโรคและความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่สามารถควบคุมหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ อันจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนประกันสังคมอย่างมากในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนได้อีกทางหนึ่งด้วย

การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเป็นหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจและควรศึกษา เนื่องจากกิจกรรมทางกายนั้นมีความสัมพันธ์กับสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ที่มีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอจะมีภาวะสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่มีกิจกรรมทางกายน้อย การมีกิจกรรมทางกายเป็นประจำช่วยป้องกันโรคเรื้อรังหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวานประเภท 2 10 ภาวะซึมเศร้า 11 โรคหัวใจ และมะเร็ง 12 ด้วยเหตุนี้ ทำให้องค์กรชั้นนำ และในหลายประเทศมีการส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับคนในประเทศผ่านโครงการ National Steps Challenge เป็นต้น และด้วยปัจจุบันพบว่าคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพียงร้อยละ 56.0 เท่านั้น13 การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้แก่ผู้ประกันตนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพให้แก่ผู้ประกันตน และเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายและการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค NCDsจำเป็นต้องหาข้อมูลและวิธีดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อเป็นทางเลือกทางนโยบายสำหรับลดความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต่อไป

 


เอกสารอ้างอิง

1. Organization WH. Noncommunicable diseases 2021 [11 พฤศจิกายน 2564]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases.

2. Sornpaisarn B. โมเดลพลังสี่ภาคส่วนสู่การยกระดับการทำงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง. Journal of Health Science-วารสาร วิชาการ สาธารณสุข. 2020;29(4):747-64.

3. อรรถเกียรติ กาญจนพิบูลวงศ์ ภาณุวัฒน์ คำวังสง่า และสุธิดา แก้วทา. รายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562. สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์ 2563.

4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. รายงานการสร้างระบบประกันสุขภาพแห่งชาติงบประมาณ 2563. 2563.

5. สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน. สำนักงานประกันสังคม เผยยอดจำนวนผู้ประกันตนทั่วประเทศ ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 2564 [28 พฤศจิกายน 2564]. Available from: https://www.facebook.com/ssofanpage/photos/สำนักงานประกันสังคม-เผยยอดจำนวนผู้ประกันตนทั่วประเทศ-ประจำเดือนกรกฎาคม-2564-2564/4240015092743949/.

6. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.). รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2543. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; 2564.

7. ASEAN Lf. การสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียน: ประเทศสิงคโปร์ 2560 [15 ตุลาคม 2564]. Available from: https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=138&Type=1.

8. พงศธร พอกเพิ่มดี ขนิษฐา ภูสีมุงคุณ. การเปรียบเทียบการบริหารจัดการและสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ระหว่างระบบประกันสังคมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ. ศ. 2563. 2564.

9. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563. In: (สปสช.) ส, editor. 2563.

10. Wahid A, Manek N, Nichols M, Kelly P, Foster C, Webster P, et al. Quantifying the association between physical activity and cardiovascular disease and diabetes: a systematic review and meta‐analysis. Journal of the American Heart Association. 2016;5(9):e002495.

11. Schuch FB, Vancampfort D, Firth J, Rosenbaum S, Ward PB, Silva ES, et al. Physical activity and incident depression: a meta-analysis of prospective cohort studies. American Journal of Psychiatry. 2018;175(7):631-48.

12. Bull FC, Al-Ansari SS, Biddle S, Borodulin K, Buman MP, Cardon G, et al. World Health Organization 2020 guidelines on physical activity and sedentary behaviour. British journal of sports medicine. 2020;54(24):1451-62.

13. Katewongsa P, Widyastari DA, Saonuam P, Haemathulin N, Wongsingha N. The effects of the COVID-19 pandemic on the physical activity of the Thai population: evidence from Thailand's Surveillance on Physical Activity 2020. Journal of sport and health science. 2021;10(3):341-8.

 

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย