13 มีนาคม 2564

กลุ่มงานพัฒนาฐานข้อมูลและการพยากรณ์

ทิศทางการมีกิจกรรมทางกายกับระลอกการแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุบัติการณ์ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ปีเต็ม ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 2563 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้มีการประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) [1] เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ถึงขั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่น ๆ และต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางในการรับมือ ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวและการดำเนินมาตรการที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อผู้คน สังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของประชากรในเรื่องของการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดเมืองเป็นมาตรการที่ควบคุมถึงการจำกัดการเดินทาง การยกเลิกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงการกักตัวอยู่ที่บ้าน ลดโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายและเพิ่มกิจกรรมเนือยนิ่ง เช่น การใช้คอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ หรือการทำงานจากที่บ้าน (work from home) [2] ทำให้ประชาชนในหลายประเทศมีกิจกรรมทางกายลดลงและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น [3] เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วงล็อกดาวน์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรลดลง และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น [4] ดังนั้น การล็อกดาวน์จึงนำมาสู่ความเสี่ยงด้านสุขภาพ หากมีการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลานานจะส่งผลให้กิจกรรมทางกายลดลงอย่างต่อเนื่อง [2] และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่ม NCDs และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

 

ระลอกของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ด้านการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย ?

“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง” การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวทางด้านพฤติกรรมของประชากรทุกกลุ่มวัยส่งผลกระทบต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย ข้อมูลจากการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า นับตั้งแต่ปี 2555 – 2563 สถานการณ์ภาพรวมด้านการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย มีทิศทางเป็นไปในเชิงบวก โดยระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อยู่ที่ร้อยละ 66.3 ในปี 2555 สู่ร้อยละ 74.6 ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 8.3 คิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.04 ต่อปี

แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอประชากรไทยลดลงมากถึง ร้อยละ 19.1 คือ จากร้อยละ 74.6 ในปี 2562 (ก่อนการแพร่ระบาด) มาอยู่ที่ร้อยละ 54.3 ในปี 2563 (ช่วงการแพร่ระบาดปีแรก) ซึ่งพบว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา [1] อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการและให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยขอความร่วมมือในการดูแลตนเองและเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอประชากรไทยในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 63.0 [5

รูปที่ 1 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย ระหว่างปี 2555-2564

ที่มา: โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทยปี 2555-2564

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 1 “ผลจากการควบคุมพื้นที่และกิจกรรม”

เมื่อพิจารณาแนวโน้มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยกับระลอกการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระลอกที่ 1 เป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างหนักในประเทศไทย โดยภาครัฐได้ดำเนินมาตรการหลายอย่าง เช่น การประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด และมาตรการที่สำคัญเช่น “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” “แยก หยุด เลี่ยง ปิด” เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อพิจารณาสัดส่วนของการมีกิจกรรมทางกายในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงอย่างมาก คิดเป็นร้อยละ 54.3 ในปี 2563 จากผลกระทบของนโยบายการงดใช้พื้นที่ที่มีการชุมนุมแออัด เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย และขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อ [6] เนื่องจากการปิดสถานที่ต่าง ๆ เป็นหนึ่งในมาตรการที่ส่งผลกระทบที่ค่อนข้างมากต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของประชากร [2]

 

การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 2 - 5 “เรียนรู้และปรับตัวเข้ากับ (โรค/โลก) สู่การฟื้นตัวของผู้คนและกิจกรรมทางกาย”

