13 มีนาคม 2564

กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา

สถานการณ์ “การฟื้นกิจกรรมทางกาย” ของประชากรไทยจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กิจกรรมทางกายของประชากรไทยกำลังเริ่มฟื้น..?

นับเป็นเวลากว่า 2 ปีที่คนไทยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากนับจากวันแรกที่มีการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยด้วยการติดเชื้อของประชากรเพียงเล็กน้อย จนเริ่มเข้าสู่วงจรการแพร่ระบาดที่มีการขยายการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในวงกว้าง จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดลงสลับกันไปมาเป็นลูกคลื่น (Wave) จนถึงปัจจุบันนี้โรคโควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยในอีกไม่ช้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าประเทศไทยกำลังฟื้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับ “การฟื้นกิจกรรมทางกาย” ของประชากรไทยที่เริ่มฟื้นคืนกลับมาสู่ทิศทางที่ดีขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยลดลงจากร้อยละ 74.6 ในปี 2562 (ก่อนการแพร่ระบาด) เหลือเพียงร้อยละ 55.5 ในปี 2563 (ลดลงมากถึงร้อยละ 19.1) และปัจจุบัน (ปี 2564) ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยได้กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 63.0 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยังมีประชากรไทยอีกร้อยละ 11.6 ที่ยังไม่สามารถฟื้นคืนกิจกรรมทางกายให้กลับมาอยู่ในระดับที่เพียงพอได้ และตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยมีการลดลงและเพิ่มสูงขึ้นอยู่เป็นระยะ โดยผันผวนตามระลอกของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของประชากร ซึ่งเราขอแนะนำให้ท่านศึกษารายละเอียดตรงส่วนนี้เพิ่มเติมได้จากบทความ “ทิศทางการมีกิจกรรมทางกายกับระลอกการแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย”

 

ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

หนึ่งในกลยุทธ์ที่มีการใช้และอ้างอิงกันอย่างแพร่หลายเพื่อการจัดทำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทั้งในระดับชาติโดยกระทรวงสาธารณสุข [1] และแผน 10 ปี ของ สสส. [2] รวมถึงแผนปฏิบัติการระดับโลกด้านกิจกรรมทางกาย 2018-2030 หรือ Global Action Plan on Physical Activity 2018-2030 [3] ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้เสนอให้นานาประเทศใช้เป็นกรอบในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วยกลยุทธ์ 4 Active ได้แก่ 1) สร้างบรรทัดฐานสังคมที่ไม่เนือยนิ่ง (Active Societies) 2) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active Environments) 3) ส่งเสริมโอกาสต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active People) และ 4) สร้างการขับเคลื่อนสุขภาพที่สมบูรณ์แบบ ระบบที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active system) อย่างไรก็ดี หากนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ในสถานการณ์ปกติอย่างจริงจังก็เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้กับประชากรในประเทศได้ไม่ยากนัก หากแต่ในสภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน กอปรกับระดับการฟื้นกิจกรรมทางกายของประชากรในแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก รวมถึงยังมีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมด้านกิจกรรมทางกายในบางกลุ่มประชากร อาทิ ผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ ฯ [4] ซึ่งเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่มีผลต่อการฟื้นกิจกรรมทางกายที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น การใช้กลยุทธ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายแบบเหมาโหลหรือใช้นโยบาย/แผนใดแผนหนึ่งกับประชากรทุกกลุ่มอาจจะไม่เกิดผลเท่าที่ควร

 

คนไทยฟื้นกิจกรรมทางกายไม่เท่ากัน..!!

การกำหนดนโยบายหรือมาตรการเฉพาะสำหรับประชากรบางกลุ่มที่ต้องการการกระตุ้นด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกันนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การใช้มาตรการการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ได้ผลกับประชากรกลุ่มวัยทำงานอาจจะไม่ได้ผลกับประชากรวัยเด็กหรือผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจัยด้านร่างกาย สภาพแวดล้อม และบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากเราทราบถึงข้อมูลสถานการณ์การฟื้นกิจกรรมทางกายของประชากรแต่ละกลุ่มในปัจจุบัน ว่ากลุ่มไหนได้รับผลกระทบมาก/น้อย หรือฟื้นได้เร็ว/ช้าอย่างไร ก็จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลือกใช้กลยุทธ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เป็นการเฉพาะกับแต่ละกลุ่มประชากรได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สอดคล้องกับความต้องการและปัญหา โดยเนื้อหาต่อจากนี้จะเป็นการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ ผลกระทบ และการฟื้นกิจกรรมทางกายของประชากรไทยในกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน จำแนกตามคุณลักษณะทางประชากร โดยใช้ข้อมูลจากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทยปี 2562-2564 [5] รายละเอียดดังนี้

1. “หญิงไทยยังน่าเป็นห่วง” แม้ว่าจะได้รับผลกระทบมากและฟื้นกิจกรรมทางกายเร็วกว่าผู้ชายก็ตาม

ต้องยอมรับว่าในสภาวการณ์ปกติที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคใด ๆ จะมีผู้หญิงประมาณ 1 ใน 4 ที่มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ โดยสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกาย [4] อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ยกระดับความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้หญิงและผู้ชายให้เพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดหญิงไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 72.0 (ปี 2562) และลดลงเหลือร้อยละ 50.5 หลังการระบาดในปีแรก หรือลดลงร้อยละ 21.5 ซึ่งนับว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้ชายลดลงเพียงร้อยละ 19.2 เท่านั้น (จากร้อยละ 77.2 เหลือร้อยละ 58.0 ตามลำดับ) จากนั้น ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้หญิงและผู้ชายต่างเพิ่มสูงขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคในปีที่ 2 โดยผู้หญิงมีการฟื้นกิจกรรมทางกายมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย โดยปัจจุบัน (ปี 2564) ผู้หญิงมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 60.0 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ขณะที่ผู้ชายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.5 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในปี 2562 (ก่อนการแพร่ระบาด) พบว่า ยังมีหญิงไทยอีกร้อยละ 12.0 ที่ยังไม่ฟื้นจากกิจกรรมทางกายที่ขาดหายไป และมีผู้ชายอีกร้อยละ 10.7 ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ดังนั้น การใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้น้ำหนักในการส่งเสริมในผู้หญิงมากเป็นพิเศษ

ตารางที่ 1 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยจำแนกตามเพศ และระดับผลกระทบและระดับการฟื้นกิจกรรมทางกายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2562 - 2564

 

2. ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบมากและฟื้นกิจกรรมทางกายช้า ขณะที่เด็กและเยาวชนฟื้นกิจกรรมทางกายได้เร็วแต่ยังต้องเร่งฟื้นฟู

หากพิจารณาการได้รับผลกระทบและการฟื้นกิจกรรมทางกายโดยพิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มประชากรวัยทำงานดูจะน่าเป็นห่วงน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มเด็กและเยาวชนมีการฟื้นระดับกิจกรรมทางกายกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุน่าเป็นห่วงมากที่สุดเนื่องจากได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ นอกจากนี้ยังฟื้นกิจกรรมทางกายได้ช้ากว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยในกลุ่มเด็กและเยาวชนก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพออยู่ที่ร้อยละ 24.4 และลดลงเหลือร้อยละ 17.1 หลังการระบาดในปีแรก (ลดลงร้อยละ 7.3) จากนั้นระดับกิจกรรมทางกายได้กลับเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 24.2 ในปัจจุบัน หรือฟื้นกิจกรรมทางกายได้ร้อยละ 7.1 โดยมีเด็กและเยาวชนเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่กิจกรรมทางกายยังไม่ฟื้นคืนกลับมา ซึ่งสาเหตุที่เด็กและเยาวชนฟื้นกิจกรรมทางกายกลับมาได้รวดเร็วอันเนื่องมาจากธรรมชาติของเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นเป็นพื้นฐานนั่นเอง อย่างไรก็ดี ยังมีเด็กและเยาวชนอีกประมาณ 3 ใน 4 ที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอและต้องการกลยุทธ์และนโยบายเร่งด่วนเข้ามาส่งเสริมเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้  

และในช่วงเวลาเดียวกันผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดผู้สูงอายุมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 73.4 ซึ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีแรกส่งผลให้ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้สูงอายุลดลงเหลือเพียงร้อยละ 53.3 หรือลดลงมากถึงร้อยละ 20.0 จากนั้น ระดับกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุได้ฟื้นขึ้นเป็นร้อยละ 58.6 ในปัจจุบัน หรือฟื้นกิจกรรมทางกายได้เพียงร้อยละ 5.3 เท่านั้น ขณะที่มีผู้สูงอายุอีกร้อยละ 14.7 ที่ยังไม่สามารถฟื้นกิจกรรมทางกายกลับขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่เพียงพอได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณากลยุทธ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นคืนกิจกรรมทางกาย

ตารางที่ 2 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยจำแนกตามกลุ่มอายุ และระดับผลกระทบและระดับการฟื้นกิจกรรมทางกายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2562 - 2564

3. อย่าลืมให้ความสำคัญกับคนโสดและคนที่มีสถานภาพหม้าย

เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มประชากรที่มีสถานภาพโสดและกลุ่มหม้ายนั้นมีความไวกับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประชากรใน 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่แต่งงานแล้วหรือกลุ่มที่หย่า/แยก ทั้งก่อนการแพร่ระบาดและปัจจุบัน โดยหากพิจารณาในกลุ่มประชากรที่มีสถานภาพโสด พบว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด แต่ก็ฟื้นกิจกรรมทางกายจากโควิดได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่นกัน ซึ่งก่อนการแพร่ระบาดกลุ่มคนที่มีสถานภาพโสดมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 74.0 และระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงเหลือร้อยละ 50.5 ในการระบาดปีแรก หรือลดลงมากถึงร้อยละ 23.5 จากนั้น ระดับกิจกรรมทางกายได้กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 62.2 ในปัจจุบัน หรือฟื้นกลับมาร้อยละ 11.7 แต่ทั้งนี้ ยังมีคนโสดอีกร้อยละ 11.8 ที่กิจกรรมทางกายยังไม่ฟื้นคืนกลับมา

ถัดมาเมื่อพิจารณากลุ่มประชากรที่มีสถานภาพสมรสหม้ายซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยที่สุดทั้งก่อนการแพร่ระบาดและในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ โดยก่อนการแพร่ระบาดประชากรกลุ่มนี้มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพียงร้อยละ 68.6 และกิจกรรมทางกายลดลงเหลือร้อยละ 50.0 ในการระบาดปีแรก หรือลดลงร้อยละ 18.6  ซึ่งได้รับผลกระทบมาก รองลงมาจากกลุ่มประชากรที่มีสถานภาพโสด จากนั้น ระดับกิจกรรมทางกายได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 59.3 ในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับว่าในประชากรกลุ่มนี้มีครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 9.3 ที่สามารถฟื้นระดับกิจกรรมทางกายขึ้นมาได้และอีกครึ่งหนึ่งยังไม่สามารถฟื้นกิจกรรมทางกายกลับคืนมาได้ ดังนั้น การใช้กลยุทธ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพของบุคคลจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มประชากรที่มีสถานภาพสมรส หม้าย และโสด

ตารางที่ 3 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยจำแนกตามสถานภาพการสมรส และระดับผลกระทบและระดับการฟื้นกิจกรรมทางกายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2562 - 2564

4. การศึกษาน้อยฟื้นช้า-การศึกษามากฟื้นเร็ว

ผลจากการวิเคราะห์พบว่าระดับการศึกษาของประชากรนั้นมีผลกับความเร็วในการฟื้นกิจกรรมทางกาย โดยกลุ่มประชากรที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มประชากรที่ไม่ได้เรียนและกลุ่มที่เรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่อนข้างมาก เนื่องจากก่อนการแพร่ระบาดประชากรที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษามีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มประชากรที่เรียนระดับอนุปริญญา/ปวส. โดยมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 75.1 จากนั้นระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงเหลือเพียงร้อยละ 44.6 หลังจากโรคโควิด-19 แพร่ระบาดได้เพียง 1 ปีหรือลดลงมากถึงร้อยละ 30.5 ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ก่อนที่ระดับกิจกรรมทางกายได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 54.2 ในปัจจุบัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6) และกลายมาเป็นกลุ่มประชากรที่มีระดับกิจกรรมทางกายน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากยังมีประชากรอีกร้อยละ 20.9 ที่กิจกรรมทางกายยังไม่ฟื้นคืนกลับมานั่นเอง

ส่วนกลุ่มประชากรที่ไม่ได้เรียนหรือไม่มีการศึกษาเป็นอีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยช่วงก่อนการแพร่ระบาดประชากรกลุ่มนี้มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 65.0 เท่านั้น จากนั้นได้ลดลงเหลือร้อยละ 49.4 ในการแพร่ระบาดปีที่ 2 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 54.4 ในปัจจุบัน โดยยังมีประชากรอีกร้อยละ 10.6 ที่กิจกรรมทางกายยังไม่ฟื้น ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษาในภาพรวมพบว่ามีการฟื้นระดับกิจกรรมทางกายได้เร็วกว่ามาก ดังนั้น การให้ความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มประชากรที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือน้อยกว่า เพื่อให้ฟื้นคืนกิจกรรมทางกายขึ้นมาได้เร็วมากยิ่งขึ้นจึงมีความสำคัญเช่นกัน

ตารางที่ 4 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยจำแนกตามระดับการศึกษา และระดับผลกระทบและระดับการฟื้นกิจกรรมทางกายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2562 - 2564

5. คนไม่มีงานทำอาการหนักที่สุด ส่วนพนักงานเอกชนต้องเฝ้าติดตามเป็นพิเศษ

หากพิจารณาผลกระทบและการฟื้นกิจกรรมทางกายของประชากรในกลุ่ม 6 อาชีพแรกที่มีสัดส่วนประชากรมากที่สุดของข้อมูลชุดนี้ ซึ่งรวมถึงกลุ่มประชากรที่ไม่มีอาชีพ/ไม่ได้ทำงานด้วยนั้น พบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและฟื้นกิจกรรมทางกายได้น้อยที่สุดคือ กลุ่มประชากรที่ไม่มีอาชีพ/ไม่ได้ทำงาน โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรกลุ่มนี้มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 65.7 ซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ และกิจกรรมทางกายลดลงมาเหลือร้อยละ 43.5 หลังจากการแพร่ระบาดในปีแรก หรือลดลงมากถึงร้อยละ 22.2 ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วยเช่นกัน จากนั้น ระดับกิจกรรมทางกายจึงได้เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็นร้อยละ 46.5 ซึ่งหมายความว่ายังมีประชากรในกลุ่มนี้อีกร้อยละ 19.2 ที่ยังไม่สามารถฟื้นกิจกรรมทางกายกลับคืนมาได้ โดยอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์มากเป็นพิเศษคือ กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดอยู่ในระดับน้อย รองลงมาจากกลุ่มที่ไม่มีอาชีพ/ไม่ได้ทำงาน โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพออยู่ที่ร้อยละ 72.3 จากนั้นลดลงมาเหลือร้อยละ 51.9 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดปีแรก หรือลดลงมามากถึงร้อยละ 20.4 จากนั้น ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 64.0 ในปัจจุบัน หรือฟื้นคืนกลับมาได้ร้อยละ 12.0 แต่ก็ยังมีประชากรอีกร้อยละ 8.4 ที่ยังไม่สามารถฟื้นคืนกิจกรรมทางกายให้อยู่ในระดับที่เพียงพอได้ การใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในกลุ่มประชากรที่ไม่มีอาชีพ/ไม่ได้ทำงาน และกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนจึงเป็นอีกหนึ่งจุดเน้นที่มีความท้าทายด้วยเช่นกัน

ตารางที่ 5 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยจำแนกตามอาชีพ และระดับผลกระทบและระดับการฟื้นกิจกรรมทางกายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2562 - 2564

6. คนเมืองได้รับผลกระทบมากกว่าคนชนบทแม้ว่าจะฟื้นกิจกรรมทางกายได้เร็วกว่าเล็กน้อยก็ตาม

สุดท้าย หากพิจารณาถึงเขตพื้นที่การอยู่อาศัยของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชนบท พบว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าเขตชนบท แต่ประชากรในเขตเมืองสามารถปรับตัวได้ดีกว่าหรือฟื้นกิจกรรมทางกายได้มากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท โดยก่อนการแพร่ระบาดประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทเล็กน้อย (ร้อยละ 74.7 และร้อยละ 74.4 ตามลำดับ) แต่ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เพียง 1 ปี ระดับกิจกรรมทางกายของประชากรในเขตเมืองลดลงเหลือร้อยละ 53.5 หรือได้รับผลกระทบมากถึงร้อยละ 21.2 ซึ่งมากกว่าประชากรที่อยู่ในเขตชนบทที่ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงมาเหลือร้อยละ 56.4 หรือลดลงร้อยละ 18.0 จากนั้น ระดับกิจกรรมทางกายของประชากรทั้ง 2 กลุ่มได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 62.9 และร้อยละ 64.6 ตามลำดับ แม้ว่าประชากรที่อาศัยในเขตเมืองจะสามารถฟื้นกิจกรรมทางกายได้เร็วกว่าประชากรที่อยู่ในชนบท (ร้อยละ 9.4 และ 8.2 ตามลำดับ) แต่ด้วยประชากรในเขตเมืองได้รับผลกระทบในปีแรกมากกว่า ส่งผลให้ในปัจจุบันประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทมีระดับกิจกรรมที่เพียงพอสูงกว่าประชากรที่อยู่ในเขตเมืองนั่นเอง อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายทั้ง 2 พื้นที่ มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยการให้น้ำหนักในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยพิจารณาตามเขตพื้นที่อยู่อาศัยจึงอาจสำคัญไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับคุณลักษณะทางประชากรด้านอื่น ๆ เช่น เพศ อายุ อาชีพ หรือระดับการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ทำให้ทราบว่าประชากรในเขตเมืองมีความไวต่อผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางกายมากกว่าประชากรในเขตชนบท

ตารางที่ 6 ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยจำแนกตามเขตที่อยู่อาศัย และระดับผลกระทบและระดับการฟื้นกิจกรรมทางกายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2562 - 2564

บทสรุปและข้อเรียนรู้เชิงกลยุทธ์เพื่อการฟื้นกิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทย

จากข้อมูลสถานการณ์การฟื้นกิจกรรมทางกายของประชากรไทยที่แตกต่างกันดังที่ปรากฏข้างต้น ย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลของความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายที่มีอยู่จริงในสังคมไทย ความแตกต่างด้านอายุ เพศ รวมถึงข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวอันเนื่องมาจากสภาพร่างกาย การเข้าถึงความรู้ หรือรูปแบบการทำงานและการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันล้วนมีผลต่อการมีกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันทั้งสิ้น และในสภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งฉายภาพความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายอันมีผลต่อความเร็วในการฟื้นกิจกรรมทางกายที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทยจึงจำเป็นต้องปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา และบริบทของสังคมด้วยเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายและแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ครอบคลุมประชากรในหลากหลายมิติ อาทิ การใช้ยุทธศาสตร์ 5 x 5 x 5 ในแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย [1] ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในทุกกลุ่มอายุ รวมถึงสถานที่ (Setting) ที่ประชากรไทยอยู่อาศัยและทำงาน เช่น ชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ เป็นต้น แต่อาจยังไม่ครอบคลุมมิติด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น ณ ปัจจุบัน หากประเทศไทยต้องเร่งฟื้นกิจกรรมทางกาย และสร้างความเท่าเทียมด้านการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้กับทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง กลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อย กลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงาน และกลุ่มคนโสดและหม้าย เป็นต้น ดังนั้น การพิจารณาการจัดทำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อเร่งฟื้นกิจกรรมทางกายเป็นการเฉพาะด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายและแตกต่างไปตามกลุ่มประชากร อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยฟื้นกิจกรรมทางกายของประชากรไทยให้กลับมาเป็นปกติได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 


เอกสารอ้างอิง

1. กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561 - 2573) 2560 [Available from: https://dopah.anamai.moph.go.th/th/activity-plan/185662.

2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). ทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี สสส. (พ.ศ.2565-2574) 2564 [Available from: https://bit.ly/3N3fLSz.

3. Organization WH. Global action plan on physical activity 2018-2030: more active people for a healthier world: World Health Organization; 2019.

4. Organization WH. Fair play: building a strong physical activity system for more active people.  Fair play: building a strong physical activity system for more active people2021.

5. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. โครงการการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2562 - 2564. 2564.

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย