19 ตุลาคม 2565

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

2921

พื้นที่สาธารณะละแวกบ้าน: พื้นที่ “เล็ก” แต่ประโยชน์ “ใหญ่”

การสร้างพื้นที่เพื่อการเคลื่อนไหวที่ไร้ขอบเขต

การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ นับว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาในระดับประเทศ โดยองค์กรภาครัฐ เอกชน หน่วยงานอิสระ และภาคประชาชน ซึ่งผู้บริหารในระดับประเทศให้ความสนใจ และพยายามผลักดันให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพที่มุ่งพัฒนาให้ประชากรในประเทศมีสุขภาพดี ลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease) ซึ่งกลยุทธ์การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ ประเด็นกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ (Physical inactivity) ของประชากร อันจะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร[1]  ดังนั้นแนวคิด 3 Active (Active People, Active Society, Active Environment) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชากรทุกกลุ่มวัย โดยในหลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักและพยายามขับเคลื่อนโดยการใช้แนวคิดดังกล่าวเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและหวังผลลดโรคไม่ติดต่ [2,3] อันจะนำไปสู่การสูญเสียปีสุขภาวะของประชากร

สำหรับประเทศไทย 5 ปีก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเกินร้อยละ 70 แต่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยลดลง จากการสำรวจกิจกรรมทางกายของประชากรไทยในปี 2563 เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการมีกิจกรรมนอกบ้าน ส่งผลให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยลดลงเหลือร้อยละ 54.3 ต่อมาในปี 2564 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระยะการฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 63.0 [4]

อย่างไรก็ตามระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยยังไม่กลับมาเท่าเดิม ส่งผลให้หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามหาแนวทางในการส่งเสริมให้ประชากรในประเทศมีความมั่นใจที่จะออกมามีกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ใช้ “พื้นที่สาธารณะละแวกบ้าน”  ในการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย ด้วยการใช้พื้นที่สาธารณะอย่าง ปลอดโรค และปลอดภัย”  เพื่อสร้างต้นแบบการเรียนรู้ และขยายผลให้หลายพื้นที่ร่วมเรียนรู้การพัฒนาดังกล่าว เห็นได้จากกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพในหลายพื้นที่เริ่มกลับมาจัดกิจกรรมเหมือนเดิม เพิ่มเติมด้วยมาตรการที่สำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชากรในพื้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวที่ถึงแม้จะมีอุปสรรคแต่ยังมีแนวทางที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่

กว่าร้อยละ 39 ไม่แน่ใจหรือไม่ทราบเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชน

ข้อมูลสถานการณ์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชน ทั้งการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง จากการสำรวจข้อมูล ในปี 2564 [4]ดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าความคิดเห็นของตัวแทนประชากรไทยให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชน โดยประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนไม่แน่ใจและไม่ทราบถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชน (ร้อยละ 39.4) ทั้งที่มีการสร้างการรับรู้ประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย/ออกกำลังกายให้แก่คนในชุมชน (ร้อยละ 31.8) และยังพบอีกว่ามีการออกแบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย/ออกกำลังกาย (ร้อยละ 21.0) โดยช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 มีการปรับตัวของประชากรทำให้มีการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายแบบเวอร์ชวลออนไลน์ Virtual online (ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย/เล่นเกมกีฬาประเภท Virtual หรือกำหนดเป้าหมายหรือทำกิจกรรมร่วมกันแบบ Virtual (ร้อยละ 4.3) รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงร้อยละของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชุมชน

 

พื้นที่ละแวกบ้านที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย

จากการสำรวจข้อมูล พบว่ามีพื้นที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย เล่นกีฬาและนันทนาการในบริเวณละแวกบ้านร้อยละ 74.4 โดยการมีพื้นที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายละแวกบ้านมีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 67.8 ในขณะร้อยละ 25.6 ไม่มีพื้นที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายละแวกบ้าน ซึ่งพบว่ากลุ่มดังกล่าวมีกิจกรรมทางกายเพียงพอร้อยละ 59.0 ซึ่งพื้นที่ละแวกบ้านที่พบมากที่สุด ได้แก่ สวนสาธารณะร้อยละ 34.8 รองลงมาได้แก่ สนามกีฬา (ร้อยละ 33.5) ลานติดตั้งเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง (ร้อยละ 24.8) สนามเด็กเล่น (ร้อยละ 24.3) และยังพบว่าร้อยละ 2.6 ระบุว่ามีพื้นที่ละแวกบ้าน รอบบ้านและในบ้าน ลานโล่งในหมู่บ้าน ลานและศาลาวัด รวมไปถึงลานโล่งของสถานที่ราชการใกล้บ้าน อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) เป็นต้น[4] (รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 2)  ดังนั้น จากข้อมูลจะเห็นว่าคนที่มีพื้นที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายสามารถสร้างได้ทั้งพื้นที่เล็ก ๆ ละแวกบ้าน และพื้นที่โล่ง ให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้

ตารางที่ 2 แสดงร้อยละของพื้นที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย เล่นกีฬาและนันทนาการในบริเวณละแวกบ้าน

 

บทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สาธารณะละแวกบ้าน

พื้นที่สาธารณะคือ องค์ประกอบสำคัญของเมืองที่ช่วยส่งเสริมให้ประชากรในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังเกตได้จากประเทศที่เจริญแล้วมักมีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวมาก เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของประชากรที่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ  ซึ่งบทบาทของพื้นที่สาธารณะถูกออกแบบมาทำหน้าที่บางอย่างให้กับบริบทโดยรอบ เช่น รองรับหรือส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ อีกทั้งยังมีบทบาททางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของเมือง ในขณะที่ประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะเกิดจากการที่ผู้ใช้งานไปใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ พักผ่อน การมีกิจกรรมทางกาย การค้าขาย การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม เป็นต้น ซึ่งพื้นที่สาธารณะมีความแตกต่างกันด้วยขนาด และความหลากหลายของการจัดสรรพื้นที่ และกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งาน กระแสความนิยม และการจัดการพื้นที่ของชุมชนนั้น [5,6]

การกำหนดนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อันประกอบด้วย 1) การจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่ 2) การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่เฉพาะกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน 3) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ [7] ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นองค์กรหรือกลไกที่สำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือในชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ โครงการ Green Bangkok 2030 เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิดการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวในกรุงเทพฯ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตารางเมตร/คน และมีพื้นที่สาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร หรือ 5 นาที ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงสร้างพื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่กรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ว่างซอยหน้าวัดหัวลำโพง เขตปทุมวัน: พื้นที่เชิงทดลองระดมทุนที่สร้างต้นแบบการจัดให้มีพื้นที่สาธารณะละแวกบ้านเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคส่วนอื่น ๆ โดยการระดมทุนสาธารณะควบคู่กับการลงทุนภาครัฐ ซึ่งงบประมาณร้อยละ 90 มาจากกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 5.2 มาจากการสนับสนุนจากภาคเอกชน และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 4.8 เปิดระดมทุนสาธารณะในรูปแบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นโครงการเชิงทดลองเพื่อเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันให้กับทุก [8,9]

 

Pocket Park พื้นที่ขนาดเล็กที่มีประโยชน์

หลายประเทศเริ่มมีแนวคิดเรื่อง ‘Pocket Park’ เน้นคำว่า pocket ที่หมายถึงสวนเล็ก ๆ ที่ไปโผล่อยู่ในพื้นที่จิ๋ว ๆ ภายในเมือง เช่น ซอกตึก พื้นที่ว่างระหว่างอาคาร ในหนังสือ pocket park (1988) ของ Hajime Iwashita นิยามความหมายของ pocket park ในมุมน่ารัก ๆ คือ pocket หมายถึงกระเป๋ากางเกงที่เรามักจะซุกมือของเราเข้าไปเพื่อรับความอบอุ่น สวนกระเป๋าในเมืองใหญ่นี้จึงเป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่น ความปลอดภัยและเป็นพื้นที่พิเศษของเขตเมืองนั้น ๆ คำนี้มักใช้พูดถึงการออกแบบพื้นที่ว่าง ๆ ท่ามกลางตึกสูงที่ไม่ได้ใช้งานให้เป็นสวนสำหรับสาธารณชนคนทั่วไปเข้าไปใช้งานโดย pocket park จะอยู่ในเมือง ชานเมือง หรือชนบทก็ได้ จะเป็นที่ดินของใครก็ได้ สวนขนาดเล็กนี้จะอยู่ที่มุมเล็ก ๆ ของตึก พื้นที่ร้างที่ใหญ่ขึ้น หรือกระทั่งเป็นพื้นที่บนหลังคาที่เปิดให้สาธารณะเข้าใช้งาน หน้าที่หลักของ pocket park คือการมีพื้นที่ให้เราได้นั่งนอกอาคารบ้าง มีต้นไม้ใบหญ้า หรือบางแห่งอาจออกแบบเป็นสนามเด็กเล่นขนาดเล็ก เป็นพื้นที่ที่คนเมืองเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น Paley Park ในนิวยอร์กถือกันว่าเป็น pocket park แห่งแรก ตัวสวนนี้ตั้งอยู่ย่านกลางเมืองในแมนฮัตตัน ได้รับการออกแบบโดย Zion Breen Richardson Associates เป็นสวนจิ๋วที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนโอเอซิสกลางเมืองใหญ่ มีน้ำตก ต้นไม้ และเก้าอี้ให้คนผ่านไปผ่านมาเข้ามาใช้งาน เมืองปักกิ่งมีลานและอุปกรณ์สำหรับออกกำลังและเต้นแอโรบิคให้กับผู้ใหญ่ในเมือง ประเทศออสเตรเลียในปี 2012 สถาบัน Grattan Institute มีโครงการ ‘The Social Cities’ เนื่องจากในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนในออสเตรเลียมีเพื่อนและปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยลง ทางโครงการจึงใช้การออกแบบเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนให้มากขึ้น ได้สร้าง Pocket Park มีสวนต้นไม้เล็ก ๆ เป็นพื้นที่หย่อนใจที่ดึงดูดให้คนมาใช้เวลาในพื้นที่เดียวกัน นำไปสู่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากขึ้น[10-12]

 

การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ

พื้นที่สุขภาวะไม่ได้หมายถึงพื้นที่ของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ของเอกชน ประชาชน หรือพื้นที่ร้างไร้ประโยชน์ที่สามารถนำมาปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะแก่การออกแบบให้เหมาะสมกับการส่งเสริมสุขภาวะให้กับคนในชุมชนละแวกนั้นได้ โดยแบ่งเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่ชานเมือง พื้นที่ชุมชนแออัด และพื้นที่ชนบท ซึ่งบริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นการออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมสุขภาวะก็มีความแตกต่างกันด้วย

พื้นที่เมือง เป็นย่านที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีข้อจำกัดของพื้นที่สาธารณะรวมไปถึงการคมนาคมต่าง ๆ ที่สะดวกและหลากหลาย อาทิ ทางด่วน รถไฟฟ้า สะพานต่าง ๆ โดยความต้องการพื้นที่ของคนเมือง ได้แก่ ต้องการพื้นที่สีเขียว ความปลอดภัย กิจกรรมที่หลากหลาย พื้นที่พักผ่อน และพื้นที่จอดรถ

พื้นที่ชานเมือง  พื้นที่เขตรอบนอกมีความแออัดระดับน้อย-ปานกลาง ทำให้มีพื้นที่ว่าง โดยเฉพาะพื้นที่ของหน่วยท้องถิ่นที่สามารถออกแบบและพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะส่งเสริมสุขภาวะได้ที่ตรงกับความต้องการของชุมชนละแวกนั้น โดยความต้องการพื้นที่ของคนชานเมือง ได้แก่ ต้องการพื้นที่สีเขียว พื้นที่ร่มเงา ความปลอดภัย กิจกรรมที่หลากหลาย และพื้นที่จอดรถ

พื้นที่ชุมชนแออัด เป็นชุมชนที่มีข้อจำกัดของพื้นที่สูงที่สุดเนื่องจากพื้นที่ส่วนกลางจะมีลักษณะเป็นที่ว่างสำหรับการสัญจรและที่ว่างระหว่างที่พักอาศัย โดยความต้องการพื้นที่ของคนเมือง ได้แก่ ต้องการพื้นที่ยืดหยุ่น กิจกรรมที่หลากหลาย ความปลอดภัย พื้นที่สีเขียว และพื้นที่พักผ่อน

พื้นที่ชนบท เป็นพื้นที่ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ห่างไกลกันมากที่สุด โดยพื้นที่สาธารณะมักจะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัด โรงเรียน หรือพื้นที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของคนในชุมชน โดยความต้องการพื้นที่ของคนเมือง ได้แก่ ต้องการกิจกรรมที่หลากหลาย ความปลอดภัย พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่พักผ่อน และพื้นที่สีเขียว[13]

การริเริ่มโดยชุมชน

ชุมชน หรือ Community เป็นแหล่งรวมของหน่วยย่อย ๆ ที่เรียกว่า “บุคคล” และ “ครอบครัว” ที่มีความแตกต่าง หลากหลายของคุณลักษณะเฉพาะ อาทิเช่น อายุ เพศ อาชีพ และรายได้ นำมาซึ่งการแสดงออกและการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกัน คำว่า “ชุมชน” ก็เปรียบเสมือนพลังอันยิ่งใหญ่เพราะเกิดจากการรวมกันของบุคคลและครอบครัวจำนวนมาก การขับเคลื่อนเพื่อปรับเปลี่ยนและเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง จึงเป็นสิ่งเกิดขึ้นค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะผ่านความร่วมมือของบุคคลในชุมชนจะนำมาซึ่งพลังที่ช่วยทำให้ชุมชนขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็[14-16] จากหลักฐานเชิงประจักษ์ในหลายประเทศพัฒนาชุมชนด้วยการนำหลักแนวคิดการริเริ่มด้วยชุมชนมาเป็นกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนด้านสังคม สุขภาพ ในชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการในการค้นหาปัญหาจากบุคคลในชุมชน และดำเนินการแก้ไขร่วมกันด้วยแนวทางที่บุคคลในชุมชนเห็นพ้องต้องกัน พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน

การริเริ่ม (Initiative) เป็นกระบวนการที่บ่งบอกถึงสถานะของการเริ่มต้นบางอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความต้องการที่แท้จริงของบุคคลในชุมชน ซึ่งบุคคลเป็นผู้ริเริ่มในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา จัดทำแผนและโครงการ ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยบุคคลหรือหน่วยงานนอกชุมชน การดำเนินงานพัฒนาในขั้นตอนต่าง ๆ ต้องให้บุคคลในชุมชนเป็นผู้ริเริ่มและรับผิดชอบ หน่วยงานนอกชุมชนอื่น ๆ เป็นเพียงแค่หน่วยที่สนับสนุนส่งเสริมเท่านั้[17] แนวคิดดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยวิธีให้การศึกษาแก่บุคคลในชุมชนจนมีความรู้ความสามารถในระดับที่เรียกว่า “คิดเป็นทำเป็น” จนสามารถที่จะค้นหาปัญหา วิเคราะห์ปัญหา กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาและดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง

การริเริ่มโดยชุมชน (Community initiatives) เป็นกระบวนการที่บุคคลร่วมกันเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ในชุมชน โดยใช้กระบวนการค้นหาปัญหาเฉพาะที่เกิดขึ้นในชุมชน และรวมกันแก้ไขปัญหา ด้วยกระบวนและขั้นตอนที่บุคคลในชุมชนร่วมมือกัน ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของหลายภาคส่วน (Multisectoral change) ในชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเน้นเพื่อเป็นการพัฒนาทั้งบุคคลในหลายบทบาท เช่น ผู้นำ ผู้ร่วมเรียนรู้ และผู้ประสานงานที่ดี รวมทั้งต่อยอดทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ด้วย

ในปี 1982 ทีมวิจัยในรัฐ Chicago นำโดย Marris and Rein ได้ศึกษาเกี่ยวกับอุปสรรคของการปฏิรูปสังคม ในประเด็นของความยากจนและกิจกรรมชุมชนในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้หลักคิดเรื่องการมีส่วนร่วม (Participation) ของชุมชนในการดำเนินการ ซึ่งทำให้ค้นพบความแตกต่างของบุคคล ความต้องการภายใน ความต้องการภายนอก ถึงเหตุผลของการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นจากประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงความคิดเห็น และเป็นการยอมรับซึ่งกันและกันในที่สุด ในหลายปีต่อมาแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้ให้ชุมชนเป็นผู้ริเริ่มจึงถูกนำมาขยายผล โดยให้ชุมชนเป็นผู้ร่วมคิดประเด็นปัญหาที่จะนำมาปรับเปลี่ยน ซึ่งพบว่าประเด็นที่เป็นที่นิยมในช่วงนั้น ได้แก่ ประเด็นการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ สุขภาพ และการพัฒนาแรงงาน เป็นต้น โดยทั้งหมดยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลักสำคัญ และการยอมรับในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ตัดสินกัน เน้นเรียนรู้สิ่งใหม่และการเสริมแรงกัน นำไปสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของชุมชน[18] หลังจากนั้นทำให้หลายพื้นที่เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาชุมชนโดยเริ่มจากชวนชุมชนมองภาพของพื้นที่ตนเอง และมองหาสิ่งที่อยากปรับเปลี่ยน และแนะนำให้ผู้ที่มีบทบาทในชุมชนชวนกันหาแนวทางการดำเนินกิจกรรมปรับเปลี่ยนในประเด็นนั้น ๆ ซึ่งต่อมาแนวคิดการมีส่วนร่วมนี้เป็นที่นิยม และถูกยอมรับว่าตรงประเด็นของปัญหาในชุมชน

 

ความท้าทายของนโยบายประเทศไทย

การออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะละแวกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ว่าง พื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่ส่วนราชการ ควรคำนึงถึงการกระจายตัวและการเข้าถึงได้สะดวกของคนในชุมชนเหมาะกับทุกเพศทุกวัยหรือแม้แต่ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม กลายเป็นศูนย์รวมชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชุมชนลักษณะใดก็ล้วนต้องการพื้นที่สาธารณะที่มีลักษณะ ดังนี้

1. มีพื้นที่สีเขียว

2. มีความปลอดภัย

3. มีกิจกรรมที่หลากหลาย

เพื่อส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย อีกทั้งยังสามารถเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ได้หลายอย่าง อาทิ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เส้นทางสัญจร การออกกำลังกาย พบปะผู้คน เพื่อลดช่องว่างทางสังคม ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน คนที่เราไม่รู้จักหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงคู่ใจ เป็นต้น หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ควรมีบทบาทสำคัญร่วมกับชุมชนในการออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ ความหลากหลาย และความต้องการของชุมชนนั้น ๆ เนื่องจากความแตกต่างและหลากหลายของความต้องการในการใช้พื้นที่ ข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ พื้นที่ ทรัพยากรต่าง ๆ วัฒนธรรม และจำนวนประชากร ทำให้การออกแบบและพัฒนาพื้นที่ก็แตกต่างตามความต้องการไปด้วย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน หรือพื้นที่ว่าง พื้นที่ร้างที่ไม่ใช้ประโยชน์ก็ล้วนสามารถออกแบบและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น ควรผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะละแวกบ้านไปพร้อมกับการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชาชนที่จะนำไปสู่การลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันเป็นเป้าหมายหลักของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อส่งเสริมให้ประชากรทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยเน้นการสร้างให้ประชากรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองที่มีทางเลือกที่มีความสอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิต ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การริเริ่มโดยชุมชน” หรือ Community initiatives นอกจากจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแล้วยังทำให้เกิดการพบปะกันของคนในสังคม และชุมชนด้วย

 


เอกสารอ้างอิง

1. World Health Organization. (2016). World health statistics 2016: monitoring health for the SDGs sustainable development goals: World Health Organization.

2. World Health Organization. (2013). Global action plan for the prevention and control of noncommunicable diseases 2013-2020: World Health Organization.

3. Lopez, A., Mathers, C., Ezzati, M., Jamison, D., & Murray, C. (2006). Global burden of disease and risk factors. The World Bank 2006.

4. ศููนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันัวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

5. ชมพูนุท คงพุนพิน. (2018). การสรรค์สร้างพื้นที่สาธารณะชุมชนเมืองเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์เชิงสังคมอย่างยั่งยืน. การสรรค์สร้างพื้นที่สาธารณะชุมชนเมืองเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์เชิงสังคมอย่างยั่งยืน, AN APPROACH TO CREATE URBAN PUBLIC SPACE FOR SUSTAINING SOCIAL IDENTITY (tu.ac.th).

6. สุชานาถ กิตติสุรินทร์. (2020). Civic Urbanism: Re-creating the Urban Public Life. https://cont-reading.com/context/civic-urbanism-usl/.

7. สุนันต๊ะ, ส. (2018). องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน. Public Health Policy and Laws Journal, 4(1), 98-107.

8. สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร. (2021). Green Bangkok 2030 ร่วมใจพัฒนากรุงเทพฯ สู่มหานครสีเขียว. https://www.prbangkok.com/th/news/detail/33/557.

9. Usavagovitwong N. (2021). ‘โครงการกรุงเทพเมืองสีเขียว 2030’: กรณีศึกษาของการกระจายภารกิจสู่การ จัดการพื้นที่สาธารณะระดับละแวกบ้านบนที่ดินเอกชน.

10. วิชชุ ชาญณรงค์. (2020). Pocket Park พื้นที่ความสุขของคนเมือง. Pocket Park พื้นที่ความสุขของคนเมือง (onceinlife.co).

11. Vanat Putnark. (2019). POCKET PARK เมื่อการเปลี่ยนพื้นที่ร้างเป็นสวนเล็ก ๆ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้เมือง. https://citycracker.co/city-environment/what-is-pocket-park/.

12. Peschardt, K. (2014). Health Promoting Pocket Parks in a Landscape Architectural Perspective.

13. พนิต ภู่จินดา, ธัญชนก วงศ์ทวิลาภ, ศิรดา ดาริการ์นนท์ม กานต์ แซ่เอี๊ยว, รณพีร์ อารีพงษ์, ปัณฑิตา เหตานุรักษ์, จารวี ดำรงกิจการ, พรรณวิภา แฝงยงค์ (2564). Healthy Space Next Door สุขภาพดีมีได้ข้างบ้าน คู่มือแนะนำการสร้างพื้นที่สุขภาวะในชุมชน. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum).

14. Tonnies, F., & Loomis, C. P. (2002). Community and society. Courier Corporation.

15. Tönnies, F. (2012). Community and society. In The urban sociology reader (pp. 30-36). Routledge.

16. Smith, M. K., Muhajarine, N., Smith, J. A., & Delanoy, S. (2011). Community. the SPHERU KT Casebook, 23.

17. Paine-Andrews, A., Fisher, J. L., Campuzano, M. K., Fawcett, S. B., & Berkley-Patton, J. (2000). Promoting sustainability of community health initiatives: an empirical case study. Health Promotion Practice, 1(3), 248-258.

18. Baum, H. S. (2001). How should we evaluate community initiatives?. Journal of the American Planning Association, 67(2), 147-158.

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย