12 พฤศจิกายน 2567

ข่าวประชาสัมพันธ์, ประชาสัมพันธ์

12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย

“12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย”

      ม.มหิดลเผย 12 ปี ข้อมูลกิจกรรมทางกาย หนุนนโยบายสุขภาพคนไทย สานต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่สร้าง Real World Impact

     วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงสถานการณ์ “12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย”

 

     โดย รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ในงานแถลงสถานการณ์ "12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย” โดยระบุว่า สถาบันฯ ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการริเริ่มและพัฒนางานวิจัยที่ครอบคลุมวิถีชีวิตสุขภาวะของประชากรไทยครบทุกกลุ่มวัย โดยมีฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2555 โดยในการดำเนินงานตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างระบบฐานข้อมูลที่มีความเป็นมาตรฐานในระดับสากล ทำให้เราสามารถติดตามสถานการณ์ด้านการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยได้อย่างเป็นปัจจุบัน และนำข้อมูลไปใช้สนับสนุนการวางแผนและกำหนดนโยบายการส่งเสริมสุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยมีการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้วางรากฐานงานวิจัย ความเป็นเลิศทางวิชาการที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งประสบการณ์ กระบวนการทำงาน องค์ความรู้ และชุดข้อมูลที่มีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากร สังคม และเศรษฐกิจ ในระดับประเทศ ภูมิภาคเอเชีย และระดับสากล โดยมีบทบาทสำคัญในการจัดทำข้อมูลเพื่อสนับสนุนการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มีการสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ พัฒนาเครื่องมือและระบบฐานข้อมูลที่สามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง และการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ จนเกิดเป็นรูปธรรมที่สร้างผลกระทบต่อสังคมได้จริง

  

     ด้าน รศ. ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) ได้นำเสนอข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการมีกิจกรรมทางกาย ของ 5 กลุ่มที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ว่างงานหรือไม่มีอาชีพ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 5 ปี) มีเพียงร้อยละ 25.4 หรือประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ และในปี 2566 พบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 22.5

      สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน (อายุ 5-17 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด พบว่ามีเพียงร้อยละ 21.4 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอในปี 2566 โดยมีค่าเฉลี่ยรวม 12 ปีคิดเป็นเพียงร้อยละ 23.1 ขณะที่ประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุ 18-59 ปี) มีร้อยละการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 70.7 และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ร้อยละ 68.9 นอกจากนี้ ยังพบความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม ผู้หญิง ผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน และผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่เข้าถึงพื้นที่สุขภาวะได้ยาก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

  

     มากไปกว่านั้น จากการประเมินนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย พบว่ามีสามด้านที่ยังมีคะแนนต่ำที่สุดและต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนแบบองค์รวม (Whole-of-school approach) การริเริ่มในระดับชุมชน (Community-wide initiative) และการบูรณาการกับระบบสาธารณสุข (Healthcare)

     นอกจากนี้ ยังชี้แนะแนวทางและโอกาสในการอุดช่องว่างของการดำเนินนโยบาย (Gap of Implementation) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้กิจกรรมทางกายเป็นวาระสำคัญระดับชาติ และสร้างความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างในการดำเนินงาน (ให้เกิดความเสมอภาคในทุกกลุ่มประชากร โดยการทำงานในระยะต่อไปจะต้องมุ่งเน้นทั้งการฟื้นฟู การคงระดับ และการกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

     ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสานต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่สร้าง Real World Impact และ Academic Impact เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)" พร้อมเน้นย้ำว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำใหม่ของสังคมไทย และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของคนไทยในทุกพื้นที่ของประเทศไทยต่อไป