13 มีนาคม 2564

กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา

สะกิด (Nudge) เช่นไร ให้กิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น (Part 2)

หนึ่งในหัวใจสำคัญของการนำทฤษฎี Nudge มาใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการสะกิด คือการศึกษาและทำความเข้าใจถึง “อคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases)” ให้ถ่องแท้ดีเสียก่อน เนื่องจากอคติเป็นปัจจัยขัดขวางสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ๆ โดยใน Part 1 https://tpak.or.th/th/article/579 เราได้นำเสนอกิจกรรมแทรกแซงใน 2 setting ที่สำคัญ คือ โรงเรียน และสถานประกอบการ สำหรับบทความใน Part 2 นี้ เราอยากจะนำเสนอกิจกรรมแทรกแซงใน “ชุมชน และ พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งกลุ่มประชากรอาจจะมีความหลากหลายมากกว่าและประชากรส่วนใหญ่ใช้พื้นที่เหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น นอกจากการทำความเข้าใจกับอคติทางความคิดแล้ว การออกแบบและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายใต้บริบทที่จำกัดและหลากหลาย เพื่อสะกิดความคิดและอคติของมนุษย์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ท่านจะได้เรียนรู้ในเนื้อหาดังต่อไปนี้

 

การประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายใน “ชุมชน”

งานวิจัยในต่างประเทศที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนมีอยู่ค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่หากเป็นชุมชนทางกายภาพจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยเน้นไปที่การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ขณะที่ชุมชนออนไลน์จะเน้นไปที่การส่งเสริมในระดับปัจเจกบุคคล โดยจะขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายดังนี้

 

1. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนทางกายภาพ

มีการศึกษาจากรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐเคนทักกี ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านการออกแบบสภาพแวดล้อม การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และการสนับสนุนทางสังคม เช่น การสะสมคะแนนเพื่อแลกรับรางวัล เป็นต้น (1, 2)

ข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมจากพื้นที่

จากข้อมูลที่ได้ในชุมชนผ่านการสัมภาษณ์และสังเกต พบว่า ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายและออกกำลังกาย และมีพื้นที่จำกัดในการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มีกิจกรรมทางกาย หรือออกกำลังกาย และมีส่วนน้อยเลือกที่จะมีกิจกรรมทางกายจากที่บ้าน/ห้องพัก

กิจกรรมแทรกแซงที่ใช้

1) การออกแบบเชิงรุกกับตึกอาคารเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น ตำแหน่งบันไดกลางที่กว้าง เพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ ลดความเร็วของลิฟต์ และทำให้ตำแหน่งของลิฟต์ไม่โดดเด่นและหาเจอยาก (1)

2) การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายในชุมชน เช่น มีที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง มีห้องออกกำลังกายในร่ม มีการเล่นดนตรีและมีงานศิลปะที่สามารถมองเห็นและเข้าถึงได้ง่าย พร้อมกับมีคำแนะนำในการตัดสินใจที่ช่วยกระตุ้นให้ใช้งานในแต่ละส่วนข้างต้น มีการติดตั้ง Fit-Trail การมีม้านั่งในสวนสาธารณะ การปรับปรุงห้องน้ำในสวนสาธารณะ การมีสถานีเติมน้ำดื่มที่สะอาดมีมาตรฐาน การมีแถบถนนสำหรับจักรยานและคนเดินถนน และการทำที่บังแดดในสวนสาธารณะและสนามกีฬา (1, 2)

ผลการศึกษาพบว่า สำหรับตึกอาคาร คนส่วนใหญ่มีการใช้บันไดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยผู้หญิงมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย ขณะที่การจัดสภาพแวดล้อมพบว่าการมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาจต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัยและวิธีการอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดสภาพแวดล้อมสามารถสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการออกกำลังกาย การกินเพื่อสุขภาพ และตระหนักเรื่องโรคอ้วนในชุมชนได้ (1, 2)

จะเห็นได้ว่า การออกแบบตึกอาคารให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย มีส่วนช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับคนในชุมชนอย่างมีประสิทธิผล ในขณะที่การจัดสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนมีโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายได้ง่ายมากขึ้น และเกิดความตระหนักมากขึ้น ทว่า อาจจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับวิธีการอื่น ๆ เพื่อให้คนในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่พึงประสงค์ คือ การมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

 

2. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนออนไลน์

การสะกิด (Nudge) สามารถนำไปใช้ร่วมกันกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้ โดยในยุคของการใช้เทคโนโลยีร่วมกับการส่งเสริมสุขภาพอย่างปัจจุบัน ทำให้เกิดพื้นที่ออนไลน์เพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ซึ่งการใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อสะกิดให้สมาชิกในชุมชนออนไลน์สามารถเข้าถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้โดยง่ายและสะดวก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับคนในพื้นที่แห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต

ข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมจากพื้นที่

พฤติกรรมของคนในชุมชนออนไลน์ พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกาย

กิจกรรมแทรกแซงที่ใช้

การส่งข้อความผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางกายตามเป้าหมาย การได้รับคะแนนและสะสมคะแนนเพื่อแลกรับรางวัลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมบรรลุเป้าหมายจำนวนก้าวในสัดส่วนที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีค่าเฉลี่ยจำนวนก้าวต่อวันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มกิจกรรม และในระยะติดตามผล พบว่า จำนวนก้าวของกลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีแนวโน้มลดลง แต่ทว่ากลุ่มทดลองยังมีจำนวนก้าวมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (3, 4)

อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมแทรกแซงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เป็นการจัดกิจกรรมแทรกแซงในระดับปัจเจกบุคคล ทั้งนี้ ในอนาคตหากเชื่อว่าอิทธิพลกลุ่มมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจจะออกแบบกระบวนการให้เป็นทั้งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับปัจเจกบุคคลร่วมกับระดับกลุ่มได้ เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้กับบุคคลเหล่านี้ให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้รางวัลเพียงเล็กน้อยแต่ให้ในทันทีเมื่อทำสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้ง เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเพิ่มจำนวนก้าวในแต่ละวันในระดับปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายหรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นระยะเวลานาน เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น

 

การประยุกต์ใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายใน “พื้นที่สาธารณะ”

หากกล่าวถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยทฤษฎี Nudge “พื้นที่สาธารณะ” นับเป็นสถานที่อันดับต้น ๆ ที่มักจะถูกดำเนินการทดลองการวิจัย เนื่องจากมีผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนมากและหลากหลาย และใช้งบประมาณไม่มาก ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดของทฤษฎีข้างต้น ในส่วนนี้จึงขอนำเสนองานวิจัยของต่างประเทศที่ได้มีการทดลองและวัดประสิทธิผลมาแล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายได้จริง คือ การส่งเสริมการใช้บันไดแทนบันไดเลื่อนในสถานีขนส่งมวลชนสิงคโปร์ (MRT) (5)

ข้อสังเกตและปัญหาของพฤติกรรมจากพื้นที่

ผู้คนที่มาใช้บริการสถานีขนส่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้บันไดเลื่อน โดยมีส่วนน้อยที่จะใช้บันได นอกจากเป็นช่วงเวลาที่เร่งรีบมากจริง ๆ ผู้คนจึงจะเลือกใช้บันได

กิจกรรมแทรกแซงที่ใช้

การศึกษานี้เป็นการใช้ Point-of-decision prompts (PODP) ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของผู้คนที่มาใช้สถานีขนส่ง โดยการติดป้ายตรงราวบันไดให้มีสีสันสดใสและติดสติกเกอร์ที่พื้นที่มีข้อความกระตุ้นเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจในการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อส่งเสริมการใช้บันไดแทนบันไดเลื่อนที่อยู่ข้าง ๆ กัน

ที่มา: https://www.researchgate.net/publication/234084350_The_Use_of_Point-of-Decision_Prompts_to_Increase_Stair_Climbing_in_Singapore

 

ผลการศึกษาพบว่า การติดป้ายตรงราวบันไดและการติดสติกเกอร์ข้อความที่พื้นดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับจำนวนคนขึ้นบันไดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1.5 เท่า) เมื่อถอดป้ายและสติกเกอร์ออกแล้วพบว่าจำนวนคนขึ้นบันไดที่สถานีขนส่งลดลงต่ำกว่าข้อมูลรอบก่อนดำเนินกิจกรรมเล็กน้อย

จะเห็นได้ว่าการออกแบบกิจกรรมแทรกแซงโดยการใช้อคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases) เป็นตัวเริ่มต้นในการพิจารณา เพื่อช่วยแก้ปัญหาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายได้ตรงตามสถานการณ์จริง ทั้งนี้ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องอคติทางความคิดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ตามความเป็นจริง จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับผู้คน กลุ่มคน หรือระดับสังคมได้

 

บทสรุปและการปรับใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อสะกิดคนไทยให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น

ทฤษฎี Nudge เป็นหนึ่งในกิจกรรมแทรกแซงที่มีข้อพิสูจน์และได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลกว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชากรได้ทุกกลุ่มวัย และทุก Setting โดยผลการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษาและทำความเข้าใจกับอคติของประชากรกลุ่มเป้าหมายให้ถ่องแท้ดีเสียก่อน อย่างไรก็ดี การใช้ทฤษฎี Nudge มาใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจจะได้ผลในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีการติดตามและปรับปรุงกิจกรรมแทรกแซกอยู่เสมอ เพื่อให้สอดรับกับอคติของบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการใช้ทฤษฎี Nudge เพื่อการออกแบบนโยบายเพื่อสะกิดพฤติกรรมของคนในสังคมวงกว้างเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญ

นอกจากนี้ การใช้ทฤษฎี Nudge ร่วมกับแนวคิด/ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ เป็นทางเลือกหนึ่งที่นักวิชาการด้านกิจกรรมทางกายสามารถนำมาปรับใช้ เพื่อการส่งเสริมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยได้เช่นกัน โดย Nudge อาจจะเป็นทฤษฎีหลักหรือส่วนเสริมของกระบวนการหรือกิจกรรมแทรกแซงเพื่อให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ อาจจะต้องพิจารณากลุ่มประชากรเป้าหมาย พื้นที่ บริบท และสภาพแวดล้อมที่จะนำกระบวนการแทรกแซงไปใช้ด้วย ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กผ่านโรงเรียนระดับประถมศึกษาในรูปแบบ Whole school approach ที่จำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปจนถึงกิจกรรมในห้องเรียน จำเป็นต้องใช้หลายแนวคิดเข้ามาประกอบกันเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมในแบบองค์รวม โดย Nudge อาจจะมีส่วนสำคัญและจำเป็นสำหรับนำมาใช้ออกแบบพื้นที่เล่นของเด็ก ๆ ให้ดูน่าสนใจและแตกต่างไปจากเดิม หากพบว่าอคติของเด็ก ๆ โดยส่วนใหญ่รู้สึกว่าพื้นที่เล่นที่มีนั้นไม่น่าเล่นหรือไม่เหมาะกับพวกเขา หรือ Nudge อาจจะถูกนำมาใช้ในห้องเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น ในกรณีที่พบว่าเด็ก ๆ นั่งนานจนเกินไปและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากเท่าที่ควร เป็นต้น

ท้ายที่สุดหากนักวิชาการที่สนใจนำทฤษฎี Nudge ไปใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ได้ลองเป็น “ผู้ Nudge” หรือที่ริชาร์ดเรียกว่า “นักออกแบบทางเลือก” (Choice Architect) เมื่อได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับอคติของมนุษย์แล้วนำมาออกแบบทางเลือกสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่คล้ายกับคุณป้าร้านขายข้าวช่วยให้ลูกค้าเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ น่าจะทำให้เรามั่นใจในการที่จะลองเลือกใช้ทฤษฎี Nudge มาปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางกายของคนไทยให้เพิ่มสูงขึ้นได้

 


อ้างอิง

1. Garland E, Garland V, Peters D, Doucette J, Thanik E, Rajupet S, et al. Active design in affordable housing: A public health nudge. Preventive Medicine Reports. 2018;10:9-14.

2. Gustafson A, McGladrey M, Stephenson T, Kurzynske J, Tietyen Mullins J, Peritore N, et al. Community-Wide Efforts to Improve the Consumer Food Environment and Physical Activity Resources in Rural Kentucky. Preventing Chronic Disease. 2019;16.

3. Mitchell M, White L, Lau E, Leahey T, Adams M, Faulkner G. Evaluating the Carrot Rewards app, a population-level incentive-based intervention promoting step counts across two Canadian provinces: a quasi-experimental study (Preprint). JMIR mHealth and uHealth. 2018;6.

4. Patel M, Benjamin E, Volpp K, Fox C, Small D, Massaro J, et al. Effect of a Game-Based Intervention Designed to Enhance Social Incentives to Increase Physical Activity Among Families: The BE FIT Randomized Clinical Trial. JAMA internal medicine. 2017;177.

5. Sloan RA, Haaland BA, Leung C, Müller-Riemenschneider F. The Use of Point-of-Decision Prompts to Increase Stair Climbing in Singapore. International Journal of Environmental Research and Public Health. 2013;10(1):210-8.

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย