26 มิถุนายน 2566

กลุ่มงานสื่อสารผลผลิตทางความคิด

3824

การรับมือในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เมื่อเข้าสู่สังคมครองโสดของคนสูงวัย

ในยุคที่ประชากรไทยมีสถานภาพโสดมากกว่าผู้ที่มีสถานภาพสมรส จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ ปี พ.ศ. 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำให้ทราบข้อมูลสถานภาพของจำนวนประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไป ซึ่งในจำนวน 55.4 ล้านคน มีผู้ที่มีสถานภาพจำนวนสมรส 31.6 ล้านคน หรือร้อยละ 57.4 และผู้ที่มีสถานภาพโสดจำนวน 17.0 ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2553) จากข้อมูลเกินกว่าครึ่งของจำนวนประชากรที่สมรส คือผู้ที่มีสถานภาพโสดซึ่งถือเป็นจำนวนมาก เชื่อมโยงกับข้อมูลสุขภาพด้านกิจกรรมทางกาย จากการสำรวจของโครงการการพัฒนาระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ระหว่างปี 2560 - 2565 พบว่า ร้อยละการมีกิจกรรมทางกายของผู้ที่มีสถานภาพโสดและสมรส ในทั้งผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมีแนวโน้มลดลงในปี 2563 หากเมื่อพิจารณาในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุที่โสดมีร้อยละการมีกิจกรรมทางกายต่ำที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 26.3 ในขณะที่ผู้สูงอายุที่สมรสมีกิจกรรมทางกายอยู่ที่ร้อยละ 61.6 เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่โสดมีร้อยละการมีกิจกรรมทางกายอยู่ที่ร้อยละ 54.8 ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่สมรสมีกิจกรรมทางกายอยู่ที่ร้อยละ 58.9 (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2565) สอดคล้องกับการศึกษาของความสัมพันธ์ระหว่างอายุและเพศระหว่างสถานภาพการสมรส กิจกรรมทางกาย และเวลาดูทีวี พบว่าโอกาสที่จะมีกิจกรรมทางกาย 150 นาที/สัปดาห์ในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะสูงกว่าในกลุ่มโสดอายุ 61– 70 ปี และอายุ 71–80 ปี (Cavazzotto,  et al., 2022)

หมายเหตุ. จาก โครงการการพัฒนาระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ระหว่างปี 2560 – 2565,
โดย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในผู้สูงอายุที่มีสภาพโสด ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ที่ส่งผลให้ประชากรกลุ่มเหล่านี้มีกิจกรรมทางกายที่ลดลง เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ สถานที่สาธารณะถูกปิด การจำกัดการพื้นที่ แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ระดับการกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุที่โสดและผู้ใหญ่ที่โสด ในปี 2565 มีการฟื้นตัวขึ้นมาเพิ่มมากขึ้น แต่ยังน้อยกว่าผู้สูงอายุที่สมรสและผู้ใหญ่ที่สมรส อยู่ที่ร้อยละ 3.7 และ 6.7 ตามลำดับ ซึ่งผู้ใหญ่ที่โสดในอนาคตอาจจะเป็นสูงอายุที่มีสถานภาพโสดได้เช่นกัน นอกจากนี้การศึกษาของประเทศโปแลนด์ เมืองวรอตซวาฟ ที่ทำการศึกษาการมีกิจกรรมทางกายในผู้ที่มีสถานภาพโสดและสถานภาพสมรส ซึ่งการศึกษาภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) ในกลุ่มประชากรในการศึกษาจำนวน 4,460 คน แบ่งเป็นผู้ที่มีสถานภาพโสด 1,828 คน และผู้ที่แต่งงานแล้ว 2,632 คน โดยใช้เครื่องมือการศึกษาวิจัย 2 ชุด ได้แก่ แบบสอบถามกิจกรรมทางกายนานาชาติแบบสั้น (IPAQ-SF) และแบบสอบถามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (S-ESQ)  พบว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เป็นไปตามคำแนะนำของ WHO ในกลุ่มประชากรที่โสดอยู่ที่ร้อยละ 75  ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีสถานภาพสมรสมีกิจกรรมทางกายที่เป็นไปตามคำแนะนำของ WHO อยู่ที่ร้อยละ 64 (Puciato et al., 2021)

จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการส่งเสริมพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกาย สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ให้กลุ่มประชากรที่โสดนี้ อีกนัยหนึ่งของการดำรงชีวิตในผู้ที่มีสถานภาพโสด มีความโดดเดียวของใช้ชีวิต ครอบครัวมีส่วนสำคัญในส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุ เนื่องจากการสนับสนุนทางสังคมจากสมาชิกในครอบครัวมีความสำคัญต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุในเอเชีย แตกต่างจากประเทศทางตะวันตก ผู้สูงอายุในเอเชียมักจะได้รับการสนับสนุนไม่เพียงแค่จากคู่สมรสเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากลูกหลานด้วย หากในผู้สูงอายุที่มีสถานภาพโสดไม่มีบุตร ต้องอยู่เพียงลำพัง อาจส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ (Chu et al., 2023) รวมถึงภาวะซึมเศร้าซึ่งเป็นปัญหาทางจิตเวชขั้นรุนแรงและเป็นความกังวลด้านสาธารณสุขในหมู่ผู้สูงอายุ (Hao et al., 2023) ดังนั้นผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพโสด หรือสมรส “ควรกิจกรรมทางกายให้เพียงพอให้ได้อย่างน้อย  150 นาทีต่อสัปดาห์” (เช่น 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์) ของกิจกรรมระดับปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ๆ หรือมีกิจกรรมทางกายระดับหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น การเดินป่า จ็อกกิ้ง หรือวิ่ง (Centers for Disease Control and Prevention, 2022)

 

รับมือด่านแรก : การสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับผู้สูงอายุที่มีสถานภาพโสด

แม้สถานภาพการสมรสจะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างการมีกิจกรรมทางกาย (Cavazzotto et al., 2022)  แต่ท่านสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน คนในครอบครัว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงได้ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัยสามารถช่วยลดความชราและความโดดเดี่ยวทางสังคม รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีในหมู่ผู้สูงอายุ (Sinan Zhong, 2022) จากการคาดประมาณประชากรมีข้อสมมุติระดับภาวะการตายในทิศทางเดียว ในปี 2553 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรชายเท่ากับ 70.5 ปี และของประชากรหญิง เท่ากับ 77.8 ปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 76.8 ปี สำหรับผู้ชาย และ 83.2 ปี สำหรับผู้หญิง (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาต, 2562) จึงอาจทำให้ประชากรผู้หญิงมีมากว่าผู้ชาย และทำให้ผู้หญิงครองสถานภาพโสดนาน อาจทำให้เกิดความเหงา ดังนั้นการมีกิจกรรมทางกายสามารถป้องกันความเหงาในระยะยาวได้และผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ภาวะซึมเศร้า (Baumbach et al., 2023) การรับมือกับเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องดำเนินการหรือได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาเพิ่มชีวิตชีวา สร้างการมีกิจกรรมทางกายให้กลุ่มคนเหล่านี้ โดยมีข้อแนะนำในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ดังนี้

1. การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง

ในผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลาน ท่านสามารถมีกิจกรรมทางกายร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้ ในการศึกษานโยบายการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ในหมู่บ้านเกษียณอายุ (retirement villages) ในนครหลวงทางใต้ของประเทศออสเตรเลีย ระบุข้อมูลสำคัญว่าการอนุญาตให้มีสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านเกษียณอายุอาจเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายและมีความสัมพันธ์ทางสังคมในผู้สูงอายุ โดยผู้ที่พาสุนัขไปเดินเล่นเป็นประจำ ๆ มักจะมีการปฏิบัติตามแนวทางการมีกิจกรรมทางกายตามที่แนะนำ และมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเนือยนิ่งน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสุนัข ในขณะที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยการเป็นเจ้าของสุนัขสามารถส่งเสริมประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ความรู้สึกรักและการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ดัชนีมวลกายลดลง และการไปพบแพทย์น้อยลง หลังจากการศึกษาพบว่า เจ้าของสุนัขใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเคลื่อนไหวร่างกาย รองลงมาคือผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงและเจ้าของแมว เวลาที่ใช้ในการเข้าสังคมสูงกว่าการออกกำลังกาย และสูงสุดในเจ้าของสุนัข รองลงมาคือเจ้าของแมว และเจ้าของที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง เจ้าของสุนัขรายงานถึงการทำกิจกรรมร่วมกับสุนัขเฉลี่ย 1,521 นาทีต่อสัปดาห์ ในขณะที่เจ้าของแมวรายงานว่ามีแมวอยู่ด้วยโดยเฉลี่ย 821 นาที (Kaivalya et al., 2023)  ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเลี้ยงสัตว์อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการมีกิจกรมทางกายในผู้สูงอายุ

  

2. การใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนจากครอบครัวในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

ในส่วนของการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ในผู้สูงอายุที่มีครอบครัว มีบุตรหลาน การใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนจากครอบครัวอาจเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย (Jemima C. John et al., 2022) หากผู้สูงอายุได้รับแรงจูงใจจากภายในให้ทำกิจกรรมยามว่างในสวนสาธารณะในเมือง อาจช่วยเพิ่มระดับความพึงพอใจต่อการใช้สวนสาธารณะในเมือง (Wang et al., 2023) ครอบครัวอาจจะพาผู้สูงอายุไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะนอกบ้านเป็นครั้งคราว และทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน เพราะการเคลื่อนไหวร่างกาย การทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในกิจกรรมยามว่างในผู้สูงอายุ หรือจะเป็นการไปตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลทำให้ความสุขเชิงอัตวิสัยเพิ่มขึ้น (Thaithatkul et al., 2022) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก เป็นการประเมินบุคคลเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต อารมณ์ทางบวกและทางลบ (เมธาวี อื้ออารีย์กุล และ กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์, 2563)

 

รับมือด่านที่สอง : กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสถานภาพโสดที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้สูงอายุที่โสดในอนาคต

สำหรับตัวอย่างข้างต้นในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุที่มีสถานภาพโสด ทั้งที่ไม่มีบุตรหลานและมีบุตรหลาน เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในมิติของความสัมพันธ์ในจากคนรอบข้างและสิ่งมีชีวิตรอบตัว ถือเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ในอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน คือ กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสถานภาพโสดที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้สูงอายุที่โสดในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเช่นกัน โดยเริ่มจาก การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active Environment) การมีมาตรการในการสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุที่มีสถานภาพโสดเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการในปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายในผู้ที่มีสถานภาพโสดเป็นไปในทิศทางที่น้อยกว่าผู้ที่มีสถานภาพสมรส แต่ในอีกมุมหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงผู้ที่มีสถานภาพโสดสามารถมีกิจกรรมทางกายได้เทียบเท่ากับผู้ที่มีสถานภาพสมรสได้เช่นเดียว ควรเริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ที่จะก้าวเข้าไปสู่วัยผู้สูงอายุ เป็นการลดการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอของผู้ใหญ่ที่มีสถานภาพโสดที่จะกลายไปเป็นผู้สูงอายุที่มีสถานภาพโสด มีข้อแนะนำในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ดังนี้

1. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active Environment)

การสร้างสภาพแวดล้อมของเมืองให้มีความกระฉับกระเฉง ถือเป็นเพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุในการเข้าถึงการมีกิจกรรมทางกาย สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เนื่องจากการเดินไปรอบ ๆ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงถือเป็นกิจกรรมทางกายที่พบบ่อยที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ และในทุก ๆ วันมีความเป็นไปได้ที่จะมีระดับกิจกรรมทางกายตามคำแนะนำ ด้วยการปฏิบัติง่าย ๆ เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน ในขณะเดียวกันการออกแบบชุมชนที่สามารถรองรับโอกาสในการเดินหรือปั่นจักรยาน และเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านนันทนาการได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ (Bonaccorsi et al., 2020) อีกทั้งย่านที่ปลอดภัย น่าเดิน และสวยงาม พร้อมด้วยการเข้าถึงจุดบริการ โดยเฉพาะสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ/พื้นที่โล่งสาธารณะ ร้านค้า/แหล่งการค้าและการขนส่งสาธารณะที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกาย (Barnett et al., 2017) ดังนั้น การสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายใกล้บ้าน ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าลักษณะของพื้นที่ใกล้เคียงมีความสัมพันธ์กับความถี่ของการเดินเพื่อทำกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุ (Berke et al., 2007)

นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายจากการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง ผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จากการศึกษาการเคลื่อนไหว การทำกิจกรรม และความสุขในวัยชรา: กรณีผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระบบขนส่ง ดังนี้ (Thaithatkul et al., 2022)

1. การส่งเสริมการขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุจะช่วยลดความจำเป็นในการมีรถยนต์ส่วนตัว และลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีการเดินทางและมีส่วนร่วมในกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น การออกแบบ Universal design ของระบบขนส่งมวลชนประกอบด้วยคุณสมบัติที่ลหากหลาย ได้แก่ การมีเก้าอี้รถเข็นสำหรับผู้พิการ ราวจับ ราวเอน ที่นั่งสำหรับผู้สูงอายุ บันไดเลื่อน ลิฟต์ และความช่วยเหลือสำหรับผู้โดยสารที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว (การได้ยิน การพูด และผู้ช่วยเหลือทางสายตา) โดยในระยะเริ่มต้นของการดำเนินการ นักวางแผนระบบการขนส่งสามารถมุ่งเน้นไปที่เส้นทางระหว่างพื้นที่ที่อยู่อาศัยกับตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

2. การพัฒนาการออกแบบที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุและการกำหนดราคาตั๋วที่ราคาไม่แพง เช่น บนเส้นทางบริการประจำที่ ได้แก่ รถโดยสารสาธารณะและรถไฟในเมือง มีส่วนลดค่าโดยสาร 50% สำหรับผู้โดยสารอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการแห่งรัฐ

 

2. การส่งเสริมความรอบรู้ทางกายให้กับผู้สูงอายุ

เมื่อประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ความชราเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ก่อนการเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุ การให้ความสนใจกับความรอบรู้ทางกายเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย (Liu et al., 2022) จากกรณีการสำรวจของชุมชนผู้สูงอายุชาวแคนาดา ระบุว่า เว็บไซต์ที่ใช้งานง่ายและอีเมลจดหมายข่าว เป็น 2 อันดับแรก ที่ผู้สูงอายุต้องการรับข้อมูลเกี่ยวกับความรอบรู้ทางกาย (Petrusevski et al., 2022) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพที่ดีตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู่วัยสูงอายุ ความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) หมายถึงทักษะและความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่รวมถึงแรงจูงใจ ความมั่นใจ และความรู้ความเข้าใจของการเคลื่อนไหวร่างกายที่ให้คุณค่าและส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างเป็นองค์รวม (ร่างกาย (Physical) / จิตวิทยา (Psychological) / สังคม (Social/ Behavioral) และความรู้ความเข้าใจ (Cognitive)) ซึ่งองค์ประกอบของความรอบรู้ทางกาย ประกอบด้วย

1. Motivation and confidence (Psychological) หรือแรงจูงใจและความมั่นใจ (อารมณ์) หมายถึงความกระตือรือร้นของแต่ละบุคคล ความเพลิดเพลินและความมั่นใจในตนเองในการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการมีกิจกรรมทางกายที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของชีวิต

2. Knowledge and understanding (Cognitive) หรือความรู้ความเข้าใจ รวมถึงความสามารถในการระบุและแสดงคุณสมบัติสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหว เข้าใจประโยชน์ต่อสุขภาพของการใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงและเข้าใจถึงความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายและสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันออกไป

3. Physical competence (Physical) หรือความสามารถของร่างกาย หมายถึงความสามารถ

ของแต่ละบุคคลในการพัฒนาทักษะและรูปแบบการเคลื่อนไหวต่าง ๆ และความสามารถในการเคลื่อนไหวที่มีความหนักและระยะเวลาที่มากขึ้น ยิ่งร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น จะยิ่งช่วยให้แต่ละบุคคลมีสวนร่วมในกิจกรรมทางกายมากขึ้น

4. Engagement in physical activities for life (Social/ Behavioral) หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชีวิตที่ดี หมายถึง ความรับผิดชอบส่วนบุคคลในการเลือกมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับตนเองและวิถีชีวิตของตนเอง สามารถจัดลำดับความสำคัญ และคงไว้ซึ่งการมีส่วนร่วมของกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตนเองต้องการให้เสมือนเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของตนเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ตนเอง (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2565)

ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมในส่วนของภาคส่วนที่่มีีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความรอบรู้้ทางกาย ในคู่มือ “ความจำเป็นสำหรับการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ให้กับคนไทยทุกกลุ่มวัย” ได้ที่… https://tpak.or.th/backend/print_media_file/551/Research_Brief_S&P.pdf

 

3. ความต้องการการดูแลในผู้สูงอายุ

น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกได้รับความคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพด้วยสวัสดิการเงินคุ้มครองทางสังคมอย่างน้อยหนึ่งรายการตลอดวงจรชีวิตที่มีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งในและต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 38.6 และ 23.2 ของผู้สูงอายุในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางตามลำดับ ได้รับความคุ้มครองเงินบำนาญที่มีประสิทธิภาพ (Tessier et al., 2022) อาจจะส่งผลให้ผู้สูงอายุบางส่วนที่มีรายได้น้อย ประกอบกับต้องอยู่เพียงลำพังอาจจะไม่สามารถจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ได้ “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” จึงเป็นส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายของผู้รับการดูแล เนื่องจากผู้สูงอายุอาจตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมโปรแกรม ระบบการขนส่ง และการรักษา (Kim et al., 2018) ในอีกกรณีที่ผู้สูงอายที่มีบุตรหลานมีความต้องการการดูแลจากครอบครัว แต่ด้วยภาระหน้าที่ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุให้มีกิจกรรมทางกายได้ หากจะให้มีผู้ดูแลที่มีคุณภาพสูงต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่หลายครอบครัวและบุคคลทั่วไปจะจ่ายได้ (the white house, 2023)

อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ “ใบสั่งยากิจกรรมทางกาย” เนื่องจากสามารถกำหนดเป้าหมายและพารามิเตอร์ของการบำบัดได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการศึกษาและสร้างแรงบันดาลใจเพื่อตอกย้ำความสำคัญและประโยชน์ต่อสุขภาพของกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น สามารถใช้ใบสั่งยาในการนัดตรวจเพื่อติดตามความคืบหน้าและปรับปรุงคำแนะนำในอนาคต ซึ่งมีข้อควรระมัดระวังเพื่อกำหนดประโยชน์ด้านสุขภาพที่คาดหวังของกิจกรรมทางกายในแต่ละบุคคลและระยะเวลาที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ โดยกิจกรรมทางกายที่เลือกควรเป็นสิ่งสนุกสนาน มีความเป็นไปได้และยั่งยืน และควรเลือกให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ (Gammack, 2017)
 


อ้างอิง

เมธาวี อื้ออารีย์กุล และ กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์.  (2563). สุขภาวะทางใจของผู้อยู่อาศัยในที่อยู่อาศัย: การทบทวนวรรณกรรมและข้อเสนอแนะ. สาระศาสตร์, สาระศาสตร์ ฉบับที่ 3/2563, 557-570. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sarasatr/article/view/240407

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2565).

ความจำเป็นสำหรับการส่งเสริมความรอบรู้ทางกาย (Physical literacy: PL) ให้กับคนไทยทุกกลุ่มวัย. https://tpak.or.th/backend/print_media_file/551/Research_Brief_S&P.pdf

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2565).

โครงการการพัฒนาระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565

สํานักงานสถิติแห่งชาติ. (2553). สํามะโนประชากรและเคหะ ปี 2553. http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/pop/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0      %B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A% E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3.aspx

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583. https://shorturl.asia/zeAoc

Babak, M., Majid, B., Rashid, H., Leili, T., & Shahryar, P. (2022). The factors in older adults' health literacy in the field of physical activity: a qualitative study. BMC Geriatr, 22(1), 630. https://doi.org/10.1186/s12877-022-03320-z

Barnett, D. W., Barnett, A., Nathan, A., Van Cauwenberg, J., Cerin, E., on behalf of the Council on, E., & Physical Activity – Older Adults working, g. (2017). Built environmental correlates of older adults’ total physical activity and walking: a systematic review and meta-analysis. International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Activity, 14(1), 103. https://doi.org/10.1186/s12966-017-0558-z

Baumbach, L., König, H.-H., & Hajek, A. (2023). Associations between changes in physical activity   and perceived social exclusion and loneliness within middle-aged adults – longitudinal  evidence from the German ageing survey. BMC Public Health, 23(1), 274.             https://doi.org/10.1186/s12889-023-15217-6

Berke, E. M., Koepsell, T. D., Moudon, A. V., Hoskins, R. E., & Larson, E. B. (2007). Association of the built environment with physical activity and obesity in older persons. Am J Public Health, 97(3), 486-492. https://doi.org/10.2105/ajph.2006.085837

Bonaccorsi, G., Manzi, F., Del Riccio, M., Setola, N., Naldi, E., Milani, C., Giorgetti, D., Dellisanti, C., & Lorini, C. (2020). Impact of the Built Environment and the Neighborhood in Promoting the Physical Activity and the Healthy Aging in Older People: An Umbrella Review. International Journal of Environmental Research and Public Health, 17(17), 6127. https://www.mdpi.com/1660-4601/17/17/6127

Cavazzotto, T. G., de Lima Stavinski, N. G., Queiroga, M. R., da Silva, M. P., Cyrino, E. S., Serassuelo Junior, H., & Vieira, E. R. (2022). Age and Sex-Related Associations between Marital Status, Physical Activity and TV Time. International Journal of Environmental Research and Public Health, 19(1), 502. https://www.mdpi.com/1660-4601/19/1/502

Chu, W.-M., Tange, C., Nishita, Y., Tomida, M., Shimokata, H., Otsuka, R., Lee, M.-C., & Arai, H. (2023). Effect of different types of social support on physical frailty development among  community-dwelling older adults in Japan: Evidence from a 10-year population-based     cohort study. Archives of Gerontology and Geriatrics, 108, 104928.  https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.archger.2023.104928

Gammack, J. K. (2017). Physical Activity in Older Persons. Mo Med, 114(2), 105-109.

Hao, R., Jin, H., Zuo, J., Wu, Y., Sun, X., & Hu, J. (2023). The multiple mediating effect of family     health and perceived social support on depressive symptoms in older adults: A cross- sectional national survey in China. Journal of Affective Disorders, 327, 348-354.  https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.jad.2023.01.097

John, J. C., Heredia, N. I., McNeill, L. H., Hoelscher, D. M., Schembre, S. M., Lee, M., Opusunju, J. J., Goetz, M., Aguirre, M., Reininger, B. M., & Strong, L. L. (2022). Qualitative Exploration of Family Influences on Physical Activity in Hispanic Families. J Phys Act Health, 19(2), 89-98. https://doi.org/10.1123/jpah.2021-0301

Kaivalya, M. L., Crozier, A. J., Nottle, C., & Young, J. (2023). More than dog walking: Pets as physical activity and social connection facilitators in the lives of retirement village residents (Vol. 2023). CABI International. https://doi.org/10.1079/hai.2023.0015

Kim, E., Ullrich-French, S., Bolkan, C., & Hill, L. G. (2018). The Role of Caregivers in Physical Activity for Older Adults With Alzheimer’s Disease. American Journal of Alzheimer's Disease & Other Dementias®, 33(2), 122-130. https://doi.org/10.1177/1533317517740664

Liu, C.-Y., Lin, L. L.-C., Sheu, J.-J., & Sum, R. K.-W. (2022). Psychometric Validation of Senior Perceived Physical Literacy Instrument. International Journal of Environmental Research and Public Health, 19(11), 6726. https://www.mdpi.com/1660-4601/19/11/6726

Petrusevski, C., Morgan, A., MacDermid, J., Wilson, M., & Richardson, J. (2022). Framing physical     literacy for aging adults: an integrative review. Disability and Rehabilitation, 44(26), 8149-    8160. https://doi.org/10.1080/09638288.2021.2012841

Puciato, D., & Rozpara, M. (2021). Physical activity and socio-economic status of single and married urban adults: a cross-sectional study. PeerJ, 9, e12466. https://doi.org/10.7717/peerj.12466

Serassuelo Junior, H., & Vieira, E. R. (2022). Age and Sex-Related Associations between Marital Status, Physical Activity and TV Time. International Journal of Environmental         Research and Public Health, 19(1), 502. https://www.mdpi.com/1660-4601/19/1/502

Thaithatkul, P., Chalermpong, S., Laosinwattana, W., & Kato, H. (2022). Mobility, Activities, and happiness in old Age: Case of the elderly in Bangkok. Case Studies on Transport Policy,   10(2), 1462-1471. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.cstp.2022.05.010

The white house. (2023). Executive Order on Increasing Access to High-Quality Care and   Supporting Caregivers. https://www.whitehouse.gov/briefing-room/presidential-actions/2023/04/18/executive-order-on-increasing-access-to-high-quality-care-and-supporting-caregivers/

Tessier, L., De Wulf, N., Momose, Y. (2022). Long-term care in the context of population ageing: a rights-based approach to universal coverage, ILO Working Paper 82 (Geneva, ILO). https://www.ilo.org/global/publications/working-papers/WCMS_858784/lang--en/index.htm

Wang, S., Yung, E. H. K., Jayantha, W. M., & Chan, E. H. W. (2023). Elderly's intention and use         behavior of urban parks: Planned behavior perspective. Habitat International134, 102780. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/j.habitatint.2023.102780

Zhong, S., & Lee, C. (2022). Developing the Intergenerational Community Survey for older adults: Assessing neighborhood environments, social and physical activities, and health. Health & Place, 77, 102901. doi:https://doi.org/10.1016/j.healthplace.2022.102901

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย