23 สิงหาคม 2564

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

4765

Active Play เครื่องมือสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

แม้ช่วงที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เด็กๆ ก็ยังเรียนรู้ได้จากการลงมือทำ

วิลเลี่ยม คัมแควมบ้า (William Kamkwamba) เด็กชายที่เกิดและเติบโตในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของประเทศมาลาวี คือ หนึ่งในตัวอย่างที่น่าประทับใจของการไขว่คว้าที่จะเรียนรู้จากการลงมือทำลงมือเล่น กระทั่งสามารถนำสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ต่อผู้อื่น

วิลเลี่ยมได้มีโอกาสไปเรียนกับเพื่อนๆ ในชั้นมัธยมไม่กี่วัน หลังต้องถูกให้ออกจากโรงเรียน ด้วยพ่อของเขาไม่มีเงินพอสำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมเล่าเรียน วิลเลี่ยมเรียนรู้นอกโรงเรียน เรียนรู้จากการสังเกต เรียนรู้จากการอ่าน เรียนรู้จากการทดลองทำ เรียนรู้จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์

เรื่องราวของ วิลเลี่ยม คัมแควมบ้า ถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อว่า The Boy Who Harnessed the Wind และสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2019

เช่นเดียวกัน จอช เวตซ์กิ้น (Josh Waitzkin) หนุ่มน้อยชาวอเมริกันผู้เติบโตขึ้นมาเป็นนักหมากรุกที่โด่งดัง ก็เรียนรู้และพัฒนาวิธีการเล่นหมากรุกในสไตล์ของต้นแบบ “รุกไว ใจกล้า” มาจากการฝึกฝนการเล่นหมากรุกด้วยความตื่นเต้นและสนุกสนามกับคู่ประลองที่เป็นเซียนหมากรุกในสวนสาธารณะที่เขากับแม่เดินผ่าน แม้ว่าในช่วงต่อมาพ่อและแม่ของเขาได้จ้างครูที่เชี่ยวชาญในตำราหมากรุกมาสอนจอชที่บ้าน แต่ก็กลับกลายเป็นการสร้างความกดดันและปิดกันแรงบันดาลใจและความสนุกสนานของเขา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในหลายครั้งการที่เด็กได้ทดลองทำ ทดลองเล่น ด้วยความตื่นเต้น สนุกสนาน จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ได้อย่างคาดไม่ถึง

หนุ่มน้อย จอช เวตซ์กิ้น ในภาพยนตร์เรื่อง Searching for Bobby Fischer (1993)

เด็กชายทั้งสองคนเป็นเพียงบางตัวอย่างจากชีวิตของเด็กหลายพันล้านคนทั่วโลกที่ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เพื่อสะท้อนข้อคิดให้เราได้เรียนรู้ และย้ำเตือนให้เห็นพลังของการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของเด็กๆ

ในช่วงระหว่างที่ต้องกักตัวเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนคงกังวลใจคือ การเลื่อนระยะเวลาเปิดเทอมและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนของบุตรหลานมาเป็นในรูปแบบออนไลน์ ทั้งในแง่ความกังวลในเรื่องการไม่มีเวลาในการดูแล รวมถึงกังวลว่าเด็กๆ จะไม่ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่เหมือนอยู่ที่โรงเรียน

ความกังวลนี้ไม่ผิดปกติแต่อย่างไร เพราะปัจจุบันเด็กและเยาวชนทั่วโลกไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ได้ไปโรงเรียน ข้อมูลจากวารสาร The Lancet Child and Adolescent Health พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงเรียนใน 188 ประเทศทั่วโลกต้องหยุดทำการเรียนการสอน มากกว่า 90% ของเด็กและเยาวชน ไม่ได้ไปโรงเรียนอย่างที่เคย และกำลังสูญเสียช่วงเวลาการเรียนรู้ไปประมาณ 1 ปีครึ่งหากเปรียบเทียบกับภาวะพัฒนาการที่ควรจะเป็น (1) ที่น่าห่วงมากกว่านั้นเมื่อเด็กๆ ไม่ได้ไปพบเจอ ไม่ได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ระดับความเครียดของเด็กที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่ได้ไปโรงเรียนก็เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มเพื่อนและการพบปะกันของเด็กๆ เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและจัดการในด้านสุขภาพจิต (1)

 

สถานการณ์ที่พบในประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน

ในภาพรวม รัฐบาลไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศปิดสถานที่โรงเรียนสำหรับการทำการเรียนการสอน และให้ปรับเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการเรียนจากที่บ้านในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม ทั้งนี้แม้ว่าจะมีบางโรงเรียนในเขตพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดสีส้ม สีเหลือง และสีเขียว ที่ทางผู้บริหารพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถเปิดโรงเรียนเพื่อทำการเรียนการสอนได้ เพราะส่วนใหญ่จะกังวลและไม่กล้าเสี่ยง ส่งผลให้โรงเรียนในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ต้องปิดทำการเรียนการสอนชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อทราบถึงผลที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กนักเรียนจากการต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) ได้ทำการสำรวจข้อมูลในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมากับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 243 คน พร้อมทั้งได้มีโอกาสรับฟังเสียงสะท้อนโดยตรงจากการพูดคุยผ่านทางห้องคลับเฮาส์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพจากการเรียนอยู่ที่บ้าน พบว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนการที่เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนส่งผลกระทบใน 8 อันดับแรกดังต่อไปนี้ (2)

อันดับที่ 1  คือ นักเรียน/นักศึกษา มีอาการปวดตา/ตาอ่อนล้า/ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ/ปวดหลัง/ปวดคอและบ่าไหล่ จากการใช้อุปกรณ์หน้าจอ และพฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่งอยู่กับที่นาน ๆ เพื่อเรียนออนไลน์ มากถึงร้อยละ 79.0

อันดับที่ 2 นักเรียน/นักศึกษา มีความรู้สึกเครียดและกังวลใจเพราะต้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 74.9

อันดับที่ 3 จำนวนการบ้านเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อเวลาในการพักผ่อน/การนอนหลับในแต่ละวัน ร้อยละ 71.6

อันดับที่ 4 นักเรียน/นักศึกษา มีความรู้สึกไม่อยากเรียนอยู่ที่บ้าน ร้อยละ 68.3

อันดับที่ 5 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 66.3

อันดับที่ 6 นักเรียน/นักศึกษามีกิจกรรมทางกายระหว่างวันลดน้อยลง เพราะต้องนั่งอยู่กับที่นาน ๆ ร้อยละ 58.0

อันดับที่ 7 สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนได้ เช่น เสียงรบกวน ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เครื่องร้อน เป็นต้น ร้อยละ 57.2

และ อันดับที่ 8 นักเรียน/นักศึกษา ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนเรียน/รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาหรือไม่ครบทุกมื้อ/ต้องรับประทานอาหารระหว่างเรียนออนไลน์ ร้อยละ 56.0

โรงเรียนปิด แต่พื้นที่เล่นในบ้านและรอบๆ บ้านยังไม่ปิด..เล่นได้

จากข้อมูลจากการสำรวจข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ นอกเหนือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น วิถีชีวิตของเด็กๆ ได้บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่ากังวลคือ วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมเนือยนิ่ง การขาดกิจกรรมทางกาย รวมถึงเรื่องสุขภาพจิต ประเด็นต่างๆ เหล่านี้หากปล่อยให้บานปลายเนิ่นนานอาจส่งผลต่อปัญหาทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระยะยาว

“Play is a vital part of child development and wellbeing. Like leisure activities and hobbies for adults, play is a way for children to relax and cope with stress. It gives them the opportunity to be creative and test out their problem-solving skills and provides a sense of accomplishment and confidence in their own abilities.” (EMERGING MINDS, AUSTRALIA, 2020)

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก องค์กรยูนิเซฟ และหน่วยงานด้านการส่งเสริมสุขภาพของประเทศต่างๆ ได้ พยายามรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญในการจัดสรรเวลาการทำกิจกรรมในช่วงวันของบุตรหลาน ซึ่งหนึ่งในประเด็นหลักที่ทุกแหล่งต่างแนะนำตรงกันคือ การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนคงระดับการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และการเล่นเพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการ (Active Play) ทั้งนี้โดยมีข้อแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับการส่งเสริมการเล่นแบบ active play ในช่วง1ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้ (3) (4) (5)

1. จัดตารางเวลาสำหรับการเล่นให้เป็นกิจวัตร

ในช่วงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กๆ เองก็ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การจัดสรรตารางเวลาให้เป็นกิจวัตรเพื่อมีกิจกรรมการเล่น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเวลามากหรือน้อย ขอให้ดำเนินการให้เป็นกิจวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถร่วมทำกิจกรรมกับบุตรหลานได้ก็จะยิ่งเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น

2. จัดสรรพื้นที่ที่ปลอดภัย

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องมองหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการเล่นและให้คำแนะนำกับบุตรหลาน รวมถึงให้ข้อแนะนำในการเล่นอย่างปลอดภัยปลอดเชื้อ โดยอาจเริ่มจากพื้นที่ในบ้าน บริเวณบ้าน หรือพื้นที่โล่งใกล้บ้านที่พิจารณาแล้วว่ามีความปลอดภัย

3. เปิดโอกาสให้บุตรหลานเป็นผู้ริเริ่มหรือผู้นำในการเล่น

Child-led play เป็นการเสริมสร้างบทบาทและทักษะในการริเริ่ม การกล้าแสดงออก การตัดสินใจ ให้กับบุตรหลานได้ออกแบบการเล่น ได้ฝึกสื่อสารบทบาทว่าต้องการให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร เมื่อใด ซึ่งนอกเหนือจากเค้าจะได้ใช้จินตนาการในการออกแบบการเล่นแล้ว ยังจะเกิดความมั่นใจในการมีประสบการณ์ได้ริเริ่มและเป็นผู้นำ ในระหว่างการทำกิจกรรมพ่อแม่ผู้ปกครองควรให้กำลังและชื่นชมเมื่อบุตรหลานทำได้ดี

4. แบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวร่วมกัน

ในระหว่างหรือหลังทำกิจกรรม หากได้มีโอกาสบุตรหลานได้พูดคุยและสะท้อนถึงความรู้สึก และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ระหว่างการเล่น จะเป็นการกระตุ้นกระบวนการรู้คิดของเด็กให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการเรียบเรียงและสะท้อนสิ่งที่คิดออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันยังได้ฝึกให้พวกเขาได้ทบทวนและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ตนได้จัดการและแก้ปัญหาทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังการทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี

5. ปล่อยวางความกังวลและเปิดโอกาส

ในช่วงเวลาแห่งความสับสนและวุ่นวาย หลายสิ่งอย่างต้องการการจัดการอย่างเป็นระบบ อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกกระวนกระวายหรือเป็นห่วงกับการจัดสรรเวลาเพื่อมาร่วมทำกิจกรรมการเล่นกับบุตรหลาน นอกจากนี้การต้องปล่อยให้เด็กๆ เป็นผู้นำในการเล่น อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกอึดอัดในช่วงแรกๆ ทว่า หากท่านลองปล่อยวางและมองให้เห็นถึงข้อดีในการเปิดโอกาสให้ทั้งตัวของท่านเองและบุตรหลานได้เรียนรู้ไปร่วมกัน ในที่สุดท่านจะพบว่าช่วงเวลาสั้นๆ ของช่วงวันที่ใช้ไปกับการทำกิจกรรมร่วมกันนั้น ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อครอบครัวของท่านอย่างคุ้มค่า

ทั้งนี้ในการเล่นที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การวิ่งเล่นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่สามารถออกแบบการเล่นให้เป็นในลักษณะการแก้ปัญหา การฝึกปฏิบัติจริง การประกอบหรือประดิษฐ์สิ่งของ หรือการเรียนรู้อื่นๆ ที่เหมาะสมตามช่วงวัยของเด็กให้สามารถปฏิบัติได้อย่างปลอดภัยทั้งจากการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ และจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกระบวนการเล่นแบบ Active Play นี้สามารถออกแบบได้อย่างหลากหลายเพื่อให้กระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของบุตรหลานท่านได้อย่างไม่สิ้นสุด ดูตัวอย่างการเล่นแบบ Active Play ได้ตามคู่มือสารตั้งต้นนี้ 

คู่มือสารตั้งต้นเล่ม 1 (สนามฉลาดเล่น)

https://tpak.or.th/backend/print_media_file/326/คู่มือ%20สารตั้งต้นเล่ม%201%20(สนามฉลาดเล่น).pdf

 

คู่มือสารตั้งต้นเล่ม 2 (ห้องเรียนฉลาดรู้)

https://tpak.or.th/backend/print_media_file/327/คู่มือ%20สารตั้งต้นเล่ม%202%20(ห้องเรียนฉลาดรู้).pdf

 

นโยบายของภาครัฐที่เหมาะสมในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น หลายๆ ประเทศได้ตอบสนองข้อแนะนำที่ต้องการให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มีเวลาในการดูแลและทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลาน โดยรัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนและจูงใจในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวที่มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีการประกาศปิดเรียนในช่วงการแพร่ระบาด จะสามารถลาหยุดได้สูงสุด 12 สัปดาห์ โดยจะยังคงได้รับเงินเดือนที่สัดส่วน 2 ใน 3 ของเงินเดือนปกติ เช่นเดียวกันกับในอีกหลายๆ ประเทศ อาทิ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ที่มาตรการหลักจะเน้นให้ความสำคัญในการลดผลกระทบจากการเรียนจากที่บ้านไปที่กลุ่มผู้ปกครองเป็นหลักทั้งสิ้น (5)

ขณะที่ประเทศไทยของเรายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศของเรามีการประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่หลายจังหวัด พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากต้องปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work From Home) เป็นหลัก ก็อาจจะเป็นโอกาสหนึ่ง (ภายใต้วิกฤต) ที่จะได้มีเวลาในการดูแลและทำกิจกรรมกับบุตรหลานมากยิ่งขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องรอนโยบายจูงใจจากรัฐบาล เพราะถึงเวลานั้นเมื่อท่านหันกลับไปมองที่บุตรหลานอีกครั้ง ภาพที่เห็นอาจเป็นสภาพของพวกเขาที่เต็มไปด้วยความเครียดความกังวลที่เกิดขึ้นจากการต้องล็อกดาวน์อยู่กับบ้านเป็นเวลานาน โดยไม่รู้อย่างกระจ่างชัดว่าจะได้กลับไปใช้ชีวิตที่สนุกสนานที่โรงเรียนอีกเมื่อใด

 


อ้างอิง

1. Lee, J. Mental health effects of school closures during COVID-19. The Lancet Child & Adolescent Health 4, doi:10.1016/s2352-4642(20)30109-7 (2020).

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

3. EMERGING MINDS. Using play to support children during the Coronavirus (COVID-19) pandemic. 2020, Available from: https://emergingminds.com.au/resources/using-play-to-support-children-during-covid-19/

4. UNICEF Georgia. 5 ways to help keep children learning during the COVID-19 pandemic. 2020, Available from: https://www.unicef.org/georgia/stories/5-ways-help-keep-children-learning-during-covid-19-pandemic

5. The Partnership for Maternal, Newborn & Child Health. Learning for children during COVID-19, Available from: https://www.who.int/pmnch/covid-19/toolkits/child/learning/en/

6. OECD (2020), "Strengthening online learning when schools are closed: The role of families and teachers in supporting students during the COVID-19 crisis", OECD Policy Responses to Coronavirus (COVID-19), OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/c4ecba6c-en.

 

 

 

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย