13 พฤศจิกายน 2566

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

14718

6 เรื่องต้องทำสำหรับโรงเรียน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย ตามแนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนแบบองค์รวม (Whole-of-School Approach)

 


ทำไมการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนในโรงเรียนจึงสำคัญ

การยกระดับการมีกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนในโรงเรียนถูกยกให้เป็นวาระสำคัญระดับโลก เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทหลักที่สำคัญในการให้โอกาสทางการศึกษาและทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กและเยาวชน เนื่องจากวิถีชีวิตที่อยู่ในโรงเรียน เช่น การเรียน การเล่น มักอยู่ในโรงเรียนเป็นหลักนอกเหนือจากเวลาที่อาศัยอยู่ที่บ้าน การทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการเล่นของเด็กและเยาวชน จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการเพิ่มระดับของการมีกิจกรรมทางกาย (World Health Organization, 2021) เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนไทยมีระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่ำที่สุดในรอบหลายปี โดยประชากรวัยเด็กและเยาวชน (อายุ 5-17 ปี) มีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 17.1 เท่านั้น และมีเวลาเฉลี่ยพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง คือ 14 ชั่วโมง 8 นาที (กรมอนามัย, 2563) ในขณะที่นักเรียนร้อยละ 19.1 มีภาวะน้ำหนักเกิน และร้อยละ 64.7 นักเรียนใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อวันหรือมากกว่าในการนั่งดูโทรทัศน์ นั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ คุยกับเพื่อน นั่งอ่านหนังสือ หรือนั่งคุยโทรศัพท์ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีเด็กนักเรียนร้อยละ 20.1 ที่ไม่ได้เข้าเรียนหรือไม่ได้ไปโรงเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง (สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย, 2565) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ

ดังนั้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนแบบองค์รวมหรือครบถ้วนในทุกมิติ (Whole-of-School Approach to Physical Activity) ที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก จะสามารถช่วยจัดการกับปัญหาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หรือโรคอ้วนในเด็กได้ โดยแนะนำให้เน้นการบูรณาการกิจกรรมทางกายในทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมศึกษาไปถึงมัธยมศึกษา โดยไม่แบ่งเพศและอายุ ตลอดจนต้องครอบคลุมถึงกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ อาทิ กลุ่มที่มีความพิการหรือทุพพลภาพทางร่างกาย กลุ่มด้อยโอกาสทางสังคม กลุ่มเคลื่อนไหวน้อยโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีการเล่นอย่างกระฉับกระเฉงทุกวัน เช่น วิ่ง กระโดด ปีน เต้นรำ เป็นต้น โดยสามารถเล่นได้ในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเลิกเรียน (UNESCO, 2015) โดยแนวคิดดังกล่าวนี้สอดคล้องกับหนึ่งในแนวทางปฏิบัติ Active People (Policy action 3.1) ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับโลก 2018–2030 (GAPPA) ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

 

ข้อค้นพบที่สำคัญ 6 มิติ

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีช่องว่างที่สำคัญในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน เพราะขาดการเชื่อมโยงและการบูรณาการองค์ความรู้ และมักส่งเสริมเชิงเดี่ยวหรือเฉพาะกิจกรรม ด้วยเหตุผลนี้จึงเกิดปัญหาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอของเด็กและเยาวชนไทยใน 6 มิติ ที่สำคัญ ได้แก่

1. วิชาพลศึกษา ยังเน้นแค่การกีฬาเท่านั้น
และยังเป็นภาระสำหรับเด็กนักเรียนบางคนที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย

เมื่อกล่าวถึงวิชาพลศึกษา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าในรายวิชานี้คือการเล่นกีฬา อาทิ กรีฑาประเภทลู่และลาน, ฟุตบอล, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล, เทนนิส, ตะกร้อ ฯลฯ หรือ ตามที่ครูผู้สอนได้จัดไว้ในชั่วโมงเรียนตามหลักสูตร โดยการจัดการเรียนการสอนพลศึกษาในประเทศไทยนั้นเป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ซึ่งในรายวิชาพลศึกษามุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย เล่นเกมและเล่นกีฬาที่มีรูปแบบตามกฎ กติกา ส่วนวิชาสุขศึกษามุ่งเน้นที่การพัฒนาองค์ความรู้ เจตคติ คุณธรรม และค่านิยม (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, 2551) ซึ่งการนำหลักสูตรมาแกนกลางมาใช้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและบริบทพื้นที่ของโรงเรียนนั้น ๆ โดยบางโรงเรียนถูกนำมาสอนควบคู่ไปด้วยกัน ไม่ได้มีการแยกวิชาพลศึกษาและสุขศึกษาออกจากกัน และส่วนใหญ่ครูมักให้นักเรียนเล่นกีฬา ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่ชอบการเล่นกีฬาอยู่แล้วจะยิ่งขาดโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายไปมากกว่าเดิม อีกทั้งการเล่นกีฬานั้นมิอาจตอบโจทย์ของการมีสุขภาพที่ดีของเด็กทุกคนได้ เนื่องจากเด็กบางคนไม่ชอบกีฬาหรือกีฬาที่เรียนไม่ใช่ชนิดกีฬาที่ตนเองชอบ บางคนขี้อายหรือเล่นไม่เก่งจึงอาจทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเล่นกีฬา (อับดุล อุ่นอำไพ, 2564) ประกอบกับข้อมูลการสำรวจการจัดอันดับวิชาที่อยากให้ยกเลิกมากที่สุดมา 5 อันดับ บนเพจเฟซบุ๊ก Eduzones ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ เมื่อปี 2564 พบว่า วิชาพลศึกษาเป็นหนึ่งในรายวิชาที่ต้องการให้ยกเลิก โดยให้เหตุผลว่า วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่ใช้วัดศักยภาพทางร่างกายแต่ผู้เรียนทุกคนนั้นมีศักยภาพที่ไม่เท่ากัน มากไปกว่านั้นยังมีความถนัดในกีฬาที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในชั่วโมงที่ได้เรียนฟุตบอล นักเรียนบางคนชอบ แต่นักเรียนบางคนไม่ชอบและไม่ถนัด แต่กลับถนัดในกีฬาชนิดอื่นมากกว่า ซึ่งหากใช้เกณฑ์ในการวัดที่เท่ากัน อาจทำให้คนที่ไม่ถนัดนั้นเสียเปรียบเอาได้ (Eduzones, 2564) ดังนั้นการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลในรูปแบบเดิมที่ดูเหมือนเป็นการเพิ่มภาระให้กับเด็กบางคนที่มีศักยภาพไม่เท่าเพื่อนกับคนอื่น ๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การเข้าถึงกีฬาของเด็กลดน้อยลง ซึ่งอาจหมายถึงจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามมาได้

ในขณะที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิชาพลศึกษาในเด็กและเยาวชน โดยยูเนสโก (UNESCO) เห็นว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแบบองค์รวมในโรงเรียนโดยการส่งเสริมให้เกิดวิชาพลศึกษาที่มีคุณภาพ มีความสำคัญในการพัฒนาแนวปฏิบัติและกรอบการทำงานให้แก่ผู้กำหนดนโยบายในการปรับเปลี่ยนนโยบายพลศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality physical education: QPE) และส่งเสริมการเข้าถึงพลศึกษาอย่างเท่าเทียมให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของเด็กและเยาวชนทุกคน โดยสนับสนุนผ่านโปรแกรมการส่งเสริมพลศึกษาที่มีคุณภาพ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีการเล่นอย่างกระฉับกระเฉงทุกวัน เช่น วิ่ง กระโดด ปีน เต้นรำ เป็นต้น โดยสามารถเล่นได้ในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเลิกเรียน (UNESCO, 2015) เพื่อเสริมสร้างวิชาพลศึกษาที่มีคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นและสร้างประสบการณ์เชิงบวกในการเคลื่อนไหว การเล่นกีฬา และการเล่นของเด็กผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกันด้วย (World Health Organization, 2021) ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาของประเทศไทย จึงควรได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทิศทางการดำเนินงานของโลก

2. การเดินทางระหว่างบ้านไปโรงเรียน
ยังไม่เอื้อต่อการเดินเท้าและการปั่น และความไม่ปลอดภัย

สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มาจากการเดินทางไปโรงเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก ซึ่งมีอัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนนประมาณ 1.35 ล้านคนต่อปี กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด คือเด็กอายุระหว่าง 5-14 ปี และเยาวชนอายุ 15-29 ปี  ซึ่งมีประมาณการผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 32.7 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือประมาณ 60 คนต่อวัน (รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม, 2561) สร้างความกังวลใจให้กับครู ผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ทำให้เกิดการกำหนดแนวทางการยืนรับเด็กหน้าประตูโรงเรียน เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของเด็กนักเรียน แต่ดูเหมือนจะเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้เด็กขาดโอกาสในการเดิน และลดทอนความรับผิดชอบที่ควรจะต้องเร่งสร้างให้แก่เด็กในช่วงเด็กวัยเรียน ทั้งที่การเดินในตอนเช้าส่งผลต่อสมาธิของเด็กก่อนเริ่มเรียน ทว่า ประเทศไทยผู้ปกครองส่วนใหญ่มีค่านิยมที่อยากจะส่งลูกหลานไปศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้บ้านส่งผลต่อการเดินทางที่ไม่สามารถเดินทางด้วยการเดิน แต่ต้องอาศัยรถยนต์ส่วนตัว รถบัส ในการเดินทาง จากการสำรวจ Publicly available data from the Global School-based Student Health Survey (GSHS) ในปี 2015 เด็กนักเรียนใช้การเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนด้วยการเดิน และปั่น ร้อยละ 26.9 เท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีนโยบายที่แน่ชัดสำหรับการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในการเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียน

3. ก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน
ช่วงเวลาสำคัญที่ถูกลืมใช้อย่างสร้างสรรค์ และส่วนใหญ่มักให้เด็กเต้นแอโรบิกหน้าเสาธง

ปัจจุบันพบว่าโอกาสที่นักเรียนสามารถจะมีกิจกรรมทางกายในโรงเรียนมีน้อยลงกว่าในอดีต โดยข้อมูลรายงานจาก Active Healthy Kids Global Alliance GM 2.0-GM 4.0 (ปี 2016–2022) พบว่า ตลอดการเก็บข้อมูลทั้ง 3 ครั้ง  เด็กไทยมีการเล่นออกแรง หรือ Active Play อยู่ในเกรด F มาตลอด (ปี 2016 19.9%, ปี 2018 8.7% และปี 2022 19.0%) ประเทศไทยส่งเสริมให้เด็กได้เล่นและออกกำลังกายด้วยการเต้นออกกำลังกายหน้าเสาธง และการเรียนวิชาพลศึกษาเท่านั้น โดยมีเพียงบางโรงเรียนเท่านั้นที่ดำเนินการ อีกทั้งเรื่องเหล่านี้ยังขาดกระบวนการส่งเสริมอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของเด็ก ๆ (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2565) ทว่า ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในปัจจุบันนั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเด็ก โดยการสร้างโอกาสให้นักเรียนมีความกระฉับกระเฉง ระหว่างชั่วโมงการเรียน นอกเวลาเรียน ช่วงพัก ก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียนด้วย โดยเน้นกีฬาและกิจกรรมที่ไม่มุ่งเพื่อการแข่งขันแต่เพื่อความสนุกสนานและการมีส่วนร่วม (WHO, 2021) อีกทั้งเด็กจะใช้เวลาว่างในการเล่นและเคลื่อนไหวร่างกายตามปกติประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของเวลาว่างทั้งหมดที่เด็กมีอยู่ในโรงเรียน คือ ประมาณ 20-30 นาที ซึ่งเด็กและเยาวชนใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ ฉะนั้นระยะเวลาในการเล่นและเคลื่อนไหวรวมประมาณ 100-150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายที่เหมาะสม (ติงศภัทิย์ จภส., 2558) และไม่เพียงพอต่อการมีกิจกรรมทางกายที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำสำหรับช่วงวัยเด็ก ซึ่งการขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอส่งผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาน้ำหนักตัวเกิน อ้วน ปัญหาด้านสุขภาพจิต พัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ การเรียนรู้ล่าช้า เป็นต้น

4. ช่วงเวลาพักเที่ยง พักเบรก สามารถเพิ่มกิจกรรมทางกายให้เด็กได้
แต่เด็กไทยยังใช้เวลาพักเพื่อมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ

แม้ว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น ทำให้มีการเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกของการเปิดโรงเรียนการมีกิจกรรมทางกายภายในโรงเรียนยังคงเป็นการเว้นระยะห่าง อีกทั้งโรงเรียนเน้นการเรียนการสอนเป็นพิเศษมากกว่าให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาการเรียนการสอนมีข้อจำกัดและเวลาเรียนไม่เพียงพอ ดังนั้นการใช้เวลาเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางกายในช่วงเวลาพักจึงเป็นเรื่องที่ถูกลดความสำคัญลงไปในบางโรงเรียน ซึ่งในช่วงนี้ได้มีการแนะนำการมีกิจกรรมทางกายแบบ New normal ให้กับเด็ก เช่น แนวทางการส่งเสริมการเล่นของเด็กที่บ้าน และต่อมาพัฒนาเครื่องมือ “เล่นกลางโรค” หรือ “การเล่นอย่างปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ” เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อใช้เป็นแนวทางและกิจกรรมการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างเหมาะสมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2565) ทว่า จากผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาต้นแบบส่งเสริมการเล่นในบริบทไทยเพื่อสร้างทักษะสำหรับเด็กและเยาวชน: THAI-ACP พ.ศ. 2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การใช้แนวคิด Active children program หรือ ACP และดำเนินกิจกรรมให้เข้ากับบริบทไทยเพิ่มโอกาสการมีกิจกรรมทางกายให้กับนักเรียนเมื่ออยู่โรงเรียนในช่วงเวลาพักเมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังใช้แนวคิดนี้ โดยเวลาช่วงเช้าก่อนเข้าแถวจากร้อยละ 67.5 เป็นร้อยละ 73.2 และช่วงพักกลางวันจากร้อยละ 84.6 เป็นร้อยละ 90.4 อีกทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ยังเพิ่มความผูกพันระหว่างครูและนักเรียน ซึ่งมาจากการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน และนักเรียนมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือเล่นมากขึ้นจากเดิม รวมถึงการสร้างประสบการณ์การเล่นในเชิงบวกเป็นแรงจูงใจให้มีกิจกรรมทางกาย และส่งเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อให้กับนักเรียน (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2564) ดังนั้นควรมีการจัดการช่วงพักระหว่างคาบเรียน ช่วงพักเที่ยง และพักเบรกหรือพักย่อย โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียนยังสามารถเพิ่มการขยับร่างกายของเด็กเพิ่มขึ้นอีกด้วย (Zygmunt-Fillwalk, E., &  Bilello T.E., 2005; National Physical Activity Plan Alliance, 2018;  Lee, S. M. et.al, 2007)

5. ห้องเรียนมีพื้นที่จำกัดชั่วโมงเรียนยังเป็นสาเหตุ
ของการเพิ่มพฤติกรรมเนือยนิ่ง อันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

ประมาณหนึ่งในสามของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษามีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และส่วนมากมีการใช้เวลาในห้องเป็นหลักทำให้ไม่มีโอกาสได้มีกิจกรรมทางกายมากเท่าที่ควร ส่งผลให้การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพของประชากรไทยในช่วงปี 2555-2562 พบว่าเด็กและเยาวชนไทยประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต่อมาในปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กและเยาวชนไทยลดเหลือเพียงร้อยละ 17.1 เท่านั้น หรือลดลงร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และล่าสุดในปี 2565 เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 16.1 หรือเด็กและเยาวชนไทย 5 ใน 6 ขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งน้อยกว่าช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก (ศููนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย, 2565) ซึ่งการขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอนั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาน้ำหนักตัวเกิน อ้วน ปัญหาด้านสุขภาพจิต พัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ การเรียนรู้ล่าช้า เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถบรรเทาได้ด้วยการมีกิจกรรมทางกายเป็นประจำ ที่นอกจากจะช่วยส่งเสริมเรื่องสุขภาพแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเรียนในนักเรียนอีกด้วย โดยองค์กรด้านสาธารณสุขชั้นนำในประเทศต่าง ๆ ได้มีการสนับสนุนให้โรงเรียนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 30 นาที ในระหว่างวันเรียนมีการเรียนวิชาพลศึกษาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และมีเวลาพักระหว่างวันอย่างน้อย 20 นาทีต่อวัน (Turner & Chaloupka, 2012) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยสมาคมกีฬาและพลศึกษาแห่งชาติ อีกทั้งในปัจจุบันหลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่อห้องเรียนฉลาดรู้ (Active Classroom) ในระบบการศึกษาทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ในเชิงบวก รวมถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนจากระบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม สู่การเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอย่างกระตือรือร้น เช่น ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวในชั้นเรียนเป็นเวลาสูงสุด 20 นาที (Turner & Chaloupka, 2012) และเมื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าวในบริบทของประเทศไทย พบว่า โรงเรียนหลายแห่งไม่ได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้นจึงควรที่จะมีการรวมกิจกรรมทางกายเข้าไปในชั้นเรียน เนื่องจากจะเป็นกลยุทธ์ที่สามารถเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายของเด็ก พร้อมทั้งปรับปรุงพฤติกรรมในชั้นเรียนของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. เด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย พิการ
หรือกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษยังถูกลืมและไม่ได้เล่นกับเพื่อน

เด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษเป็นเด็กที่ความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่าเด็กปกติ เนื่องจากความบกพร่องทางกาย ทางสติปัญญา และทางอารมณ์ ปัจจุบันจำนวนเด็กพิการทั่วโลกนั้นพบว่ามีตัวเลขราว 93 -150 ล้านคนทั่วโลก และจากรายงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานการสำรวจสถานการณ์คนพิการล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ในประเทศไทยพบว่า เด็กพิการ ช่วงปฐมวัย (อายุ 0-5 ปี) มีจำนวน 12,357 คน เด็กวัยเรียน (6-14 ปี) มีจำนวน 68,302 คน มากไปกว่านั้น จากข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มพิการด้านสติปัญญามากถึง 142,667 คน ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะพบเด็กกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2564) โดยองค์การอนามัยได้ให้ความเห็นว่า เด็กพิการจะมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการศึกษามากว่าเด็กปกติถึง 2 เท่า ซึ่งประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการมากขึ้น โดยในแผนนันทนาการแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) เป็นเครื่องมือที่สร้างรากฐานในสังคม เน้นพัฒนาคนทุกกลุ่มวัย รวมถึงกลุ่มพิเศษต่างๆ เพื่อให้มีโอกาสการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการอย่างเท่าเทียม

 

ใครต้องเข้ามามีบทบาทกับเรื่องนี้บ้าง

ผู้รับผิดชอบหลัก (Keyman) ในการช่วยขับเคลื่อนให้นโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนให้เกิดการดำเนินงานสู่ระดับนโยบายที่นำไปใช้ได้จริง และสามารถช่วยยกระดับกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไว้ มีดังต่อไปนี้

1. กระทรวงศึกษาธิการ

2. กระทรวงสาธารณสุข

3. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้จัดทำแผนนโยบายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

4. ผู้บริหารโรงเรียน/ผู้อำนวยการโรงเรียน สภาที่ปรึกษาและคณะกรรมการโรงเรียน และหัวหน้าครูในโรงเรียน

 

อะไรคือสิ่งที่ผู้รับผิดชอบหลักต้องทำ

แนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 6 มิติ เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

จากข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนแบบองค์รวม (Whole-of-school approach) ขององค์การอนามัยโลก ได้จัดทำเครื่องมือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน (Promoting physical activity through schools: a toolkit) โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำขึ้นเพื่อนำไปวางแผนนโยบายโรงเรียน โดยเสนอแนะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับนโยบายของโรงเรียนนำไปใช้ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะทำงานในโรงเรียน รวมทั้งหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการจัดการกับนโยบายในโรงเรียน เพื่อช่วยจัดการกับปัญหาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอและโรคอ้วนในเด็กได้ โดยเป็นคำแนะนำที่เน้นการบูรณาการกิจกรรมทางกายในทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมไปจนถึงมัธยม โดยไม่แบ่งเพศ อายุ ชาติ ไปจนถึงต้องครอบคลุมถึงผู้ที่มีความต้องการพิเศษและผู้ที่มีความพิการ โดยแบ่งออกเป็น 6 มิติ ได้แก่

1. การส่งเสริมวิชาพลศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality physical education : QPE)

2. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในการเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียน (Active travel)

3. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในช่วงก่อนและหลังเลิกเรียน (PA opportunities before and after school)

4. การสนับสนุนกิจกรรมทางกายในช่วงเวลาพัก (Opportunity for physical activity at recess and lunch)

5. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชั้นเรียน (Active classroom)

6. นโยบายสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม รวมไปถึงที่มีความบกพร่องทางร่างกาย (PA for those with additional needs)

 

 

รูปที่ 1 : ข้อแนะนำ 6 โดเมน สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน,
 World Health Organization. (2021). Promoting physical activity through schools: a toolkit. Geneva: World Health Organization.

 

 


เอกสารอ้างอิง

Centers for Disease Control and Prevention. (2011). School health guidelines to promote healthy eating and physical activity. Morbidity & Mortality Weekly Report Recommendations & Reports, 60(RR-5),10–28.

Centers for Disease Control and Prevention. (2013). Comprehensive school physical activity programs: A guide for schools. Atlanta, GA: Author.

Centers for Disease Control and Prevention. (2015). Results from the School Health Policies and Practices Study 2014. Atlanta, GA: Author. Retrieved from https://www.cdc.gov/healthyyouth/data/shpps/pdf/SHPPS-508-final_101315.pdf

Centers for Disease Control and Prevention. (2017). Results from the School Health Policies and Practices Study 2016. Atlanta, GA: Author. Retrieved from https://www.cdc.gov/healthyyouth/data/shpps/pdf/shpps-results_2016.pdf

Dudley, D., Mackenzie, E., Van Bergen, P., Cairney, J., & Barnett, L. (2022). What Drives Quality Physical Education? A Systematic Review and Meta-Analysis of Learning and Development Effects From Physical Education-Based Interventions. Frontiers in psychology13, 799330. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2022.799330

Fernandez-Rio, F. J., González-Calvo, G., & Barba-Martín, R. (2021). Research on Cooperative Learning in Physical Education: Systematic Review of the Last Five Years. Research quarterly for exercise and sport92(1), 146–155. https://doi.org/10.1080/02701367.2020.1719276

Hodges, V. C., Centeio, E. E., & Morgan, C. F. (2022). The Benefits of School Recess: A Systematic Review. The Journal of school health, 92(10), 959–967. https://doi.org/10.1111/josh.13230

Institute of Medicine. (2013). Educating the student body: Taking physical activity and physical education to school. Washington, DC: NationalAcademies Press. Retrieved from https://www.nap.edu/read/18314/chapter/1

Kamijo, K., Pontifex, M. B., O'Leary, K. C., Scudder, M. R., Wu, C. T., Castelli, D. M., & Hillman, C. H. (2011). The effects of an afterschool physical activity program on working memory in preadolescent children. Dev Sci, 14(5), 1046-1058. https://doi.org/10.1111/j.1467-7687.2011.01054.x

Kriemler, S., Zahner, L., Schindler, C., Meyer, U., Hartmann, T., Hebestreit, H., Brunner-La Rocca, H. P., van Mechelen, W., & Puder, J. J. (2010). Effect of school based physical activity programme (KISS) on fitness and adiposity in primary schoolchildren: cluster randomised controlled trial. Bmj, 340, c785. https://doi.org/10.1136/bmj.c785

Lee, S. M., Burgeson, C. R., Fulton, J. E., & Spain, C. G. (2007). Physical education and physical activity: results from the School Health Policies and Programs Study 2006. The Journal of school health, 77(8), 435–463. https://doi.org/10.1111/j.1746-1561.2007.00229.x

National Association of State Boards of Education. (2012). Fit, healthy, and ready to learn: A school health policy guide. Washington, DC: Author.

National Physical Activity Plan Alliance. (2018). The 2018 United States Report Card on Physical Activity for Children and Youth. Washington, DC: National Physical Activity Plan Alliance.

Panittha Ruangpanyawut. (2013). Effects of physical education learning management using Thai folk games on the health and performance of primary school students (Master's thesis), ChulalongkornUniversity.

Parrish, A. M., Chong, K. H., Moriarty, A. L., Batterham, M., & Ridgers, N. D. (2020). Interventions to Change School Recess Activity Levels in Children and Adolescents: A Systematic Review and Meta-Analysis. Sports medicine (Auckland, N.Z.), 50(12), 2145–2173. https://doi.org/10.1007/s40279-020-01347-z

Ridgers, N. D., Stratton, G., & Fairclough, S. J. (2005). Assessing physical activity during recess using accelerometry. Preventive medicine, 41(1), 102–107. https://doi.org/10.1016/j.ypmed.2004.10.023

SHAPE America – Society of Health and Physical Educators & American Heart Association. (2016). Shape of the nation: Status of physical education in the USA. Reston, VA: SHAPE America – Society of Health and Physical Educators. Retrieved from https://www.shapeamerica.org/uploads/pdfs/son/Shape-of-the-Nation-2016_web.pdf

SHAPE America—Society of Health and Physical Educators. (2016). Shape of the Nation: Status of Physical Education in the USA. Reston, VA: SHAPE America—Society of Health and Physical Educators.

UNESCO. (2023). Quality physical education policies and practice: the global state of play. SHS/SPR/F4L/2023/QPE REV.2 https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000386125

Wattanapong Aunnum. (2011). Effects of Thai traditional games on mechanical performance of male students grade 4–6 (Master's thesis),Srinakharinwirot University.

Washington State Institute for Public Policy. (2017). Benefit-cost technical documentation: Washington state institute for public policy benefit-cost model. Available at: http://wsipp.wa.gov/TechnicalDocumentation/WsippBenefitCostTechnicalDocumentation.pdf.

Washington State Institute for Public Policy. (2017). Benefit-cost results. Available at: http://wsipp.wa.gov/BenefitCost/Program/574

World Health Organization. (2021). Promoting physical activity through schools: a toolkit. World Health Organization (WHO).

World Health Organization and the United Nations Educational Scientific and Cultural Organization, W. U. (2021). Making every school a health-promoting school: global standards and indicators for health-promoting schools and systems. 50.

World Health Organization. (2021). Promoting physical activity through schools: a toolkithttps://blog.schoolspecialty.com/benefits-physical-education-children-special-needs/

Zygmunt-Fillwalk, E., &  Bilello T.E. (2005) Parents' Victory in Reclaiming Recess for Their Children, Childhood Education, 82:1, 19-23, DOI: 10.1080/00094056.2005.10521335

HFucus เจาะลึกระบบสุขภาพ. (22 สิงหาคม 2564). บทเรียน เสวนาออนไลน์ “ทราบแล้วเปลี่ยน” ทางออกของเด็กและผู้ปกครอง เรียนออนไลน์อย่างไรให้พร้อม ลดภาวะเครียด. https://www.hfocus.org/content/2021/08/22797

ชโยทิต ศิริโชติ, แอน มหาคีตะ และวัฒนา สุทธิพันธุ์. (2562). สภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาโรงเรียนสาธิตในสังกัดของรัฐ ตามความคิดเห็น

ของครูและนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย. วารสารวิชาการสถาบันการพลศึกษา, 11(1), 259-273.

ติงศภัทิย์, จ. ภ. ส. (2015). แนวทางการจัดกิจกรรมทางกายหลังเลิกเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร. Online Journal of Education, 10(2), 407-421.

เนืองเฉลิม, ป. (2016). ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้: นโยบายสู่ทฤษฎีและทางปฏิบัติ. Prae-wa Kalasin Journal of Kalasin University, 3(1), 137-146.

ปิยวัฒน์  เกตุวงศา. (7 มีนาคม 2564). สถานการณ์โควิด-19 กับผลกระทบที่มีต่อพฤติกรรมสุขภาพด้านการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย. https://op.mahidol.ac.th/ga/posttoday-2/

ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และคณะ. (2563). แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย. นครปฐม: ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

มณิฐา นิตยสุข ธานินทร์ บุญญาลงกรณ์ และสุธนะ ติงศภัทิย์. ผลการจัดการเรียนรู้วิชาพลศึกษาโดยใช้เกมนําไปสู่กีฬาที่มีต่อสมรรถภาพกลไกของนักเรียนประถมศึกษา. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ. ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน.

ศููนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย. (2564). การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กด้วยการเล่นตามแนวคิด ACP (Active Child Program). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

ศููนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย. (2565). เล่นกลางโรค. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ช. ช. (2563, 8/9). คุณทำอะไร หลังเลิกเรียน?  https://www.matichon.co.th/article/news_1913731

สริน ประดู่, สมบัติ อ่อนศิริ, อำนวย ตันพานิชย์ และมนธีร์ จิตต์อนันต์. (2019) "สภาพปัญหาการวัดและประเมินผลการเรียนรู้วิชา พลศึกษาของ โรงเรียนสาธิต สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา" Journal of Education Studies: Vol. 47: Iss. 1, Article 25. Available at: https://digital.car.chula.ac.th/educujournal/vol47/iss1/25

อมาวสี สว่างวงศ์ สุธนะ ติงศภัทิย์ และณัฐพร สุดดี (2566). ผลการจัดการเรียนรู้พลศึกษาตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุกที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของนักเรียนประถมศึกษา. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติใ ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 มกร

SHARE

ผู้เขียน
ภาพประกอบโดย