13 มีนาคม 2564
กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา
Active Classrooms เป็น 1 ใน 6 Domains หลักสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนแบบองค์รวม (Whole-of-school approach) ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกนำไปพัฒนา และดำเนินการผ่านการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Global Action Plan on Physical Activity (GAPPA) 2018–2030 โดยเน้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ด้วยการบรรจุกิจกรรม Active Classrooms หรือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้าไปในชั้นเรียน โดยให้บรรจุเข้าไปในหลักสูตรการสอน เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การเต้นรำ หรือการกระโดด และสามารถทำได้ตลอดเวลาในระหว่างวันที่เรียน (บางคาบเรียนหรือหลายคาบเรียน) โดยครูผู้สอนทำหน้าที่จัดกิจกรรมเชิงรุกในชั้นเรียนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบรรยากาศและเนื้อหาการเรียน ได้แก่ การแบ่งเวลาเรียนด้วยการพักเพื่อทำกิจกรรมทางกายสั้น ๆ (3-5 นาที) ที่ระดับความหนักแตกต่างกัน (ช่วงพักเพื่อการเคลื่อนไหว เติมพลัง หรือพักออกกำลังกาย) หรือการนำกิจกรรมทางกายมารวมไว้ในเนื้อหาการสอน เช่น การนับก้าวเดินรอบห้องเพื่อประมาณระยะทาง หรือการปรับสภาพสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนเพื่อเพิ่มพื้นที่การทำกิจกรรมทางกาย และ/หรือลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การใช้โต๊ะยืนเรียน หรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการเรียนรู้กับธรรมชาติหรือภายในชุมชน เป็นต้น (World Health Organization, 2021)
ประสิทธิผลของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในห้องเรียนด้วย Active Classrooms
โรงเรียนจัดเป็นสถานที่ที่เด็กและเยาวชนใช้เวลาประมาณ 1 ใน 3 ของวัน และเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการนั่งเรียนเป็นเวลานานตลอดทั้งวันทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย ดังนั้น การส่งเสริมให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเรียน ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายไปพร้อมกับการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งขณะที่ต้องนั่งเรียนเป็นเวลานาน ด้วยการสอดแทรกกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการออกกำลังกาย จะช่วยสร้างบรรยากาศที่กระตือรือร้นเกิดขึ้นในระหว่างการเรียน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประโยชน์และมีความคุ้มค่าอย่างมากต่อการส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมกิจกรรมทางกายเข้ากับการเรียนรู้ในเนื้อหาวิชาการ จะเป็นวิธีการที่ช่วยให้นักเรียนจดจำเนื้อหาการเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งผลเชิงบวกต่อการเพิ่มระดับกิจกรรมทางกาย (R. Martin & E. Murtagh, 2017; Martin & Murtagh, 2015) รวมถึงผลลัพธ์ทางการศึกษา เช่น ความสนใจในการเรียน แรงจูงใจ และความสนุกกับการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น (R. Martin & E. M. Murtagh, 2017; Watson et al., 2017) นอกจากนี้ เด็กระดับประถมศึกษาตอนต้นที่ได้รับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่าน จะมีคะแนนการสอบสูงกว่านักเรียนที่เรียนแบบทั่วไป (ไม่ได้รับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระหว่างการเรียน) อย่างมีนัยสำคัญ (Mullender‐Wijnsma et al., 2015) ขณะที่การศึกษาวิจัยการส่งเสริม Active School ในประเทศไทย พบว่า นักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมกิจกรรม Active Classroom จะมีสมาธิและความเข้าใจในการเรียนดีกว่านักเรียนทั่วไป และมีความรู้สึกว่าห้องเรียนเป็นสถานที่ที่มีความสุขสนุกสนานมากกว่าด้วย (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2563) จากข้อมูลเชิงประจักษ์เบื้องต้น สะท้อนให้เห็นว่า การส่งเสริมกิจกรรม Active Classroom ในโรงเรียน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการศึกษาของนักเรียนได้อย่างชัดเจน เช่น ผลลัพธ์ทางการศึกษา ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา ไปพร้อมกับการเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ของนักเรียนได้อย่างยั่งยืน
โอกาสทองสำหรับครูผู้สอนที่กำลังมองหากลวิธีการสอนตามนโยบาย Active Learning
จากประสิทธิผลของการใช้กิจกรรมทางกายเข้ามาช่วยเสริมบรรยากาศในห้องเรียนให้มีความสนุกสนาน และให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ การส่งเสริมกิจกรรม Active Classrooms จึงเป็นโอกาสทองสำหรับครูผู้สอนที่กำลังมองหากลวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ๆ สำหรับปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างไม่ขัดเขิน แม้ว่าหลักแนวคิดของ Active Classrooms อาจจะไม่เหมือนหรือสอดคล้องกับแนวคิด Active Learning เสียทั้งหมด แต่ด้วยรูปแบบกิจกรรมทางกายที่นำมาใช้ใน Active Classrooms ซึ่งเน้นการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายในช่วงโอกาสต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ ทั้งก่อน ระหว่าง หรือท้ายคาบเรียน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ผ่านการเล่นด้วยการสอดแทรกให้เข้ากับเนื้อหาการเรียนรู้ จะทำให้นักเรียนได้ปฏิบัติและมีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนการสอนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมในรูปแบบที่มีการผสมผสานกันนี้จะสามารถนำไปสู่การสร้างกระบวนการคิดขั้นสูง (Higher-Order Thinking) ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมทางกายในรูปแบบเกมการแข่งขันระหว่างกลุ่มนักเรียน หรือกิจกรรมที่นักเรียนจะต้องใช้การคิดวิเคราะห์ผ่านโจทย์และกิจกรรมที่กำหนดให้นักเรียนต้องใช้ทักษะการฟัง อ่าน เขียน ตั้งคำถาม และถาม รวมถึงการอภิปรายร่วมกัน โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้คำแนะนำ ดูแล และให้คำปรึกษาในระหว่างการทำกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามหลักการหรือแนวคิดของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่ สพฐ. กำหนดไว้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2562)
อย่างไรก็ดี ก่อนที่โรงเรียนจะนำกิจกรรมทางกายมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน อาจจะต้องทำการประเมินความพร้อมของครูผู้สอนที่จะนำแนวคิด Active Classrooms ไปใช้เสียก่อน รวมถึงนโยบายของโรงเรียนจะต้องเปิดกว้างให้ครูผู้สอนสามารถบริหารจัดการห้องเรียนได้อย่างอิสระมากพอ เพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจกรรม Active Classrooms ได้อย่างสะดวก ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการสนับสนุนและนโยบายของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่จะต้องทำการประเมินและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำ Active Classrooms สามารถเกิดขึ้นและทำได้จริง ดังนี้ (World Health Organization, 2021)
• ครูผู้สอนได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการและกลยุทธ์การผสมผสานกิจกรรมทางกายในชั้นเรียน
• ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและกลยุทธ์การผสมผสานกิจกรรมทางกายในชั้นเรียน
• ครูผู้สอนได้นำวิธีการและกลยุทธ์การผสมผสานกิจกรรมทางกายไปใช้จริงในชั้นเรียน
• ครูผู้สอนมีอิสระในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและออกแบบห้องเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำ Active Classrooms
ทั้งนี้ หากโรงเรียนมีการสนับสนุนให้ครูผู้สอนได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถออกแบบวิธีการและกลยุทธ์การผสมผสานกิจกรรมทางกายในชั้นเรียนได้ และให้อิสระในการที่จะออกแบบห้องเรียนให้เหมาะสมกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Classrooms เชื่อว่าจะเป็นการเสริมพลังให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจที่จะคว้าโอกาสทองนี้ไว้ได้ไม่ยากนัก แต่อย่างไรก็ดี แนวทางการปฏิบัตินี้จะดีที่สุดและนำไปสู่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนและห้องเรียนที่ประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องการได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงการสนับสนุนจากชุมชนโดยรอบ (Cassar et al., 2022; McMullen et al., 2022) เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายที่หลากหลาย โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในและนอกห้องเรียน
“เล่น เรียน รู้” ตัวอย่างการบริหารจัดการ Active Classrooms แบบฉบับโรงเรียนไทย ?
ศูนย์ทีแพคได้นำ Active Classrooms มาใช้เป็น 1 ในองค์ประกอบของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC ภายใต้โครงการวิจัยโรงเรียนฉลาดเล่น: Active School เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นการวิจัยแบบ Cohort Study ที่ติดตามผลการวิจัยกับนักเรียนกลุ่มเดิมต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี เพื่อติดตามผลการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนทดลองและควบคุม โดย Active Classrooms ถูกเรียกเป็นภาษาไทยและใช้สื่อสารในกลุ่มครูแกนนำที่เข้าร่วมการวิจัยว่า “ห้องเรียนฉลาดรู้” เพื่อเป็นการเสริมแรงและเสริมความมั่นใจให้กับครูผู้นำแนวคิดไปใช้ว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีแนวคิดการแบ่งชั่วโมงการเรียนเป็น 3 ช่วงเรียกว่า “เล่น เรียน รู้” เพื่อให้ครูผู้ปฏิบัติเข้าใจในหลักการและวิธีการนำแนวคิดไปปรับประยุกต์ใช้ได้ง่ายที่สุด
ในช่วงแรก “เล่น” เปรียบเสมือน “การนำเข้าสู่บทเรียน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ครูผู้สอนใช้เป็นกิจกรรมเริ่มต้นในการสอนปกติอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายเข้าไปอยู่ในเนื้อหาการเรียนการสอนโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที โดยแบ่งระดับความเข้มข้นของกิจกรรมเป็น 3 ระดับ คือ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายหรือส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น กิจกรรมกายบริหาร ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ กิจกรรมเข้าจังหวะ เป็นต้น ถัดมาคือการนำกิจกรรมทางกายเข้ามาผสมเข้ากับเนื้อหาการเรียนรู้ เช่น แบ่งกลุ่มวิ่งเปี้ยวแข่งเขียนคำศัพท์ คำเป็นคำตาย คิดเลขเร็ว เป็นต้น และสุดท้ายคือการเพิ่มระดับความยาก-ง่ายของการเคลื่อนไหวร่างกายเข้าไปในกิจกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน เช่น เดิน วิ่ง กระโดด ซิกแซ็ก เขย่ง ถอยหลัง เป็นต้น สำหรับช่วง “เรียน” คือช่วงเวลาตรงกลางที่จะมีเวลาประมาณ 30 นาที ให้ครูผู้สอนได้สอนเนื้อหาวิชาหลักให้กับนักเรียน โดยใช้วิธีการสอนรูปแบบใดก็ได้ที่เชื่อมั่นว่าจะดีที่สุดสำหรับนักเรียน และช่วงสุดท้ายคือช่วง “รู้” เป็นช่วงเวลา 10 - 20 นาทีสุดท้ายที่ครูจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สะท้อนความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนออกมาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำกิจกรรมเหมือนช่วงเล่นอีกครั้งหนึ่งเพื่อดูว่านักเรียนทำได้ดีขึ้นหรือไม่ (กิจกรรมก่อน-หลัง) หรือจะให้นักเรียนนำเสนอความรู้ ทำใบงาน หรือเปิดอภิปรายในห้องเรียนก็ได้ (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2563)
ภาพตัวอย่างการจัดสรรเวลาห้องเรียนฉลาดรู้ Active Classroom
(ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2563)
นอกจากการแบ่งเวลาชั่วโมงการเรียนการสอนเป็น 3 ช่วงแบบ “เล่น เรียน รู้” แล้ว ยังสามารถสอดแทรกกิจกรรมทางกายเข้าไปอยู่ตลอดช่วงเวลาเรียนได้เช่นเดียวกันกับวิชาพลศึกษา หรือลูกเสือ-เนตรนารี หากแต่ครูผู้สอนจะต้องดูความเหมาะสมของเนื้อหาที่จะต้องการถ่ายทอดให้กับนักเรียน และกิจกรรมทางกายที่จะนำไปใช้ว่าเหมาะสมกันหรือไม่ เช่น บางเนื้อหานักเรียนอาจจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับดินชนิดต่าง ๆ หรือต้นไม้ที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งครูผู้สอนสามารถพานักเรียนออกไปเดินสำรวจและจดบันทึกการเรียนนอกห้องเรียนได้ หรือให้โจทย์กับนักเรียนแล้วแบ่งกลุ่มกันออกไปสำรวจหรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียนตามโจทย์ที่กำหนดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน และหากจัดกิจกรรมในห้องเรียนอาจจะต้องพิจารณาระดับความหนักเบาของกิจกรรมทางกายที่จะให้นักเรียนได้ทำ เพื่อให้มีช่วงพักสำหรับการคิดวิเคราะห์หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน แล้วให้นักเรียนกลับมาทำกิจกรรมทางกายอีกครั้งก็ได้ ซึ่งกิจกรรมที่เหมาะสมอาจจะเป็นรูปแบบการแข่งขันระหว่างกลุ่ม หรือการทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีครูผู้สอนเป็นผู้กำหนดกติกาและสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่สอดแทรกเนื้อหาการเรียนรู้ไปตลอดทั้งคาบเรียน ครูผู้สอนจะต้องมีการเตรียมพร้อมและใช้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการและควบคุมเวลาให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
Active Classrooms เกิดขึ้นจริงและทำได้ถ้า...
จากเนื้อหาที่กล่าวมาในข้างต้น อาจจะสรุปได้ว่า Active Classrooms นั้นมิได้ก่อให้เกิดประสิทธิผลเชิงบวกต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งให้กับเด็กและเยาวชนได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีผลเชิงบวกต่อทั้งตัวเด็กและเยาวชนเองในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ครูผู้สอนจะได้ประโยชน์จากความสนใจและใส่ใจในการเรียนที่ดี อีกทั้งบรรยากาศทางการเรียนที่สนุกสนานเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งผลเชิงบวกทั้งหมดนี้จะส่งผลโดยตรงมาที่โรงเรียน ทั้งในแง่ของผลการเรียนในภาพรวมของเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น และนักเรียนมีความรู้สึกรักและผูกพันกับโรงเรียนมากยิ่งขึ้น (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2563)
หากจะทำในระดับโรงเรียน...ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และต้องได้รับการฝึกอบรมให้สามารถทำ Active Classrooms ได้จริง และครูผู้สอนต้องเป็นต้นแบบให้กับนักเรียนในการมีกิจกรรมทางกายทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศของห้องเรียนและโรงเรียนที่กระฉับกระเฉง รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนห้องเรียนให้เหมาะสมกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่จะเปลี่ยนไปจากเดิมได้อย่างอิสระ อาทิ การใช้โต๊ะแบบยืนหรือโต๊ะที่ปรับความสูงได้ หรือใช้พื้นที่นอกห้องเรียนในบางรายวิชา ภายใต้การคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของนักเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียน และต้องมีการสื่อสารความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและประโยชน์ของ Active Classrooms ไปยังเจ้าหน้าที่/บุคลากรทุกคน นักเรียน และครอบครัวของนักเรียนทุกคนด้วย รวมถึงครูผู้สอนจะต้องได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรและสื่อการสอนที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและดำเนินการ Active Classrooms ได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีกระบวนการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง (World Health Organization, 2021)
หากจะทำในระดับเขตการศึกษา จังหวัด หรือระดับประเทศ...จะต้องมีการสนับสนุนและขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่านนโยบายจากส่วนกลาง อาทิ การสร้างตัวชี้วัดของการทำ Active Classrooms เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องมีระบบการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรครูให้มีความสามารถในการทำเรื่องนี้ได้ โดยศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตการศึกษา จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งเข้าไปช่วยติดตามสนับสนุนการดำเนินนโยบายของโรงเรียนภายใต้สังกัดได้อย่างใกล้ชิด ผ่านการออกแบบระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง และสนับสนุนให้ครูผู้สอนทำเพียงกำหนดการสอนที่ระบุตัวกิจกรรมทางกายที่จะนำไปสอดแทรกกับเนื้อหาการเรียนการสอนเพียงสั้น ๆ โดยทำควบคู่ไปกับแผนการจัดการเรียนการสอนที่มีอยู่เดิม เพื่อมิให้เป็นภาระงานเพิ่มกับครูผู้สอน และควรมีระบบส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการประกวด/แข่งขันผลงานวิชาการ หรือการผลิตผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับ Active Classrooms ที่สามารถนำมาใช้เลื่อนวิทยฐานะได้ เพื่อให้ครูผู้สอนเกิดกำลังใจในการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติได้อย่างมีพลังและมีความสุข
อย่างไรก็ดี การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนที่มีประสิทธิผลจะทำเพียง Active Classrooms อย่างเดียวมิได้ เนื่องจากการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนจำเป็นต้องทำแบบองค์รวม (Whole-of-school approach) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อน 6 ด้านด้วยกัน แต่หากยังไม่พร้อมองค์การอนามัยโลกได้เสนอให้ริเริ่มทำอย่างน้อย 2 ใน 6 ด้านก่อน แล้วขยายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามความพร้อม ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้ครบทั้ง 6 ด้านในภายหลังได้เช่นเดียวกัน (World Health Organization, 2021) เพื่อให้เกิดการส่งเสริมสภาพแวดล้อมและโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่หลากหลายอย่างยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
Cassar, S., Salmon, J., Timperio, A., Koch, S., & Koorts, H. (2022). A qualitative study of school leader experiences adopting and implementing a whole of school physical activity and sedentary behaviour programme: Transform-Us! Health Education, 122(3), 267-285.
Martin, R., & Murtagh, E. (2017). Active classrooms: a cluster randomized controlled trial evaluating the effects of a movement integration intervention on the physical activity levels of primary school children. Journal of physical activity and health, 14(4), 290-300.
Martin, R., & Murtagh, E. M. (2015). An intervention to improve the physical activity levels of children: Design and rationale of the ‘Active Classrooms’ cluster randomised controlled trial. Contemporary clinical trials, 41, 180-191.
Martin, R., & Murtagh, E. M. (2017). Effect of active lessons on physical activity, academic, and health outcomes: a systematic review. Research quarterly for exercise and sport, 88(2), 149-168.
McMullen, J. M., Kallio, J., & Tammelin, T. H. (2022). Physical activity opportunities for secondary school students: International best practices for whole-of-school physical activity programs. European Physical Education Review, 28(4), 890-905.
Mullender‐Wijnsma, M. J., Hartman, E., de Greeff, J. W., Bosker, R. J., Doolaard, S., & Visscher, C. (2015). Improving academic performance of school‐age children by physical activity in the classroom: 1‐year program evaluation. Journal of school health, 85(6), 365-371.
Watson, A., Timperio, A., Brown, H., Best, K., & Hesketh, K. D. (2017). Effect of classroom-based physical activity interventions on academic and physical activity outcomes: a systematic review and meta-analysis. International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Activity, 14, 1-24.
World Health Organization. (2021). Promoting physical activity through schools: a toolkit.
ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2563). แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย (Vol. พิมพ์ครั้งที่ 1). บริษัท ภาพพิมพ์ จำกัด.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2562). แนวทางการนิเทศเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้. หน่วยศึกษานิเทศน์.