11 ตุลาคม 2564

นันทวัน ป้อมค่าย, อภิชาติ แสงสว่าง และปัญญา ชูเลิศ

10554

Virtual Community (ชุมชนเสมือนจริง) ...ทางเลือกวิถีกระฉับกระเฉง

บทบาทของชุมชนเสมือนจริงที่เพิ่มสูงขึ้นบนโลกแห่งความเป็นจริง

ชุมชนเสมือนจริง (Virtual Community) บนแพลตฟอร์มการติดต่อสื่อสาร อย่างเช่น โซเชียลมีเดีย ถือเป็นพื้นที่ที่นำพาผู้คนที่มีความคิดเหมือนกัน หรือมีลักษณะและความสนใจร่วมกัน มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน อาทิ ชุมชนที่มีไลฟ์สไตล์ อาหาร การท่องเที่ยว หรือการออกกำลังกาย ที่เหมือนหรือคล้ายกัน ดังนั้น ชุมชนเสมือนจริงจึงไม่ต่างไปจากชุมชนทั่วไปที่เป็นพื้นที่ทางกายภาพที่ผู้คนเชื่อมต่อกันในเชิงภูมิศาสตร์ดังเช่นชุมชนที่เราอยู่อาศัย [1, 2] เพียงแต่รูปแบบและที่ตั้งของชุมชนแตกต่างกันเท่านั้น

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนทุกเพศทุกกลุ่มวัยใช้ชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของวันอยู่บนพื้นที่เสมือนจริง หรือ ชุมชนเสมือนจริง อย่างเลี่ยงไม่ได้ สอดคล้องกับข้อมูลสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของประชากรไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา [3] ผู้คนใช้ชีวิตบนพื้นที่แห่งนี้ทั้งในการทำงาน การเรียน การทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิง รวมถึงการจัดกิจกรรมหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนจำเป็นต้องดำเนินการผ่านชุมชนเสมือนจริงเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการรวมตัวกันของผู้คนอันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น [4]

 

กลยุทธ์ของกิจกรรมแทรกแซงบนชุมชนเสมือนจริง เพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เพิ่มสูงขึ้น

การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยป้องกันโรคในกลุ่ม NCDs และยังช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่ากลุ่มผู้ที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพออีกด้วย [5, 6] ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการแนะนำเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านชุมชนเสมือนจริง ตัวอย่างเช่น คอร์สออกกําลังกายออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนยังคงมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว [7] ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงต้องศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีการ กระบวนการ หรือแนวทางต่าง ๆ มาส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอผ่านชุมชนเสมือนจริง โดยกิจกรรมแทรกแซงผ่านชุมชนเสมือนจริง ไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในแวดวงวิชาการมากนัก เพราะจากการศึกษาพบว่ามีการดำเนินกิจกรรมแทรกแซงผ่านชุมชนเสมือนจริงมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีผลการศึกษาวิจัยรองรับ และมีการศึกษาและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Systematic review and Meta-analysis) เกี่ยวกับกิจกรรมแทรกแซงผ่านชุมชนเสมือนจริง [8] ซึ่งนำมาสู่การถอดเป็นกลยุทธ์ของกิจกรรมแทรกแซงที่พบว่าหากดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายของประชากรได้ แบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ ดังนี้

1. การใช้แอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน และมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้กิจกรรมแทรกแซงสามารถเพิ่มกิจกรรมทางกายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ การมีแอปพลิเคชัน (Applications) ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน และมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้งานสามารถที่จะอัปเดตหรือตรวจสอบการมีกิจกรรมทางกายของตนเองได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ สามารถดูข้อมูลย้อนหลัง มีบทความหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย การตั้งเป้าหมาย และการเสริมแรงจูงใจ (เช่น การสะสมคะแนน) [9, 10, 11]

ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของไอร์แลนด์ โดยดำเนินกิจกรรมแทรกแซงกับประชากรทั่วไป และใช้แอปสุขภาพในการดำเนินกิจกรรม ผลการวิจัยพบว่าจำนวนก้าวของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.025) และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การใช้แอปสุขภาพที่ไม่ซับซ้อน และการมีฟีเจอร์เพิ่มเติม เช่น ข้อมูล/ข้อแนะนำเกี่ยวกับระยะเวลา ความเร็ว หรือตัวชี้วัดด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ และมีการแสดงผลกราฟิกที่ใช้งานง่ายและน่าดึงดูด มีระบบการให้รางวัลสำหรับเมื่อทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ จะทำให้สามารถใช้ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายได้ สอดคล้องกับงานวิจัยจาก National University of Ireland และ Eastern Illinois University ที่พบเช่นเดียวกันว่าแอปสุขภาพที่มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้งานง่าย และมีอิสระในการใช้งาน จำเป็นต่อการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพในเชิงบวก

2. การกำหนดเป้าหมายและวางแผนการมีกิจกรรมทางกายของตนเองได้

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมแทรกแซงบนชุมชนเสมือนจริงที่สามารถเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายอย่างมีนัยสำคัญคือ จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายและวางแผนการมีกิจกรรมทางกายของตนเองได้ โดยอาจเป็นเป้าหมายระดับบุคคล ไปจนถึงเป้าหมายระดับกลุ่ม/ทีม [11, 12]

ตัวอย่างเช่น งานวิจัยจาก Eastern Illinois University และงานวิจัยจากรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ที่ทำการวิจัยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายบนชุมชนเสมือนจริงในกลุ่มวัยทำงาน ได้ข้อค้นพบเช่นเดียวกันว่าการกำหนดเป้าหมายและการวางแผนกิจกรรมทางกายด้วยตัวเองผ่านเว็บบนโซเชียลมีเดีย หรือผ่านชุมชนเสมือนจริง เป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกายของกลุ่มตัวอย่าง และพบว่าการที่มีผู้ที่มีความสนใจคล้ายคลึงกันมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน นับเป็นการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในอีกมิติหนึ่ง

3. การสื่อสารแบบเรียลไทม์ (ระหว่างสมาชิกด้วยกัน หรือระหว่างสมาชิกกับผู้เชี่ยวชาญ)

การสื่อสารโต้ตอบระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการสื่อสารจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนทางสังคมให้แก่สมาชิกในกลุ่ม เช่น การสื่อสารแบบเรียลไทม์ด้วยการให้สมาชิกสามารถเข้าถึงและสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญผ่านอีเมล หรือผ่านกระดานข้อความ/ห้องสนทนาบนเว็บไซต์การศึกษา หรือผ่านแชทของแอปต่าง ๆ ที่ใช้งานอยู่ [13, 14]

ตัวอย่างเช่น การศึกษาวิจัยของสหรัฐอเมริกา ให้ผู้เข้าร่วมได้รับการสนับสนุนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการออกกำลังกายและสุขภาพกับเจ้าหน้าที่ที่ทำการศึกษา โดยใช้กระดานข้อความ "ถามผู้เชี่ยวชาญ" บนเว็บไซต์ หรือฟังก์ชันของแอป และให้เจ้าหน้าที่ที่ศึกษาตรวจสอบกระดานข้อความและตอบกลับโพสต์ของผู้เข้าร่วม เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนทางสังคมสำหรับการมีกิจกรรมทางกาย และเพื่อรักษาการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมในการศึกษา  

4. เว็บไซต์สุขภาพที่สอดคล้องกับกลุ่มวัย

เว็บไซต์สำหรับการให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพแก่กลุ่มเป้าหมายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการกระตุ้นและส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชาชน เนื่องจากการแสดงผลบนหน้าเว็บมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เป็นข้อความเนื้อหา คลิปวิดีโอ หรือมีทั้งเนื้อหาและวิดีโออยู่บนเว็บ ซึ่งสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างขึ้น ประกอบกับสามารถอัปเดตเนื้อหาข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอด [13, 15]

ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Get Moving Website หรือ Active Living Everyday ซึ่งเป็นเว็บที่สื่อสารข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และมีฟังก์ชันให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถประเมินพฤติกรรมของตนเองได้ มีการตั้งเป้าหมาย และสามารถบันทึกอุปสรรคในการออกกำลังกายของตนเองได้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับทราบข้อมูลของตนเองตลอดการแทรกแซง และพบว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายของผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

ข้อจำกัดของชุมชนเสมือนจริง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายบนชุมชนเสมือนจริงสามารถช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับคนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ แต่ทว่าจำเป็นต้องทราบถึงข้อจำกัดของชุมชนเสมือนจริง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการศึกษาพบว่าชุมชนเสมือนจริงมีข้อจำกัดในเรื่อง “ความครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร” โดยเฉพาะประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ และประชากรกลุ่มน้อย เช่น ผู้หญิงชาวมุสลิม หรือกลุ่มชาวแอฟริกัน ที่ยังมีข้อจำกัดทางด้านการใช้อุปกรณ์การสื่อสารและเทคโนโลยีการสื่อสาร ข้อจำกัดประการต่อมาคือ “ความไม่ครอบคลุมเรื่องสัญญาณเครือข่ายและสัญญาณอินเทอร์เน็ต” โดยปัจจุบันแม้จะพบว่าผู้คนสามารถเข้าถึงพื้นที่ชุมชนเสมือนจริงได้มากขึ้น แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณเครือข่ายมือถือที่ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งทำให้โอกาสในการเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเฉพาะที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้เพิ่มเติม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกายผ่านชุมชนเสมือนจริงในกลุ่มประชากรดังกล่าว

 

ข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านชุมชนเสมือนจริง

ในปัจจุบันมีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านชุมชนเสมือนจริงผ่านกลไกเชิงนโยบายของภาครัฐค่อนข้างน้อย (ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปแบบการวิจัย) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าได้มีการนำชุมชนเสมือนจริงไปปรับใช้ในประเด็นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) โดยพบว่ามีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการทำงานสำหรับภาครัฐ จากข้อแนะนำของ The National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion (NCCDPHP), CDC [16] ที่อาจจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายบนชุมชนเสมือนจริงได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1) ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนเสมือนจริงได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ โดยจะทำให้ได้ทั้งข้อมูลในภาพกว้างที่มาจากภาครัฐ และข้อมูลเชิงรายละเอียดจากสมาชิกในชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดองค์ความรู้/ข้อมูลข่าวสารมีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมกับเกิดปฏิสัมพันธ์ในชุมชนดังกล่าวไปด้วย

2) ส่งเสริมต้นแบบงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติในชุมชนเสมือนจริง โดยภาครัฐควรส่งเสริมงานวิจัยเชิงทดลองทั้งในและต่างประเทศ หรืองานวิจัยที่แสดงถึงประสิทธิผลของการดำเนินงาน เพื่อนำไปผลักดันให้เกิดการขยายผลในวงกว้างในเชิงนโยบาย ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างการวิจัยและการปฏิบัติในชุมชนเสมือนจริง

3) จัดหาอุปกรณ์/เครื่องมือสำหรับใช้ในการสื่อสารให้กับประชาชน เช่น อุปกรณ์การสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ หรืออินเทอร์เน็ต โดยภาครัฐอาจจะดำเนินการจัดหาสิ่งเหล่านี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงชุมชนเสมือนจริงได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มทุกช่วงวัย

4) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายของสมาชิกในชุมชนเสมือนจริง โดยทางภาครัฐอาจจะดำเนินการรวบรวมข้อมูล เพื่อสร้างต้นแบบนวัตกรรมสำหรับการวางแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมให้กับสมาชิกในชุมชน

5) สนับสนุนให้มีการประเมินผลของการวิจัยแบบเน้นปฏิบัติ (Practice-based research) โดยภาครัฐอาจจะดำเนินการให้มีการประเมินผลจากการฝึกปฏิบัติจริงของคนในชุมชนดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการนําไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่

6) ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายให้กับสมาชิกในชุมชนเสมือนจริง โดยภาครัฐอาจจะให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายผ่านวิธีการที่หลากหลาย อาทิ ข้อมูลความรู้ที่เป็นข้อความ คลิป/วิดีโอ รวมไปถึงการจัดอบรมแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับข้อมูลความรู้บนชุมชนเสมือนจริง

 

การปรับใช้ชุมชนเสมือนจริงเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับประชากรไทย

จากกลยุทธ์ของกิจกรรมแทรกแซงผ่านชุมชนเสมือนจริง ที่พบว่าหากดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายของประชากรได้นั้น ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ประโยชน์และโอกาสจากความก้าวหน้าและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นชินกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในปัจจุบันมาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด หรือเพื่อวัตถุประสงค์ของผู้วิจัยหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมทางกาย นั่นคือการนำข้อมูลกิจกรรมทางกายและสุขภาพให้ตรงกับความต้องการกับกลุ่มเป้าหมาย และระบบการจัดการเข้ามาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่มี เช่น แอปพลิเคชัน ระบบการสื่อสารแบบเรียลไทม์ หรือเว็บไซต์ แล้วเกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้ชีวิตในชุมชนเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น  และยิ่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การระบาดของโรคในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นเสมือนประตูสู่โอกาสของการปรับใช้กลยุทธ์ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดบนชุมชนเสมือนจริง เพื่อเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายให้กับประชาชนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าในปัจจุบันนี้ เราจะมีชุมชนเสมือนจริงที่เป็นกลุ่มสังคมที่รวมตัวกัน (เอง) เพื่อทำกิจกรรมมีกิจกรรมทางกายที่หลากหลาย เช่น กลุ่มเดิน/วิ่ง กลุ่มจักรยาน กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มออกกำลังกาย กีฬา และกิจกรรมสันทนาการเพื่อสุขภาพอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ อาจมีและใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างและมากน้อยไปตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม รูปแบบกิจกรรม หรือความต้องการของสมาชิก ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกได้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นเป็นเป้าหมายหลัก หากแต่เป็นกลุ่มที่ชอบทำกิจกรรมเหมือน ๆ กันเท่านั้น ในขณะเดียวกันกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจจะมีกลยุทธ์ดี ๆ ที่ซ่อนอยู่และสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มสมาชิกที่อยู่ในชุมชนเสมือนจริงก็เป็นได้

ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้กิจกรรมแทรกแซง จำเป็นต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับบริบทของไทย รวมถึงกลุ่มประชากรเป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน โดยหากกิจกรรมแทรกแซงใดสอดคล้องกับบริบทของไทยก็อาจจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้บนชุมชนเสมือนจริงได้เลย แต่หากมีกิจกรรมแทรกแซงที่น่าสนใจ แต่ยังไม่สอดคล้องกับบริบทก็จำเป็นจะต้องมีการส่งเสริมการวิจัยเพื่อหาต้นแบบที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป โดยจากการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังมีการศึกษาเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านชุมชนเสมือนจริงอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้น การดำเนินการผ่านชุมชนเสมือนจริงเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายกายให้แก่ประชาชนไทย จำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัย และการดำเนินการจากหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และด้วยต้นทุนทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันช่วยให้จะช่วยให้การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนเสมือนจริงนั้นใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในชุมชนที่เป็นพื้นที่กายภาพ หากแต่เพิ่มการลงทุนอีกนิดในชุมชนเสมือนจริงจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ประชาชนออกมาทำกิจกรรมทางกายและใช้พื้นที่สุขภาวะที่รัฐและเอกชนได้ลงทุนไว้ในชุมชนที่เป็นพื้นที่ทางกายได้อย่างคุ้มค่านั่นเอง


อ้างอิง

[1] Justine Clarabut. The Importance of Community. Wellbeing People. 2020. Retrieved 24 September 2021. Available from: https://www.wellbeingpeople.com/2020/07/23/the-importance-of-an-engaging-community/

[2] Toby Lowe. What is ‘community’ and why is it important?. Centre for Public Impact. Retrieved 24 September 2021. Available from: https://medium.com/centre-for-public-impact/what-is-community-2e895219a205

[3] สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. ETDA เผยผลสำรวจ IUB 63 คนไทยใช้เน็ตปังไม่ไหว เกือบครึ่งวัน โควิด-19 มีส่วน. 2021. Retrieved 24 September 2021. Available from: https://www.etda.or.th/th/newsevents/pr-news/ETDA-released-IUB-2020.aspx

