17 มกราคม 2565

กลุ่มงานสื่อสารผลผลิตทางความคิด

2945

City Lab พื้นที่สุขภาวะใกล้บ้าน เติมชีวิตให้ชุมชนด้วยแนวคิดขีดสีตีเส้น: โครงการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะให้ชุมชน โดยทีมงานของศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง Healthy Space Forum

หากพูดถึงชุมชนเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร หลายคนคงนึกถึงภาพของความหลากหลายของผู้คนในแหล่งศูนย์การค้า ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อีกทั้งยังมีตลาดในยามค่ำคืนที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างเช่นถนนสีลม รวมไปถึงการเชื่อมต่อของสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณโดยรอบ โดยในแต่ละวันจะมีพนักงานออฟฟิศที่ทำงานในอาคารทั้งศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร Street food คาเฟ่ โรงพยาบาล อาคารบริษัท ซึ่งในเวลากลางคืนจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้ประชาชนและชาวต่างชาติ สามารถเดินเที่ยวตามตลาดยามค่ำคืนได้ [1] ที่นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยการเดินไปในตัวด้วย

ที่มา : City Lab Silom, Healthy Space Forum (2019)

จากความหลากหลายของผู้คนและสถานที่ในพื้นที่เดียวกันนี้ บริเวณถนนสีลมจึงถูกนำมาพัฒนามาเป็น City Lab Silom ซึ่ง City Lab หรือห้องทดลองเมือง เป็นแนวคิดในการศึกษาผ่านกระบวนการ ‘นำเมืองที่เราอาศัยอยู่เป็นห้องทดลอง’ โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ทีแพคได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับเจ้าของแนวคิดดังกล่าวข้างต้น ในฐานะผู้ออกแบบแนวความคิดส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะนี้ กับมุมมองและเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่ในวงการการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในมิติพื้นที่สุขภาวะ ถึงที่มาและความสำคัญตลอดจนการนำพื้นที่สุขภาวะไปใช้ต่อยอดขยายผลการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาสุขภาพร่างกายของประชาชน นั่นก็คือ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้อำนวยการ และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังภาคและเมือง และทีม Healthy Space Forum

 

ทำไมต้องมีพื้นที่สุขภาวะ

ของพื้นที่สุขภาวะนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นพื้นที่เฉพาะเจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นพื้นที่ที่มีองค์ประกอบที่จะเอื้ออำนวยให้เราพ้นจากภาวะเนือยนิ่ง หรือหลีกเลี่ยงการมีภาวะเนือยนิ่ง ซึ่งการมีชีวิตอยู่ในเมืองขัดแย้งกับชีววิทยาของความเป็นมนุษย์ นั่นคือมนุษย์ต้องมีการขยับร่างกาย ใช้ร่างกายในการทำงาน เคลื่อนไหวต่าง ๆ การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสรีระ ชีววิทยาของตนเอง  แต่การที่คนอาศัยอยู่ในเมืองทำให้ต้องนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศที่มีพื้นที่หลีกเลี่ยงจากสภาพแวดล้อม แสงแดด และฝน ทำให้มีภาวะเนือยนิ่ง เนื่องจากเราไม่ได้ใช้ร่างกายในการขยับออกแรงอย่างที่ควรจะเป็น แสดงว่าองค์ประกอบของพื้นที่ในเมือง เช่น สำนักงาน บ้าน ร้านอาหารที่อยู่ใกล้ที่พักอาศัย ผู้คนต่างเลือกใช้บริการเดลิเวอรี ระบบสื่อสารต่าง ๆ ที่ไม่ต้องออกไปพบใคร ทำให้คนขยับร่างกายน้อยกว่าชีววิทยาที่ควรจะเป็น เกิดการเจ็บป่วย และเป็นโรคของคนเมืองนั่นคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ทำให้มีการขยับร่างกายน้อยจึงผลต่อทางร่างกายและจิตใจ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในเมืองไม่ได้เอื้ออำนวยให้คนเรามีการขยับร่างกาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เล็งเห็นคือ การทำอย่างไรให้สามารถปรับปรุงองค์ประกอบเชิงกายภาพในชีวิตของคนเมืองให้มีองค์ประกอบในการใช้ชีวิตสอดคล้องกับชีววิทยากับตนเอง ทั้งพื้นที่เพื่อการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นในละแวกบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อให้สามารถขยับร่างกายได้มากที่สุดในแต่ละวัน

ที่มา : City Lab Silom, Healthy Space Forum (2019)

การมีพื้นที่หรือองค์ประกอบในการออกแบบที่ทำให้พื้นที่การใช้ชีวิตประจำวันมีการขยับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนเดินติดต่องานแทนการใช้โทรศัพท์ ระบบสื่อสาร อินเทอร์เน็ตภายในออฟฟิศ ส่งเสริมให้มีการเดินไปคุยกับคนอื่น ช่วงเวลาที่ไปจับจ่ายซื้อสินค้า รับประทานอาหารเที่ยง จากเดิมที่เคยใช้ฟูดเดลิเวอรี จึงต้องกลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้ทางเท้าเอื้ออำนวยอย่างเหมาะสมให้คนสามารถเดินไปซื้อของ หรือแม้กระทั่งองค์ประกอบในการเดินทางเปลี่ยนจากการขับรถมาทำงานเป็นการเดิน ปั่นจักรยาน เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนแทน ซึ่งมีโอกาสที่จะขยับร่างกายได้มากขึ้น หรือแม้แต่การทำงานที่เปลี่ยนจากการนั่งทำงานมาเป็นการยืนทำงาน พื้นที่สุขภาวะคือพื้นที่ที่จะส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมที่จะสอดคล้องกับชีววิทยาของตนเองในทุกองค์ประกอบของชีวิตไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภายในตัวอาคารหรือภายนอกอาคาร

 

พื้นที่สุขภาวะเพื่อสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร เพียงพอต่อความต้องการและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่

จากการทำการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทำงานให้กับทางสสส. จะเห็นภาพอย่างหนึ่งว่าพื้นที่เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาวะเป็นรูปแบบการส่งเสิรมให้มีสุขภาวะในภาพใหญ่ แต่ในระบบบุคคลยังเป็นปัญหาอยู่ ภาพใหญ่ที่ทาง Healthy Space Forum พยายามเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานโลก องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า ในเมืองต้องมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตร/หัวประชากร ซึ่งเมื่อก่อนกรุงเทพฯ มีพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 4 ตารางเมตร/หัวประชากร ซึ่งภายหลังเพิ่มมากว่า 6 ตารางเมตร/หัวประชากร แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นวิธีการที่จะไปถึงเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือการทำสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนลุมพินี สวนหลวง ร.๙ สวนเบญจกิติ ซึ่งล้วนแต่เป็นสวนขนาดเกินกว่า 100 ไร่ โดยเป้าหมายคือต้องการจะให้มีสวนสาธารณะที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อหัวประชากรใกล้เคียงกับเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่ปัญหาคือพื้นที่เหล่านั้นเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่สำคัญของเมือง ทำให้คนใช้สวนสาธารณะอยู่ไกลบ้าน เพราะพื้นที่รวมกันเป็นสวนขนาดใหญ่อยู่ศูนย์กลางเมือง ไม่สามารถใช้พื้นที่เหล่านี้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือองค์ประกอบหลัก เวลาใช้งานสวนเหล่านี้ประชาชนต้องขับรถไป ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมวลชน สุดท้ายคือประชาชนต้องตั้งใจไปยังสวนสาธารณะเหล่านั้น ถ้าต้องการออกกำลังกายต้องเสียเวลาเดินทาง หาที่จอดรถ เสียทั้งเวลาและต้นทุน ถ้าหากไกลบ้านมาก ๆ ก็ไม่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่สามารถไปได้ทุกวัน ไปได้เฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ หรือสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ไป

Healthy Space Forum จึงพยายามพัฒนาพื้นที่เพื่อการออกกำลังกายอย่างจริงจังเพียงข้างเดียว พื้นที่เหล่านี้อยู่ห่างไกลจากชีวิตประจำวัน ทำให้เหลือแต่คนที่มีความประสงค์หรือจิตใจที่ต้องการจะมีสุขภาวะดีมาก ๆ เท่านั้นที่จะเข้าถึงองค์ประกอบเหล่านี้ได้ แต่องค์ประกอบที่อยู่ในละแวกบ้าน ระยะเดินเท้าที่ใช้ในชีวิตประจำได้ทุกเย็นถึงเช้ากลับไม่มีการเอื้ออำนวยองค์ประกอบในชีวิตประจำวัน แต่ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ประชาชนจะมีเรื่องการขยับร่างกายเข้ามาชดเชย สนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายแต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน นี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่พยายามผลักดันคือการสร้างสมดุลของทั้งสองอย่าง คือ ในชีวิตประจำวันมีการขยับร่างกายอย่างเหมาะสม จัดหาพื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาวะในระยะละแวกบ้าน เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่สุขภาวะในระยะเดินเท้าที่สามารถไปใช้งานได้

ที่มา : City Lab Silom, Healthy Space Forum (2019)

 

ความเป็นมาและหลักการของ City Lab

หลักการ City Lab ไม่ใช่สิ่งใหม่ ทว่าเกิดมาประมาณสิบกว่าปีแล้ว การปรับเปลี่ยนประกอบองค์ของเมือง โครงสร้างพื้นฐานพื้นที่สาธารณะมีต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลา มีงบประมาณมาก การทำพื้นที่เหล่านี้แล้วไม่ผ่านการสร้างความมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จจึงมีความเสี่ยงสูงและมักจะได้รับการประท้วง เมื่อทำแล้วเสร็จกลับเกิดความเสียหายต่อต้นทุน ระยะเวลา พื้นที่ ความรู้สึกของประชาชน เพราะฉะนั้นในโลกของเมืองใหญ่ทั้งหลายจึงเปลี่ยนวิธีคิดจากการที่รัฐออกแบบก่อสร้าง ใช้เวลาในการก่อสร้างนาน ใช้งบประมาณมาก เสียพื้นที่เดิมของเมืองไป สิ่งที่ต้องทำคือ การทดลองก่อน การนำองค์ประกอบชั่วคราวไปตั้ง ปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยง่าย เก็บผลทดลอง ถ้าได้ผลดีก็ทำการบันทึกไว้ ถ้าได้ผลไม่ดีก็ต้องทำการปรับปรุงแก้ไข เสร็จแล้วรายงานผลไปสู่หน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาก่อสร้าง เพื่อทำการพัฒนาพื้นที่นี้ตามผลจากการทดลองที่ได้ ความเสี่ยงจากการไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลงทุนแล้วเสียเปล่าใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าก็ลดลง การได้ทดลองก่อนว่ามีผลตอบรับอย่างไรบ้างในเรื่องของประสิทธิภาพและความเหมาะสม ซึ่งหลักการนี้เมืองใหญ่ถูกนำมาใช้ก่อนการลงทุนพัฒนาในการปรับปรุงองค์ประกอบต่าง ๆ ของเมือง

การนำหลักการดังกล่าวมาใช้กับพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะเมือง พื้นที่แรกที่นำมาใช้คือพื้นที่สีลม โดยโครงการ City Lab สีลม ได้ทำการทดลองเป็นเวลา 1 เดือน ด้วยการปรับปรุงทางเท้า ทางข้าม พื้นที่สาธารณะของสีลม มีการเก็บผลสะท้อนกลับ (feedback)  โดยมีทั้งแง่ดีและไม่ดี มีการเก็บข้อมูลการประเมินไม่ดีในแง่ไหนบ้าง สามารถนำมาปรับปรุงได้หรือไม่หรือต้องยกเลิก เมื่อได้ผลรายงานการทดสอบ ส่งให้ผู้มีบทบาทหน้าที่ในการทำการพัฒนา ตอนนี้โครงการสีลมได้รับการตอบรับจากทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับงบประมาณจากทางกรุงเทพมหานคร เพื่อทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงถนนสีลมตั้งแต่แยกพระราม 4 ไปจนถึงแยกถนนนราธิวาส ทำให้โครงการ City Lab สีลมมีผลในการพัฒนาขั้นต่อไป

ที่มา : City Lab Silom, Healthy Space Forum (2019)

อีกหนึ่งโครงการคือ จังหวัดสระบุรี ได้มีการทำ City Lab เช่นกัน โดยการขีดสีตีเส้นง่าย ๆ กับพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ท้าท้ายอย่างหนึ่ง การทำ City Lab ไม่ใช่แค่การไปปรับเปลี่ยนพื้นที่เพียงอย่างเดียว ในมุมหนึ่งคือการเปลี่ยนความคิดของคนที่มีต่อพื้นที่สาธารณะ อย่างโครงการ City Lab สีลมข้างหน้าตึกต่าง ๆ ระหว่างทางเดินกับข้างหน้าตึก จากเดิมเป็นเพียงพื้นที่เดินผ่านเข้าตึก แต่สิ่งที่ทำคือการให้ความหมาย แนะนำคนที่ใช้พื้นที่ว่ามันมีความหมายมากกว่านั้น โดยการใส่หมากรุกยักษ์ เปียโน ขีดสีตีเส้น ใส่การเล่นปักเตในพื้นที่นั้น ใส่ซิงเกอร์ ถ้าเดินขึ้นบันไดไปกี่ก้าวลดได้กี่แคลอรี่

 

ที่มา : City Lab Saraburi , Facebook City Lab Thailand (2020)

ตัวเมืองสระบุรีก็เช่นกัน ได้ใส่ความหมายใหม่เข้าไปกับพื้นที่ของรัฐ พื้นที่สาธารณะที่ถูกใช้งานเพียงบางเวลาได้ถูกขยายความสามารถในการใช้งานมากขึ้น เช่น ลานจอดรถที่ว่าการอำเภอ ลานจอดรถโรงเจ ลานจดรถตลาด เมื่อเลิกใช้งานสถานที่เหล่านั้นถูกทิ้งเป็นลานจอดรถ แต่พื้นที่เหล่านั้นได้ถูกเปลี่ยนความหมายใหม่ ใช้พื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่น้อยในเมืองให้มีความสามารถในการใช้งานนานขึ้น  สิ่งที่ทำคือใช้การขีดสีตีเส้นอย่างง่ายมาทำแนวทาง (Guidelines) ให้เขารู้ว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างไร เช่น ตีขอบสนามฟุตซอล สนามเด็กเล่น ขีดสีตีเส้นบนพื้น ปรับเปลี่ยนพื้นที่ลานวัดเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย การให้ความหมายใหม่กับพื้นที่ที่ถูกปิดเป็นบางเวลา ซึ่งสามารถทำพื้นที่เมืองเหล่านี้ให้เป็นพื้นที่สุขภาวะของเมืองได้โดยไม่รบกวนกับการใช้งานเดิม ทำให้การใช้พื้นที่ของเมืองมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เป็นประสิทธิผล (effect) ตามมาคือการดึงความคึกคักกลับมาสู่พื้นที่ศูนย์กลางเมืองอีกครั้ง โจทย์ที่เริ่มจากตรงนี้คือ ตลาดเก่าของเมืองมีความซบเซา คนมาซื้อของตอนเช้าหลังจากนั้นก็ไม่มีใครมาอีกหรือมากินข้าวเที่ยงแล้วกลับไป ทว่ากลับพบว่าถ้าต้องการให้ตลาดคึกคักอีกครั้งในช่วงเย็นจะต้องไม่ใช่แค่เปิดตลาดเพื่อค้าขายเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเห็นตลาดตามหัวเมืองทั่วไปที่อยูบริเวณข้าง ๆ ที่ออกกำลังกายของเมืองตอนเย็นคนจะมาออกกำลังกายแล้วซื้อของกลับบ้านตลาดก็กลับมาเปิดอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่ามีกลุ่มลูกค้ามาใช้พื้นที่เหล่านั้นตอนเย็น ผลพลอยได้คือคนมาซื้อสินค้ากลับไปด้วย เป็นการเอาชีวิตเมืองกลับมาอีกครั้ง การมีชีวิตเมืองทำให้ประชาชนมีทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจ การได้ลดความเครียด และได้ประโยชน์ในเรื่องของเศรษฐกิจตามมาด้วย

 

แนวคิดในการออกแบบ City Lab  สีลม โดย สุรางคณา ชำนาญกิจโกศล

การออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมืองที่มีความคึกคักสูง ได้หยิบปัญหาของถนนสีลมมาแก้ไข เพื่อทดลองว่าพื้นที่สีลมที่เป็นพื้นที่ในเมืองที่ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน คนมีความคึกคักมาก ผู้คนเดินเร็วไม่ได้สนใจพื้นที่รอบข้าง ผู้คนมีความต้องการอยากได้พื้นที่พักนั่งคอย แต่ก็ยังไม่มีพื้นที่แบบนั้น พื้นที่ทางข้ามมีความอันตรายต่าง ๆ ตัวอย่างพื้นที่ทางข้ามสีลมจะมีทางข้ามอยู่สองแบบคือ ทางข้ามแบบหัวมุมถนน ซึ่งมีไฟแดงหยุดให้คนข้าม แต่จะมีทางข้ามหนึ่งที่อยู่ช่วงกลางซึ่งรถจะขับค่อนข้างเร็ว ตรงนี้ได้ทำการสอบถาม บันทึกข้อมูล พบว่าเป็นทางข้ามที่มีความเป็นอันตรายสูงคนจะไม่ค่อยกล้าข้าม อีกทั้งรถก็ไม่หยุดหรือชะลอให้เนื่องจากมองไม่เห็นทางม้าลาย มองไม่เห็นคนทำให้เกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย

ที่มา : City Lab Silom, Healthy Space Forum (2019)

จึงหยิบทางม้าลายตรงนี้นำมาแก้ปัญหาโดยการทดลองขีดสีตีเส้นทำทางม้าลายในรูปแบบอื่นเพื่อดูว่าอุบัติเหตุจะมีความน้อยลงบ้างหรือไม่ จากทางข้ามเดิมที่ทางกทม. ทำไว้จะเป็นขีดสีขาว จึงได้สอบถามกับทางกทม. ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ไปดูข้อกฎหมายของทางม้าลายว่าสามารถปรับได้มากน้อยแค่ไหน สามารถทำสีอะไรได้บ้าง แล้วนำสิ่งนี้มาออกแบบ ใส่สีที่สดเข้าไปเพื่อความเห็นชัด เห็นได้ทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน โดยใส่เป็นสีฟ้าลงไปทำให้รถสามารถเห็นคนได้ชัดขึ้น โดยการกำหนดไว้ประมาณ 10-15 เมตร ก่อนที่จะถึงทางม้าลาย เป็นการเตือนรถให้เห็นว่าทางข้างหน้าจะมีทางข้ามเพื่อให้รถมีการชะลอตัวลง ซึ่งภายหลังการทดลองพบว่า คนข้ามถนนมีความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพราะทางม้าลายเห็นชัด รถขับช้าลงในบริเวณนั้นเพราะทำให้ความรู้สึกของคนในบริเวณนั้นปลอดภัยมากขึ้น

 

แนวคิดในการออกแบบ City Lab  สระบุรี โดย ปัณฑิตา เหตานุรักษ์

สำหรับในพื้นที่จังหวัดสระบุรีนั้น เป็นเมืองที่ค่อนข้างซบเซามาก ๆ ไม่มีคนออกมาใช้งานพื้นที่ คนส่วนใหญ่จะออกไปห้างสรรพสินค้า พื้นที่ศูนย์กลางตัวเมืองปากเพรียว หรือที่ว่าการอำเภอคือศูนย์กลางในอดีต แนวคิดคือการนำแนวคิดของการเป็นตัวของโครงการเข้าไปทดลองฟื้นฟูเมืองด้วยกิจกรรมทางกาย โดยการฟื้นฟูของดีของเดิมในเมืองสระบุรีให้กลายเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนปากเพรียวเอง ซึ่งในการทดลองครั้งนี้ได้ทดลองผ่าน 3 เครื่องมือ ดังนี้

เครื่องมือที่ 1 คือ การพัฒนาพื้นที่จุดหมายปลายทาง โดยการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ 5 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ที่ว่าการอำเภอเมืองสระบุรี สะพานลอยที่เป็นทางข้ามระหว่างทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีถนนพหลโยธินคั่นกลางอยู่ ตลาดสุขุมาล ตลาดพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของเมือง โรงเจ วัดและโรงเรียน

ที่มา : City Lab Saraburi , Facebook City Lab Thailand (2020)

เครื่องมือที่ 2 คือการกระตุ้นให้คนเดิน เนื่องจากคนในพื้นที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก โดยสะพานลอยเป็นจุดสำคัญที่จะเชื่อมโยงของคนทั้งในย่านปากเพรียว

ที่มา : City Lab Saraburi , Facebook City Lab Thailand (2020)

เครื่องมือที่ 3 คือ ลองจัดกิจกรรมสาธารณะง่าย ๆ ได้เข้าไปคุยกับคนในปากเพรียวเขาบอกว่าไทเก็ก เป็นตัวที่เขามองว่าในอดีตเขามีชมรมเหล่านี้อยู่ การนำอัตลักษณ์เหล่านี้ไปกระจายอยู่รอบ ๆ เมือง ให้คนออกเดินตามหาหรือว่างานพิธีเปิดที่ทำให้คนเห็นว่าพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่การออกกำลังกาย แต่เป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ด้วย

ที่มา : City Lab Saraburi , Facebook City Lab Thailand (2020)

 

ความแตกต่างของโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละพื้นที่ รวมถึงจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ ทั้งในสีลมและสระบุรี

 

ที่มา : City Lab, Facebook City Lab Thailand (2019)

โจทย์แต่ละพื้นที่ต่างกัน อย่างพื้นที่สีลมนั้นมีเป้าหมายคือ เป็นการใช้พื้นที่มีความคึกคักสูงมากเพื่อการติดต่องาน  หรือเพื่อพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก จากสิ่งที่พบคือ สีลมเป็นพื้นที่ที่มีคนเดินบนทางเท้ามากที่สุดในประเทศไทย แต่ว่าคนที่มาเดินบนทางเท้าเป้าหมายเดิมคือให้พ้นทางเท้าไปให้เร็วที่สุด เดินถึงจุดหมายปลายทางให้เร็วที่สุดเพราะทางเท้ามีเรื่องของคุณภาพ พอพ้นจากทางเท้ารูปแบบลักษณะพิเศษของสีลมที่แตกต่างจากตัวถนนสายอื่นก็คือ ตัวอาคารใหญ่แต่ละหลังส่วนใหญ่จะไม่มีรั้ว ออกแบบลานข้างหน้าต่อเนื่องกับพื้นที่ของทางเท้า ซึ่งแต่ละคนพยายามจะหนีทางเท้าไปให้เร็วที่สุด ร่มเงาก็ไม่มี บรรยากาศก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นทางเท้าและลานหน้าอาคารคืออันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งโจทย์ข้อที่หนึ่งคือมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าทางเท้าที่กว้างแค่สามเมตร ข้อที่สองก็คือพื้นที่นี้เหล่านี้เป็นพื้นที่กิจกรรมของเมืองได้ เพราะฉะนั้นใช้สองตัวนี้มาเป็นโจทย์ ลองใส่กิจกรรมต่าง ๆ เข้าไป ใส่หมากรุกยักษ์ เอาเปียโน เอากล่องมาใส่ เพิ่มการขีดสีตีเส้น เพื่อให้ยืนคุยกันได้ มีการใส่เฉดดิ้ง (shading) ใส่ร่มเงา ใส่ต้นไม้เข้าไป เพื่อให้คนสามารถทั้งเดิน ทั้งเคลื่อนที่และหยุด พื้นที่ทางเท้าประชาชนจะหยุดทำกิจกรรมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมปกติ เช่นการยืนรอรถเมล์ การยืนคุยกับเพื่อนที่จะไม่รบกวนคนที่จะทำการสัญจรไปมา มีการใส่องค์ประกอบที่จะทำให้คนข้ามถนนสามารถข้ามได้อย่างสะดวก ทั้งกลุ่มคนที่มีการเคลื่อนที่ทั่วไป กลุ่มบุคคลพิการหรือคนที่ขนของหนัก คนที่ใช้รถเข็นเด็ก ให้สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทางข้ามที่เหมาะสม การปรับระดับของเกาะกลางถนนให้ไม่จำเป็นต้องก้าวขึ้นและอื่น ๆ ปรับให้เป็นระดับเดียวกับพื้นผิว เพื่อทำให้คนสามารถเดินไปได้ พื้นที่ระหว่างต้นไม้ซึ่งคนไม่ได้ไปเดินไปมาเป็นพื้นที่ให้คนมาทำกิจกรรม (Activity) ต่าง ๆ

ที่มา : City Lab Saraburi , Facebook City Lab Thailand (2020)

สิ่งเหล่านี้คือโจทย์สำหรับพื้นที่ส่วนกลาง แต่โจทย์ของสระบุรีจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเมืองซบเซา พอหมดเวลาทำงาน หมดเวลากลางวันแล้วคนจะกลับไปอยู่บ้านหมด ทำให้เมืองหงอยเหงากลายเป็นเมืองซบเซา ผู้คนก็อยู่แต่บ้านของตัวเอง จะไปออกกำลังกายแต่ละครั้งต้องขับรถไกล เพื่อไปสนามกีฬาจังหวัด ไปตลาด สิ่งที่ต้องทำก็คือ การตีความหมายของพื้นที่ที่ไม่ใช้งาน พื้นที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะที่ใช้งานได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำจะอยู่บนโจทย์คำถามว่า ทำยังไงให้คนกลับมาใช้งานพื้นที่นั้นอีกครั้ง โดยการใส่แนวทางปฏิบัติ (Guideline) อย่างง่ายลงไปในพื้นที่ อาจจะเป็นข้อดีที่หน่วยงานรัฐมีงบจำกัด การมีงบจำกัดทำให้เราต้องหาวิธีที่จะพัฒนาพื้นที่ได้ดีในงบที่จำกัด ตอนแรกมีความลำบากใจว่าจะทำได้อย่างไรเพราะมีงบจำกัดขนาดนี้ แต่ว่าพอทำจริง ๆ แล้วมันก็เป็นข้อดีว่าทุกคนหรือชุมชนสามารถทำได้ในงบจำกัด ถ้าคิดว่าการทำ City Lab หรือทำการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเมืองแล้วใช้งบสูงก็แปลว่าโอกาสที่จะเผยแพร่หรือโอกาสที่จะทำซ้ำจะยากตามไปด้วย แต่การดิ้นรนทุกวิถีทางก็เพื่อที่จะใช้งบที่มีจำกัดให้สามารถทำได้ ถ้าเกินงบประมาณ อาจใช้วิธีการไปขอสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุน จากร้านสีในเมือง สีที่ใกล้จะหมดอายุหรือสปอนเซอร์ต่าง ๆ  โดยใช้งบประมาณที่ไม่เยอะมากนัก ในโปรเจคที่กำลังทำอยู่ที่ชัยนาทนั้นก็มีการนำนักเรียนเข้ามาช่วยกันทาสี เป็นการประหยัดค่าจ้างทาสี ตรงนั้นไม่ได้ประหยัดงบประมาณ (Save Cost) มาก แต่สิ่งที่ได้ก็คือการที่คนในพื้นที่ได้มารับรู้ เข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นหลักการง่าย ๆ คือการให้คนในพื้นที่เข้ามีส่วนร่วมทำให้มีแนวโน้มที่จะมีความยั่งยืนต่อไป เพราะคนที่จะใช้พื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา

 

ติดตามอ่านต่อใน Part 2

ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้อำนวยการ

และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังภาคและเมือง และทีม Healthy Space Forum

 


 

อ้างอิง

1. homeZoomer. สีลม-สาทร เสน่ห์ของย่านเศรษฐกิจที่แฝงกลิ่นอายในอดีต. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564 จากเว็บไซต์: https://bit.ly/305VYPc

 

SHARE

ผู้เขียน
ณัฐพร นิลวัตถา


ณัฏฐนันท์ ศิริโกสุม


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่


[email protected]