23 พฤศจิกายน 2564
ข่าวประชาสัมพันธ์, ประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติร่วมบรรยายออนไลน์ในการประชุมการพัฒนาสร้างเสริมองค์ความรู้และการเผยแพร่กิจกรรมทางกายสู่สถานศึกษาและชุมชน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ได้บรรยายในหัวข้อ Physical activity Recommendation, GAPPA, ยุทธศาสตร์ชาติ, สถานการณ์ PA ระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้อำนวยการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นประธานและเป็นผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้ ทั้งนี้ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมบรรยายในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้เกียรติในการบรรยายถึงความสำคัญและความเป็นมาของการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายตั้งอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานในระดับชาติและระดับนานาชาติ 2. รองศาสตราจารย์ ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้เกียรติในการบรรยายถึงประโยชน์ของกิจกรรมทางกายต่อการพัฒนาสมอง และ 3. อาจารย์ ดร.อารีกุล พวงสุวรรณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้เกียรติบรรยายถึงความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย . ประเด็นสำคัญในการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้คือ สถานการณ์ของระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยลดลงในช่วงการระบาดการของโรคโควิด-19 ประโยชน์และความสำคัญของกิจกรรมทางกายของคนทุกกลุ่มวัย การสร้างการรับรู้ถึงกิจกรรมทางกาย การสร้างเสริมองค์ความรู้และการเผยแพร่กิจกรรมทางกายสู่สถานศึกษาและชุมชน ซึ่งการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและใช้แนวทางการดำเนินงานตามหลักสากลมาโดยตลอด เพื่อมุ่งให้คนไทยทุกกลุ่มวัยนั้นมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอตามเป้าหมายสากล มีสุขภาพที่ดีและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคนโยบาย ภาควิชาการและส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง . ทั้งนี้ มีผู้บริหารและคณาจารย์ที่ร่วมเข้าฟังการบรรยายออนไลน์ในครั้งนี้ กว่า 100 คน จากสถาบันมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติทั่วประเทศไทย รวมทั้งผู้บริหารและคณาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอีกหลายสถาบันในประเทศไทย โดยผู้บริหารและคณาจารย์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและมีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย และมุ่งหวังให้เกิดการทำงานร่วมกัน โดยการบรรจุเรื่องกิจกรรมทางกายเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและเกิดการบูรณาการในการต่อยอดสู่ชุมชนและสังคมในอนาคต ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับครูผู้สอนพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬาในสถาบันอุดมศึกษาของไทย นำร่อง 92 สถาบัน