[4] Amber Atherton. The Outside View: COVID-19 Has Made Virtual Communities Crucial. Fairchild Publishing LLC. 2020. Retrieved 24 September 2021. Available from: https://wwd.com/business-news/business-features/outside-view-amber-atherton-covid-19-virtual-communities-crucial-1203701363/

[5] Yuan Q, Huang HY, Chen XL, Chen RH, Zhang Y, Pan XB, Chen JN, Liu N, Du H. Does pre-existent physical inactivity have a role in the severity of COVID-19?. 2021. Ther Adv Respir Dis. 2021 Jan-Dec;15:17534666211025221. doi: 10.1177/17534666211025221. PMID: 34148444; PMCID: PMC8221695.

[6] Sallis R, Young DR, Tartof SY, et al.. Physical inactivity is associated with a higher risk for severe COVID-19 outcomes: a study in 48,440 adult patientsBritish Journal of Sports Medicine. 2021. Published Online First: 13 April 2021. doi: 10.1136/bjsports-2021-104080

[7] World Health Organization (WHO). Connecting the world to combat coronavirus. 2020. Retrieved 27 September 2021. Available from: https://www.who.int/campaigns/connecting-the-world-to-combat-coronavirus

[8] Joseph, R. P., Durant, N. H., Benitez, T. J., & Pekmezi, D. W. (2014). Internet-Based Physical Activity Interventions. American journal of lifestyle medicine, 8(1), 42–68. https://doi.org/10.1177/1559827613498059

[9] Glynn LG, Hayes PS, Casey M, Glynn F, Alvarez-Iglesias A, Newell J, OLaighin G, Heaney D, O'Donnell M, Murphy AW. Effectiveness of a smartphone application to promote physical activity in primary care: the SMART MOVE randomised controlled trial. Br J Gen Pract. 2014 Jul;64(624):e384–91. doi: 10.3399/bjgp14X680461.

[10] Walsh JC, Corbett T, Hogan M, Duggan J, McNamara A. An mHealth Intervention Using a Smartphone App to Increase Walking Behavior in Young Adults: A Pilot Study JMIR Mhealth Uhealth 2016;4(3):e109 doi: 10.2196/mhealth.5227

[11] Magoc D, Tomaka J, Bridges-Arzaga A. Using the web to increase physical activity in college students. Am J Health Behav. 2011;35:142–154.

[12] Zhang, J., Brackbill, D., Yang, S., Becker, J., Herbert, N., & Centola, D. (2016). Support or competition? How online social networks increase physical activity: A randomized controlled trial. Preventive Medicine Reports, 4, 453-458. doi:https://doi.org/10.1016/j.pmedr.2016.08.008

[13] Carr LJ, Bartee RT, Dorozynski CM, Broomfield JF, Smith ML, Smith DT. Eight-month follow-up of physical activity and central adiposity: results from an Internet-delivered randomized control trial intervention. J Phys Act Health. 2009;6:444–455.

[14] Spittaels H, De Bourdeaudhuij I, Vandelanotte C. Evaluation of a website-delivered computer-tailored intervention for increasing physical activity in the general population. Prev Med. 2007;44:209–217.

[15] Makai, A., Füge, K., Breitenbach, Z. et al. The effect of a community-based e-health program to promote the role of physical activity among healthy adults in Hungary. BMC Public Health 20, 1059 (2020). https://doi.org/10.1186/s12889-020-08750-1

[16] Amanda Navarro, Karen Voetsch, Leandris Liburd, Clem Bezold, Marsha Rhea. RECOMMENDATIONS FOR FUTURE EFFORTS IN COMMUNITY HEALTH PROMOTION. Report of the National Expert Panel on Community Health Promotion. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 2006. Retrieved 27 September 2021. Available from: https://www.cdc.gov/chronicdisease/pdf/community_health_promotion_expert_panel_report.pdf

SHARE

ผู้เขียน
ปัญญา ชูเลิศ


[email protected]

นันทวัน ป้อมค่าย


อภิชาติ แสงสว่าง


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่