28 ธันวาคม 2565

กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม

3637

สถานการณ์ความรอบรู้ทางกาย (PL) ของประชากรไทย ปี 2565 และแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนความรอบรู้ทางกาย (PL) เพื่อยกระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ

กิจกรรมทางกายกับความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL)

“กิจกรรมทางกาย” ถือเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมทางสุขภาพที่สำคัญและมีความจำเป็นของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั้งเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ หากผู้คนสามารถปฏิบัติได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมก็จะส่งผลเชิงบวกให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข อีกทั้ง การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอยังสามารถพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมของมนุษย์ได้อย่างเป็นองค์รวม แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่สามารถปฏิบัติให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก (Environment factors) หรือปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคลเอง (Individual factors) ที่จะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยยังคงพบว่าสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทย เช่น ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าเด็กและเยาวชนร้อยละ 24.2 ผู้ใหญ่ร้อยละ 66.8 และผู้สูงอายุร้อยละ 58.6 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) (1) ซึ่งอุปสรรคของการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยนั้น พบว่ากลุ่มเด็กและวัยรุ่นยังมีความไม่มั่นใจในทักษะและสมรรถนะการเคลื่อนไหวร่างกายของตนเองและขาดแรงจูงใจที่จะออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกาย ส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นวัยทำงานมีอุปสรรคเรื่องของการไม่มีเวลา และบางรายเริ่มมีปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ รวมถึงวัยผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบถึงข้อมูลในการดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้อง ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุจะมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ เช่นกัน และเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้ ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคลเอง (Individual factors) อันส่งผลให้ปัจจุบันคนไทยทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออยู่ในระดับที่น้อย ดังนั้นการลดอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคลเอง (Individual factors) เพื่อพาตนเองไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพนั้น ทุกช่วงวัยสามารถทำให้เกิดในวิถีชีวิตประจำวันของตนเองได้ โดยการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยระดับบุคคลด้วยการเสริมสร้างความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ให้มากขึ้นนั่นเอง (2)

 

นิยามและความหมายและองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกาย

ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) หมายถึง ทักษะและความสามารถสำหรับการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงแรงจูงใจ ความมั่นใจ และความรู้ความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหวร่างกายที่ส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม (ร่างกาย (Physical) / จิตวิทยา (Psychological) / สังคม (Social/Behavioral) และความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) โดยองค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่มีความสำคัญต่อทักษะและความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบด้วย (3)

1) Motivation and confidence (Psychological) / แรงจูงใจและความมั่นใจ หมายถึง การมีความกระตือรือร้น ความเพลิดเพลิน และความมั่นใจในตนเองของแต่ละบุคคลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายและการมีกิจกรรมทางกาย

2) Knowledge and understanding (Cognitive) ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนความสามารถที่ระบุและพิจารณาคุณสมบัติที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย หมายถึง ความรู้ความเข้าใจของการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงมีความเข้าใจประโยชน์ต่อการมีสุขภาพที่ดีของรูปแบบการใช้ชีวิตกระฉับกระเฉง และมีความรู้ความเข้าใจถึงความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่าง

3) Physical competence (Physical) ความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย หมายถึง ความสามารถหรือสมรรถนะร่างกายของแต่ละบุคคลในการพัฒนาทักษะและรูปแบบการเคลื่อนไหว ตลอดจนความสามารถในการเคลื่อนไหวที่มีระดับหนักมากและระยะเวลาที่นานเพิ่มขึ้น หากร่างกายที่มีความแข็งแรงมากขึ้น ยิ่งจะช่วยให้แต่ละบุคคลมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายมากขึ้น

4) Engagement in physical activities for life (Social/Behavioral) การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี หมายถึง ความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่มีต่อการเลือกรูปแบบการเคลื่อนไหวหรือการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับตนเองและวิถีชีวิตตนเองของแต่ละบุคคล โดยต้องสามารถจัดลำดับความสำคัญและรักษาวินัยไว้ซึ่งการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวร่างกายหรือกิจกรรมทางกายรูปแบบต่าง ๆ ที่ตนเองต้องการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของตนเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของตนเอง

 

การเสริมสร้างความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ของ 3 ช่วงวัย (4)

ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) เป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพที่ดีของทุกคนตั้งแต่เกิดจนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยในวัยเด็กความรอบรู้ทางกายจะถูกส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ และสลับซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยตามสมรรถนะของร่างกาย จนส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมกีฬา หรือกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงยังส่งผลต่อความกล้าของเด็กที่มีความมั่นใจต่อการออกไปมีกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ และผู้อื่นในสังคมได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนความรอบรู้ทางกายในวัยเด็กและเยาวชน ที่จะเน้นทักษะและพื้นฐานการเคลื่อนไหวร่างกาย จิตใจ สังคม และเป็นพื้นฐานการสร้างเสริมพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ขณะที่วัยผู้ใหญ่เป็นวัยที่จำเป็นต้องมีความรอบรู้ทางกายสูงนั้น การมีพื้นฐานและทักษะเคลื่อนไหวร่างกายเป็นอย่างดี สามารถมีกิจกรรมทางกายและออกกำลังกายเพื่อคงไว้ของการมีสุขภาพที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ รวมถึงสามารถดูแลตัวเองให้ลดโอกาสเกิดความเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพจากการทำงานและอื่น ๆ เพื่อก้าวผ่านเข้าสู่วัยสูงอายุต่อไป และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ การมีพื้นฐานและทักษะเคลื่อนไหวร่างกายเป็นอย่างดีจะส่งผลให้สามารถใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกายของระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามช่วงวัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

แนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ในต่างประเทศและประเทศไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรป เช่น สวีเดน สาธารณรัฐเช็ก และเนเธอแลนด์ ได้ส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ด้วยการปรับให้เข้ากับรูปแบบวิถีชีวิตของประชากรในประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มประเทศในยุโรปที่เป็นสมาชิก Physical Literacy for Life มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตผ่านการเล่นกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (5) ในขณะที่ประเทศในแถบทวีปเอเชีย โดยประเทศจีนได้ใช้การบูรณาการส่งเสริมความรอบรู้ทางกายเข้ากับระบบการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความรู้ ทักษะและสร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนมีวัฒนธรรมการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันโดยที่เด็กมีความรอบรู้ทางกายโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ หลายประเทศในแอฟริกาก็ได้เชื่อมโยงความรอบรู้ทางกาย (PL) เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ประจำชาติ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียได้ส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ผนวกเข้ากับความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) โดยมีเป้าหมายให้คนรุ่นใหม่มีความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่มากขึ้นด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวมตลอดชีวิตผ่านการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ สังคม และความรู้ความเข้าใจและความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิต Sport Australia ที่เป็นองค์กรส่งเสริมด้านกีฬาของประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า

“เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาชีวิตของชาวออสเตรเลียทุกคน
ผ่านการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย

เราต้องการให้ชาวออสเตรเลียเคลื่อนไหวมากขึ้น บ่อยขึ้น
เพราะเรารู้ถึงประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
และประโยชน์ต่อร่างกาย สังคม จิตใจ ความรู้และความเข้าใจ” (
6)

ขณะที่ประเทศแคนาดา เป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้นำแนวคิดและแนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ไปใช้ดำเนินงานส่งเสริมเพื่อยกระดับการมีกิจกรรมทางกายและนานาประเทศทั่วโลกให้การยอมรับ โดยได้รวบรวมแนวคิดการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) ผนวกเข้ากับสถานศึกษา องค์กรและสหพันธ์แห่งชาติ ถัดมาประเทศสหรัฐอเมริกาโดย SHAPE America ก็ได้บูรณาการความรอบรู้ทางกาย (PL) เข้ากับความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้เป็นมาตรฐานแห่งชาติเพื่อทำให้ระบบการศึกษามีกรอบแนวทางการทำงานสำหรับผลิตบุคคลที่มีความรอบรู้ทางกาย และนำไปส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่ดีต่อสุขภาพตลอดชีวิต โดยให้คำนิยามไว้ว่า

“ความรอบรู้ทางกายคือความสามารถ
ความมั่นใจและความปรารถนาที่จะเคลื่อนไหวร่างกายตลอดชีวิต” (7)

หากจะกล่าวถึงความรอบรู้ทางกาย (PL) ในประเทศไทยนั้น พบว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และที่ผ่านมายังขาดการดำเนินงานการส่งเสริมความรอบรู้ทางกายอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญยังไม่มีการวัดและประเมินผลความรอบรู้ทางกาย (PL) ในประเทศไทย อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลด้านความรอบรู้ทางกายที่จะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนส่งเสริมและสนับสนุนความรอบรู้ทางกายอย่างเหมาะสมได้

 

สถานการณ์ความรอบรู้ทางกาย (PL) ของประชากรไทย

เนื่องจากความสำคัญและความจำเป็นของข้อมูลด้านสถานการณ์ความรอบรู้ทางกาย (PL) ดังกล่าว และเพื่อมีข้อมูลเชิงสถานการณ์ความรอบรู้ทางกาย (PL) ของประชากรไทย โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565 โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลความรอบรู้ทางกาย (PL) ขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์เบื้องต้นสำหรับนำไปใช้ออกแบบและวางแผนส่งเสริมและสนับสนุนความรอบรู้ทางกายกับทุกช่วงวัย โดยการศึกษาข้อมูลเชิงสถานการณ์ความรอบรู้ทางกาย (PL) ประชากรไทยครั้งนี้ มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 7,849 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 48.6 เพศหญิงร้อยละ 51.4 โดยเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนร้อยละ 17.0 กลุ่มวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 58.6 และกลุ่มผู้สูงอายุร้อยละ 24.4 (8)

การศึกษาความรอบรู้ทางกาย (PL) ประชากรไทยในภาพรวม

การศึกษาความรอบรู้ทางกาย (PL) ประชากรไทยภาพรวม พบว่า ส่วนใหญ่ประชากรไทยมีความรอบรู้ทางกาย (PL) อยู่ในระดับมาก (คะแนน 2.21 –3.0) ร้อยละ 71.6 รองลงมาอยู่ในระดับปานกลาง (คะแนน 1.61 –2.20) ร้อยละ 22.5 และอยู่ในระดับน้อย (คะแนน 1.00 –1.60) ร้อยละ 5.9 และเมื่อพิจารณาจำแนกตามองค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) พบว่า ส่วนใหญ่มีแรงจูงใจ (Motivation) อยู่ในระดับมากร้อยละ 82.5 รองลงมาเป็นความรู้ความเข้าใจ (Knowledge and understanding) อยู่ในระดับมากร้อยละ 81.3 ในขณะที่องค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) ด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) อยู่ในระดับมาก มีเพียงร้อยละ 44.4 ด้านความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย (Physical competence) อยู่ในระดับมาก มีเพียงร้อยละ 58.7 และด้านความมั่นใจ (confidence) อยู่ในระดับมากเพียงร้อยละ 60.2 (8)

การศึกษาความรอบรู้ทางกาย (PL) ประชากรไทยจำแนกตามกลุ่มอายุ

เมื่อพิจารณาความรอบรู้ทางกาย (PL) ตามกลุ่มอายุ พบว่า ส่วนใหญ่ประชากรวัยเด็กและเยาวชนมีความรอบรู้ทางกาย (PL) อยู่ในระดับมากร้อยละ 79.3 รองลงมาเป็นวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 75.2 ในขณะที่วัยผู้สูงอายุมีความรอบรู้ทางกาย (PL) อยู่ในระดับมากเพียงร้อยละ 57.6 เท่านั้น (8)

กลุ่มผู้สูงอายุกับความรอบรู้ทางกาย (PL) แต่ละองค์ประกอบ พบว่า ผู้สูงอายุมีแรงจูงใจ (Motivation) อยู่ในระดับมาก มากที่สุดถึงร้อยละ 77.3 รองลงมาเป็นความรู้ความเข้าใจ (Knowledge and understanding) อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 68.6 ในขณะที่องค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) ด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) อยู่ในระดับมาก มีเพียงร้อยละ 32.6 ด้านความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย (Physical competence) อยู่ในระดับมาก มีเพียงร้อยละ 42.6 และด้านความมั่นใจ (confidence) อยู่ในระดับมาก มีเพียงร้อยละ 49.1 เท่านั้น

กลุ่มผู้ใหญ่กับความรอบรู้ทางกาย (PL) แต่ละองค์ประกอบ พบว่า ผู้ใหญ่มีความรู้ความเข้าใจ (Knowledge and understanding) อยู่ในระดับมาก มากที่สุดร้อยละ 85.6 รองลงมามีแรงจูงใจ (Motivation) อยู่ในระดับมาก ถึงร้อยละ 84.0 ในขณะที่องค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) ด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) อยู่ในระดับมาก มีเพียงร้อยละ 46.2 ด้านความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย (Physical competence) อยู่ในระดับมาก มีร้อยละ 62.2 และด้านความมั่นใจ (confidence) อยู่ในระดับมาก มีร้อยละ 63.3 ตามลำดับ

กลุ่มเด็กและเยาวชนกับความรอบรู้ทางกาย (PL) แต่ละองค์ประกอบ พบว่า เด็กและเยาวชนมีแรงจูงใจ (Motivation) อยู่ในระดับมาก มากที่สุดถึงร้อยละ 85.3 รองลงมามีความรู้ความเข้าใจ (Knowledge and understanding) อยู่ในระดับมาก ถึงร้อยละ 85.0 ในขณะที่องค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) ด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) อยู่ในระดับมาก มีเพียงร้อยละ 54.9 ด้านความมั่นใจ (confidence) อยู่ในระดับมาก มีร้อยละ 65.6 ด้านความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย (Physical competence) อยู่ในระดับมาก มีร้อยละ 70.5 และ ตามลำดับ

 

แนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) เพื่อยกระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย

จากข้อมูลการศึกษาความรอบรู้ทางกาย (PL) ประชากรไทยในภาพรวมมีความสอดคล้องกับความรอบรู้ทางกาย (PL) ที่จำแนกตามกลุ่มอายุ ชี้ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า คนไทยทุกกลุ่มอายุส่วนใหญ่มีความรอบรู้ทางกาย (PL) อยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรอบรู้ทางกาย (PL) ด้านแรงจูงใจ (Motivation) ด้านการมีความรู้ความเข้าใจ (Knowledge and understanding) ซึ่งอาจจะเกิดจากการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน (Public Education, Including Mass Media) ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน (Whole of School Programmes) ด้านการบริการทางสุขภาพ (Health Care) โดยส่งเสริมการให้ความรู้ ความเข้าใจและประโยชน์ที่จะได้รับเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายและด้านสุขภาพ ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ทำให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงมีความเข้าใจประโยชน์ต่อการมีสุขภาพที่ดีและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายบนสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างอย่างเหมาะสม ส่งผลให้มีแรงจูงใจ กระตือรือร้นและเพลิดเพลินกับการเคลื่อนไหวร่างกายและการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น (3) (4) (9)

ในขณะเดียวกันกลับพบว่า องค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย (PL) ในส่วนของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) และความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย (Physical competence) รวมถึงด้านความมั่นใจ (confidence) ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวลในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งทั้ง 3 ด้าน ถือว่าเป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญและจำเป็นในลำดับแรก ๆ ของการเริ่มต้นการมีความรอบรู้ทางกาย (PL) ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งหนุนเสริมความรอบรู้ทางกาย (PL) กับประชากรไทยทุกกลุ่มวัยใน 3 ด้านเช่นกัน คือ

1. เร่งหนุนเสริมความสามารถหรือสมรรถนะของร่างกาย (Physical competence) เพื่อการพัฒนาทักษะและรูปแบบการเคลื่อนไหว ตลอดจนการความสามารถในการเคลื่อนไหวที่มีระดับหนักมากขึ้นและมีระยะเวลาที่นานเพิ่มขึ้น หากร่างกายที่มีความแข็งแรงมากขึ้นก็จะช่วยให้แต่ละบุคคลมีส่วนร่วมในการกิจกรรมทางกายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน และกลุ่มผู้สูงอายุ

2. เร่งหนุนเสริมความมั่นใจ (confidence) ความมั่นใจในตนเองในระดับบุคคลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายและการมีกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นการออกแบบพื้นที่ สถานที่ กิจกรรม กีฬาและนันทนาการที่ง่ายและสะดวกต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมตามสมรรถนะของร่างกาย เพื่อสร้างแรงจูงใจ ความมั่นใจทัศนะคติที่ดีต่อการมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง และสามารถเคลื่อนไหวร่างกายที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะร่างกายที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม

3. เร่งหนุนเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) ในการดูแลสุขภาพร่างกายโดยเลือกรูปแบบการเคลื่อนไหวหรือการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับทักษะ ความถนัดและวิถีชีวิตตนเอง ดังนั้น การออกแบบพื้นที่ สถานที่ กิจกรรม กีฬาและนันทนาการ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะบุคคล เช่น ความเป็นเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่วัยทำงาน และผู้สูงอายุ รวมถึงความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้กลุ่มคนทุกเพศทุกวัยสามารถมีส่วนร่วมและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามความต้องการและความถนัดของแต่ละบุคคลอย่างทั่วถึง ซึ่งผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี (Engagement in physical activities for life) เป็นลำดับต้น ๆ

 


อ้างอิง

1. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2564). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

2. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2565). ความจำเป็นสำหรับการส่งเสริม “ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL)” ให้กับคนไทยทุกกลุ่มวัย. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. Available from: https://tpak.or.th/backend/print_media_file/551/Research_Brief_S&P.pdf

3. Australian Sports Commission. (2019). SPORT AUSTRALIA POSITION STATEMENT ON PHYSICAL LITERACY. Available from: https://www.sportaus.gov.au/physical_literacy

4. Cairney, J., Dudley, D., Kwan, M., Bulten, R., & Kriellaars, D. (2019). Physical literacy, physical activity and health: Toward an evidence-informed conceptual model. Sports Medicine, 49(3), 371-383.

5. The Physical Literacy for Life project. (2021). Physical Literacy for Life project partners release 12 position statements. Available from: https://physical-literacy.isca.org/update/35/physical-literacy-position-statements

6. Australian Sports Commission. 2019. SPORT AUSTRALIA POSITION STATEMENT ON PHYSICAL LITERACY. Available from: https://www.sportaus.gov.au/physical_literacy

7. SHAPE America. 2015. Physical Literacy in the United States. Available from: https://www.shapeamerica.org/events/physicalliteracy.aspx

8. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK). (2565). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

9. International Society for Physical Activity and Health. (2020). ISPAH’s Eight Investments that Work for Physical Activity. International Society for Physical Activity and Health.

 

 

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย