28 พฤษภาคม 2564

ปัญญา ชูเลิศ

9482

ช่วงเวลาทองแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ : ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าในช่วงรอเปิดเรียน

เดือนพฤษภาคมปีนี้กับปีที่แล้วมีสถานการณ์ที่คล้ายกันมากคือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศได้ส่งผลกระทบให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปและเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน แต่โชคดีที่ตอนนี้เรามีวัคซีนทางเลือกมากมายที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้แล้ว รวมถึงเด็ก ๆ เริ่มคุ้นชินกับการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ แต่หลายครอบครัวยังขาดข้อมูลว่าจะจัดสรรเวลาการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของเด็กๆ เมื่อต้องอยู่ที่บ้านไม่ได้ไปโรงเรียนให้ลงตัวได้อย่างไร ที่สำคัญคือ หลายครอบครัวกังวลกับพฤติกรรมการติดเกม ติดมือถือ ติดแท็ปเล็ตของบุตรหลานที่ดูเหมือนจะมากขึ้นทุกที...!!!

เทคนิคง่ายๆ ที่ทุกๆ ครอบครัวสามารถทำได้คือ จัดตารางเวลากิจกรรมในแต่ละวันให้กับบุตรหลานของตนให้เหมาะสมกับระดับการเรียนรู้และธรรมชาติของพวกเขา ซึ่งจะว่าไปสิ่งนี้ก็เทียบเคียงได้กับวัคซีนที่จะช่วยสร้างภูมิแห่งการเรียนรู้ ป้องกันไม่ให้เด็กๆ ลืมเนื้อหาในบทเรียน

การจัดตารางกิจกรรมประจำวันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วโลกนิยมใช้ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมในแต่ละวัน แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นสมองของเด็กมีความพร้อมต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การจัดตารางเวลาให้เหมาะสมจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น จากการทบทวนองค์ความรู้ทางวิชาการและจากงานวิจัยต่าง ๆ สามารถแบ่งช่วงเวลาการทำกิจกรรม เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ “เล่น เรียน รู้” อย่างมีความสุข โดยอาศัยเทคนิคการจัดวางกิจกรรมต่างๆ ให้ตรงกับ “ช่วงเวลาทอง” ที่มีในแต่ละวันดังนี้

เวลาทอง คืออะไร ช่วงไหนคือเวลาทอง ???

ผลจากการศึกษาและทบทวนเกี่ยวกับช่วงเวลาการเรียนรู้ของกลุ่มนักเรียนอายุระหว่าง 7 ถึง 18 ปี ใน 33 ประเทศทั่วโลก พบข้อสรุปที่น่าสนใจคือ ในแต่ละวันจะมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเรียนรู้ของเด็กในวัยดังกล่าว อยู่เพียงแค่ 2 ช่วง คือ 1) ช่วงเช้าระหว่างเวลา 9.00 – 11.00 น. และ 2) ช่วงบ่ายระหว่างเวลา 15.00 – 16.00 น. โดยในช่วงเวลาเหล่านี้ ผลจากการวิจัยพบว่า เด็กๆ จะมีสมาธิและระดับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในเรื่องหรือเนื้อหาที่เน้นวิชาการหรือการคิดเชิงวิเคราะห์ที่มีความสลับซับซ้อน จึงถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการเรียนรู้ของเด็กๆ นั่นเอง (1)

อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองเองต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กในแต่ละวัยก็จะมีช่วงระยะเวลาของสมาธิที่จดจ่อสั้นยาวแตกต่างกันออกไป เด็กชั้นประถมศึกษา 1 ถึง 2 อาจมีช่วงสมาธิที่สูงที่สุดประมาณ 20 – 25 นาที ขณะที่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นช่วงสมาธิก็จะยาวนานขึ้นตามลำดับ

แล้วแบบนี้ ช่วงเวลาอื่นๆ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยหรือ ???

ตามที่กล่าวไปข้างต้น หากผู้ปกครองทราบเทคนิคการจัดตารางเวลาให้เหมาะกับการ เล่น เรียน รู้ ของเด็กๆ ก็จะสามารถจัดสรรเวลาในทั้งวันให้เป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของบุตรหลานได้เป็นอย่างดี โดยในแต่ละช่วงวันก็หากิจกรรมที่สัมพันธ์กับระดับการเรียนรู้ในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้

7.00 น. และ 17.00 น. ช่วงเวลาฝึกวินัยและความรับผิดชอบ

ช่วงเวลาเช้าก่อนที่เด็ก ๆ ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และช่วงเวลาเย็นหลังกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมกิจกรรม และฝึกความรับผิดชอบให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบต่อตนเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน หรือการช่วยเหลืองานบ้าน และรวมถึงการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นและมีความสุขอยู่กับหน้าจอ (ที่เขารัก) ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่จำเป็นจะต้องกำหนดเวลาและกติกาการใช้หน้าจอให้ชัดเจน และควรฝึกให้เป็นนิสัย

8.00 น. และ 14.00 น. สมองยังไม่พร้อมควรกระตุ้นด้วยการเล่น

ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่สมองของเด็ก ๆ ยังไม่พร้อมกับการเรียนรู้ ดังนั้น ควรจัดตารางกิจกรรมในช่วงเวลานี้สำหรับให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมอง ซึ่งกิจกรรมที่ง่ายที่สุดและสร้างความสนุกและความผ่อนคลายให้กับเด็กจากความเครียดคือ การให้เด็ก ๆ ได้ออกไปเล่น หรือแม้นกระทั่งการเดินเล่นก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองของเด็ก ๆ ได้ดีเช่นกัน โดยผลจากการศึกษาวิจัยด้วยการสแกนคลื่นสมองของเด็ก พบว่า การให้เด็กได้ออกไปเดินเล่นเพียง 20 นาที สามารถช่วยกระตุ้นให้สมองของเด็กมีความพร้อมกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น (2)

9.00 – 11.00 น. และ 15.00 น. ช่วงเวลาทองของการเรียนรู้

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าช่วงเวลาเช้า 8.00 – 9.00 น. สมองของเด็ก ๆ พร้อมกับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด แต่ในความจริงแล้วช่วงเวลาซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “เวลาทอง” คือสมองของเด็กมีความพร้อมกับการเรียนรู้มากที่สุดคือช่วงเวลา 9.00 – 11.00 น. และ 15.00 น. ซึ่งในช่วงเวลานี้เราควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในวิชาที่ยากและต้องใช้สมองเพื่อการคิดวิเคราะห์ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

13.00 น. ช่วงเลาแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

ในช่วงเวลาบ่ายโมงเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานจำนวนมากเพื่อมาเผาผลาญอาหารที่เด็ก ๆ ได้รับประทานเข้าไป จึงไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กเรียนรู้วิชาที่ยาก ในช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมอย่างมากที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ รวมถึงกิจกรรมศิลปะและดนตรี อันจะช่วยเติมเต็มความสุขและรอยยิ้มให้กับเด็ก ๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

16.00 น. ออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก

กิจกรรมทางกายนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่สมวัยของเด็ก ๆ นอกจากเด็ก ๆ จะต้องมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักให้ได้อย่างน้อย 60 นาทีทุกวันแล้ว เด็ก ๆ จำเป็นจะต้องทำกิจกรรมทางกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ (3) ซึ่งกิจกรรมทางกายเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ช่วยดึงเด็กให้ออกมาจากการอยู่กับหน้าจอได้เป็นอย่างดี และหากเป็นไปได้พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการเล่น หรือสนับสนุนการเล่นของเด็ก ๆ

จะเห็นได้ว่า การจัดตารางกิจกรรม “เล่น เรียน รู้” เปรียบเป็นเหมือนตารางกิจกรรมที่จะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ทั้งในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ รวมถึงช่วงเวลาปกติที่เด็กต้องอยู่ที่บ้านในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม เสมือนเป็น Vaccinate Yourself ที่เราทำได้เอง โดยไม่ต้องรอให้คุณหมอหรือใครมาฉีดวัคซีนให้เรา สามารถดาวน์โหลดตาราง “เล่น เรียน รู้” ได้ที่  https://bit.ly/3bV6sE8


อ้างอิง

1. Gromada A, Shewbridge C. Student learning time: A literature review. 2016.

2. Hillman CH, Pontifex MB, Raine LB, Castelli DM, Hall EE, Kramer AF. The effect of acute treadmill walking on cognitive control and academic achievement in preadolescent children. Neuroscience. 2009;159(3):1044-54.

3. Bull FC, Al-Ansari SS, Biddle S, Borodulin K, Buman MP, Cardon G, et al. World Health Organization 2020 guidelines on physical activity and sedentary behaviour. British journal of sports medicine. 2020;54(24):1451-62.

 

SHARE

ผู้เขียน
ปัญญา ชูเลิศ


[email protected]

ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]