25 มกราคม 2564

วณิสรา เจริญรมย์, นันทวัน ป้อมค่าย, คมกฤช ตะเพียนทอง และณรากร วงษ์สิงห์

3681

บทวิเคราะห์: ทิศทางเชิงสถานการณ์และแนวทางฟื้นระดับกิจกรรมทางกายของประชากร

การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ถือเป็นเป้าหมายหลักของนานาประเทศในการลดภาวะการป่วย ตาย และพิการจากโรคในกลุ่ม NCDs ให้กับประชากร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าการขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะเป็นสาเหตุสำคัญที่รัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาทางสุขภาพประชากรของประเทศในอนาคต ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอนั้นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับการออกมาเล่นกีฬา ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะส่งเสริมให้ประชากรในประเทศมีวิถีชีวิตสุขภาวะ หรือ Active Living Lifestyle ด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Built Environments) กระตุ้นให้ประชาชนสัญจรด้วยการเดินและปั่นจักรยานมากขึ้น การส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีความจำเป็นต่อนานาประเทศทั้งสิ้น แม้จะเริ่มต้นส่งเสริมหรือสนับสนุนด้วยแนวทางใดก็ตาม

ทิศทางและแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายระดับโลกก่อนโควิด 19

แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะมีข้อแนะนำและให้คำนิยามเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยการสื่อสาร รณรงค์ เผยแพร่แนวทางการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อลดการขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรทั่วโลกให้เหลือร้อยละ 15 ในปี 2573 แต่อย่างไรก็ตามขณะที่ประเทศสมาชิกมีความพยายามในการส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จากการสำรวจแนวโน้มของการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอจาก 168 ประเทศทั่วโลกระหว่างปี 2544-2559 ของ Regina Guthold และคณะ (1) พบว่า ในปี 2544 กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงมีอัตราการขาดกิจกรรมทางกายถึงร้อยละ 31.6 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36.8 ในปี 2559 ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.0 เป็นร้อยละ 16.2 ในปี 2559 จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2544 จนถึงปี 2559 การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรทั่วโลกในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เหลือเพียงร้อยละ 72.5 ในปี 2559 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าเป็นโจทย์สำคัญที่นานาประเทศได้ใช้แนวทางต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนด

แนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของนานาประเทศช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

 

ในขณะที่สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรทั่วโลกในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง และในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา “เป็นปีแห่งการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ” คำกล่าวข้างต้นนี้ไม่ผิดแปลกแต่อย่างใด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น องค์การอนามัยโลกถือเป็นภาวะการระบาดใหญ่ (Pandemic) ที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน

การมีกิจกรรมทางกายของผู้คนก็ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน แม้ว่าช่วงสภาวการณ์ปกติที่ทั่วโลกกำลังเร่งส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะการดำเนินงานเชิงนโยบาย การสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย การสร้างโอกาสการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าจะทำให้การขับเคลื่อนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายได้รับผลกระทบไปทั่วโลก และประชากรทั่วโลกจะมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงด้วยเช่นกัน

แม้ว่าข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอทั่วโลกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับจำนวนร้อยละของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เนื่องจากข้อจำกัดของการสำรวจข้อมูล อย่างไรก็ตามก็พบหลักฐานการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่สามารถยืนยันได้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้คนไปทั่วโลก อาทิเช่น

“ศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกา (2) พบว่า เด็กอายุระหว่าง 5-13 ปี มีกิจกรรมทางกายที่ลดลงและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เด็กเหล่านั้นได้ปรับรูปแบบการกิจกรรมทางกายในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้าน นอกจากนี้ ยังใช้สื่อมัลติมีเดียที่มีภาพและเสียงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และทำกิจกรรม”

“ศึกษาผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อการมีกิจกรรมทางกายของเยาวชนในประเทศกรีก (3) พบว่า กิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนลดลง หลังจากที่มีประกาศมาตรการหลังล็อกดาวน์ เนื่องจากไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทั้งเรื่องการทำงาน การเดินทาง และออกกำลังกาย เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนประกาศมาตรการล็อกดาวน์”

“ศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของผู้สูงอายุในชุมชนของประเทศญี่ปุ่น (4) พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผู้สูงอายุในชุมชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงอย่างมากในเดือนเมษายน 2020 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมกราคม 2020 ซึ่งมีความกังวลว่าสถานการณ์เช่นนี้จะทำผู้สูงอายุเป็นอัมพาต พิการ ได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุมีการออกกำลังกายและเดินเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายในรอบ ๆ บริเวณบ้านให้เป็นนิสัย”

ข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2563 นั้น ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง และส่งผลให้พฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น

 

ทิศทางและแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย ช่วงก่อนและระหว่างสถานการณ์โควิด 19

เมื่อย้อนกลับมาดูทิศทางและแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย พบว่าระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยในช่วงปี 2555-2562  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในปี 2562 คนไทยมีกิจกรรมทางกายสูงที่สุดถึงร้อยละ 74.6 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า ระดับการกิจกรรมทางกายของคนไทยเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 8.3 (5) จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาแม้สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายระดับโลกจะลดลง แต่การมีกิจกรรมทางกายของคนไทยมีทิศทางและแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่จะบรรลุตามเป้าหมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติภายในเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573, NCD Global Monitoring Framework 9 Voluntary Targets ขององค์การอนามัยโลก, แผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโลก (Global Action Plan on Physical Activity 2018-2030) ขององค์การอนามัยโลก และ Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 คาดการณ์ว่าสถานการณ์กิจกรรมทางกายของคนไทยมีแนวโน้มที่สะดุดและลดลงเช่นเดียวกับสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 และพบว่าทิศทางและแนวโน้มของระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยลดลงจากเดิมร้อยละ 74.6 ในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 55.5 ลดลงถึงร้อยละ 19.1 และเป็นอัตราที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา (5)

การปรับเปลี่ยนเพื่อฟื้นฟูการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยหลังสถานการณ์โควิด 19 ด้วย “ชีวิตวิถีใหม่”

“ร้อยละ 55.5” ถือเป็นตัวเลขระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยที่ค่อนข้างน่ากังวลอย่างมาก ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยให้มีระดับเพิ่มขึ้นตามคำแนะขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อต้องการลดการขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรให้เหลือเพียงร้อยละ 15 ในปี 2573 และจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเกิดแนวทางการฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด 19 “RE Generating” เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูกิจกรรมทางกายของคนไทยให้กลับมาเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรณรงค์เพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้และความเข้าใจ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็กและเยาวชน การผลักดันให้เกิดมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจการมีกิจกรรมทางกาย การสนับสนุนให้ชุมชนเป็นฐานในการริเริ่มการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและปลอดเชื้อในการจัดกิจกรรมสุขภาพและกีฬามวลชน (5) จากแนวทางดังกล่าวจึงนำไปสู่การพัฒนาชุดความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปปรับใช้เพื่อคงระดับการมีกิจกรรมทางกายของตนเอง เช่น คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน แนวทางการออกกำลังกายในพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย แนวทางการส่งเสริมการเล่นของเด็กที่บ้าน เป็นต้น แนวทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการฟื้นฟูระดับการมีกิจกรรมทางกายในช่วงสถานการณ์โควิด 19 และถือว่าเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมทางสุขภาพในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ “New normal” ได้อีกด้วย

 

“ร้อยละ 65.3” เป็นตัวเลขของผลผลิตการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายของคนไทยบนความกังวลบวกกับความตระหนักของภาคีเครือข่ายที่ต้องช่วยทำให้คนไทยทุกช่วงวัยเข้าถึงทุกโอกาสเพื่อฟื้นฟูระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และตลอดปี 2563 หลังจากที่ภาคีเครือข่ายดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูกิจกรรมทางกายของคนไทยให้กลับมาเช่นเดิม ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2563 รอบที่ 2 ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เพื่อดูทิศทางและแนวโน้มระดับการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยหลังจากการดำเนินงานส่งเสริมเพื่อฟื้นระดับการมีกิจกรรมทางกายตลอดทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยในภาพรวมจากเดิมร้อยละ 55.5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.3 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบที่ 1 (ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม) ถึงร้อยละ 9.8 (6) ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีสำหรับคนไทยที่ระดับกิจกรรมทางกายมีโอกาสกลับเป็นเช่นเดิม จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำฐานข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายที่เป็นปัจจุบันไปวิเคราะห์ให้ทราบถึงทิศทางและแนวโน้มของสถานการณ์ เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ในการฟื้นฟูหรือเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คนไทยกลับมามีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ แบบ New normal 

แนวทางการเพิ่มกิจกรรมทางกายสำหรับบริบทสังคมไทยกับชีวิตวิถีใหม่แบบ New normal

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องทั่วทุกมุมโลก ซึ่งประเทศไทยก็ยังคงเผชิญกับสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าช่วงปลายปี 2563 คนไทยจะมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.3 แล้วก็ตาม แต่การส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในแบบชีวิตวิถีใหม่ก็ยังคงมีความสำคัญ สุดท้ายนี้ภายใต้ทิศทางและแนวโน้มของสถานการณ์เช่นนี้ จึงเสนอแนวทางที่จะช่วยฟื้นกิจกรรมทางกายในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ของกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ให้เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนี้ (5)

1. การรณรงค์ สื่อสารสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับความหมายและประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย กล่าวคือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องแม่นยำนั้น มีความจำเป็นอันดับแรกสำหรับการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกายของประชาชน เมื่อผู้คนไม่ทราบถึงประโยชน์และความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายนั้นต่างคนก็ต่างเพิกเฉยต่อการมีกิจกรรมทางกาย ดังนั้น เพื่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศสิ่งแรกที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั่นคือ การสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความหมายที่ถูกต้องของกิจกรรมทางกาย ประเภทของกิจกรรมทางกายที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน ข้อแนะนำในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมตามช่วงวัยต่าง ๆ รวมไปถึงประโยชน์ของกิจกรรมทางกายที่เกิดขึ้นเมื่อมีกิจกรรมทางกายในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม สำหรับแนวทางในการรณรงค์สื่อสารนั้นต้องเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่มวัย

2. สร้างแรงจูงใจในการมีกิจกรรมทางกาย เมื่อมีการรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องแล้ว ควรมีมาตรการที่สามารถกระตุ้นสร้างแรงจูงใจสำหรับการมีกิจกรรมทางกายด้วย ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ หรือบริษัทเอกชน ควรจะจัดทำแคมเปญรณรงค์โดยเน้นการปฏิบัติกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันและทำการสะสมแต้มในแต่ละเดือนเพื่อนำแต้มมาแลกรางวัล แต่รางวัลในที่นี้ต้องเป็นสิ่งที่น่าสนใจ อาจเป็นเงินรางวัล หรือส่วนลดร้านอาหารชื่อดังก็เป็นได้

3. ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและปลอดเชื้อในการจัดกิจกรรมสุขภาพและกีฬามวลชน สำหรับการจัดกิจกรรมกีฬามวลชนและกิจกรรมสุขภาพนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และถือเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่สำคัญในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของผู้คนในวงกว้าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมไม่เนือยนิ่ง (Active Society) ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโลก เมื่อการจัดกิจกรรมเพื่อมวลชนในรูปแบบต่าง ๆ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยจะส่งผลให้ผู้คนมีความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเพิ่มขึ้นของการมีกิจกรรมทางกายในระดับบุคคล

4. ส่งเสริมการใช้ชุมชนเป็นฐานในการมีกิจกรรมทางกาย และการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะอย่างปลอดภัยในพื้นที่ชุมชน ด้วยเหตุนี้การสนับสนุนให้ชุมชนมีความพร้อมที่จะเป็นฐานสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้สามารถใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมของชุมชนเพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมการเดินทางสัญจรโดยการเดินเท้าหรือการปั่นจักรยานอย่างปลอดภัยในชุมชน สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงสำหรับการออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกายของคนในชุมชนมากขึ้น

5. การส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเยาวชน ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ถ้าการปลูกฝังให้กลุ่มนี้มีกิจกรรมทางกายเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันแล้ว เมื่อเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีพื้นฐานทางสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลจากโรคในกลุ่ม NCDs มีสมรรถภาพทางร่างกายที่ดี


เอกสารอ้างอิง

1. Stevens G, Riley L, Bull F. (2018). Worldwide trends in insufficient physical activity from 2001 to 2016: a pooled analysis of 358 population-based surveys with 1·9 million participants. The Lancet Global Health. 2018;6.

2. Dunton GF, Do B, Wang SD. (2020). Early effects of the COVID-19 pandemic on physical activity and sedentary behavior in children living in the U.S. BMC public health. 2020;20(1):1351.

3. Bourdas DI, Zacharakis ED. Impact of COVID-19 Lockdown on Physical Activity in a Sample of Greek Adults. Sports (Basel). 2020;8(10):139.

4. Yamada M, Kimura Y, Ishiyama D, Otobe Y, Suzuki M, Koyama S, et al. (2020). Effect of the COVID-19 Epidemic on Physical Activity in Community-Dwelling Older Adults in Japan: A Cross-Sectional Online Survey. The journal of nutrition, health & aging. 2020;24(9):948-50.

5. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และกรกนก พงษ์ประดิษฐ์. (2563). REGENERATING Physical Activity in Thailand after COVID-19 Pandemic: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. นครปฐม: บริษัท ภาพพิมพ์. Available from: https://tpak.or.th/?p=3984.

6. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค). (2563). ผลการสำรวจโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2563 (รอบที่ 2). ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

SHARE

ผู้เขียน
ณรากร วงษ์สิงห์


วณิสรา เจริญรมย์


คมกฤช ตะเพียนทอง


นันทวัน ป้อมค่าย


ภาพประกอบโดย
สุรศักดิ์ เพ็ญใหม่