25 ธันวาคม 2566

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

5817

WalkShop: เครื่องมือส่งเสริมการจัด Healthy Active Meeting

WalkShop คืออะไร

“WalkShop เป็นรูปแบบการประชุมที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้เข้าร่วมและองค์กร
โดยนอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพกาย และใจของผู้เข้าร่วมแล้ว
ยังสอดคล้องกับกรอบการทำงาน 3 Actives ซึ่งเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในทุกระดับ”

WalkShop คือ การประชุมหรือการอภิปรายที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้เข้าร่วมกำลังเดิน แทนที่จะจำกัดให้อยู่แค่ในห้องประชุมแบบเดิม ๆ สู่การอภิปรายและการระดมความคิดกลางแจ้ง หรือการเดินไปคุยไปเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สูดอากาศบริสุทธิ์ และเคลื่อนไหวร่างกายเป็นการเติมพลังให้กับร่างกายและจิตใจ เนื่องจากการเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมแบบเดิมที่ต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่อุดอู้ ไปสู่สภาพแวดล้อมภายนอกที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติสามารถช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วม นำไปสู่การประชุมที่มีประสิทธิผลและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ WalkShop ยังดำเนินการภายใต้กรอบการทำงาน 3 Actives ดังนี้

สร้างโอกาสต่อการมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคล (Active People): ส่งเสริมให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการมีกิจกรรมทางกาย โดย WalkShop เป็นการสนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานได้หยุดพักจากการนั่งโต๊ะในช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการได้ออกไปเดินเล่นสบาย ๆ หรือการเดินไป ประชุมไป โดยเป้าหมายหลักคือ การลดเวลาที่บุคคลต้องนั่งอยู่กับที่ และมีโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น

สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active Environments): การสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นและเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย จุดมุ่งหมาย คือ การที่ผู้คนสามารถมีกิจกรรมทางกายได้โดยไม่จำกัดอยู่เพียงสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น เช่น ศูนย์กีฬา แต่ให้เป็นเรื่องที่ผู้คนสามารถทำได้ทุกสถานที่ และทุกเวลาในชีวิตประจำวัน

สร้างบรรทัดฐานสังคมที่ไม่เนือยนิ่ง (Active Society): เน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวทางที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนทำให้เกิดความตระหนักว่าความเป็นอยู่ที่ดีเป็นงานที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน โดยไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชนอีกด้วย

กิจกรรมทางกายเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกกลุ่มวัย คู่มือ WalkShop ที่จัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมทางกายในรูปแบบการประชุมที่ส่งเสริมสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนวัยทำงานด้วยการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การต้องนั่งทำงานที่โต๊ะเป็นเวลานาน และเพิ่มโอกาสในการมีกิจกรรมทางกาย โดยคู่มือ WalkShop ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประโยชน์ของ WalkShop แนวทางการจัดกิจกรรม WalkShop ตัวอย่างเส้นทาง WalkShop ที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อองค์กรต่าง ๆ ที่กำลังมองหาแนวทางเพื่อส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

WalkShop สำคัญอย่างไร (ทำไมต้อง WalkShop)

WalkShop ถือเป็นรูปแบบการประชุมที่แปลกใหม่ มีความน่าสนใจ มีความยืดหยุ่น และสะดวกต่อการใช้งานสามารถปรับใช้ได้กับการประชุมทุกประเภท โดยพิจารณาจากเนื้อหา และวาระการประชุมที่ไม่จำเป็นต้องมีการนำเสนออย่างเป็นทางการ ไม่ต้องใช้เอกสาร หรืออุปกรณ์ประกอบการประชุมซึ่งการได้ประชุมขณะที่กำลังเดินนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิจดจ่อกับเนื้อหาการประชุมมากกว่าการนั่งประชุมอยู่ในห้อง เนื่องจากสมองได้รับออกซิเจนมากขึ้นจากการเดิน และช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการนั่งนาน ๆ ส่งผลให้การประชุมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น นอกจากนี้ WalkShop ยังช่วยเพิ่มเวลาในการมีกิจกรรมทางกาย ช่วยลดความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ

 

WalkShop เหมาะกับใคร

วัยผู้ใหญ่ (18 - 59 ปี) ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมทางกายระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ (ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และคณะ, 2563) อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมชาติของคนวัยนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานมักจะมีกิจวัตรประจำวันที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานาน ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะใช้ชีวิตแบบมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง และระดับกิจกรรมทางกายที่ต่ำ จึงอาจกล่าวได้ว่าสภาพแวดล้อมการทำงานของ “มนุษย์เงินเดือน” ในทุกวันนี้ มีลักษณะที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases: NCDs) เมื่อตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) จึงได้ร่วมกันหาแนวทางที่จะช่วยเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายให้กับกลุ่มคนวัยทำงาน ด้วยการนำเสนอ “WalkShop” หรือแนวคิดเดินประชุม (Walking Meeting) ให้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากขึ้น

สำหรับคนวัยทำงานนั้น การหาวิธีที่จะทำให้ร่างกายคงความแข็งแรง และมีประสิทธิผลการทำงานให้อยู่ในระดับที่ดีไปพร้อมกันเป็นเรื่องที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม WalkShop เป็นแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ในการผสมผสานเรื่องของการมีกิจกรรมทางกายให้เข้ากับสถานที่ทำงาน ก่อให้เกิดเป็นหนทางที่สดใหม่ในการบูรณาการความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกัน

หน่วยงานที่สามารถนำแนวคิด WalkShop ไปใช้

หน่วยงานต่าง ๆ สามารถประยุกต์ใช้แนวคิด WalkShop ได้ตามความต้องการและวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานชุมชน เช่น อบต. เทศบาล ชุมชน ล้วนสามารถใช้แนวคิด WalkShop กับการประชุมประเภทต่าง ๆ เช่น การหาแนวทางเกี่ยวกับแผนงาน งานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องการระดมความคิดเห็นใหม่ ๆ เพื่อการตัดสินใจ เป็นต้น เนื่องจากการได้พูดคุยในสถานที่ใหม่ ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นการเดินประชุมในที่โล่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย เป็นบรรยากาศที่เปิดกว้าง ซึ่งเอื้อต่อการแสดงความคิดเห็น สิ่งนี้ช่วยปรับอารมณ์ความกังวล และลดความเครียดของผู้เข้าร่วมการประชุมได้ดี รวมทั้งในระหว่างการเดินยังก่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมมากขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับหน่วยงานการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่าง ๆ การนำ WalkShop ไปใช้จะเป็นรูปแบบการประชุมที่ช่วยให้นักศึกษา และอาจารย์สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งไม่เป็นทางการมากขึ้น มากกว่าการพูดคุยแบบนั่งประชุมในห้อง ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาและอาจารย์สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์กันได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

 

ประโยชน์จากการจัดกิจกรรม WalkShop

“WalkShop ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของจิตใจ ลดความเครียด
เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และให้ความรู้สึกถึงความสมดุล”

สิ่งที่ทำให้ WalkShop แตกต่าง คือ แนวทางแบบองค์รวมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ใช่แค่ความต้องการที่จะลดแคลอรี่หรือการนับก้าวเท่านั้น แต่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตและสมรรถภาพทางกาย พร้อมกับการปรับปรุงการทำงาน ซึ่งมีประโยชน์หลายประการ (Oppezzo&Schwartz, 2014; Damen et al., 2020; Bornioli, 2023) ดังนี้

1. เพิ่มสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงาน: การเดินระหว่างการประชุมสามารถเพิ่มการทำงานของการรับรู้ และความสนใจต่องานได้ เนื่องจากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และเพิ่มออกซิเจนในสมองส่งผลให้มีสมาธิ ความจำ และความสามารถในการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ดังนั้นการรวมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การเดินเข้ากับการประชุมสามารถส่งผลให้ผู้เข้าร่วมจดจ่อ และมีส่วนร่วมในการประชุมได้ดียิ่งขึ้น

2. เพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มใหม่ ๆ: การเดินระหว่างการประชุมช่วยกระตุ้นความคิด เนื่องจากสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ และบรรยากาศที่ผ่อนคลายจะช่วยเปิดมุมมองและส่งเสริมการคิดนอกกรอบ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์

3. ช่วยให้มีร่างกายที่แข็งแรง: ในสังคมที่ผู้คนมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง การบูรณาการการออกกำลังกายที่เหมาะสมเข้ากับกิจวัตรประจำวันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการเดินเป็นกิจกรรมทางกายที่สามารถรวมเข้ากับวันทำงานของกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ได้อย่างง่ายดาย โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยนี้สามารถช่วยลดระดับความเครียด ปรับปรุงสุขภาพหัวใจ หลอดเลือด และส่งเสริมความเป็นอยู่โดยรวมได้

4. ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล: WalkShop ช่วยให้สมาชิกในทีมทำงานร่วมกัน และโต้ตอบกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการได้อยู่นอกห้องประชุมสู่บรรยากาศที่สบาย ๆ จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้าง ความไว้วางใจ และการแบ่งปันความคิด โดยปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการนี้ สามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานเชิงบวก และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน

นวัตกรรมน่าสนใจที่จะมาช่วยส่งเสริม WalkShop ได้ดียิ่งขึ้น

การเดินเป็นวิธีหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพการทำงานที่ได้รับการศึกษาจากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขที่จูงใจให้คนเดินเยอะขึ้น แนวทางการดำเนินงาน ความเป็นไปได้ รวมถึงมุมมองของผู้คนที่มีต่อ WalkShop เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มาสนับสนุน WalkShop เป็นการเน้นย้ำถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน ตัวอย่างของเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก และส่งเสริมให้เกิด WalkShop เช่น แอปพลิเคชัน “Brainwolk” และ “Walking metro” เป็นต้น ซึ่งแอปพลิเคชันเหล่านี้รวมคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ แสดงแผนที่เส้นทางเดิน การนำเทคโนโลยี VR มาช่วย ให้สามารถออกกำลังกายในโลกเสมือน และระบบให้รางวัล (Damen et al., 2020; Ahtinen et al., 2017; Ahtinen et al., 2016; Ahtinen et al., 2016) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ WalkShop เป็นที่ยอมรับและสนุกสนานมากขึ้น

ในขณะที่นวัตกรรมหรือความสนใจที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดี แต่ชัดเจนว่าจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้ เช่น การยอมรับทางสังคมต่อการแทรกแซงการประชุมด้วยการเดิน ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทาย และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบเทคโนโลยีที่รองรับการประชุมแบบเดิน ตลอดจนพื้นที่ใช้งานอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การผสานกิจกรรมทางกายเข้ากับสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีศักยภาพที่จะส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพ และประสิทธิผลของพนักงานทำให้เป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การศึกษา และพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง


แนวทางการพัฒนา WalkShop ในอนาคต

สภาพอากาศ เครื่องมือสนับสนุนการจดบันทึก
และวิธีการนำเสนอระหว่างการเดินประชุม
เป็นความกังวลที่สำคัญสำหรับการจัด WalkShop

จากการศึกษาของ Damen et al. (2020) ได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญที่ต้องปรับปรุงสำหรับการจัด WalkShop ซึ่งพบว่าสภาพอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะทั้งในวันที่ฝนตกหนักหรือแดดร้อนจัด แนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ เช่น การเตรียมเส้นทางในร่ม หรืออุปสรรคเกี่ยวกับเครื่องมือที่สนับสนุนการจดบันทึก และการนำเสนอระหว่างการเดินประชุมถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พบบ่อย บ่งชี้ถึงความต้องการเทคโนโลยีที่สามารถอำนวยความสะดวกในด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระยะทางที่เป็นแนวตั้ง เช่น จำนวนชั้นที่ต้องเดินขึ้นในอาคาร เป็นอุปสรรคต่อการประชุมในการเดินมากกว่าระยะทางแนวนอน

อาจกล่าวได้ว่า WalkShop ยังต้องมีการพัฒนา ด้วยแนวทางแบบองค์รวมที่สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ การสนับสนุนเทคโนโลยี การออกแบบสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทาง คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประยุกต์ใช้ เช่น การใช้แอปพลิเคชันเพื่อติดตามเส้นทางการเดิน การออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินและปลอดภัยขึ้น การจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบุคคลที่มีความทุพพลภาพ เป็นต้น โดยแนวทางสำหรับการพัฒนาเครื่องมือและกลยุทธ์นี้ จะช่วยพัฒนาการเข้าถึง และประสิทธิภาพของ WalkShop ได้ดียิ่งขึ้น

"คู่มือกิจกรรม WalkShop" ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของกลุ่มคนวัยทำงานให้มีโอกาสที่จะมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ด้วยการบูรณาการการเดินเข้ากับกิจวัตรของการทำงาน หน่วยงาน หรือผู้ที่สนใจสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ประโยชน์ และแนวทางในการดำเนินการ WalkShop เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมการทำงานที่กระฉับกระเฉง และสังคมของการมีสุขภาพดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

แนวทางสำหรับหน่วยงาน ในการนำกิจกรรม WalkShop ไปใช้

การนำแนวคิด WalkShop ไปใช้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาบริบทเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน และเตรียมความพร้อมของบุคลากรอย่างเหมาะสม ซึ่งหากท่านสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการนำ WalkShop ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน สามารถติดต่อศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการขอคำแนะนำที่เจาะลึกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ WalkShop รวมถึงจัดการฝึกอบรมอย่างครอบคลุมเพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ แนวปฏิบัติ และเทคนิคสำหรับการจัด WalkShop ที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เอกสารอ้างอิง

Ahtinen, A., Andrejeff, E., & Väänänen, K. (2016). Brainwolk: a mobile technology mediated walking meeting concept for wellbeing and creativity at work Proceedings of the 15th International Conference on Mobile and Ubiquitous Multimedia, Rovaniemi, Finland. https://doi.org/10.1145/3012709.3016062

Ahtinen, A., Andrejeff, E., Harris, C., & Väänänen, K. (2017). Let's walk at work: persuasion through the brainwolk walking meeting app Proceedings of the 21st International Academic Mindtrek Conference, Tampere, Finland. https://doi.org/10.1145/3131085.3131098

Ahtinen, A., Andrejeff, E., Vuolle, M., & Väänänen, K. (2016). Walk as You Work: User Study and Design Implications for Mobile Walking Meetings Proceedings of the 9th Nordic Conference on Human-Computer Interaction, Gothenburg, Sweden. https://doi.org/10.1145/2971485.2971510

Bornioli, A. (2023). The walking meeting: opportunities for better health and sustainability in post-COVID-19 cities. Cities & Health, 7(4), 556-562. https://doi.org/10.1080/23748834.2022.2050103

Damen, I., Lallemand, C., Brankaert, R., Brombacher, A., Wesemael, P. v., & Vos, S. (2020). Understanding Walking Meetings: Drivers and Barriers Proceedings of the 2020 CHI Conference on Human Factors in Computing Systems, Honolulu, HI, USA. https://doi.org/10.1145/3313831.3376141

Oppezzo, M., & Schwartz, D. L. (2014). Give your ideas some legs: the positive effect of walking on creative thinking. J Exp Psychol Learn Mem Cogn, 40(4), 1142-1152. https://doi.org/10.1037/a0036577

ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และคณะ. (2563). คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 1. สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่งจำกัด. (เอกสารทางวิชาการ/สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; หมายเลข 515) ISBN 978-616-443-449-3

SHARE

ผู้เขียน
พนิตชญา ลิ้มศิริ


ณัฐพร นิลวัตถา


อัญญารัตน์ คณะวาปี


รุ่งรัตน์ พละไกร


รัตนา ด้วยดี


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่