ในช่วงระลอกที่ 2 เป็นต้นมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนเป็นระยะ ๆ รวมถึงการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรอย่างทั่วถึงในกลุ่มเป้าหมายพื้นที่เสี่ยงสูงและพื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้สถานการณ์ภาพรวมของระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในระลอก 3 – 5 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 55.5 ในระลอกที่ 1 เป็นร้อยละ 69.7 ในช่วงก่อนระลอกที่ 5 ประชาชนได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตในมิติต่าง ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเฉพาะในมิติด้านกิจกรรมทางกายที่พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มหันมามีกิจกรรมทางกายด้วยการออกกำลังกายที่บ้าน โดยเลือกทำกิจกรรมที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและทำได้ง่าย เช่น การเดินออกกำลังกายในละแวกบ้าน การซิทอัพ และวิดพื้น เป็นต้น เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ ใช้พื้นที่น้อย และสามารถทำกิจกรรมดังกล่าวได้ตลอดเวลา ซึ่งมีหลักฐานการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่า สถานที่ในการทำกิจกรรมทางกายของผู้คนทั่วโลกได้เปลี่ยนรูปแบบไป เช่น เด็กอายุระหว่าง 5 - 13 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการปรับรูปแบบการทำกิจกรรมทางกายในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้าน โดยใช้สื่อมัลติมีเดียที่มีภาพและเสียงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และทำกิจกรรม อีกทั้ง ประชาชนวัยผู้ใหญ่ได้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยการมีรูปแบบการทำกิจกรรมทางกายภายในบ้านและบริเวณรอบบ้าน และพื้นที่ในชุมชนทั้งในลักษณะกิจกรรมระดับเบาและหนัก ขณะเดียวกัน ประชากรไทยได้มีการปรับตัวในการมีกิจกรรมทางกายโดยใช้สถานที่ภายในบ้านหรือที่พักอาศัย พื้นที่บริเวณรอบบ้าน และพื้นที่บริเวณในหมู่บ้านหรือชุมชนสำหรับการทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลการค้นหาวิดีโอเกี่ยวกับการออกกำลังกายจาก Google Trends ของ YouTube  ในปี 2563 โยคะเป็นกิจกรรมได้รับความนิยมมากสุด รองลงมาเป็นการออกกำลังทั่วไป รวมถึง Body Weight และเต้นแอโรบิก [4] ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกและประชากรไทยมีการปรับตัวในการมีกิจกรรมทางกายในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้ตนได้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในแต่ละวัน

รูปที่ 2 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย

จำแนกตามระลอกการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2562-2564[14]

ที่มา: โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทยปี 2555-2564

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
 

หากพิจารณาระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยตามกลุ่มอายุ จะเห็นได้ว่าในช่วงระลอกที่ 1 ประชากรทุกกลุ่มอายุมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงก่อนที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ระลอกที่ 3 เป็นต้นไป โดยประชากรวัยทำงาน (อายุ 18 – 59 ปี) เป็นกลุ่มที่มีระดับกิจกรรมทางกายไปในทิศทางบวกเช่นเดียวกับประชากรวัยเด็ก ขณะที่ระดับการมีกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุยังคงอยู่ในระดับคงที่

นอกจากนี้ สำหรับประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ในปี 2564 ยังพบว่า ประชากรไทยรายงานว่าตนเองมีระดับกิจกรรมทางกายที่ดีเหมือนเดิมและดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดหนักของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ในกลุ่มประชากรเด็ก พบว่าส่วนใหญ่รายงานว่าตนเองมีระดับกิจกรรมทางกายที่ดีกว่าปีผ่านมา อาจเนื่องมาจากประชากรเด็กได้เริ่มมีกิจกรรมทางกายในการเล่นและทำกิจกรรมมากขึ้น และผลจากการเปิดเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบว่ายังคงรู้สึกว่าตนเองมีระดับกิจกรรมทางกายไม่ดีเหมือนเดิมแม้ว่าภาครัฐจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

รูปที่ 3 ร้อยละระดับการมีกิจกรรมทางกายเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในปี 2564

ที่มา: โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทยปี 2564

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

”ข้อเรียนรู้ และข้อค้นพบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กับพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกาย ในต่างประเทศ”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ ทำให้การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรลดลงเช่นเดียวกันกับประเทศไทย จากหลักฐานการศึกษาเชิงประจักษ์โดยการทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า เมื่อรัฐบาลหลายประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายลดลงและพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มประชากร ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล อีกทั้ง ยังมีผลกระทบอย่างมากกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องมีกิจกรรมทางกายเพื่อช่วยในการรักษาสุขภาพ [2,3]

ในประเทศอังกฤษ เมื่อเปรียบเทียบปี 2016-2019 ช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 กับปี 2020 ในช่วงวิกฤตโควิด-19 การมีกิจกรรมของประชากรลดลงต่ำกว่า ร้อยละ 30 [7] ขณะเดียวกัน ในการศึกษาระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางกายในระหว่างล็อกดาวน์และหลังล็อกดาวน์ พบว่า กลุ่มประชากรในการศึกษา ในช่วงการระบาดหนักของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่มีกิจกรรมทางกายต่อเนื่องหรือกิจกรรมทางกายลดลง [8]

ในประเทศนิวซีแลนด์ การเปลี่ยนแปลงของการมีกิจกรรมทางกายในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการประกาศล็อกดาวน์พบว่า การมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางและระดับสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างและหลังการล็อกดาวน์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนล็อกดาวน์ของกลุ่มประชากรที่มีกิจกรรมระดับสูง ในทางตรงกันข้าม สำหรับกลุ่มประชากรที่มีกิจกรรมปานกลางก่อนล็อกดาวน์นั้น มีระดับกิจกรรมทางกายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างล็อกดาวน์เมื่อเทียบกับช่วงก่อนล็อกดาวน์ และระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงเหมือนเดิมหลังล็อกดาวน์ อีกทั้งในเรื่องของปัญหาและความยุ่งยากที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน เช่น ความกังวล ความกดดันด้านเวลา ครอบครัว และความกังวลด้านการเงิน พบว่า มีผลเชิงลบต่อการมีกิจกรรมทางกายหลังการล็อกดาวน์ [9]

ในประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ชี้ให้เห็นถึงข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งจะเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระหว่างระลอก 1 และระลอก 2 การล็อกดาวน์ส่งผลให้เกิดการใช้เวลาการมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางมากขึ้น (ประมาณ 10 นาที/วัน) และพฤติกรรมเนือยนิ่ง (ประมาณ 75 นาที/วัน) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการล็อกดาวน์มีความสัมพันธ์กับสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมเนือยนิ่งมีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แย่ลง [10]

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ มีทิศทางเดียวกันกับประเทศไทยที่มีกิจกรรมทางกายลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์โดยรัฐ แต่เมื่อภาครัฐดำเนินมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์ มีการบริหารจัดการวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน นำมาสู่การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอในทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ และยังคงเป็นประเด็นที่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกาย ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องต้องให้การกำกับดูแล และให้คำแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสมกับประชาชน เพราะการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) [11] ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ จากการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน การที่จะทำให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้กลับมาเหมือนเดิม ควรมีมาตรการส่งเสริมและข้อเสนอแนะที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ ลดความเสี่ยงโอกาสการเกิดโรคและการเจ็บป่วยในกลุ่มโรค NCDs ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

แนวทางก้าวข้ามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สู่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

แนวทางก้าวข้ามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สู่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จะไม่สามารถเป็นไปได้ หากไม่ดำเนินการแบบองค์รวม (Holistic) และรอบด้าน ซึ่งภายใต้ข้อเสนอแผนปฏิบัติการระดับโลกด้านกิจกรรมทางกาย 2018-2030 [13] โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้นำเสนอกลยุทธ์ 4 ประการที่สำคัญ สำหรับใช้เป็นกรอบการทำงานด้านกิจกรรมทางกายที่นำไปใช้ได้ในระดับสากล เพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยกลยุทธ์ 4 ประการที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. สร้างบรรทัดฐานสังคมที่ไม่เนือยนิ่ง (Active Societies) สร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในทุกสังคมด้วยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการเห็นคุณค่าของประโยชน์ของการทำกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน ตามความสามารถในทุกช่วงวัย ซึ่งในการสร้างสังคมที่กระตือรือร้น มีแนวทางและข้อเสนอแนะ ดังนี้

- ใช้แคมเปญการสื่อสารแนวปฏิบัติโดยเชื่อมโยงบนฐานชุมชน เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการของกิจกรรมทางกายประจำวัน

- ดำเนินการรณรงค์ในระดับชาติและระดับชุมชน เพื่อเพิ่มการรับรู้และความเข้าใจถึงผลประโยชน์ร่วมกันทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

- ดำเนินการตามความคิดริเริ่มโดยการมีส่วนร่วมของมวลชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เพื่อให้เข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เหมาะสมกับสังคมและวัฒนธรรม บนฐานการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่ทำได้อย่างเพลิดเพลินและสนุกสนาน

- เสริมสร้างการฝึกอบรม ทั้งก่อนและระหว่างให้บริการแก่ผู้ประกอบวิชาชีพภายในและนอกภาคสุขภาพ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมในการส่งต่อและถ่ายทอดแนวความคิดสังคมกระตือรือร้นอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน

 

2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active Environments) สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มวัยได้เข้าถึงความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม โดยมีแนวทางและข้อเสนอแนะ ดังนี้

- เสริมสร้างการบูรณาการของผังเมืองและการขนส่งนโยบายโดยการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อเชื่อมต่อชุมชน ส่งเสริมการเดินการปั่นจักรยาน และการใช้การขนส่งสาธารณะในชุมชนเมือง รอบเมือง และชนบท

- ปรับปรุงระดับการบริการสาธารณะโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและส่งเสริมการเดิน การปั่นจักรยาน และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในชุมชนเมือง รอบเมือง และชนบท โดยคำนึงถึงหลักการเข้าถึงที่ปลอดภัยเป็นสากล และเท่าเทียมกันของประชาชนทุกกลุ่มคน

- เร่งดำเนินการตามนโยบายเพื่อปรับปรุงถนน ความปลอดภัยและความปลอดภัยส่วนบุคคลของคนเดินเท้า นักปั่นจักรยาน เน้นการลดความเสี่ยงสำหรับผู้ใช้ถนนตามมาตรการความปลอดภัย

- เสริมสร้างการเข้าถึงสาธารณะ พื้นที่สีเขียว ที่มีคุณภาพและเปิดกว้าง ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาของทุกคนบนความหลากหลาย ตามหลักการเข้าถึงที่ปลอดภัยเป็นสากล และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

- เสริมสร้างนโยบาย กฎระเบียบ แนวทางการออกแบบ และกรอบการทำงานในระดับชาติและระดับภูมิภาคตามความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เช่น โรงเรียน สถานบริการด้านสุขภาพ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ทำงาน และที่อยู่อาศัย ที่ออกแบบเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย และจัดลำดับความสำคัญการเข้าถึงให้กับคนเดินเท้า นักปั่นจักรยาน และการขนส่งสาธารณะ

 

3. ส่งเสริมโอกาสต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active People) สร้างและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสและโปรแกรมในการช่วยให้คนทุกกลุ่ม สามารถมีกิจกรรมทางกายได้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีแนวทางและข้อเสนอแนะ ดังนี้

- ส่งเสริมสร้างการจัดการเรียนการสอนพลศึกษาที่มีคุณภาพและประสบการณ์เชิงบวก ตลอดจนการส่งเสริมการเล่นสำหรับเด็กเพศหญิงและเพศชาย เสริมสร้างสุขภาพตลอดชีวิตและความรอบรู้ทางสุขภาพ มุ่งเน้นความเพลิดเพลินและการมีส่วนร่วมทางกายกิจกรรมตามความสามารถ

- ดำเนินการและเสริมสร้างระบบการประเมินผู้ป่วยและให้คำปรึกษาการเพิ่มการออกกำลังกาย กิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

- เสริมสร้างโอกาสสำหรับการทำกิจกรรมทางกายในสวนสาธารณะ และธรรมชาติอื่น ๆ สภาพแวดล้อม (เช่น ชายหาด แม่น้ำ และชายฝั่ง) ตลอดจนในสถานที่ทำงาน

- ส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในผู้สูงอายุ ตามความสามารถในชุมชนและครอบครัว

- เสริมสร้างการพัฒนาและการดำเนินงานของชุมชน การสร้างการมีส่วนร่วมและเพิ่มโอกาสในการทำกิจกรรมทางกายกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีกิจกรรมทางกายน้อย เช่น เด็กผู้หญิง ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และประชากรกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนชายขอบ

- ใช้ความคิดริเริ่มของชุมชนทั้งเมือง กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และปรับแนวทางนโยบายร่วมกันอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนในชุมชน ผ่านการมีส่วนร่วม การพัฒนาและการร่วมกันเป็นเจ้าของ

 

4. สร้างการขับเคลื่อนสุขภาพที่สมบูรณ์แบบ ระบบที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active system) สร้างและเสริมสร้างการสนับสนุนการทำงานหลายภาคส่วน และระบบสารสนเทศ สู่ความเป็นเลิศด้านทรัพยากรการระดม และการดำเนินการการประสานงานระหว่างประเทศ การดำเนินการระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยมีแนวทางและข้อเสนอแนะ ดังนี้

- เสริมสร้างกรอบนโยบายในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อรองรับการดำเนินการที่มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง รวมถึงหลายภาคส่วนกลไกการมีส่วนร่วมและการประสานงาน ความสอดคล้องของนโยบายข้ามภาคส่วน; แนวทาง คำแนะนำ และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับด้านกิจกรรมทางกาย ตลอดจนการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลการดำเนินงาน

- ปรับปรุงระบบข้อมูลและความสามารถในการเฝ้าระวังกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมความเข้มแข็งของระบบติดตามผลทางสังคมในวงกว้างและปัจจัยสภาพแวดล้อมของการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย และรายงานสถานการณ์แก่ภาคส่วนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย เพื่อจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติที่เหมาะสม

- เสริมสร้างการวิจัยและประเมินผลระดับชาติและระดับสถาบันความสามารถและกระตุ้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเร่งการพัฒนาและดำเนินการของการแก้ปัญหานโยบายที่มีประสิทธิภาพ

- ยกระดับการสนับสนุนเพื่อเพิ่มความตระหนักและความรู้ของการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ การกำหนดเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายหลัก

- เสริมสร้างกลไกการจัดหาเงินทุนเพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืนในการดำเนินการระดับชาติและระดับภูมิภาคและการพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาและการดำเนินการตามนโยบาย

 

แต่อย่างไรก็ดี การก้าวข้ามอุปสรรคด้านกิจกรรมทางกายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดการตนเองของประชาชนถือเป็นแนวทางที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากที่สุด และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความปลอดภัย การดำเนินกิจกรรมด้วยการมีกิจกรรมทางกายที่บ้านจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่สำคัญในการคงระดับสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เนื่องจากข้อจำกัดในการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวร่างกายข้างนอกบ้าน ดังนั้น การสร้างพื้นที่บ้านให้เหมาะสมและการมีคู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้านจะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสามารถมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มคนในสังคม อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันของครอบครัวอีกด้วย [11]

จากข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติการระดับโลกด้านกิจกรรมทางกาย ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายที่สำคัญในการส่งเสริมการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมกรรมเนือยนิ่งอย่างยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินงานแบบองค์รวมและรอบด้าน ผ่านองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน คือ สังคม (Society) ผู้คน (People) สิ่งแวดล้อม (Environments) และระบบ (System) ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานบนการคำนึงถึงความปลอดภัย ความหลากหลายของกลุ่มคน/สังคม ความสามารถ/ความถนัด และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติด้านกิจกรรมทางกายเป็นสำคัญ

 


เอกสารอ้างอิง

[1] World Health Organization. (2020). COVID-19 Public Health Emergency of International Concern (PHEIC) Global research and innovation forum สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://www.who.int/publications/m/item/covid-19-public-health-emergency-of-international-concern-(pheic)-global-research-and-innovation-forum

[2] O'Brien, W. J., Badenhorst, C. E., Draper, N., Basu, A., Elliot, C. A., Hamlin, M. J., Batten, J., Lambrick, D., & Faulkner, J. (2021). Physical Activity, Mental Health and Wellbeing during the First COVID-19 Containment in New Zealand: A Cross-Sectional Study. International journal of environmental research and public health, 18(22), 12036. https://doi.org/10.3390/ijerph182212036

[3] Stockwell, S., Trott, M., Tully, M., Shin, J., Barnett, Y., Butler, L., McDermott, D., Schuch, F., & Smith, L. (2021). Changes in physical activity and sedentary behaviours from before to during the COVID-19 pandemic lockdown: a systematic review. BMJ open sport & exercise medicine, 7(1), e000960. https://doi.org/10.1136/bmjsem-2020-000960

[4] ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และกรกนก พงษ์ประดิษฐ์. (2563). REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. นครปฐม: บริษัท ภาพพิมพ์.

[5] ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2564). การสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย  ปี 2564.

[6] ปัญญา ชูเลิศ, นันทวัน ป้อมค่าย และอภิชาติ แสงสว่าง. (2564). บทบาทและการมีส่วนร่วมของนักวิจัยด้านกิจกรรมทางกายทั่วโลก เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติและนโยบายด้านกิจกรรมทางกายสำหรับรองรับโรคระบาดในปัจจุบันและอนาคต. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. จาก https://www.tpak.or.th/th/article/67.

[7] Strain, T., Sharp, S.J., Spiers, A., Price, H., Williams, C., Fraser, C., Brage, S., Wijndaele, K., Kelly, P. (2022). Population level physical activity before and during the first national COVID-19 lockdown: A nationally representative repeat cross-sectional study of 5 years of Active Lives data in England. The Lancet Regional Health - Europe 12, 100265. doi:10.1016/j.lanepe.2021.100265

[8] Bu, F., Bone, J. K., Mitchell, J. J., Steptoe, A., & Fancourt, D. (2021). Longitudinal changes in physical activity during and after the first national lockdown due to the COVID-19 pandemic in England. Scientific reports, 11(1), 17723. https://doi.org/10.1038/s41598-021-97065-1

[9] Hargreaves, E. A., Lee, C., Jenkins, M., Calverley, J. R., Hodge, K., & Houge Mackenzie, S. (2021). Changes in Physical Activity Pre-, During and Post-lockdown COVID-19 Restrictions in New Zealand and the Explanatory Role of Daily Hassles. Frontiers in psychology, 12, 642954. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2021.642954

[10] Cheval, B., Sivaramakrishnan, H., Maltagliati, S., Fessler, L., Forestier, C., Sarrazin, P., Orsholits, D., Chalabaev, A., Sander, D., Ntoumanis, N., Boisgontier, M.P., 2021. Relationships between changes in self-reported physical activity, sedentary behaviour and health during the coronavirus (COVID-19) pandemic in France and Switzerland. Journal of Sports Sciences 39, 699–704. doi:10.1080/02640414.2020.1841396

[11] WHO. 2020. Physical Activity. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2565 จาก https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/physical-activity

[12] ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2563). คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

[13] World Health Organization (WHO), 2018. GLOBAL ACTION PLAN ON PHYSICAL ACTIVITY 2018-20. Retrieved 7 February 2022 [Available from: https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/272722/9789241514187-eng.pdf.

[14] ข้อมูลโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทยในก่อนการระบาดระลอกที่ 5 อยู่ระหว่างการตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล

 

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย