10 กรกฎาคม 2566

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

38951

“ลูกแข็งแรง เริ่มต้นที่แม่กระฉับกระเฉง”

สถานการณ์หญิงตั้งครรภ์

การส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ให้สามารถประคับประคองการตั้งครรภ์ให้ครบกำหนด และให้กำเนิดลูกที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์และครอบครัว โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการณ์ของการเสียชีวิตในขณะตั้งครรภ์และการเสียชีวิตหลังคลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาสถานการณ์ดังกล่าว พบว่า ในปี 2020 มีหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกเสียชีวิตประมาณ 287,000 ราย และเกือบร้อยละ 95 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้น้อย ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการตกเลือด การติดเชื้อ การมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และการทำแท้งแบบไม่ปลอดภัย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารก (World Health Organization, 2023) ดังนั้น นานาประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ด้วยแนวทางต่าง ๆ อาทิ การรับประทานอาหารที่ถูกหลักและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย งดเว้นการออกกำลังกาย และห้ามยกของหนัก เพื่อป้องกันการแท้ง การงดกิจกรรมนอกบ้านทุกชนิด รวมไปถึงการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น ไปตลาด ไปเดินเที่ยวตามห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เก็บข้อมูลการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผู้หญิงมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอค่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.6 – 72.0 แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงเหลือร้อยละ 52.0 เป็นช่วงที่ภาพรวมของระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้หญิงต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และค่อย ๆ ฟื้นคืนการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอขึ้นมาเป็นร้อยละ 60.0 (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), 2565) ในขณะที่ข้อมูลระดับการมีกิจกรรมทางกายเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่พบข้อมูลปรากฏการรายงานที่ชัดเจน มีเพียงความเชื่อที่หญิงตั้งครรภ์ควรงดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวได้แต่น้อย เพื่อป้องกันอันตรายที่คาดไม่ถึงกับทารกในครรภ์  ส่งผลโดยตรงต่อกลไกของร่างกายอันจะนำไปสู่การมีพัฒนาการของทารกในครรภ์ รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านอารมณ์ที่จะนำไปสู่ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ และระดับสติปัญญาของเด็กในอนาคต

ปัญหาอุปสรรคสำหรับการมีกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์

จากการศึกษา พฤติกรรมของหญิงตั้งครรภ์ พบว่ากิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์จะลดลงในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกไม่เกิน 20 สัปดาห์ เนื่องมาจากช่วงแรกหญิงตั้งครรภ์กำลังปรับสภาพร่างกายจากการตั้งครรภ์ทำให้มีอาการเหนื่อยเพลีย และวิงเวียนศีรษะจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง (Fell et al., 2009) หลังจากนั้นถึงจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น  โดยจากการศึกษาในปี 2017 ได้ทำการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อศึกษาทัศนคติ ปัญหาอุปสรรค ความสามารถในการมีกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ จาก 47 การศึกษา พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์จำนวน 7,655 ราย ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการมีกิจกรรมทางกายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นขณะตั้งครรภ์ เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังเชื่อว่ากิจกรรมทางกายปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์  นอกจากนี้มีข้อมูลบ่งชี้ถึงอุปสรรคสำหรับหญิงตั้งครรภ์ต่อการมีกิจกรรมทางกาย โดย 11 การศึกษาชี้ชัดว่ามีอุปสรรคการมีกิจกรรมทางกายของหญิงตั้งครรภ์เกิดจากอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย และ 13 การศึกษาบอกว่าอุปสรรคเกิดจากขณะตั้งครรภ์ไม่สุขสบาย และ 14 การศึกษาบอกว่าอุปสรรคเกิดจากไม่มีเวลา อีกทั้งมี 2 การศึกษาที่บ่งบอกว่ายังไม่มีโปรแกรมการมีกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะ และมี 2 การศึกษาที่ชี้ว่า หญิงตั้งครรภ์ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกาย  (Harrison et al., 2018) ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม


ภาพ 1 ผลการศึกษางานวิจัยอย่างเป็นระบบ

ข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์

เพื่อส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างปลอดภัยและเพียงพอ อันจะส่งผลดีต่อทารกในครรภ์ที่แข็งแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องมีองค์ความรู้เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์มีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์ และความพร้อมของแต่ละบุคคล จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของงานวิจัย พบว่า มีหลายประเทศได้พยายามนำโปรแกรมการเคลื่อนไหวร่างกาย มาประยุกต์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์ให้เพิ่มขึ้น อาทิ การส่งเสริมการเดินและการเดินเร็ว, การว่ายน้ำและแอโรบิกในน้ำ, โยคะยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการบริหารอุ้งเชิงกราน ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งแต่ละโปรแกรมต้องพิจารณาทำด้วยความระมัดระวัง และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ในกรณีที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขณะมีกิจกรรมทางกาย (Evenson et al., 2014) โดยแต่ละกิจกรรมมีรายละเอียด ดังนี้

การเดินและการเดินเร็วสำหรับหญิงตั้งครรภ์: การเดินเป็นทางเลือกที่ดีของหญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อร่างกายของหญิงตั้งครรภ์แข็งแรง หมายความรวมถึงกล้ามเนื้อที่จะต้องใช้พยุงหน้าท้องที่มีขนาดโตขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 รวมถึงกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่จะช่วยเสริมแรงเบ่งขณะคลอด  ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีแพทย์ ได้อธิบายเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ว่า

การเดินและเดินเร็วไม่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ สามารถทำได้ตั้งแต่หลังจากอาการวิงเวียนในไตรมาสแรกเริ่มดีขึ้น ซึ่งการเดินของหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกแบ่งการฝึกเดินเป็น 3 ระยะดังนี้ (Parents, 2023; MomJunction, 2023; Lovelace Health System; MomJunction, 2023)

1. การเดินระยะเริ่มต้น: เป็นการเดินที่เน้นในจังหวะที่สบายและพยายามเดินให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยมีขั้นตอนการเดินดังนี้ 1) เริ่มเดิน 10-15 นาทีต่อวัน โดยเดินอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยอาจจะเดินวันเว้นวัน เพื่อให้สภาพร่างกายเกิดการปรับตัว 2) เมื่อเริ่มเดินจนคุ้นชิน และรู้สึกสบายแล้วให้เพิ่มวันในการเดินขึ้นอีก 1 วันต่อสัปดาห์  พร้อม ๆ กับเพิ่มระยะเวลาการเดินนานขึ้น โดยเพิ่มจากเดิมวันละ 5 นาที 3) เมื่อสามารถเดินได้อย่างน้อย 15-20 นาทีต่อวัน ให้เดินคงระยะเวลานี้ไว้ประมาณ  2-3 สัปดาห์ 4) หลังจากนั้นให้เพิ่มการเดินอีก 1 วันต่อสัปดาห์ รวมเดินเป็น 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้ปรับสภาพร่างกายก่อนที่จะเริ่มเพิ่มระดับความหนักของการเคลื่อนไหว รวมถึงเพิ่มระยะเวลาของการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น

2. การเดินระยะกลาง: เน้นการเพิ่มสมรรถภาพของหญิงตั้งครรภ์ที่สามารถเดินได้ 20 นาทีต่อวัน ต่อเนื่อง 4-5 วันต่อสัปดาห์ในระยะเริ่มต้น โดยสามารถเดินได้นานขึ้น และจำนวนวันเพิ่มขึ้น เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ด้วยขั้นตอนดังนี้ 1) ในระยะเริ่มต้น เริ่มด้วยการเดิน 20 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 วันต่อสัปดาห์ 2) เพิ่มการเดินให้นานขึ้นเป็น 30 นาทีต่อวัน ต่อเนื่อง 5 วันต่อสัปดาห์ 3) เมื่อรู้สึกสบาย และคุ้นเคยกับการเดินในเวลา 30 นาทีต่อวัน ให้เพิ่มจำนวนวันของการเดินเป็น 6 วันต่อสัปดาห์ 4) เพิ่มการเดินให้นานขึ้นเป็นระยะเวลา 40 นาทีต่อวัน จนรู้สึกว่ารู้สึกสบาย ซึ่งในระยะนี้หญิงตั้งครรภ์จะมีกิจกรรมทางกายที่นานขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

3. การเดินขั้นสูง: เป็นการเดินที่เน้นการส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพื่อกระตุ้นกระบวนการทำงานของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ฮอร์โมนต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1) เพิ่มระยะเวลาการเดินจาก 40 นาทีต่อวัน เป็น 30-60 นาทีต่อวัน และเดินต่อเนื่องทุกวัน  2) เดินในระยะเวลาเดิม และต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์เกิดความคุ้นเคย สามารถเดินได้อย่างสุขสบาย

การว่ายน้ำและแอโรบิกในน้ำ (Swimming and aqua aerobics) : เป็นกิจกรรมที่หญิงตั้งครรภ์ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างปลอดภัย อีกทั้งยังมีประโยชน์เพราะเป็นการออกกำลังกายประเภทหนึ่งที่สามารถลดแรงกระแทก สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว และสามารถลดอาการปวดหลังในหญิงตั้งครรภ์ได้ รวมถึงช่วยพยุงไม่ให้กล้ามเนื้อไม่เกิดการบาดเจ็บขณะมีกิจกรรมทางกาย จึงเหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์มีขนาดของท้องที่โตขึ้นเรื่อย ๆ  การแอโรบิกในน้ำต้องมีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม ตั้งแต่ยังไม่ลงน้ำ โดยทุกขั้นตอนจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ การแอโรบิกในน้ำควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  (Marcin, 2018; Michael phelps signature swim spas, 2022; Tommy’s, 2023)

1. อบอุ่นร่างกายบนบก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะลงน้ำ ด้วยการยืดเหยียด บริหารคอ ไหล่ หลัง น่อง หัวเข่า เท้า และข้อเท้าเป็นเวลา 5-7 นาที

2. อบอุ่นร่างกายในน้ำ เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับอุณหภูมิในน้ำ และรู้สึกสุขสบาย ด้วยการเดินในน้ำ ก้าว กระโดด เดินไปข้างหน้า และถอยหลังเป็นระยะเวลา 5-10 นาที

3. เคลื่อนไหวร่างกายในน้ำด้วยท่าที่สบาย เช่น การเดิน การวิ่ง การเต้น เป็นต้น เป็นระยะเวลา 20 นาที

4. ปรับสภาพร่างกายด้วยการหายใจเข้าออกช้า ๆ แบบผ่อนคลายเป็นระยะเวลา 5 นาที

5. ก่อนหยุดแอโรบิกในน้ำควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลายแบบสบายเป็นระยะเวลา 5 นาที


ที่มาภาพ : https://michaelphelpsswimspa.com/blog/water-exercise-pregnancy/

โยคะยืดเหยียดกล้ามเนื้อสำหรับหญิงตั้งครรภ์: ท่าโยคะก่อนคลอดทั่วไปที่ส่งเสริมการยืดเหยียดและ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ที่เชื่อมโยงกับการหายใจของหญิงตั้งครรภ์ สามารถทำได้ 3 ท่าง่าย ๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ (Guckes, 2020; Pampers, 2019; Wilson, 2018)

ท่ายืดเหยียดแบบแมว/ วัว: ท่านี้ช่วยลดความรู้สึกไม่สุขสบายบริเวณสะโพก หลัง คอ และไหล่ ซึ่งในท่านี้มีรายละเอียดของการเคลื่อนไหวดังนี้

1. เริ่มต้นคุกเข่าหน้าคว่ำ ให้เข่าและฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง วางที่พื้น โดยวางไหล่ไว้เหนือข้อมือและสะโพกเหนือเข่า ขณะคุกเข่าอาจใช้ผ้ารองใต้เข่าเพื่อความสบายยิ่งขึ้น หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อป้องกันการกดทับหลังส่วนล่างมากเกินไปขณะที่ครรภ์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

2. บริหารท่าแมวด้วยการหายใจออกลึก ๆ  ค่อย ๆ ยกสะโพกและหลังขึ้นให้หลังเป็นแนวโค้งพร้อมกับก้มหน้าลงไปที่พื้น

3. บริหารท่าวัวด้วยการหายใจเข้า กดบริเวณกลางหลังลงทำหน้าท้องหย่อน ๆ หมุนไหล่ด้านนอกเข้าหาไหล่ด้านในแล้วค่อย ๆ เงยหน้าขึ้น

4. ถ้าหญิงตั้งครรภ์รู้สึกไม่สบายที่หลังส่วนล่างระหว่างการบริหารท่าวัว ให้พิจารณาบริหารท่าแมวด้วยการทำโดยให้หลังระนาบกับพื้นแทนการทำเป็นสะพานโค้ง

5. บริหารท่าแมวและท่าวัวสลับกันไปเรื่อย ๆ โดยให้สัมพันธ์กับการหายใจออกบริหารท่าแมว และหายใจเข้าบริหารท่าวัว


ที่มาภาพ: https://www.pampers.com/en-us/pregnancy/prenatal-health-and-wellness/article/prenatal-yoga


ท่านักรบบนเก้าอี้: ท่านี้สามารถช่วยยืดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนขาของหญิงตั้งครรภ์ได้ ซึ่งในท่านี้มีรายละเอียดของการเคลื่อนไหวดังนี้

1. หญิงตั้งครรภ์นั่งบริเวณขอบเก้าอี้ หันขาซ้ายไปทางซ้ายแล้ววางเท้าบนพื้น โดยให้เข่าอยู่เหนือข้อเท้าในระนาบเดียวกัน

2. ยืดขาขวาไปด้านหลังโดยให้กระดูกเชิงกรานอยู่บนเก้าอี้เพื่อความมั่นคง หากเก้าอี้ต่ำเกินไปและหญิงตั้งครรภ์รู้สึกว่ากระดูกเชิงกรานยืดมากเกินไป ให้วางผ้าห่มหรือหมอนไว้ใต้สะโพกได้

3. กางแขนทั้ง 2 ข้างออกด้านข้างให้เป็นแนวขนานกับพื้น โดยให้อยู่ในระนาบเดียวกับหัวไหล่ไม่ยกสูงหรือหย่อนจนเกินไป

4. ทำท่านี้ค้างท่าไว้ 5 ลมหายใจ แล้วค่อยสลับท่าโดยสลับขาไปอีกด้านหนึ่ง ค้างไว้ 5 ลมหายใจเช่นกัน ซึ่งหญิงตั้งครรภ์สามารถทำซ้ำได้ 2-3 ครั้ง
 

ท่ายืนหลังงอ: ท่านี้ช่วยต่อต้านการงอตัวไปข้างหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อขนาดมดลูกของหญิงตั้งครรภ์เติบโตในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งในท่านี้มีรายละเอียดของการเคลื่อนไหวดังนี้

1. หญิงตั้งครรภ์ยืนตัวตรง วางฝ่ามือไว้ที่หลังบริเวณสะโพกแต่ละข้างเพื่อพยุงตัว

2. ค่อย ๆ เอนตัวไปข้างหลังประมาณ 15 ถึง 20 องศา จนกระทั้งหญิงตั้งครรภ์รู้สึกได้ถึงการยืดเหยียดเบา ๆ ของกล้ามเนื้อหลัง

3. ทำท่านี้ค้างไว้ข้างละประมาณ 20 วินาที แล้วเอนตัวกลับมาในท่ายืนตรง หญิงตั้งครรภ์สามารถทำท่านี้ ซ้ำ ๆ ได้ประมาณ 5 ครั้ง ต่อ 1 รอบ
 

การบริหารอุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor muscle exercise): การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางกายที่มีผลดีต่อหญิงตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยเตรียมร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การหย่อนของกล้ามเนื้อที่พยุงมดลูก ภาวะปัสสาวะเล็ด เป็นต้น (Health for under 5s, 2022; Ministry of Health – Manata Hauora, 2015; NCT)

การออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน

1. ปิดทวารหนักเหมือนตอนพยายามห้ามตัวเองไม่ให้ผายลม ในขณะเดียวกันดึงช่องคลอดของคุณขึ้นไปผ่านทางช่องท้อง ให้รู้สึกเหมือนกับว่าช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานถูกยกขึ้นเข้าใกล้สะดือ

2. เริ่มต้นจากการทำเร็ว ๆ เพื่อกระตุกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้กระชับ และคลายกล้ามเนื้อทันที

3. จากนั้นทำแบบเดิม แต่ทำช้า ๆ และค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยคล้ายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

4. ทำแบบนี้ทุก ๆ วันซ้ำ ๆ จำนวน 5-10 ครั้ง นับเป็น 1 รอบ บริหารอุ้งเชิงกรานแบบนี้อย่างน้อย 5 รอบต่อวัน ซึ่งหญิงตั้งครรภ์สามารถบริหารได้ทั้งเวลานั่ง ยืน หรือนอน ขณะดูทีวีตามที่หญิงตั้งครรภ์สะดวก และรู้สึกสุขสบาย

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์

การขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ใช้กระบวนการ 3+1 Actives  ได้แก่ Active People, Active Society, Active Environment, Active System เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประชาชนทุกกลุ่มวัย ซึ่งการดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อน อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สถาบันการศึกษา  ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) รวมถึงเครือข่ายสุขภาพทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเปราะบาง และมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบของความเหลื่อมล้ำการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญของการดูแลผู้หญิงในระยะที่ตั้งครรภ์ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงแนวทางปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและเหมาะสมของหญิงตั้งครรภ์ กลยุทธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อทำให้หญิงตั้งครรภ์มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพราะการมีกิจกรรมทางกายมีประโยชน์ต่อหญิงตั้งครรภ์ อาทิ 1) เตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย 2) ป้องกันภาวะแทรกซ้อน 3) เตรียมคลอดอย่างปลอดภัย และ 4) ปรับสภาพสมดุลร่างกายและสานสัมพันธ์แม่ลูก ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะมีหนุนเสริมให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในหญิงตั้งครรภ์ มีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการดังนี้

ภาพ 2 องค์ประกอบการพัฒนาระบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์

สภาพด้านจิตใจ ซึ่งดำเนินการผ่านการจัดระบบบริการให้สอดคล้องกับกลไกการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้บุคลากรมีศักยภาพ รวมถึงการจัดชุดบริการที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และยิ่งไปกว่านั้นเครื่องมือที่เป็นสื่อและองค์ความรู้สำหรับใช้กับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดที่ให้กับหญิงตั้งครรภ์ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลของการมีกิจกรรมทางกายใน “หญิงตั้งครรภ์” อันนำไปสู่ความแข็งแรงของ “ลูก” ที่กำลังจะเกิดมา และเป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อไป


เอกสารอ้างอิง

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2565). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบ     เฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2555-2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

Debra Rose Wilson. Healthline. (2018, August 7). How to Safely Exercise in the Third Trimester of Pregnancyhttps://www.healthline.com/health/pregnancy/safe-exercise-third-trimester

Evenson, K. R., Barakat, R., Brown, W. J., Dargent-Molina, P., Haruna, M., Mikkelsen, E. M., Mottola, M. F., Owe, K. M., Rousham, E. K., & Yeo, S. (2014). Guidelines for Physical Activity during Pregnancy: Comparisons From Around the World. Am J Lifestyle Med, 8(2), 102-121. https://doi.org/10.1177/1559827613498204

Fell, D. B., Joseph, K. S., Armson, B. A., & Dodds, L. (2009). The impact of pregnancy on physical activity level. Matern Child Health J, 13(5), 597-603. https://doi.org/10.1007/s10995-008-0404-7

Frederick Guckes . (2020, February 13). A trimester-by-trimester guide to safe exercise during pregnancy. The Beacon. https://living.aahs.org/heart-vascular/a-trimester-by-trimester-guide-to-safe-exercise-during-pregnancy/

Harrison, A. L., Taylor, N. F., Shields, N., & Frawley, H. C. (2018). Attitudes, barriers and  enablers to physical activity in pregnant women: a systematic review. J Physiother, 64(1), 24-32. https://doi.org/10.1016/j.jphys.2017.11.012

Health for under 5s. (2022, February 23). 3 pregnancy exercises to try for a healthy body. https://healthforunder5s.co.uk/sections/pregnancy/3-pregnancy-exercises-to-try-for-a-healthy-body/

Lovelace Health System. The Health Benefits of Walking During Pregnancy. https://lovelace.com/news/blog/health-benefits-walking-during-pregnancy

Michael phelps signature swim spas. (2022, February 14). Water exercise for an active pregnancy.  https://michaelphelpsswimspa.com/blog/water-exercise-pregnancy/

Ministry of Health – Manata Hauora. (2015, July 1). Pelvic floor muscle exerciseshttps://www.health.govt.nz/your-health/pregnancy-and-kids/birth-and-afterwards/helpful-advice-birth-and-afterwards/pelvic-floor-muscle-exercises

MomJunction. (2023, May 23). 8 Health Benefits Of Walking During Pregnancy & Tips To Follow. https://www.momjunction.com/articles/amazing-benefits-of-walking-during-pregnancy_00211/

MomJunction. (2023, May 23). 8 Health Benefits Of Walking During Pregnancy & Tips To Follow. https://www.momjunction.com/articles/amazing-benefits-of-walking-during-pregnancy_00211/

Pampers. (2019, October 1). Prenatal Yoga: What You Can Do in Each Trimester.  https://www.pampers.com/en-us/pregnancy/prenatal-health-and-wellness/article/prenatal-yoga

Parents. (2023, June 24). Pregnancy Walking Workouts for Every Trimester and Fitness Level. https://www.parents.com/pregnancy/my-body/fitness/easy-pregnant-walking-workouts/

The national charity for pregnancy, birth and early parenthood. Pelvic floor and stomach exercises in pregnancy. https://www.nct.org.uk/pregnancy/exercise-and-fitness/pelvic- floor-and-stomach-exercises-pregnancy

Tommy’s. (2023, May 29). Swimming in pregnancyhttps://www.tommys.org/pregnancy- information/im-pregnant/exercise-in-pregnancy/swimming-pregnancy

World Health Organization. (2023, 22 February). Maternal mortality. WHO. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/maternal-mortality

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย