13 มีนาคม 2564
กลุ่มงานงานวิจัยและพัฒนา
ในชีวิตประจำวันของหลายท่าน คงเคยได้เห็นหรือคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้อยู่บ้าง เช่น ตัวเลขแคลอรีในการเดินขึ้นบันไดแต่ละขั้น สติกเกอร์ข้อความจูงใจที่ขั้นบันได โปสเตอร์ที่มีข้อความจูงใจให้ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ รูปจำนวนแก้วแทนระดับความหวานบนเมนูเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยในบางครั้งเราก็ทำตามสิ่งเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือบางครั้งเราก็เลือกที่จะทำตามด้วยตัวเราเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการ “สะกิด” ให้ทำโดยในบางครั้งเราอาจทำตามแบบไม่รู้ตัว
รู้หรือไม่...สิ่งเหล่านี้มีแนวคิดอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่สำคัญทฤษฎีหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจ นั่นคือ “ทฤษฎี Nudge” (อ่านว่า นัดจ์ แปลว่า สะกิด, ผลัก, ดุน) หรือ “Nudge theory” ซึ่งมีความหมายตรงตัวคือ การสะกิดพฤติกรรม โดยไม่ให้รู้สึกถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผ่านการออกแบบทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มคนตามบริบทสังคมและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง พอเล่ามาถึงจุดนี้ หลายท่านอาจจะพอนึกออกหรือเคยเห็นทฤษฎี Nudge มาแล้วบ้าง ซึ่งความจริงแล้วทฤษฎีนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด แต่แนวคิดนี้ได้แฝงอยู่ในสังคมมาเป็นเวลานานแล้วเพียงแค่เราอาจจะไม่ทราบว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เห็นจะมีแนวคิดดังกล่าวรองรับอยู่
ทฤษฎี Nudge และอคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases)
ทฤษฎี Nudge ถูกเสนอครั้งแรกใน 'เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม' ของสหรัฐอเมริกา โดยสามารถประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นสำหรับการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน กลุ่มคน หรือตัวเอง ผ่านการสะกิด หรือ กระตุ้น ผ่านการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มนุษย์มีพฤติกรรมตามที่ต้องการ โดยการออกแบบทางเลือกจะมีอิทธิพลต่อการคิดและการตัดสินใจของคนตามจริง ซึ่งแตกต่างจากการใช้กฎหมายหรือการทำตามผู้กำหนดนโยบายหรือผู้นำที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเน้นบังคับปฏิบัติ (1, 2)
(อ่านเพิ่มเติม: https://www.ubs.com/microsites/nobel-perspectives/en/laureates/richard-thaler.html)
หนึ่งสิ่งที่สำคัญอันมีผลต่อการตัดสินใจทำพฤติกรรมต่าง ๆ คือ อคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases) ซึ่งเป็นอคติที่คอยขัดขวางไม่ให้มนุษย์ได้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่การมีพฤติกรรมใหม่ การทำความเข้าใจอคติทางความคิดของมนุษย์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถจำแนกปัญหาใหญ่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น ตั้งแต่การทำงาน การเรียน ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีขึ้นได้ (3) ซึ่งจะขอยกตัวอย่างอคติที่พบเจอบ่อยครั้งในสังคม ดังนี้
(อ่านเพิ่มเติม: https://www.businessballs.com/improving-workplace-performance/nudge-theory/#nudge-toolkit)
จะเห็นได้ว่า การทำความเข้าใจในเรื่องอคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases) เป็นเรื่องสำคัญอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงภายใต้บริบทสังคมที่มีความเฉพาะและแตกต่างกัน เพื่อให้ผู้คน กลุ่มคน หรือสังคม มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือเป็นไปตามความต้องการ
การสะกิด (Nudge) เพิ่มกิจกรรมทางกายได้อย่างไร
ในปัจจุบัน ทฤษฎี Nudge ถูกนำไปใช้ในหลากหลายประเด็นทางสังคม โดยประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ คือ การสะกิดให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมี “กิจกรรมทางกาย” ให้ไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกพื้นที่ ทั้งที่บ้าน โรงเรียน สถานประกอบการ ชุมชน ตลอดจนพื้นที่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น โดยมีหลักสำคัญคือ “ทำให้ง่ายเข้าไว้” เพื่อให้ผู้คนรับรู้และเข้าถึงการกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างง่ายดาย (4)
ในต่างประเทศ พบว่ามีการศึกษาวิจัยโดยใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบในการประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อพัฒนากิจกรรมแทรกแซง (Intervention) ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ต่าง ๆ โดยจากการศึกษาพบว่างานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของกิจกรรมแทรกแซงที่สามารถเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มคนได้ ภายใต้บริบทแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยผลจากค้นคว้ากิจกรรมแทรกแซงสามารถจำแนกกลุ่มกิจกรรมแทรกแซงตามสถานที่ (Setting) ได้ 4 setting ได้แก่ โรงเรียน สถานประกอบการ ชุมชน และพื้นที่สาธารณะ
ใน Part 1 จะขอนำเสนอกิจกรรมแทรกแซงใน 2 setting คือ โรงเรียน และสถานประกอบการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
การประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายใน “โรงเรียน”
เมื่อพิจารณางานวิจัยย้อนหลัง 10 ปี พบว่างานวิจัยในต่างประเทศที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนยังมีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมด้านโภชนาการให้กับนักเรียนให้เหมาะสมตามช่วงวัยเป็นหลัก (5-7) อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจากรัฐริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายเพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วนของนักเรียนในโรงเรียน
ข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมจากพื้นที่
1. นักเรียนบริโภคเครื่องดื่มรสหวานและขนมปังกรอบมากเกินความเหมาะสม และบริโภคผลไม้ ผัก และถั่วน้อยกว่าความจำเป็น
2. สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายและการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพของนักเรียน
กิจกรรมแทรกแซงที่ใช้
จากข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมนำมาสู่การพิจารณาเรื่องอคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases) และออกแบบกิจกรรมแทรกแซงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ได้กิจกรรมแทรกแซง คือ การจัดกิจกรรมการศึกษาในห้องเรียนเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร อาทิ การลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานและขนมปังกรอบ และเพิ่มการบริโภคผลไม้ ผัก และถั่ว พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกกำลังกายและการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ
จากผลการศึกษายืนยันถึงความสำคัญของกิจกรรมแทรกแซงว่าการผสมผสานทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการแทรกแซงการให้ความรู้ด้านโภชนาการ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการควบคุมระดับดัชนีมวลกาย (BMI) และเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายในนักเรียน (8) จากการดำเนินการข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการให้ความรู้พร้อมกับการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย และกิจกรรมทางกาย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้พฤติกรรมการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารของนักเรียนเปลี่ยนไปในทิศทางที่พึงประสงค์มากขึ้น
การประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายใน “สถานประกอบการ”
ในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องมาจากการพัฒนาด้าน ICT (Information and Communication Technology) ลักษณะของงานในสำนักงานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากที่เคยได้เคลื่อนไหวร่างกายไปสู่การปฏิบัติงานขณะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ทำให้มีกิจกรรมทางกายน้อยลง และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs
ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญและจำเป็น คือ การพิจารณาข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาสู่การพิจารณาเรื่องอคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases) เพื่อใช้ในการออกแบบทางเลือกกิจกรรมแทรกแซงในการแก้ปัญหาให้ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
จากการศึกษางานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า มีการประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหลายรูปแบบวิธีการเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ อาทิ ประเภทโปสเตอร์/สติกเกอร์/ป้าย ที่มีข้อความจูงใจ เตือน หรือให้คำแนะนำ ประเภทดิจิทัล และประเภทฉลากบนผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่จำแนกตามประเภทของรูปแบบกิจกรรมแทรกแซง ดังนี้
1. ประเภทโปสเตอร์/สติกเกอร์/ป้าย ที่มีข้อความจูงใจ เตือน และให้คำแนะนำ
มีการศึกษาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ รวมถึงฝรั่งเศส ที่ใช้โปสเตอร์/สติกเกอร์/ป้าย ที่มีข้อความจูงใจ เตือน และให้คำแนะนำ ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน (9-12)
ข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมจากพื้นที่
พฤติกรรมของผู้คนในสถานที่ทำงานมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ พนักงานมีการเคลื่อนไหวระหว่างวันน้อย มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคอ้วนและ NCDs และไม่ออกกำลังกาย
กิจกรรมแทรกแซงที่ใช้
การสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจในการใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ในสถานที่ทำงาน ผ่านการใช้โปสเตอร์จูงใจร่วมกับการติดสติกเกอร์ให้น่าสนใจ อาทิ ติดสติกเกอร์รูปภาพรอยเท้าและโปสเตอร์ข้อความจูงใจให้ใช้บันได การวางป้ายโปสเตอร์ที่มีข้อความกระตุ้นหรือจูงใจไว้ภายในลิฟต์หรือขั้นบันได เช่น การขึ้นบันไดเผาผลาญแคลอรีได้เสมอ การติดสติกเกอร์รูปลูกศรสีเหลืองตรงบริเวณปุ่มกดลิฟต์ภายนอกให้ชี้ไปที่บันได
ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสติกเกอร์รูปรอยเท้าเป็นการแทรกแซงการสะกิดเพิ่มการใช้บันไดของพนักงานอย่างมีนัยสำคัญ และหลังจากการถอดออก จะลดการใช้บันไดอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ และสติกเกอร์รูปรอยเท้ายังมีประสิทธิภาพมากกว่าโปสเตอร์ (9) นอกจากนี้ ยังพบว่าโปสเตอร์สร้างแรงจูงใจหากติดไว้ภายในลิฟต์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้การใช้บันไดเพิ่มขึ้น ทว่า เมื่อเพิ่มโปสเตอร์ในตำแหน่งจุดที่ต้องตัดสินใจเลือกวิธีการขึ้นอาคาร เช่น หน้าลิฟต์ หน้าอาคาร ทำให้การขึ้นบันไดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก (10-12)
อย่างไรก็ตาม จากข้อสังเกตพบว่าประสิทธิภาพของการแทรกแซงการใช้บันไดในสภาพแวดล้อมสำนักงาน สามารถสร้างการรับรู้ร่วมกับทัศนคติเชิงบวกต่อการสะกิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในขั้นต้นในระดับที่สูงขึ้น แต่จะไม่เปลี่ยนความคิดเมื่อระยะเวลาผ่านไป (9) นอกจากนี้ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความสูงของอาคาร จำนวนลิฟต์ ช่วงเวลาของวัน และระดับการสัญจรทางเท้า มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมการขึ้นบันได (10) ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งคือ การช่วยเสริมความสนใจของการแทรกแซงซ้ำ ๆ ในสถานที่ทำงาน มีผลในการเพิ่มขึ้นของการใช้บันไดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการนำไปประยุกต์ใช้ คือ ตำแหน่งในการมองเห็นของผู้คนในที่ทำงานทั้งป้ายโปสเตอร์หรือสติกเกอร์ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการพิจารณาถึงประเด็นนี้หากนำไปปรับใช้ในสถานที่ทำงานของท่าน
2. ประเภทดิจิทัล
การแทรกแซงทางดิจิทัลมีศักยภาพในการเข้าถึงประชากรจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีศักยภาพในการปรับการแทรกแซงให้เข้ากับความต้องการของบุคคลหรือกลุ่มพนักงานในสำนักงานโดยเฉพาะ
ข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมจากพื้นที่
พฤติกรรมของผู้คนในสถานที่ทำงานมีการเคลื่อนไหวระหว่างวันน้อย มีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง และไม่ชอบออกกำลังกาย
กิจกรรมแทรกแซงที่ใช้
การใช้แอปพลิเคชันสุขภาพในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง อาทิ แอปพลิเคชัน Welbot เป็นลักษณะของการแจ้งเตือน ให้ผู้ใช้ทำกิจกรรมง่าย ๆ 1-3 นาที เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การพักจากหน้าจอ การออกกำลังกาย การฝึกสติ การดื่มน้ำ การฝึกการหายใจ เป็นต้น และปรับเปลี่ยนเนื้อหาคำแนะนำให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะบุคคล (13) เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันเวอร์ชันเต็มแบบ Gamified มีการตั้งเป้าหมาย มีการสนับสนุนทางสังคม เช่น สะสมคะแนนเพื่อเปลี่ยนเป็นรางวัลต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะบุคคลเช่นเดียวกัน (14)
ที่มาภาพ: https://welbot.io
ผลการวิจัยพบว่า ระดับของการผัดวันประกันพรุ่งและการทำงานล้มเหลวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการแทรกแซง รวมถึงระยะเวลาในการนั่งทำงานระหว่างวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองสัปดาห์ ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งใหม่ในด้านการแทรกแซงทางดิจิทัลที่เกิดขึ้น (13) การแทรกแซงทางดิจิทัลที่มีการสนับสนุนทางสังคมมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับเบา เช่น จำนวนก้าวรายวัน ซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (14)
อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้างต้นจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสร้างประสิทธิภาพในระยะยาว ผู้กำหนดนโยบายควรสำรวจการใช้การแทรกแซงทางดิจิทัล พร้อมกับพิจารณาคุณลักษณะการสนับสนุนทางสังคมเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของประชากร ซึ่งการสะกิด (Nudge) ในที่ทำงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมความยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง (13, 14)
3. ประเภทฉลากบนผลิตภัณฑ์
การศึกษาในรัฐแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา พบว่า คนส่วนใหญ่ในสถานประกอบการรับรู้ถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายเป็นประจำว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการมีสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี อย่างไรก็ตามแม้จะมีการรับรู้ประโยชน์ของการออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกาย แต่ผู้คนก็ปฏิบัติตามคำแนะนำไม่มากนัก (15)
ข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมจากพื้นที่
คนในที่ทำงานรับรู้เรื่องประโยชน์ของการออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกาย และอยากมีรูปร่างและสุขภาพที่ดี แต่ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมไม่ชอบออกกำลังกายและชอบบริโภคอาหารฟาสต์ฟูดและขนมขบเคี้ยวระหว่างวัน
กิจกรรมแทรกแซงที่ใช้
การใช้แคลอรีตามกิจกรรมทางกาย (Physical Activity Calorie Equivalent: PACE) คู่กับฉลากแคลอรีในโรงอาหารของที่ทำงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มฉลากอาหารที่แสดงการเผาผลาญแคลอรีผ่านการออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจูงใจผู้คนให้เปลี่ยนพฤติกรรมการกินและเพิ่มการออกกำลังกาย
ที่มาภาพ: https://twitter.com/PhysioMeScience/status/1442544847055769606/photo/1
ผลการวิจัยพบว่า ในกลุ่มฉลากอาหารที่ใช้แคลอรีตามกิจกรรมทางกาย (PACE) มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนัก (MVPA) เพิ่มขึ้น แม้จะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าผู้เข้าร่วมที่มีกิจกรรมทางกายในระดับต่ำสุดมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัจจัยบางอย่างซึ่งอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมฉลากอาหารที่ใช้แคลอรีตามกิจกรรมทางกาย (PACE) จึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากผู้คนจะเห็นฉลากดังกล่าวเฉพาะในมื้อเที่ยงของวันเท่านั้น ข้อมูลบนฉลากอาหารอาจถูกลืมหรือความต้องการใช้พลังงานไม่มีความสำคัญอีกต่อไปเมื่อไม่มีการรณรงค์ด้านอื่นควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจขัดขวางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้ ขณะเดียวกัน ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับความต้องการในการใช้พลังงานสำหรับรายการอาหารต่าง ๆ หรือการเพิกเฉยต่อฉลากก็เป็นอีกปัจจัยเช่นกันที่จำเป็นต้องพิจารณาร่วมด้วยเมื่อต้องนำไปประยุกต์ใช้ (15)
ถอดกระบวนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
จากหลักการของทฤษฎี Nudge และกระบวนการวิจัยที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หากผู้ที่สนใจทั้งภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคม มีความสนใจที่จะนำกระบวนการไปประยุกต์และปรับใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สามารถนำขั้นตอนดังต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการ จำนวน 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. พิจารณาปัญหาหรือสาเหตุของการขาดกิจกรรมทางกายในพื้นที่จากคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ โดยอาจจะลงพื้นที่ด้วยวิธีการสัมภาษณ์หรือสังเกต
2. ค้นหาอคติทางความคิด (Cognitive Biases) โดยพิจารณาข้อมูลปัญหา/สถานการณ์ที่ได้ร่วมกับประเภทอคติทางความคิดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อจำแนกอคติที่เกิดขึ้นในพื้นที่
3. ออกแบบกระบวนการและกิจกรรมแทรกแซงให้สอดคล้องกับอคติทางความคิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่
4. ทดสอบกระบวนการและกิจกรรมแทรกแซง พร้อมกับปรับปรุงกระบวนการให้เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมแทรกแซงที่ได้ออกแบบอาจมีผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง (Unintended Consequences) เกิดขึ้นได้ หรือผลอาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ได้เช่นกัน
5. ดำเนินการตามกระบวนการของกิจกรรมแทรกแซงตามที่กำหนดไว้
6. ติดตามกระบวนการ เพื่อให้ทราบถึงสถานะของกิจกรรมแทรกแซงและเพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างดำเนินกิจกรรมแทรกแซง
7. วิเคราะห์และประเมินประสิทธิผลของกระบวนการและกิจกรรมแทรกแซง
กระบวนการข้างต้นนี้ เป็นกระบวนการหลักที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการดำเนินการวิจัยที่มีการใช้ทฤษฎี Nudge เป็นตัวหลักในการออกแบบการวิจัย ทั้งนี้ สามารถนำทฤษฎีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวคิดหรือทฤษฎีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพได้ด้วยเช่นกัน
ความยั่งยืนหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม: ความท้าทายของทฤษฎี Nudge
ทฤษฎี Nudge เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกาย ที่จะนำไปสู่แนวทางการวิจัยที่จะช่วยให้การออกแบบเชิงนโยบายสามารถใช้ได้ผล และที่สำคัญคือเป็นกระบวนการที่ใช้งบประมาณไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นข้อจำกัดของทฤษฎี Nudge คือ ความยั่งยืนของพฤติกรรม เนื่องจากกิจกรรมแทรกแซงเป็นการสะกิดให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ณ ขณะนั้น ซึ่งอาจไม่ได้ไปถึงการเปลี่ยนนิสัยอันพึงประสงค์ตามที่ตั้งไว้ แล้วผู้คนก็จะกลับไปมีพฤติกรรมอย่างเดิมอีกหากกิจกรรมแทรกแซงไม่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งมีผู้คนไม่มากนักที่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างถาวร จึงจะเห็นได้ว่าความท้าทายคือการสร้างความยั่งยืนเพื่อให้พฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนเป็นนิสัยถาวร สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎี Nudge ได้แนะนำอยู่เสมอคือ การใช้ Nudge เพื่อเป็นตัวเปิดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น จากนั้นควรใช้แนวคิดทฤษฎีอื่นร่วมด้วยในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้มีความต่อเนื่องและคงอยู่แม้จะเสร็จสิ้นกิจกรรมไปแล้ว นี่เป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งในการทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงนโยบายที่จำเป็นต้องมีแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เข้ามาร่วมในกระบวนการด้วย เพื่อให้พฤติกรรมอันพึงประสงค์กลายเป็นนิสัยถาวร
อ้างอิง
1. Aueviriyavit C. Nudge Theory ทฤษฎี Nudge เป็นแนวคิดที่ยืดหยุ่นและทันสมัยสำหรับ 2021 [Available from: https://chai56.medium.com/nudge-theory-70169762fadd.
2. Sunstein RHTaCR. Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness. Yale University Press: Yale University Press; 2008.
3. Wilangka C. Cognitive Biases : จิตวิทยาอคติในการตัดสินใจ ฉบับนักพัฒนาโปรดักส์ 2018 [Available from: https://chanalaaa.com/cognitive-biases-for-product-designer/.
4. Phaha P. SDG Updates | เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2022 [Available from: https://www.sdgmove.com/2021/12/14/sdg-updates-behav-econ-sdgs/.
5. Williamson DA, Han H, Johnson WD, Martin CK, Newton RL, Jr. Modification of the school cafeteria environment can impact childhood nutrition. Results from the Wise Mind and LA Health studies. Appetite. 2013;61(1):77-84.
6. Wansink B, Just DR, Payne CR, Klinger MZ. Attractive names sustain increased vegetable intake in schools. Preventive medicine. 2012;55(4):330-2.
7. Wansink B, Just DR, Hanks AS, Smith LE. Pre-sliced fruit in school cafeterias: children's selection and intake. American journal of preventive medicine. 2013;44(5):477-80.
8. Cunha DB, Verly Junior E, Paravidino VB, Araújo MC, Mediano MFF, Sgambato MR, et al. Design of a school randomized trial for nudging students towards healthy diet and physical activity to prevent obesity: PAAPAS Nudge study protocol. Medicine. 2017;96(50):e8898.
9. Van der Meiden I, Kok H, Van der Velde G. Nudging physical activity in offices. Journal of Facilities Management. 2019;17(4):317-30.
10. Lewis A, Eves F. Prompt before the choice is made: Effects of a stair-climbing intervention in university buildings. British Journal of Health Psychology. 2012;17(3):631-43.
11. Bennett D, MacLochlainn D, McMullan L. POINT OF DECISION PROMPTS AND SIGNPOSTING FOOTPRINTS IMPROVE STAIR USE IN A UK CITY CENTRE OFFICE. The Ulster medical journal. 2018;87(2):130-2.
12. Bellicha A, Kieusseian A, Fontvieille A-M, Tataranni A, Copin N, Charreire H, et al. A multistage controlled intervention to increase stair climbing at work: effectiveness and process evaluation. International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Activity. 2016;13(1):47.
13. Haile C, Kirk A, Cogan N, Janssen X, Gibson A-M, MacDonald B. Pilot Testing of a Nudge-Based Digital Intervention (Welbot) to Improve Sedentary Behaviour and Wellbeing in the Workplace. 2020;17(16):5763.
14. Mamede A, Noordzij G, Jongerling J, Snijders M, Schop-Etman A, Denktas S. Combining Web-Based Gamification and Physical Nudges With an App (MoveMore) to Promote Walking Breaks and Reduce Sedentary Behavior of Office Workers: Field Study. Journal of medical Internet research. 2021;23(4):e19875.
15. Deery CB, Hales D, Viera L, Lin F-C, Liu Z, Olsson E, et al. Physical activity calorie expenditure (PACE) labels in worksite cafeterias: effects on physical activity. BMC Public Health. 2019;19(1):1596.