19 กรกฎาคม 2564

อ.บอล ปิยวัฒน์

3020

SandBox-สร้างกระบะทรายไว้ที่บ้าน

เพราะเด็ก ๆ เรียนรู้จากการลงมือทำ

กระบะทรายจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างปลอดภัยในช่วงโควิด-19

กระบะทรายสร้างได้ไม่ยาก ใช้พื้นที่ไม่มาก และต้นทุนไม่สูง

จำได้ว่า...ตอนเด็ก ๆ พ่อของผมจะคอยหาทรายกองย่อม ๆ มากองไว้หน้าบ้านให้ผมกับน้องเอาไว้เล่น แล้วเอาไม้มากั้นล้อมรอบให้เป็นกระบะเพื่อกันไม่ให้ทรายไหลหรือปลิวไปที่อื่น กระบะทรายกลายเป็นของเล่นชิ้นใหญ่ที่ผมกับน้องใช้เล่นกันโดยไม่รู้จักเบื่อ เล่นได้ตั้งแต่ตักทรายใส่รถบรรทุกของเล่นวิ่งวนไปมา ปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ หรือใช้เล่นต่อสู้กระโดดทิ้งตัวลงบนกองทรายกองนั้น พอไปที่โรงเรียนก็จำได้ว่าคุณครูเคยให้ไปหากล่องขนาดใหญ่มาตัดแล้วเอาทรายเทใส่ แล้วออกแบบเมืองจำลอง ประดิษฐ์สวนหย่อมจำลองบนกระบะทรายใบนั้น...นี่คือความทรงจำของผมเกี่ยวกับกระบะทราย (sandbox) ที่อยู่หน้าบ้าน

เรื่องราวของกระบะทราย (Sandbox) อันกำลังโด่งดังในประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1885 จากความตั้งใจดีของกลุ่มสตรีอาสาการกุศลกลุ่มเล็ก ๆ ชาวอเมริกันในย่าน Boston’s North End ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มองเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการเล่นของเด็ก ๆ ที่เป็นบุตรหลานของแรงงานผู้ย้ายถิ่นที่อาศัยอยู่ในชุมชน “ให้มีพื้นที่ในการเล่นอย่างปลอดภัย” ไม่ต้องไปเสี่ยงอันตรายจากการสัญจรของยานพาหนะบนท้องถนนที่เริ่มหนาแน่นขึ้นทุกขณะ จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อระดมทุนเพื่อซื้อทรายมาเทบริเวณลานโล่งหน้าโบสถ์ที่ตั้งอยู่บนถนน Parmenter โดยได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดการสร้าง “สวนทราย (sand garden) ในสวนสาธารณะเมือง Berlin ประเทศเยอรมนี ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นราว 30 ปี (ปี 1847) ในช่วงเริ่มแรกนั้น การสร้างกระบะทรายก็จะทำแบบง่าย ๆ เพียงนำทรายมาเทในกระบะไม้และนำของเล่นตามธรรมชาติ หรือของเล่นไม้ไม่กี่อย่างมาวางไว้ จากนั้นปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระอยู่ในกระบะ จะไม่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์การเล่นประเภทบาร์โหน ชิงช้า ม้าหมุน หรือกระดานลื่น อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน [1]

ผลจากการริเริ่มดังกล่าว ส่งผลให้เรื่องการเล่นของเด็ก ๆ ที่ในขณะนั้นเป็นเรื่องที่ถูกผู้ใหญ่มองข้าม ได้รับการให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการนำแนวคิดกระบะทรายไปประยุกต์ใช้แพร่ขยายกระจายออกไปยังสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน ชุมชน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ หลายแห่ง จากระดับชุมชน สู่ระดับเมือง ขยายเป็นระดับภูมิภาค และระดับประเทศ กระทั่งแพร่หลายกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีการส่งเสริมให้เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อให้พลเมืองวัยเยาว์ได้มีพื้นที่เล่นอย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเมื่อเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคที่กลับกลายมาเป็นกำแพงกีดกั้นการออกไปใช้พื้นที่ในการเล่นและเรียนรู้ของเด็ก ๆ เมื่อโจทย์ของการออกแบบพื้นที่เล่นในวันนี้มีความท้าทายเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของรูปแบบการเล่นที่เหมาะสม การรักษาระยะห่างและการรวมตัวกันเล่นของเด็ก ๆ รวมถึงแนวทางการออกมาใช้พื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ บนสถานการณ์ความไม่มั่นคงและรู้สึกไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะจบเมื่อใด พวกเราทุกคนที่เป็นประชากรผู้ใหญ่ต่างกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจ รายได้ การทำงาน วิกฤตการณ์จัดการวัคซีน ความปลอดภัยจากเชื้อ ตลอดจนเรื่องราวอื่น ๆ จิปาถะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ทว่าสิ่งที่เรามักจะไม่ค่อยได้พูดถึงนักคือ ผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีต่อเด็กและเยาวชนในแง่มุมต่าง ๆ จะมีอยู่บ้างก็คงเป็นเรื่องแนวทางการจัดการเรียนการสอนในช่วงที่ยังเปิดเรียนไม่ได้ ว่าจะเรียนแบบใดถึงจะดีและเหมาะสมที่สุด ขณะที่เรื่องราวของการเล่นของเด็ก ๆ กลายเป็นเรื่องที่แทบจะไม่ได้ยินเสียงพูดถึง

ในช่วงโควิดแพร่ระบาด เสียงของเด็กเงียบที่สุด

เด็กและเยาวชนประมาณ 11.4 ล้านคนของประเทศไทย หรือประมาณร้อยละ 83 กำลังอยู่ในภาวะการขาดการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปในทิศทางที่แย่ลงเมื่อเทียบเคียงกับระยะเวลาของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็ก ๆ โดยตรงทั้งในด้านพัฒนาการการเรียนรู้ ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย สุขภาพจิต ความเครียดและวิตกกังวล รวมถึงการต้องปรับตัวกับช่วงเวลาที่ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่เคยได้เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ในบทความที่ผ่านมาเรื่อง “เล่นกลางโรค” ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในการออกแบบแนวทางการส่งเสริมการเล่นของเด็กในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ว่ามีความสำคัญอย่างไร และใครควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวนี้บ้าง สามารถอ่าน บทความได้ที่… https://www.facebook.com/TPAK.Thailand/photos/325812892367563

เมื่อเด็กก็จำเป็นต้องเล่น พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูก็กังวลเรื่องความปลอดภัย แล้วจะทำอย่างไรดี

อาจถึงเวลาที่จำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้และหยิบเอาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการออกแบบพื้นที่เล่นของเด็กในอดีต มาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พ่อแม่หลายคนกังวล เบื่อที่จะต้องคอยเสาะหาหรือสั่งของเล่นใหม่ ๆ ให้ลูกหลานแทนของเดิมที่พัง เสียหาย หรือเด็ก ๆ เล่นไม่นานก็เบื่อหน่ายทิ้งขว้าง ทั้งนี้ “กระบะทราย (sandbox) อาจเป็นคำตอบที่สามารถดึงดูดความสนใจให้กับเด็ก ๆ ในทุกยุคสมัย โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยของเล่นราคาแพง เพราะเด็ก ๆ จะใช้จินตนาการของเขาในการออกแบบการเล่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดเช่นนี้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถจัดสรรกระบะทรายไว้ในพื้นที่รอบ ๆ บริเวณบ้านให้บุตรหลานของท่านได้ใช้เป็นพื้นที่เล่น ได้สร้างจินตนาการไปพร้อม ๆ กับการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นระบบประสาทสัมผัส โดยไม่ต้องออกไปเสี่ยงในการใช้พื้นที่เล่นนอกบ้าน อย่างไรก็ดี การจะทำกระบะทรายให้ลูกหลานเล่น จำเป็นต้องมีข้อควรใส่ใจและคำนึงถึงดังต่อไปนี้

 

 

จากรายการข้างต้น จะเห็นได้ว่า การออกแบบสร้างกระบะทรายที่บ้าน จะให้ความสำคัญไปที่เรื่องพื้นฐานทั่วไปไม่ยุ่งยาก ผู้ปกครองอาจต้องคอยตรวจตราดูสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตราย เช่น ของมีคม ของแข็ง รวมถึงความสะอาดของทรายจากสิ่งปฏิกูล สำหรับเรื่องหลังคาบังแดด หากมีร่มไม้ชายคาจากตัวบ้านก็สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ ที่สำคัญคือ การสร้างกระบะทรายไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ พื้นที่แคบ ๆ ตามมุมหน้าบ้านก็สามารถใช้เป็นพื้นที่กระบะทรายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามช่วงวัย และจำนวนบุตรหลานในครัวเรือนของท่าน

และหากพ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านกำลังคิดและประเมิน กำลังลังเลในแง่ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ หรือการลงทุนสร้างกระบะทรายนี้จะคุ้มค่าจริงหรือไม่

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจจากการศึกษาและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ในแต่ละช่วงวัยเมื่อได้เล่นกระบะทราย พบว่า เด็ก ๆ จะชอบขุดทรายเป็นหลุมเพื่อเล่น และเอาสิ่งของไปฝังซ่อนไว้ นอกจากนี้หากมีอุปกรณ์เสริมการเล่นให้เด็กๆ ได้ตักและบรรจุทรายเพื่อขนย้ายพวกเขาจะสนุกมาก และได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อไปในตัว เด็กจำนวนมากจะชอบปั้นหรือก่อกองทรายเป็นรูปทรงต่าง ๆ และกระโดดใส่กองทรายที่ตนเองปั้นขึ้นอย่างสนุกสนาน [2]

เมื่อดูตามช่วงวัย พบว่า เด็กเล็ก ๆ อายุประมาณ 2 ขวบจะชอบนำน้ำมาผสมกับทรายในการเล่น เพราะพวกเขากำลังอยู่ในช่วงวัยของการเรียนรู้เรื่องอุณหภูมิอุ่น ร้อน เย็นที่เกิดขึ้นจากการผสมกันของน้ำและทราย ขณะที่เด็กในช่วงวัย 3-4 ขวบ อาจต้องการพื้นที่ของกระบะทรายที่กว้างขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว หากสนับสนุนอย่างถูกวิธีพวกเขาจะมีความเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวร่างกายของตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการและความรอบรู้ทางกายที่จำเป็น ในส่วนของเด็กผู้หญิงในวัยนี้มักจะชอบใช้กองทรายเล่นกิจกรรมทำอาหาร ขายของ และในกลุ่มของเด็กอายุ 4-5 ขวบ จะชอบใช้กองทรายในการก่อปั้นสิ่งของหรือวัตถุตามจินตนาการของตนเอง เช่น ปั้นรถ ปั้นบ้าน ปั้นเครื่องบิน เป็นต้น และในกลุ่มเด็กอายุ 6-7 ขวบ เด็กในวัยนี้จะออกแบบการเล่นในลักษณะของเกมโดยใช้กองทรายเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ประกอบการเล่นตามจินตนาการที่พวกเขาสามารถนึกขึ้นได้ [2]

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า กระบะทรายเป็นเครื่องเล่นที่เหมาะกับเด็กทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ กระบะทรายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ท่านได้มีกิจกรรมทำร่วมกับบุตรหลาน กระบะทรายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพัฒนาการ กระบะทรายลงทุนเริ่มต้นที่หลักร้อยบาท กระบะทรายราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับสินค้าบางชิ้นที่เราสั่งซื้อมาใช้ส่วนตัว และกระบะทรายจะช่วยให้บุตรหลานของท่านไม่ถูกสะกดจิตอยู่หน้าจอ

แนวคิดเรื่องกระบะทราย (sandbox) ที่เริ่มต้นจากเรื่องการเล่นของเด็ก ๆ  ได้กลายมาเป็นต้นแบบที่ได้รับการยอมรับและปรับประยุกต์มาใช้ในแวดวงต่าง ๆ ทั้งในด้านการบริหารธุรกิจ องค์กร สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ที่ประสงค์ที่จะนำจินตนาการ พัฒนาแนวคิด กลยุทธ์ในการดำเนินงานหรือธุรกิจ หรือความรู้ต่าง ๆ มาทำการทดลอง ออกแบบ หรือมาจำลองสถานการณ์ในเชิงการปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามแนวคิดที่ออกแบบไว้บนสภาพแวดล้อมจริงว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเช่นไร ก่อนที่จะมีการนำไปขยายผลใช้ในวงกว้าง จากวันนั้นถึงวันนี้ แนวคิดกระบะทรายได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมโลกอย่างมากมาย ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องนำแนวคิดกระบะทรายมาคืนประโยชน์ให้กับเด็ก ๆ อีกครั้งด้วยการสร้างกระบะทราย เพื่อให้เป็นวัคซีนป้องกันโรคและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในช่วงโควิด...มาสร้างกระบะทรายไว้ที่บ้านกันเถอะครับ

 

บทความโดย อ.บอล ปิยวัฒน์

คอลัมน์ Inspiring Polisee...ส่องนโยบายกิจกรรมทางกายดีดีทั่วโลก นำเสนอบทความเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนจะค้นหาประเด็นเชิงนโยบายที่น่าสนใจและนำมาเล่าสู่กันฟัง (อย่างไม่บิดเบือนเนื้อหา) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การตระหนักขบคิด สร้างแรงบันดาลใจ และแรงกระตุ้นต่อการขับเคลื่อนนโยบายในสังคมไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื้อหาในบทความส่วนหนึ่งจะประกอบด้วยความเห็น การตีความ และการเสนอความเห็นของผู้เขียนที่ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิชาการและการวิจัยเป็นหลัก โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต้นฉบับได้จากรายการอ้างอิงท้ายบทความ

 


เอกสารอ้างอิง

1. ALEXANDRA LANGE. (2018). An Intellectual History of the Sandbox Since 1885, it’s been a place for children—and ideas—to flourish. Available from July 05, 2021. From: https://slate.com/human-interest/2018/06/history-of-the-sandbox-the-origins-of-a-playground-for-kids-and-ideas.html

2. Björn Bergqvist. (2012). INDUSTRIAL DESIGN What is the meaning of a sandbox. available from July 05, 2021. From: http://www.diva-portal.org/smash/get/diva2:605798/FULLTEXT01.pdf

SHARE

ผู้เขียน
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่