12 มิถุนายน 2566

กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา

3660

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

การขาดกิจกรรมทางกายเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของคนทั่วโลก รวมถึงมีส่วนทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น (Willumsen & Bull, 2020) โดยปัจจุบันมีประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่าร้อยละ 28 (Guthold et al., 2018) วัยรุ่นร้อยละ 80 ขาดกิจกรรมทางกาย (Organization, 2014) แต่ยังไม่มีข้อมูลจากทั่วโลกที่แสดงถึงข้อมูลกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็กเล็กที่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้เลย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหลายประเทศกำลังพัฒนาเครื่องมือและสำรวจข้อมูลกิจกรรมทางกายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอยู่ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ร่วมดำเนินการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายและการนอนหลับตลอด 24 ชั่วโมงร่วมกับประเทศสมาชิกอีกมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก (Okely et al., 2021) และก่อนที่จะมีการนำข้อมูลการสำรวจมาเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เราอยากจะนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กกลุ่มนี้ก่อน เพื่อเป็นการขั้นเวลาการรอข้อมูลสำคัญที่จะเปิดเผยในอีกไม่นานนี้

ข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

ย้อนไปเมื่อปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือ Guidelines on physical activity, sedentary behaviour and sleep for children under 5 years of age (Organization, 2019) ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2010 (World Health Organization, 2010) WHO ได้ออกข้อแนะนำสำหรับประชากรใน 3 กลุ่มอายุเท่านั้น คือ กลุ่มอายุ 5–17 ปี, 18–64 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป (Willumsen & Bull, 2020) อย่างไรก็ดี เด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 5 ปี) เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว กิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับที่เพียงพอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กในช่วงวัยนี้ คณะกรรมการว่าด้วยการยุติโรคอ้วนในเด็ก (The Commission on Ending Childhood Obesity) จึงมีข้อเรียกร้องให้ WHO ออกคำแนะนำที่ชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา (Organization, 2016) อย่างไรก็ดี ด้วยเด็กในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปีมีพัฒนาการที่รวดเร็วมากดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในบทความนี้ จึงจะขอกล่าวถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียนเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการสำรวจข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีของไทยที่ดำเนินการสำรวจเสร็จสิ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลกับเด็กก่อนวัยเรียนทั่วประเทศมากกว่า 700 คน ซึ่งเด็กก่อนวัยเรียนในที่นี้ หมายถึง เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปี จนถึงก่อนอายุครบ 5 ปีบริบูรณ์ หรือ อายุ 36.0 – 59.9 เดือน (Organization, 2019; Prevention., 2021)

WHO ให้ข้อแนะนำว่าเด็กก่อนวัยเรียน “ควรมีกิจกรรมทางกายในระดับความหนักใดก็ได้อย่างน้อย 180 นาที โดยอย่างน้อย 60 นาทีเป็นกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนัก และขอให้ทำกิจกรรมทางกายกระจายไปตลอดทั้งวัน ยิ่งมากยิ่งดี” โดยกิจกรรมทางกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ใช้พลังงานมากกว่าขณะพัก ซึ่งในเด็กเล็กอาจรวมถึง การเดิน การคลาน การวิ่ง การกระโดด การทรงตัว การปีนผ่านสิ่งของต่าง ๆ การเต้นรำ การขี่ของเล่นที่มีล้อ การขี่จักรยาน การกระโดดเชือก เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมเนือยนิ่งนั้น เด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรนั่งนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้ง และไม่ควรใช้หน้าจอนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อเด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ผู้ดูแลควรมีส่วนร่วมในการเล่านิทานหรืออ่านหนังสือร่วมกันกับเด็ก และเด็กก่อนวัยเรียนควรนอนอย่างมีคุณภาพ 10 – 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งรวมเวลาการนอนหลับระหว่างวัน และควรมีเวลาการเข้านอนและตื่นนอนที่สม่ำเสมอ (Organization, 2019)

ภาพที่ 1 ข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน (3 – 4 ปี)

ประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว และจะเป็นช่วงที่นิสัยของเด็กนั้นก่อตัวขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตประจำวันของครอบครัวจะช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง (Organization, 2019) ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พัฒนาขึ้นในวัยเด็กสามารถมีอิทธิพลต่อระดับและรูปแบบกิจกรรมทางกายตลอดช่วงชีวิต (Malina, 1996; Telama et al., 2005) โดยการเล่นของเด็กแบบ Active play และโอกาสในการเล่นแบบมีโครงสร้างหรือไม่มีโครงสร้างสามารถช่วยเสริมทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อ (Motor skills) และการสำรวจสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก นอกจากนี้ กิจกรรมทางกายยังช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเชิงบวกและการพัฒนาทางสังคม (Burdette & Whitaker, 2005) พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว สมรรถภาพทางกาย รวมถึงสุขภาพกระดูกและโครงร่าง (Janz et al., 2010; Moore et al., 2003; Organization, 2019) ที่สำคัญกิจกรรมทางกายยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันโรคอ้วนในเด็ก (Jiménez-Pavón et al.; Moore et al., 2003) และโรคหัวใจและหลอดเลือด (Bürgi et al., 2011; Sääkslahti et al., 2004)  

แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน

ข้อมูลสถิติประชากรจากทะเบียนราษฎรของกรมการปกครองที่รายงานจำนวนเด็กอายุ 3 – 4 ปี (เฉพาะผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและมีสัญชาติไทย) ล่าสุดเดือนพฤษภาคม ปี 2566 รายงานว่าปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 1,246,759 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 640,750 คน และเพศหญิงจำนวน 606,009 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2566) ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 (ราชกิจจานุเบกษา, 2562) ระบุว่า “ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย” หมายถึง พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ซึ่งหากจะพิจารณาตามความหมายข้างต้นน่าจะหมายรวมถึงครูและบุคลากรของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานดำเนินการอยู่ อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานสงเคราะห์ โรงเรียน ศูนย์การเรียน หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่น ของรัฐหรือเอกชน และสถาบันศาสนา ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย

ทั้งนี้ หากจะส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับบริบทและพื้นที่อยู่อาศัยของเด็ก หรือ Setting เพื่อกำหนดพื้นที่ ผู้ดูแล และวิธีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างตรงจุด สามารถแบ่งพื้นที่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนแบบง่ายออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ “บ้าน” ซึ่งจะมี พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็ก และพื้นที่ที่เป็น “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” ซึ่งจะมีครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแลเด็ก ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบข้อมูลที่น่าสนใจและนำมาปรับประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทย ดังนี้

1. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ “บ้าน”

บ้านถือเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญในการบ่มเพาะ เลี้ยงดู และส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กก่อนวัยเรียนได้มีพัฒนาการอย่างสมวัย เนื่องจากบ้านเป็นพื้นที่แรกเริ่มสำคัญที่เด็กอยู่ กิน นอน และเรียนรู้ ตั้งแต่เป็นทารกจนกระทั่งเติบโตเข้าสู่ช่วงเด็กก่อนวัยเรียน การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กช่วงวัยนี้สามารถทำได้หลากหลาย โดยเฉพาะการส่งเสริมการเล่นแบบอิสระที่ไม่จำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนหรือมีโครงสร้างในการเล่นก็ได้ โดยเน้นให้เด็ก ๆ ได้เล่น ได้เคลื่อนไหวร่างกายตลอดทั้งวันให้ได้อย่างน้อย 180 นาที โดยในจำนวนนี้ขอให้มีการเล่นที่เป็นระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน (Organization, 2019) ซึ่งอาจจะเป็นการเล่นที่เป็นการวิ่ง กระโดด หรือปีนป่าย ที่ต้องใช้พละกำลังมากกว่าปกติดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในช่วงต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีบุคคลในครอบครัวให้ความสำคัญและสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากงานวิจัยสะท้อนว่าสภาพแวดล้อมภายในบ้านมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็ก ๆ นั้นมีกิจกรรมทางกายเพิ่มสูงขึ้นหรือลดน้อยลง ซึ่งสภาพแวดล้อมในที่นี้นอกจากพื้นที่เล่นของเด็กแล้ว ยังหมายรวมถึงการส่งเสริมให้เด็กได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ขนมหรือของว่างที่มีน้ำตาลน้อย และการส่งเสริมไม่ให้เด็ก ๆ ใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอ เช่น การจำกัดเวลาการดูโทรทัศน์ไม่ให้มากจนเกินไป หรือการไม่ให้มีโทรทัศน์อยู่ในห้องนอนของเด็ก ซึ่งการจัดการสภาพแวดล้อมลักษณะนี้ถือเป็นการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเป็นโรคอ้วนของเด็กด้วย ในขณะที่สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่เป็นลักษณะตรงกันข้ามนั้นถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัย พบว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมและกิจกรรมในบ้านที่มีความเสี่ยงสูงมีกิจกรรมทางกาย หรือความกระตือรือร้น (Active) น้อยกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมและกิจกรรมในบ้านที่มีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้ เด็กที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมของสื่อในบ้านที่มีความเสี่ยงสูง (มีโทรทัศน์ในห้องนอน จำนวนสื่ออุปกรณ์เกี่ยวกับหน้าจอจำนวนมากในบ้าน) มีแนวโน้มที่จะดูโทรทัศน์อย่างน้อยสองชั่วโมงต่อวัน และมากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมของสื่อในบ้านที่มีความเสี่ยงต่ำ (Schrempft et al., 2015)

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่บ่งชี้ว่าพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของผู้ปกครองของเด็กนั้นมีอิทธิพลและส่งผลโดยตรงต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มสูงขึ้นของเด็กก่อนวัยเรียน และในทางตรงกันข้ามพฤติกรรมเนือยนิ่งของผู้ปกครองนั้นยังส่งผลต่อการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กด้วยเช่นเดียวกัน โดยการศึกษาหนึ่งได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการมีกิจกรรมทางกายของแม่ว่ามีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางกายของลูกในวัย 4 ขวบอย่างไร ซึ่งผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายประจำวันของแม่และเด็กนั้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความหนักของทำกิจกรรมทางกาย ทั้งที่เป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง กิจกรรมทางกายระดับเบา ปานกลาง และหนัก (Hesketh et al., 2014) ดังนั้น การส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ หรือการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้มีระดับความหนักของกิจกรรมทางกายที่เพิ่มสูงขึ้น พฤติกรรมของแม่จะมีบทบาทและอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับแม่ก็อาจจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ได้ประโยชน์ 2 ต่อ ทั้งประโยชน์ต่อแม่และลูกไปพร้อมกัน

2. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย”

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยไว้หลายมาตรา อาทิ มาตรา 54 วรรคสอง กำหนดว่า “...รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย” (กลุ่มพัฒนาการศึกษาปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการ, 2562) ด้วยเหตุนี้ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงมีหน้าที่เป็นสถานที่รับดูแล พัฒนา จัดประสบการณ์เรียนรู้ และการศึกษาให้กับเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เด็กได้มีพัฒนาการที่สมวัยนั้นถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญ เนื่องจากมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติได้ระบุตัวชี้วัดไว้อย่างชัดเจนใน “มาตรฐานด้านที่ 2 ครู/ผู้ดูแลเด็ก และให้การดูแล จัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย” ซึ่งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจะต้องมีแผนจัดการเรียนรู้ฯ จัดพื้นที่/มุมประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นที่เหมาะสมและหลากหลาย รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เน้นการส่งเสริมพัฒนาการที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และการเล่น เป็นต้น

ผลการศึกษาวิจัยพบข้อมูลที่น่าประหลาดใจว่า “ครูถือเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบที่สำคัญต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน” เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า แม้ว่าจะมีการทดลองการจัดโปรแกรมการออกกำลังกาย หรือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันให้กับเด็ก เด็กที่ได้รับโปรแกรมนั้นไม่ได้มีกิจกรรมทางกายที่สูงหรือมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญ (O’ Dwyer et al., 2013) แต่พบว่าเด็กที่เข้าร่วมโปรแกรมการออกกำลังกายอาจจะมีสมรรถภาพร่างกายที่สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าร่วม (Latorre‐Román et al., 2018) แต่ความกระฉับกระเฉง หรือความ Active ของครูในระหว่างการสอนหรือการทำกิจกรรมกับเด็กนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมาก เนื่องจากครูที่มีความกระฉับกระเฉงในระหว่างการสอนจะส่งผลให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นระหว่างการเรียน และส่งผลให้เด็กมีกิจกรรมทางกายที่สูงกว่านักเรียนที่สอนโดยครูที่ไม่กระฉับกระเฉงโดยเฉพาะในวิชาพลศึกษา (Cheung, 2020) ความ Active ของครูในระหว่างการสอนและการทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็กจึงเป็น “พลังบวก” ที่สำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกายของเด็ก

ดังนั้น การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงจำเป็นต้องกระตุ้นและส่งเสริมที่ครูรวมถึงผู้ดูแลเด็กเป็นลำดับแรก โดยต้องเริ่มจากการสร้างความคิดเห็นเชิงบวกและความตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ครูให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกายในกิจกรรมในชั้นเรียน และนำกิจกรรมทางกายไปใช้อย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ (Senol, 2021) และให้เป็นไปตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทสรุป

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กก่อนวัยเรียนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัย และด้วยเด็กก่อนวันเรียนอยู่ในช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามข้อแนะนำของ WHO โดยให้เป็นการเล่นที่หลากหลายทั้งระดับความหนักของการออกแรง และท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายที่หลากหลายนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลที่อยู่รอบตัวเด็กเข้ามามีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเมื่อเด็กอยู่ที่บ้านโดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยครูและผู้ดูแลเด็ก เพื่อให้เด็กก่อนวัยเรียนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งช่วงวัน โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระและปลอดภัยจะเป็นปัจจัยหนุนเสริมที่สำคัญ รวมถึงการควบคุมการใช้ และการเข้าถึงอุปกรณ์หน้าจอเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด หรือไม่ให้เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมบ่งชี้ว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเริ่มจากบุคคลอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครูและผู้ดูแลเด็ก เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้จะช่วยถ่ายทอดพฤติกรรมและความกระฉับกระเฉงไปสู่ตัวเด็ก และในทางกลับกันหากบุคคลกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่กระตือรือร้นระหว่างที่ทำกิจกรรมหรืออยู่ร่วมกันกับเด็ก เด็กจะรับพฤติกรรมและความเนือยนิ่งไปด้วย จึงดูเหมือนว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนที่มีประสิทธิผลจำเป็นจะต้องส่งเสริมให้ผู้ดูแลเด็กนั้นมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอไปด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติเชิงบวกให้กับ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูและผู้ดูแลเด็ก จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยสร้างการรับรู้ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กได้อย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป

 


เอกสารอ้างอิง

Burdette, H. L., & Whitaker, R. C. (2005). Resurrecting free play in young children: looking beyond fitness and fatness to attention, affiliation, and affect. Archives of pediatrics & adolescent medicine, 159(1), 46-50.

Bürgi, F., Meyer, U., Granacher, U., Schindler, C., Marques-Vidal, P., Kriemler, S., & Puder, J. J. (2011). Relationship of physical activity with motor skills, aerobic fitness and body fat in preschool children: a cross-sectional and longitudinal study (Ballabeina). International journal of obesity, 35(7), 937-944.

Cheung, P. (2020). Teachers as role models for physical activity: Are preschool children more active when their teachers are active? European Physical Education Review, 26(1), 101-110.

Guthold, R., Stevens, G. A., Riley, L. M., & Bull, F. C. (2018). Worldwide trends in insufficient physical activity from 2001 to 2016: a pooled analysis of 358 population-based surveys with 1· 9 million participants. The lancet global health, 6(10), e1077-e1086.

Hesketh, K. R., Goodfellow, L., Ekelund, U., McMinn, A. M., Godfrey, K. M., Inskip, H. M., . . . van Sluijs, E. M. (2014). Activity levels in mothers and their preschool children. Pediatrics, 133(4), e973-e980.

Janz, K. F., Letuchy, E. M., Gilmore, J. M. E., Burns, T. L., Torner, J. C., Willing, M. C., & Levy, S. M. (2010). Early physical activity provides sustained bone health benefits later in childhood. Medicine and science in sports and exercise, 42(6), 1072.

Jiménez-Pavón, D., Kelly, J., & Reilly, J. Associations between objectively measured habitual physical activity and adiposity in children and adolescents: Systematic review. IJPO. 2010; 5 (1): 3-18. In.

Latorre‐Román, P., Mora‐López, D., & García‐Pinillos, F. (2018). Effects of a physical activity programme in the school setting on physical fitness in preschool children. Child: care, health and development, 44(3), 427-432.

Malina, R. M. (1996). Tracking of physical activity and physical fitness across the lifespan. Research quarterly for exercise and sport, 67(sup3), S-48-S-57.

Moore, L. L., Gao, D., Bradlee, M. L., Cupples, L. A., Sundarajan-Ramamurti, A., Proctor, M. H., . . . Ellison, R. C. (2003). Does early physical activity predict body fat change throughout childhood? Preventive medicine, 37(1), 10-17.

O’Dwyer, M., Fairclough, S. J., Ridgers, N., Knowles, Z., Foweather, L., & Stratton, G. (2013). Effect of a school-based active play intervention on sedentary time and physical activity in preschool children. Health education research, 28(6), 931-942.

Okely, A. D., Reilly, J. J., Tremblay, M. S., Kariippanon, K. E., Draper, C. E., El Hamdouchi, A., . . . Katzmarzyk, P. T. (2021). Cross-sectional examination of 24-hour movement behaviours among 3-and 4-year-old children in urban and rural settings in low-income, middle-income and high-income countries: the SUNRISE study protocol. BMJ open, 11(10), e049267.

Organization, W. H. (2014). Global status report on noncommunicable diseases 2014. World Health Organization.

Organization, W. H. (2016). Report of the commission on ending childhood obesity. World Health Organization.

Organization, W. H. (2019). Guidelines on physical activity, sedentary behaviour and sleep for children under 5 years of age. World Health Organization.

Prevention., C. f. D. C. a. (2021). Preschoolers (3-5 years of age). https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/preschoolers.html

Sääkslahti, A., Numminen, P., Varstala, V., Helenius, H., Tammi, A., Viikari, J., & Välimäki, I. (2004). Physical activity as a preventive measure for coronary heart disease risk factors in early childhood. Scandinavian journal of medicine & science in sports, 14(3), 143-149.

Schrempft, S., van Jaarsveld, C. H., Fisher, A., & Wardle, J. (2015). The obesogenic quality of the home environment: associations with diet, physical activity, TV viewing, and BMI in preschool children. PloS one, 10(8), e0134490.

Senol, F. B. (2021). Physical Activity and Preschool Children: Preschool Teachers' Perceptions. Southeast Asia Early Childhood, 10(2), 132-146.

Telama, R., Yang, X., Viikari, J., Välimäki, I., Wanne, O., & Raitakari, O. (2005). Physical activity from childhood to adulthood: a 21-year tracking study. American journal of preventive medicine, 28(3), 267-273.

Willumsen, J., & Bull, F. (2020). Development of WHO guidelines on physical activity, sedentary behavior, and sleep for children less than 5 years of age. Journal of physical activity and health, 17(1), 96-100.

World Health Organization, t. (2010). Global recommendations on physical activity for health. World Health Organization.

กลุ่มพัฒนาการศึกษาปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการ. (2562). มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ.

ราชกิจจานุเบกษา. (2562). พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562. https://www.moe.go.th/backend/wp-content/uploads/2020/10/1.พรบ.-การพัฒนาเด็กปฐมวัย.pdf

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2566). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน). https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/mainpage

 

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย