23 มีนาคม 2566

ข่าวประชาสัมพันธ์, ประชาสัมพันธ์

ความร่วมมือข้ามศาสตร์ 5 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และคณะวิทยาศาสตร์

 


      เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 9:00 – 12:00 น. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัด ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาและผู้ร่วมวิจัย โครงการการสังเคราะห์กลไกต้นแบบของชุมชน และพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในการประชุม พร้อมกับ รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และการคลังและพัสดุ ที่ปรึกษาโครงการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยข้ามศาสตร์และให้แนวคิดการพัฒนางานวิจัย ณ ห้องประชุมสระบัว สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

      โดยการประชุมในครั้งนี้ รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) และคณะนักวิจัยทีแพค ได้นำเสนอที่มาและความสำคัญของของโครงการฯ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะทำงาน ประกอบด้วย ดร.ดิยาฮ์ อนันตาเลีย วิดยาสตาริ และ ดร.นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เจตน์สว่าง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล, รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ร่วมกับบริษัทพ็อพเมด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.มนต์ชัย โชติดาว วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

      ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือข้ามศาสตร์ 5 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อดำเนินงานโครงการวิจัยการสังเคราะห์กลไกต้นแบบของชุมชนและพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน สาขาสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม ที่ใช้องค์ความรู้และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการมีกิจกรรมทางกาย ตลอดจนสังเคราะห์กลไกการบริหารจัดการของชุมชน ทั้งยังใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การใช้ห้องทดลองเชิงปฏิบัติการ และใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อให้ได้ต้นแบบสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิผล พัฒนานวัตกรรม และทราบความคุ้มค่าของการดำเนินงานที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดทางสุขภาพต่าง ๆ