13 มีนาคม 2564

กลุ่มงานสื่อสารผลผลิตทางความคิด

การสอดแทรกกิจกรรมทางกายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ในยุคที่โซเชียลมีเดียครอบคลุมพื้นที่สื่อ และมีอิทธิพลต่อสังคม การดำเนินชีวิต และสุขภาพของประชากรไทยเป็นอย่างมาก การสอดแทรกข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพในประเด็นกิจกรรมทางกาย เพื่อสร้างการรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายผ่านโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในช่องทางของสื่อมวลชน (Mass Media) เป็นพื้นที่สื่อที่เหมาะสมในการลงทุนดำเนินการทางนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย จากข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 8 ประการ หรือ 8th Investment ในการลงทุนด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ เสียงและอิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิทัลและโซเชียล ป้ายโฆษณากลางแจ้งและโปสเตอร์ การประชาสัมพันธ์ และข้อเสนอแนะในการตัดสินใจ ซึ่งสามารถเพิ่มความรู้ ความตระหนัก และความตั้งใจในการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น [1] อีกทั้งสื่อมวลชนยังเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดที่มีความสม่ำเสมอและยังมีข้อความที่ชัดเจน สั้น กระชับ เข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายต่อประชากรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสื่อที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้ติดตามข่าวสาร และจากข้อมูลการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 (รอบเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม) พบว่า ประชากรไทยมีการรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายผ่านช่องทางของสื่อออนไลน์โซเชียลมีเดีย (Online Social Media) ร้อยละ 47.4% รองลงมาคือ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ (TV/radio) ร้อยละ 44.5% และ แหล่งบริการข้อมูลชุมชน (Community Resources) ร้อยละ 42.3% [2] แสดงให้เห็นว่าสื่อประเภทโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่ประชากรไทยสามารถเข้าถึงและรับรู้กิจกรรมทางกายมากกว่าช่องทางอื่น ๆ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยบริบทที่มีอิทธิพลต่อการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ได้แก่ 1) การเข้าใช้งานฟรี/มีส่วนร่วมง่าย 2) ความสมดุลระหว่างงาน-บ้าน-สุขภาพ 3) การสร้างชุมชนแบบ e-local ประสบการณ์จริง และ 5) เนื้อหาที่มีการแนะนำ [10]

จากข้อมูลข้างต้น หากสื่อมวลชนทั้งภาครัฐและเอกชนมีการดำเนินงานที่สอดแทรกการรับรู้กิจกรรมทางกายผ่านโซเชียลมีเดีย จะช่วยให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าถึงไปจนกระทั่งเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ (Goodyear, Wood, Skinner, & Thompson, 2021) ที่พบว่า การแทรกแซงทางโซเชียลมีเดียสามารถเปลี่ยนกิจกรรมทางกายในเชิงบวก โดยการเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกาย และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหรือน้ำหนักตัว [7] นอกจากนี้โซเชียลมีเดียทำให้ทางการแพทย์และข้อมูลด้านสุขภาพมีความโปร่งใสมากขึ้น และในขณะเดียวกันองค์กรทางการแพทย์และสุขภาพ คาดว่ามีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นมีแนวโน้มส่งเสริมข้อมูลด้านสุขภาพและการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันสื่อมวลชนรวมทั้งสื่อใหม่มีการส่งข้อความที่มีประสิทธิภาพสูงผ่านการโฆษณา ความบันเทิง การประชาสัมพันธ์ และประสบการณ์ทางสังคม [3] จึงมีความสำคัญต่อนักสื่อสารสาธารณะทางด้านสุขภาพที่จะพัฒนารูปแบบของสื่อ เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงและการรับรู้กิจกรรมทางกายให้แก่ประชากรไทยได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

ลักษณะของการแทรกแซงทางโซเชียลมีเดีย [11]

จากการศึกษา The effect of social media interventions on physical activity and dietary behaviours in young people and adults: a systematic review ในการศึกษา 18 เรื่องเกี่ยวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใช้สำหรับการแทรกแซง ด้วยวิธีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Reviews) มีการระบุถึงการใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นการแทรกแซงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านกิจกรรมทางกาย และการรับประทานอาหารมีความแตกต่างไปตามรายงานเอกสาร ซึ่งการวิเคราะห์ระบุถึงการแทรกแซงบนการใช้โซเชียลมีเดียที่ครอบคลุม ทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

1. การมีปฏิสัมพันธ์บนสื่อออนไลน์ เป็นการสนับสนุนทางสังคม ระหว่างการปฏิสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วม หรือช่วงการให้คำปรึกษาที่ออกอากาศหรือถ่ายทอดสด

2. การแลกเปลี่ยนและการส่งต่อข้อมูล เป็นการส่งต่อคำแนะนำ และสื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกายและการรับประทานอาหาร ส่งผ่านข้อความ วิดีโอ เป็นเนื้อที่มีการปรับแต่งหรือเนื้อหาส่วนบุคคล คำแนะนำโดยละเอียด จดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ การแจ้งเตือนหรือการเตือนความจำ

3. การเล่นเกม เป็นการส่งเสริมและจูงใจผู้เข้าร่วมให้เปลี่ยนมามีกิจกรรมทางกาย และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารผ่านหลักการเล่นเกม เช่น การแข่งขัน ความท้าทาย และการใช้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจ

 

กรณีศึกษาการใช้โซเชียลในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายผ่านแคมเปญ “โซเชียลมีเดียกับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการมีกิจกรรมทางกาย” [8]

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 2020 ที่ผ่านมา จากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (NOC) ได้ริเริ่มแคมเปญเพื่อสานต่อการมีส่วนร่วมกับชุมชนของตนเอง และส่งเสริมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งออสเตรเลียได้เปิดตัวแคมเปญ #TeamAUS และ #LikeAnOlympian โดยมุ่งเน้นที่การสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวออสเตรเลีย “train like an Olympian at home” หรือ การฝึกอย่างนักกีฬาโอลิมปิกที่บ้าน และมุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้ชุมชนมีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพแข็งแรง และได้รับแรงบันดาลใจจากการออกกำลังกายที่บ้าน การฝึกทักษะที่บ้าน และมีสุขภาพที่แข็งแรง นอกจากนี้นักกีฬาจากกีฬาหลายประเภทมีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยการสร้างและเผยแพร่ชุดวิดีโอเชิงบวกที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่บ้าน การฝึกทักษะ และความท้าทายแก่นักกีฬาคนอื่น ๆ มีการโพสต์วิดีโอบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ รวมถึง Instagram, Facebook และ YouTube

ทั้งนี้ จากการศึกษาดังกล่าวระบุว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในกิจกรรมบนโลกออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยมีผู้คนประมาณ 2.95 พันล้านคนใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในปี 2019 และใช้เวลาในการใช้โซเชียลมีเดียเฉลี่ย 136 นาทีต่อวัน จึงทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟน ๆ กับนักกีฬาใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งแบบอย่างของนักกีฬาสามารถใช้พลังของโซเชียลมีเดีย เพื่อเผยแพร่ข้อความเชิงบวกและส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสม แสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักที่สามารถช่วยเผยแพร่ข้อความที่มีอิทธิพลไปยังผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้น และพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการมีกิจกรรมทางกายและเล่นกีฬาในอนาคต

กรณีศึกษาการขยายฐานแคมเปญโซเชียลมีเดียผ่านการโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย” [9]

จากการศึกษาของ (Rayward, Vandelanotte, Corry, Van Itallie, & Duncan, 2019) การสร้างแคมเปญโซเชียลมีเดีย โดยโปรแกรม 10,000 Steps ซึ่งดำเนินการผ่านโฆษณาแบบชำระเงิน โดยมีระยะเวลาการดำเนินการเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2018 ถึง 3 มีนาคม 2018 มีการใช้แพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล 3 แพลตฟอร์ม

1) โฆษณาบนเฟซบุ๊ก แบบเสียเงินมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันสองกลุ่ม ได้แก่ พนักงานออฟฟิศและผู้ใช้งานฟิตเนส (ผู้ที่มีความสนใจด้านสุขภาพและฟิตเนสในเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก) การโฆษณาบนเฟซบุ๊กเหล่านี้ถูกส่งบนเพจ 10,000 Steps โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโปรแกรมและกระตุ้นการเยี่ยมชมเว็บไซต์และการลงทะเบียนในครั้งต่อ ๆ ไปกับโปรแกรม

2) โฆษณาบน Instagram ป็นบัญชีของ CQ University เป็นการโฆษณาเกี่ยวกับโปรแกรมนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างเกี่ยวกับแคมเปญ

3) โฆษณาแบบดิสเพลย์บนมือถือ เช่น แบนเนอร์โฆษณาที่แสดงที่ด้านบน หรือด้านข้างของหน้าเว็บไซต์บนอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์มือถือ ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มการรับรู้ของโปรแกรม เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน

ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการลงทุนผ่านการโฆษณา ซึ่งพบว่า การเข้าถึงและต้นทุนของแคมเปญโซเชียลมีเดีย โซเชียลมีเดีย 3 รูปแบบที่ใช้ในแคมเปญสร้างการแสดงผลเกือบ 1.9 ล้านครั้งโดยรวม ซึ่งการโฆษณาบนเฟซบุ๊กส่งผลให้จำนวนผู้ที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรม 10,000 Steps เพิ่มขึ้น 33 เท่า และการมีส่วนร่วมกับเพจเฟซบุ๊ก 10,000 Steps เพิ่มขึ้น 16 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีผู้เข้าชมโฆษณาแบบดิสเพลย์บนมือถือมากกว่าครึ่งล้านครั้ง ในขณะที่โฆษณาบน Instagram เข้าถึงผู้ชมได้มากที่สุด โดยมีคนดูมากกว่า 800,000 ครั้ง นอกจากนี้ แคมเปญโซเชียลมีเดียกำหนดเป้าหมายไปที่รัฐควีนส์แลนด์ (ซึ่งมีการลงทะเบียนในรัฐควีนส์แลนด์เกือบสามเท่า) มีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเกือบ 50% ของการลงทะเบียนใหม่นอกเหนือจากผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐควีนส์แลนด์ แสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียได้เข้าถึงพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย ความสามารถของโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายและการมีโปรแกรมฟรีที่พร้อมใช้งาน เช่น 10,000 Steps ในระดับกว้างขึ้น โดยมีการลงทะเบียนใหม่ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยแคมเปญโซเชียลมีเดียนี้แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการสร้างความตระหนักรู้นี้เป็นเครื่องมืออันมีค่าสำหรับโครงการส่งเสริมสุขภาพ

 

การสอดแทรกกิจกรรมทางกาย ด้วยพลัง Soft Power

เมื่อกล่าวถึง อำนาจอ่อน (Soft Power) คนอาจจะยังไม่เข้าใจในความหมาย แต่หากพูดถึงการโน้มน้าวใจผ่านพลังแห่งความคิด ความรู้ และคุณค่าทางวัฒนธรรม หรือความสามารถในการได้สิ่งที่คุณต้องการผ่านการดึงดูดมากกว่าการบีบบังคับหรือใช้อำนาจขู่เข็ญ นั่นคือความหมายของ Soft Power ซึ่งพลังนี้เองจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม ผ่านสื่อที่ประชาชนใช้ หากรู้จักใช้พลังนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายได้ไม่ยาก เพราะพลังนี้สามารถปลูกฝังอุดมการณ์และการนำไปสู่การกำหนดนโยบายในสังคมได้ [4,5] โดยที่สื่อมวลชนผู้มีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ด้านการใช้ Soft Power ในการสร้างพลังเพื่อขับเคลื่อนสังคม หากมีการสอดแทรกภาพตัวอย่างของการมีกิจกรรมทางกายเข้าไปในชีวิตประจำวัน โดยการนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นสื่อหลักอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อสร้างพลังอำนาจขับเคลื่อนโดยปลูกฝังผ่านสื่อในชีวิตประจำวันที่ประชาชนใช้และเข้าถึง

อีกทั้งกระแสในโลกออนไลน์ที่มีการพูดถึง Soft power ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมให้เป็นที่รับรู้ สร้างความตระหนัก ให้ประชาชนตื่นรู้ และผลักดันให้ประเด็นนั้นเป็นวาระทางสังคม ประชาชนและสังคมสนใจในเรื่องนั้น ยกตัวอย่างเช่นประเด็นที่กำลังมาแรงในเดือนมิถุนายนนี้ หรือที่เรียกว่า Pride month นั่นคือ ประเด็นสมรสเท่าเทียม ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องผ่านทั้งตัวบุคคล อินฟลูเอนเซอร์ นักการเมือง ที่มาเรียกร้องถึงประเด็นนี้ และทำให้ประเด็นสมรสเท่าเทียมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งประชาชนยังให้ความสนใจ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเราจะเห็นผู้คนที่ไม่ใช่เพียงแค่เยาวชน วัยรุ่น เท่านั้น ยังเห็นถึงการเรียกร้องจากผู้สูงอายุ คุณลุง คุณป้า หรือแม้แต่ผู้ปกครอง นอกจากนี้ซอฟต์พาวเวอร์ยังถูกนำไปใช้ทางการเมืองในการเรื่องของการสร้างความปรองดอง ในประเทศจีนซึ่งแนวคิดเรื่องความปรองดองปรากฏอยู่มากในแคมเปญซอฟต์พาวเวอร์ของจีน ซึ่งทำให้พลังซอฟต์พาวเวอร์ที่กลมกลืนกันของจีนแตกต่างไปจากพลังอำนาจขู่เข็ญที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ลงรอยกันของมหาอำนาจอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น [6] ซึ่งจากตัวอย่างที่กล่าวมา จะเห็นว่าการนำพลังซอฟต์พาวเวอร์มาปรับใช้และสอดแทรกกิจกรรมทางกายผ่านสื่อออนไลน์ เป็นแนวคิดที่จะช่วยให้ประชากรมีการรับรู้ด้านกิจกรรมทางกายมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเพื่อการลงทุนการส่งเสริมด้านกิจกรรมทางกาย

1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพของรัฐบาล ร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพที่ไม่แสวงหาผลกำไรระดับประเทศ ควรเปิดตัวแคมเปญกิจกรรมทางกายระดับประเทศ โดยการให้ความรู้แก่บุคคลเกี่ยวกับกลยุทธ์ของพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย [12] ด้วยการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีประชากรเข้าถึงมากที่สุด โดยการสร้างภาพลักษณ์ให้กิจกรรมทางกายเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน

2. ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายควรร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร เพื่อพัฒนาข้อความด้านการสื่อสารมวลชน ที่ได้มาตรฐาน เข้าใจง่าย สื่อสารตรงเป้าหมาย และชัดเจนสำหรับส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านการออกกำลังกายของรัฐบาลกลางในปัจจุบัน ด้วยการเผยแพร่ และวางแผนกลยุทธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

3. ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายและสาธารณสุขควรเพิ่มประสิทธิภาพการใช้โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในสื่อการรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรทางกาย ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน อบรมส่งเสริมทักษะให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะด้วยการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

 


อ้างอิง

1. Milton, K., Cavill, N., Chalkley, A., Foster, C., Gomersall, S., Hagstromer, M., . . . Schipperijn, J. (2021) . Eight Investments That Work for Physical Activity. J Phys Act Health, 18 (6) , 625-630. doi:10.1123/jpah.2021-0112

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) . (2564) . ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) , สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) .

3. Fung, Anthony Y. H., & Lau, Alex H. Y. (2020) . The Role of the Mass Media in Health Care. In Primary Care Revisited (pp. 67-79) .

4. McBride, B., Hawkes, S., & Buse, K. (2019) . Soft power and global health: the sustainable development goals (SDGs) era health agendas of the G7, G20 and BRICS. BMC public health, 19 (1) , 815. https://doi.org/10.1186/s12889-019-7114-5

5. Soft Power Today Measuring the Influences and Effects. The Institute for International Cultural Relations School of Social and Political Science The University of Edinburgh> https://www.britishcouncil.org/sites/default/files/3418_bc_edinburgh_university_soft_power_report_03b.pdf

6. Linus Hagström, Astrid HM Nordin, China's “Politics of Harmony” and the Quest for Soft Power in International Politics, International Studies Review , Volume 22, Issue 3, September 2020, Pages 507–525, https://doi.org/10.1093 /isr/viz023

7. Goodyear, V. A., Wood, G., Skinner, B., & Thompson, J. L. (2021) . The effect of social media interventions on physical activity and dietary behaviours in young people and adults: a systematic review. Int J Behav Nutr Phys Act, 18 (1) , 72. doi:10.1186/s12966-021-01138-3

8. Hayes, M. (2020) . Social media and inspiring physical activity during COVID-19 and beyond. Managing Sport and Leisure, 27 (1-2) , 14-21. doi:10.1080/23750472.2020.1794939

9. Rayward, A. T., Vandelanotte, C., Corry, K., Van Itallie, A., & Duncan, M. J. (2019) . Impact of a Social Media Campaign on Reach, Uptake, and Engagement with a Free Web- and App-Based Physical Activity Intervention: The 10,000 Steps Australia Program. Int J Environ Res Public Health, 16 (24) . doi:10.3390/ijerph16245076

10. Goodyear, V. A., Boardley, I., Chiou, S.-Y., Fenton, S. A. M., Makopoulou, K., Stathi, A., . . . Thompson, J. L. (2021) . Social media use informing behaviours related to physical activity, diet and quality of life during COVID-19: a mixed methods study. BMC Public Health, 21 (1) , 1333. doi:10.1186/s12889-021-11398-0

11. Goodyear, V. A., Wood, G., Skinner, B., & Thompson, J. L. (2021) . The effect of social media interventions on physical activity and dietary behaviours in young people and adults: a systematic review. International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Activity, 18 (1) , 72. doi:10.1186/s12966-021-01138-3

12. NPAP Societal Sectors . (2016) . National Physical Activity Plan Retrieved from https://paamovewithus.org/wp-content/uploads/2020/06/2016NPAP_Finalforwebsite.pd

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย