13 มีนาคม 2564

กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา

เพิ่มโอกาสที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย...ให้กับผู้หญิงวัยทำงาน

สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของผู้หญิงวัยทำงาน

วัยทำงานเป็นกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เป็นกำลังหลักในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว รวมถึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่าง ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยอื่น ๆ ดังนั้นสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในประชากรกลุ่มนี้จึงมีอิทธิพลสำคัญต่อการกำหนดสถานการณ์ต่าง ๆ ในภาพรวม

จากสถานการณ์การขาดกิจกรรมทางกายในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกขาดการมีกิจกรรมทางกาย หรือมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และผู้หญิงยังคงขาดการมีกิจกรรมทางกายมากกว่าผู้ชาย โดยข้อมูลการสำรวจแนวโน้มการขาดกิจกรรมทางกายทั่วโลก Worldwide trends in insufficient physical activity from 2001 to 2016 (The Lancet) พบว่า ผู้หญิงมีการเคลื่อนไหวออกแรงของร่างกายน้อยกว่าผู้ชาย โดยค่าเฉลี่ยการขาดกิจกรรมทางกายในผู้หญิงทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 31.7 ในขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 23.4 [1]

สอดคล้องกับข้อมูลของประเทศไทย จากการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทยระหว่างปี 2555 ถึง 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ประชากรกลุ่มวัยทำงาน อายุ 18-59 ปี ผู้หญิงมีการเคลื่อนไหวออกแรงของร่างกายน้อยกว่าผู้ชาย โดยค่าเฉลี่ยการขาดกิจกรรมทางกายในผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 29.8 ในขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 24.3 จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่าผู้ชายมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดีในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ยกระดับการขาดกิจกรรมทางกายของผู้หญิงให้เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับขยายช่องว่างความแตกต่างระหว่างเพศให้เพิ่มสูงขึ้นในคราวเดียวกัน โดยค่าเฉลี่ยการขาดกิจกรรมทางกายในผู้หญิงสูงขึ้นถึงร้อยละ 48.0 ในขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 41.5 [2] ซึ่งเป็นการเพิ่มปัญหาและอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกายของประชากรในภาพรวม และยังสร้างความเหลื่อมล้ำในการมีกิจกรรมทางกายของกลุ่มประชากรเพศหญิงกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวน้อย รวมถึงกลุ่มที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดทำเอกสารเชิงนโยบายเรื่อง “Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people” โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนในการสร้างความเท่าเทียมด้านกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มประชากรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่มีการเคลื่อนไหวน้อย ซึ่งกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ถูกกล่าวถึง [3] ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้กับกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีโอกาสในการเข้าถึงกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับกลุ่มคนอื่น ๆ

เมื่อกล่าวถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของผู้หญิงวัยทำงานในประเทศไทย พบว่าแม้ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรม แคมเปญ หรือการรณรงค์ต่าง ๆ ทว่ายังมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของการมีกิจกรรมทางกายจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ไม่มากนัก บทความนี้จึงขอนำเสนอเกี่ยวกับข้อค้นพบจากงานวิจัยในต่างประเทศที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในผู้หญิงวัยทำงานได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้หญิงวัยทำงานภายใต้บริบทของสังคมไทย

 

แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อเพิ่มโอกาสการมีกิจกรรมทางกายให้กับผู้หญิงวัยทำงาน

งานวิจัยในต่างประเทศ พบว่ามีการศึกษาวิจัยโดยใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบในการพัฒนากิจกรรมแทรกแซง (Intervention) พร้อมกับทำการทดลองใช้กิจกรรมแทรกแซงเหล่านั้น เพื่อพิสูจน์ตรวจสอบประสิทธิผลของกระบวนการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน โดยจากการศึกษาพบว่างานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของกิจกรรมแทรกแซงที่สามารถส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับผู้หญิงวัยทำงานได้ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยผลจากค้นคว้ากิจกรรมแทรกแซงสามารถจำแนกกลุ่มกิจกรรมแทรกแซงได้ดังนี้

1. การใช้เทคโนโลยีร่วมกับการสื่อสาร เพื่อให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจ และการตั้งเป้าหมายในการมีกิจกรรมทางกาย

กิจกรรมแทรกแซงในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน แอปพลิเคชัน เช่น Video Telehealth การใช้เครื่องมือติดตามการมีกิจกรรมทางกาย การใช้เทคโนโลยีสวมใส่ เช่น Fitbit นาฬิกาสมาร์ตวอช Garmin เป็นต้น ร่วมกับการสื่อสารให้ความรู้ การสร้างแรงจูงใจ และการตั้งเป้าหมาย ผ่านช่องทางการสื่อสารประเภทต่าง ๆ เช่น ชุมชนออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านพฤติกรรมทางโทรศัพท์ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย [4,5,6,7,8,9,10,11] และเป็นที่น่าสังเกตว่ากิจกรรมแทรกแซงส่วนใหญ่จะมีผู้นำกิจกรรมหรือผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำหรือคอยกระตุ้นกิจกรรมอยู่เสมอ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านการใช้เทคโนโลยีร่วมกับการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างมีประสิทธิผล [12,13,4,5,6,10] อย่างไรก็ตาม หากใช้เทคโนโลยีที่ไม่สอดคล้องกับกลุ่มคนแต่ละกลุ่มที่มีความเฉพาะและแตกต่างหลากหลายจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการส่งเสริมให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายของกลุ่มคนได้ [11,9 ,7]

2. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

การวิจัยแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นการให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเข้าร่วมออกแบบกิจกรรมแทรกแซง และมีการประชุมสมาชิกในชุมชนเพื่อออกแบบการแทรกแซง มีการประเมินโดยใช้วิธีการเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ พร้อมกับสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมและการสนทนากลุ่ม ซึ่งการศึกษาและกิจกรรมทางกายได้รับการออกแบบเพื่อจัดการกับอุปสรรคทางวัฒนธรรม ดึงดูดความต้องการของประชากรกลุ่มเป้าหมาย การให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการมีกิจกรรมทางกาย รวมถึงการเตรียมกิจกรรมตามแผนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ภายในชุมชน พร้อมกับการจัดกิจกรรมทางกายแบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมในการออกกำลังกาย ซึ่งพบว่าสามารถช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่งให้กับคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิผล [14,15]

3. การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

การให้คำปรึกษาทั้งแบบตัวต่อตัวหรือแบบออนไลน์จากผู้ให้คำปรึกษาด้านพฤติกรรมหรือผู้เชี่ยวชาญ การได้รับชุดข้อมูลกิจกรรมทางกาย การได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายการออกกำลังกาย การได้รับการวางแผนกิจกรรมประจำสัปดาห์และการตรวจสอบเป้าหมายและรางวัลของการออกกำลังกาย ที่เฉพาะและตรงกับสภาพร่างกาย สุขภาพ และวิถีชีวิต ภายใต้ความเฉพาะของการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้อย่างเหมาะสม โดยจากงานวิจัยพบว่า การให้คำแนะนำพร้อมกับการสร้างแรงจูงใจหรือตั้งเป้าหมาย ช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ [16,17] อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังพบว่าหากกิจกรรมมีเพียงการให้คำแนะนำเฉพาะความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายเท่านั้น โดยไม่มีการเสริมแรงจูงใจอาจส่งผลต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกายอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว [18,19]

 

กรณีศึกษา: แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับผู้หญิงวัยทำงานเฉพาะกลุ่ม

ในส่วนนี้เป็นการนำเสนอกิจกรรมแทรกแซงที่เป็นไฮไลท์สำหรับส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้หญิงวัยทำงานในแต่ละกลุ่ม ซึ่งมาจากการค้นคว้ากิจกรรมแทรกแซงที่มีการดำเนินการทดลองอย่างเป็นระบบในข้างต้น เพื่อให้เห็นรายละเอียดของกระบวนการจัดกิจกรรมแทรกแซงในแต่ละกลุ่ม สำหรับเป็นแนวทางให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับผู้หญิงวัยทำงานของไทยต่อไป โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. กิจกรรมแทรกแซงสำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานทั่วไป

การฟื้นกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ พบว่ามีกิจกรรมแทรกแซงอยู่จำนวนไม่น้อยที่ช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนได้ โดยในส่วนนี้ขอนำเสนองานวิจัยของรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จุดเด่นของการศึกษานี้ คือ การใช้ชุมชนเป็นฐาน ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในผู้หญิงวัยทำงานทั่วไปที่อยู่ในชุมชน ระยะเวลาของกิจกรรมแทรกแซงคือ 16 สัปดาห์

การออกแบบกิจกรรมแทรกแซงได้ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา และมีการประชุมสมาชิกในชุมชนสำหรับออกแบบกิจกรรมแทรกแซง ร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้กิจกรรมแทรกแซงสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ บริบทของชุมชน และทรัพยากรที่มีอยู่ภายในชุมชน นอกจากนี้ กิจกรรมแทรกแซงถูกออกแบบให้จัดการกับอุปสรรคด้านวัฒนธรรมและความเชื่อของคนในชุมชนด้วย เช่น บทบาททางเพศ ความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น สำหรับกระบวนการแทรกแซงเริ่มจากผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญ ความรู้ และประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายแก่ผู้หญิงวัยทำงานกลุ่มเป้าหมาย ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ในชุมชน จากนั้นจัดให้มีกลุ่มออกกำลังกายตามความสนใจทุกสัปดาห์ เน้นเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายแบบกลุ่ม เช่น กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มออกกำลังกายตามวิดีโอ กลุ่มเดิน เป็นต้น เพื่อให้ผู้หญิงได้มีเพื่อนออกกำลังกายและได้มีทางเลือกในการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ในระหว่างดำเนินกิจกรรมแทรกแซงผู้เชี่ยวชาญได้มีการพบปะพูดคุยกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นรายบุคคลทุกเดือน และมีการให้กำลังใจและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายร่วมด้วยจนจบกระบวนการแทรกแซง ผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนัก (MVPA) เพิ่มสูงขึ้น และพฤติกรรมเนือยนิ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (14) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการของกิจกรรมแทรกแซงที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมกับการออกแบบกิจกรรมแทรกแซงที่คำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงวัยทำงานในพื้นที่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

2. กิจกรรมแทรกแซงสำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่มีการเคลื่อนไหวน้อย

ผู้หญิงวัยทำงานที่มีการเคลื่อนไหวน้อย ไม่ค่อยมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้หญิงกลุ่มนี้ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวร่างกายหรือกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยในส่วนนี้ขอนำเสนองานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา จุดเด่นของการศึกษานี้ คือ การใช้แอปพลิเคชัน โทรศัพท์มือถือ เครื่องนับก้าว ร่วมกับการกำหนดเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่มีการเคลื่อนไหวน้อย โดยกิจกรรมแทรกแซงได้ออกแบบตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory) มี 2 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) การแทรกแซงแบบเห็นหน้า และ 2) การแทรกแซงผ่านโทรศัพท์มือถือและเครื่องนับก้าว ระยะเวลาของกิจกรรมแทรกแซงคือ 3 เดือน

กระบวนการเริ่มจากให้ผู้เข้าร่วมพูดคุยตัวต่อตัวแบบเห็นหน้ากันกับนักวิจัยที่ได้รับการฝึกอบรม โดยเป็นการแจ้งเกี่ยวกับภาพรวมของโปรแกรมการออกกำลังกาย การกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวเพื่อปรับให้เหมาะสม การให้ความรู้เกี่ยวกับระยะเวลาและความหนักของการมีกิจกรรมทางกาย ประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกาย การระบุอุปสรรคในการเพิ่มการออกกำลังกาย การระบุการสนับสนุนทางสังคมในขณะที่เพิ่มกิจกรรมทางกาย การให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพและการดูแลน้ำหนัก เพื่อเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกับจัดทำแผนกิจกรรมการออกกำลังกายรายบุคคล หลังจากนั้นให้ผู้เข้าร่วมโหลดแอปพลิเคชันลงโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้สำหรับรับข้อมูลทั้งแบบข้อความและวิดีโอสั้น ๆ จากนักวิจัย เกี่ยวกับแนวทางการมีกิจกรรมทางกาย คำแนะนำเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกาย ข้อมูลการสนับสนุนทางสังคมให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกับให้ผู้เข้าร่วมบันทึกกิจกรรมทางกายผ่านไดอารี่ในโทรศัพท์มือถือเพื่อเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยมีการส่งข้อความอัตโนมัติแจ้งเตือนผู้เข้าร่วมให้บันทึกจำนวนก้าวต่อวัน ประเภทของกิจกรรมทางกาย และระยะเวลาของการมีกิจกรรมทางกายจากเครื่องนับก้าวที่สวมใส่ด้วย ผลการศึกษาพบว่าสามารถช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้อย่างมีประสิทธิผล [6] จะเห็นได้ว่าการแทรกแซงแบบเห็นหน้า ร่วมกับการแทรกแซงผ่านโทรศัพท์มือถือและเครื่องนับก้าว นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย เพื่อช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่มีการเคลื่อนไหวน้อยต่อไป

3. กิจกรรมแทรกแซงสำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว

กลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว อาทิ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงพิการ รวมถึงผู้หญิงที่มีโรคอ้วน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องค้นหาแนวทางในการเพิ่มกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มคนกลุ่มนี้อยู่ในภาวะที่มีข้อจำกัดในเรื่องสุขภาพ ร่างกายไม่ค่อยเอื้อต่อการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเต็มที่ การส่งเสริมให้เห็นความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกาย สร้างความมั่นใจในการมีกิจกรรมทางกาย รวมถึงการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความสำคัญด้านความปลอดภัย และแนวทางในการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับร่างกาย เพื่อให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันได้ โดยในส่วนนี้ขอนำเสนองานวิจัยของซานฟรานซิสโก ที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายให้กับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ โดยกิจกรรมแทรกแซง คือ การใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาโดยทีมวิจัยและ Fitbit Ultra ระยะเวลาของกิจกรรมแทรกแซงคือ 12 สัปดาห์

กระบวนการของกิจกรรมแทรกแซงเริ่มต้นจากการที่ผู้เข้าร่วมพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับนักวิจัยเพื่อแจ้งหลักเกณฑ์ของการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว และแผนสำหรับกระบวนการเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยกิจกรรมแทรกแซงนี้สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมออกกำลังกายด้วยตนเองที่บ้านโดยใช้การเดินเร็วเป็นรูปแบบหลักของกิจกรรม จากนั้นให้โหลดแอปพลิเคชันที่ทดลองใช้คู่กับ Fitbit โดยในแอปพลิเคชันจะแสดงจำนวนก้าว ระยะทาง จำนวนของบันไดที่ขึ้น และแคลอรีโดยประมาณที่ใช้ไป จากนั้นจะส่งข้อความรายวันให้กับผู้เข้าร่วม ทั้งแบบข้อความและวิดีโอสั้น ๆ เกี่ยวกับความรู้ คำแนะนำ ข้อความกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางกาย รวมถึงข้อมูลการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และการควบคุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมทำการบันทึกข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายลงในไดอารี่กิจกรรมทางกายของแอปพลิเคชัน โดยผู้เข้าร่วมสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าในการมีกิจกรรมทางกายของตนเองได้ทุกวันบนแอปพลิเคชัน ผลการศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมแทรกแซงมีจำนวนก้าวต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ [7] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้คนกลุ่มนี้อยู่ในภาวะที่มีข้อจำกัดในเรื่องสุขภาพ แต่หากมีการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างมีประสิทธิผล

 

สรุปข้อเรียนรู้

กระบวนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายดังที่กล่าวมาข้างต้น อาทิ การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การสร้างสื่อเพื่อให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย รวมถึงการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าสามารถเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายของผู้หญิงวัยทำงานในแต่ละกลุ่มย่อยได้ ซึ่งการให้ความสำคัญกับคนแต่ละกลุ่มย่อยเป็นแนวคิดที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังให้ความสำคัญ นั่นคือ Fair Play ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการมีกิจกรรมทางกายของคนในแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนในทุก ๆ กลุ่ม โดยงานวิจัยเหล่านี้มีการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้ผู้หญิงวัยทำงานมีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถนำองค์ความรู้นี้มาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมของสังคมไทยได้ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของผู้หญิงวัยทำงานของไทยต่อไป และให้ผู้หญิงไทยได้มีโอกาสที่เท่าเทียมในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ รวมถึงลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายระหว่างหญิงและชายให้เหลือแคบลงมากที่สุด

 


อ้างอิง

1. Guthold R, Stevens GA, Riley LM, Bull FC. Worldwide trends in insufficient physical activity from 2001 to 2016: a pooled analysis of 358 population-based surveys with 1·9 million participants. The Lancet Global Health. 2018;6 (10) :e1077-e86.

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) . ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2555-2563. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; 2564.

3. World Health Organization. Fair Play: Building a strong physical activity system for more active people. 2021.

4. Silva MN, Vieira PN, Coutinho SR, Minderico CS, Matos MG, Sardinha LB, et al. Using self-determination theory to promote physical activity and weight control: a randomized controlled trial in women. Journal of Behavioral Medicine. 2010;33 (2) :110-22.

5. Lynch BM, Nguyen NH, Moore MM, Reeves MM, Rosenberg DE, Boyle T, et al. A randomized controlled trial of a wearable technology-based intervention for increasing moderate to vigorous physical activity and reducing sedentary behavior in breast cancer survivors: The ACTIVATE Trial. Cancer. 2019;125 (16) :2846-55.

6. Fukuoka Y, Komatsu J, Suarez L, Vittinghoff E, Haskell W, Noorishad T, et al. The mPED randomized controlled clinical trial: applying mobile persuasive technologies to increase physical activity in sedentary women protocol. BMC Public Health. 2011;11 (1) :933.

7. Choi J, Lee Jh, Vittinghoff E, Fukuoka Y. mHealth Physical Activity Intervention: A Randomized Pilot Study in Physically Inactive Pregnant Women. Maternal and Child Health Journal. 2016;20 (5) :1091-101.

8. Wang JB, Cadmus-Bertram LA, Natarajan L, White MM, Madanat H, Nichols JF, et al. Wearable Sensor/Device (Fitbit One) and SMS Text-Messaging Prompts to Increase Physical Activity in Overweight and Obese Adults: A Randomized Controlled Trial. Telemedicine and e-Health. 2015;21 (10) :782-92.

9. Nooijen CFJ, Blom V, Ekblom Ö, Heiland EG, Larisch L-M, Bojsen-Møller E, et al. The effectiveness of multi-component interventions targeting physical activity or sedentary behaviour amongst office workers: a three-arm cluster randomised controlled trial. BMC public health. 2020;20 (1) :1329-.

10. Lindgren T, Hooper J, Fukuoka Y. Perceptions and Experiences of Women Participating in a Digital Technology-Based Physical Activity Intervention (the mPED Trial) : Qualitative Study. JMIR Public Health Surveill. 2019;5 (4) :e13570-e.

11. Mascarenhas MN, Chan JM, Vittinghoff E, Van Blarigan EL, Hecht F. Increasing Physical Activity in Mothers Using Video Exercise Groups and Exercise Mobile Apps: Randomized Controlled Trial. J Med Internet Res. 2018;20 (5) :e179-e.

12. Peyman N, Rezai-Rad M, Tehrani H, Gholian-Aval M, Vahedian-Shahroodi M, Heidarian Miri H. Digital Media-based Health Intervention on the promotion of Women’ s physical activity: a quasi-experimental study. BMC Public Health. 2018;18 (1) :134.

13. Marcus BH, Dunsiger S, Pekmezi D, Benitez T, Larsen B, Meyer D. Physical activity outcomes from a randomized trial of a theory- and technology-enhanced intervention for Latinas: the Seamos Activas II study. Journal of Behavioral Medicine. 2022;45 (1) :1-13.

14. Salinas JJ, Parra-Medina D. Physical activity change after a promotora-led intervention in low-income Mexican American women residing in South Texas. BMC public health. 2019;19 (1) :782-.

15. Wen LM, Thomas M, Jones H, Orr N, Moreton R, King L, et al. Promoting physical activity in women: evaluation of a 2-year community-based intervention in Sydney, Australia. Health Promotion International. 2002;17 (2) :127-37.

16. Fjeldsoe BS, Miller YD, Marshall AL. MobileMums: A Randomized Controlled Trial of an SMS-Based Physical Activity Intervention. Annals of Behavioral Medicine. 2010;39 (2) :101-11.

17. Carbonell-Baeza A, Ruiz JR, Aparicio VA, Ortega FB, Munguía-Izquierdo D, Álvarez-Gallardo IC, et al. Land- and water-based exercise intervention in women with fibromyalgia: the al-andalus physical activity randomised controlled trial. BMC Musculoskeletal Disorders. 2012;13 (1) :18.

18. Navarro J, Cebolla A, Llorens R, Borrego A, Baños RM. Manipulating Self-Avatar Body Dimensions in Virtual Worlds to Complement an Internet-Delivered Intervention to Increase Physical Activity in Overweight Women. Int J Environ Res Public Health. 2020;17 (11) :4045.

19. Gerber BS, Schiffer L, Brown AA, Berbaum ML, Rimmer JH, Braunschweig CL, et al. Video telehealth for weight maintenance of African-American women. J Telemed Telecare. 2013;19 (5) :266-72.

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย