26 กุมภาพันธ์ 2566

ข่าวประชาสัมพันธ์, ประชาสัมพันธ์

สสส.-ทีแพค มหิดล-สมาคมกีฬาญี่ปุ่น รวมพลังฟื้นกิจกรรมทางกายเด็กไทยด้วยเครื่องมือ "เล่นกลางโรค"

สสส.-ทีแพค มหิดล-สมาคมกีฬาญี่ปุ่น รวมพลังฟื้นกิจกรรมทางกายเด็กไทยด้วยเครื่องมือ "เล่นกลางโรค"

      สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Sport Association: JSPO) ร่วมกันเปิดงาน "เล่นกลางโรค" เพื่อให้เด็กๆ เล่นกีฬา ออกกำลังกายอย่างปลอดภัย ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ณ ห้องประชุมสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์2566

 

      การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลให้เด็กไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงมาก จากเดิมปี 2562 มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพียงร้อยละ 24.4 แต่โควิด-19 ฉุดระดับการมีกิจกรรมทางกายให้ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 17.7 ต่ำสุด รอบ 10 ปีที่ผ่านมา แม้สถานการณ์คลี่คลายลง ทำให้ระดับกลับเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 24.2 แต่ถือว่ายังอยู่ระดับที่น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา และยังมีเด็กไทยมากถึง 3 ใน 4 ที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สสส. จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนาเครื่องมือ "เล่นกลางโรค" หรือ การเล่นอย่างปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเพื่อกระตุ้น และส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการนำร่องให้กับโรงเรียน 22 แห่ง ที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1

  

      น.ส.นิรมล ราศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า สสส. ได้ประสานความร่วมมือกับทีแพค ม.มหิดล และสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันออกแบบคู่มือ "แนวทางการส่งเสริมการเล่นอย่างปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรค" หรือ "เล่นกลางโรค" เพื่อให้สถานศึกษา หรือแม้กระทั่งครอบครัวได้ใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็ก ทั้งช่วงสภาวการณ์ปกติหรือ แม้กระทั้งช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ด้วย สสส. มีความเชื่อมั่นว่า "การส่งเสริมกิจกรรมทางกายจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้เด็กไทยฉลาดเรียน ฉลาดเล่น และมีพัฒนาการที่สมวัย"

 

      ศ.ฮิซาชิ ไนโตะ ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เด็กในญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับเด็กทั่วโลก เราจึงได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของ JSPO ที่ทำเรื่อง Active Child Program หรือ ACP ซึ่งมีคู่มือส่งเสริมการเล่นอยู่จำนวนมากมาประยุกต์ และปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเล่น โดยเน้นการเล่นที่ลดการสัมผัส หรือการเล่นกันเป็นกลุ่มเล็ก รวมทั้งการเล่นร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้ได้เล่นเพียงพอในทุกวัน และยังเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งก่อนหน้านี้ JSPO ได้มีโครงการความร่วมมือกับ สสส. และศูนย์ทีแพค ในโครงการ Thai-ACP เราจึงได้มีโอกาสที่จะได้ต่อยอดการทำงานร่วมกัน

      รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราเชื่อว่าการจับมือร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อจัดทำคู่มือ "เล่นกลางโรค" จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นกิจกรรมทางกายของเด็กไทยได้ ที่สำคัญเราจะมีเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเล่นได้ทุกวันอย่างปลอดภัย แม้มีการแพร่ะระบาดของโรคติดต่ออยู่ก็ตาม เพราะเราทราบ

ดีว่า "การห้ามไม่ให้เด็กเล่น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการตามช่วงวัยของพวกเขา" ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เด็กจะยังคงได้เล่นอย่างเพียงพอ หรืออย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน เพื่อให้เขาได้มีพัฒนาที่ดีใน 5 มิติ และมีความปลอดภัยปลอดโรค

      นายปารณทัตต์ แสนวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ระบุว่า เราพยายามที่จะช่วยกันนำนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีมาช่วยกระตุ้น และยกระดับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนให้กลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง แต่การเรียนรู้ที่ดีนักเรียนจะต้องมีพื้นฐานด้านร่างกาย และจิตใจที่ดีด้วย เราจึงใช้นโยบาย Active School Active Learning มาเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียนของเรา เพราะเชื่อมั่นว่ากิจกรรมทางกายจะช่วยทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข การมีคู่มือ "เล่นกลางโรค" น่าจะเป็นทางออกที่โรงเรียนจะมีแนวทางการส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นอย่างปลอดโรคปลอดภัยในทุกวัน และเชื่อว่าผู้ปกครองนักเรียนจะได้ลดความกังวลด้วยเช่นกัน