10 กันยายน 2567

กลุ่มงานวิเคราะห์สถานการณ์และนโยบาย

769

บทบาทของกิจกรรมทางกายในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ


จะดีเพียงใด หากทุกย่างก้าวที่คุณเดิน
ไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพของคุณดีขึ้นเท่านั้น
แต่ยังช่วยรักษาสุขภาพของโลกใบนี้
ไปพร้อม ๆ กันได้อีกด้วย

ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก แม้ว่าธรรมชาติจะมีส่วนที่สร้างมลพิษขึ้นมาเอง เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ แต่กิจกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ ทั้งการใช้ยานพาหนะ กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ล้วนเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศและสุขภาพมนุษย์ การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศและปัญหาสุขภาพจากการขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ สองประเด็นนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลก การบูรณาการกิจกรรมทางกายเข้ากับระบบคาร์บอนเครดิต จึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาทั้งสองประการไปพร้อมกัน เนื่องจากแนวทางนี้ไม่เพียงส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นผ่านการมีกิจกรรมทางกาย แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

กลไกการสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมทางกาย

 แนวคิดการสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมทางกาย เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการวิ่งไม่เพียงส่งเสริมสุขภาพ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางอย่างต่อเนื่อง (Brand et al., 2021) ทั้งยังเป็นการลดการใช้พลังงานจากยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ด้วยการสร้างระบบคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมทางกาย สามารถเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยอาจมีการให้รางวัลหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ที่มีคะแนนคาร์บอนเครดิตสูง แนวทางนี้เน้นความเชื่อมโยงระหว่างการส่งเสริมสุขภาพผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย และการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจเป็นกลยุทธ์สำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งสองด้านอย่างมีประสิทธิภาพ

การแปลงกิจกรรมทางกายเป็นคาร์บอนเครดิต สามารถทำได้โดยการวัดปริมาณคาร์บอนที่ลดลงจากการเลือกใช้การเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับจากการปลูกต้นไม้ คาร์บอนเครดิตเหล่านี้สามารถนำไปซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนได้ (Prapan Leenoi, 2566) ในส่วนของกิจกรรมทางกาย อาจติดตามและบันทึกระยะทางที่ผู้ใช้เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน แล้วคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงเมื่อเทียบกับการใช้ยานพาหนะต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถรวมกิจกรรมอื่นเข้าไปในระบบ เช่น การใช้ขนส่งสาธารณะแทนการขับรถยนต์ส่วนตัว การดำเนินการเช่นนี้ จะไม่เพียงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ยังสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตที่มีศักยภาพด้วย

 

แนวทางบูรณาการกิจกรรมทางกายเข้ากับปัญหามลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถึงแม้ว่าการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องประกอบด้วยกลยุทธ์หลายด้าน แต่บทบาทของกิจกรรมทางกายในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ โดยกิจกรรมทางกายอาจเกี่ยวข้องกับการบรรเทามลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้

1. ลดการพึ่งพาขนส่งที่ใช้คาร์บอนสูง: การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลในยานพาหนะเป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ โดยมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ประกอบด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โอโซน (O3) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) มลพิษทางอากาศเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนได้ เช่น โรคปอดและโรคหอบหืด ทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) (Guo, S., Liu, G. & Liu, S., 2023) ซึ่งเป็นกลุ่มก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บทบาทของกิจกรรมทางกาย: การใช้วิธีการเดินทางอื่น ๆ ที่มีมลพิษต่ำ เช่น ส่งเสริมให้เดิน ขี่จักรยาน และการโดยสารขนส่งสาธารณะ เป็นต้น เป็นวิธีการขนส่งที่มีมลพิษต่ำ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งนี้ การใช้วิธีการขนส่งทางเลือกที่มีมลพิษต่ำจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในชีวิตประจำวันได้โดยตรง

2. ประยุกต์การสร้างพลังงานสะอาดจากการเคลื่อนไหวของมนุษย์: เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการนำพลังงานที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เน้นไปที่การสร้างพลังงานสะอาดจากการเคลื่อนไหวของผู้คน หรือการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Hirschmann, 2023) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นแนวทางเพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติที่ยั่งยืน

บทบาทของกิจกรรมทางกาย: การผสมผสานกิจกรรมออกกำลังกายเข้ากับแนวทางปฏิบัติด้านพลังงานหมุนเวียน เป็นการส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ทั้งสุขภาพดีและยั่งยืน โดยการจัดให้มีกิจกรรมทางกายในพื้นที่ที่ติดตั้งพลังงานหมุนเวียน จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในบริเวณสำหรับมีกิจกรรมทางกาย และพื้นที่สีเขียว เป็นต้น

3. การชดเชยคาร์บอนผ่านกิจกรรมทางกาย: การชดเชยคาร์บอน หมายถึง การจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิต ในจำนวนเทียบเท่ากับคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ที่มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การดำเนินกิจกรรมที่ช่วยลดหรือดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพื่อชดเชยกับปริมาณที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ กิจกรรมชดเชยคาร์บอนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1) กิจกรรมที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูป่า และการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล 2) กิจกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, ม.ป.ป.)

บทบาทของกิจกรรมทางกาย: การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางกายเพื่อชดเชยคาร์บอนเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศแล้ว ยังส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วมอีกด้วย เช่น การเลือกเดินหรือปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์สำหรับการเดินทางระยะสั้น ซึ่งเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเป็นการออกกำลังกายไปพร้อมกัน การสนับสนุนให้มีการรับรองและติดตามผลของกิจกรรมทางกายเหล่านี้อย่างเป็นระบบจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของกระบวนการชดเชยคาร์บอน และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ การชดเชยคาร์บอนผ่านกิจกรรมทางกายถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับประเภทที่ 2 ของกิจกรรมชดเชยคาร์บอนที่กล่าวไว้ข้างต้น

4. การสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานการสัญจรที่เหมาะสมสำหรับการเดิน: การปลูกต้นไม้และการสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยตรง

บทบาทของกิจกรรมทางกาย: การจัดตั้งสวนสาธารณะ และพื้นที่สำหรับมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้งไม่เพียงแต่ส่งเสริมสมรรถภาพทางกายเท่านั้น แต่ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอีกด้วย ซึ่งมีส่วนทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นด้วยการดูดซับสารมลพิษ อีกทั้งการสนับสนุนและสร้างเส้นทางที่เหมาะกับคนเดินเท้า จะไม่เพียงแต่ส่งเสริมการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนการลดการพึ่งพารถยนต์ นำไปสู่การลดการปล่อยมลพิษ และปรับปรุงคุณภาพอากาศ โครงการในลักษณะนี้อาจวัดผลได้ในแง่ของคาร์บอนเครดิต เนื่องจากพื้นที่สีเขียวเกี่ยวข้องกับการดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมทางกาย สามารถเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการเลือกใช้พลังงานจากการเคลื่อนไหวของร่างกายแทนการพึ่งพายานพาหนะ เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานในระยะทางใกล้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเดินและการปั่นจักรยาน ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการลดการปล่อยมลพิษจากภาคขนส่ง ซึ่งเป็นภาคส่วนหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายและสังคมนั้นยังคงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างระบบการวัดผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่น่าเชื่อถือได้ รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เกี่ยวกับกลไกการสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมทางกาย การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนากรอบนโยบายที่เอื้อต่อการส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ตัวอย่างการเปรียบเทียบสัดส่วนกิจกรรมทางกายที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอน

- การเดินหนึ่งไมล์ครึ่ง หรือประมาณ 2.4 กิโลเมตร จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยลง 75% เมื่อเทียบกับการขับรถในระยะทางเดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200 - 250 กรัมต่อกิโลเมตร และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 150 - 200 กรัมต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการเดิน 1 ไมล์ครึ่ง จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการขับรถประมาณ 180 - 225 กรัม จึงอาจเทียบได้ว่าการขับรถ 2.4 กิโลเมตร จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.48 - 0.56 กิโลกรัม แต่หากเดินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงประมาณ 0.18-0.225 กิโลกรัม หรือช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 66-70% (Anna Laycock, 2018)

- การขี่จักรยานแทนรถยนต์เพียงหนึ่งครั้งต่อวันช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของบุคคลทั่วไปได้ 67% เนื่องจากการขี่จักรยานบางประเภทปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงแค่ 33 กรัมต่อไมล์ ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 53 กรัมต่อกิโลเมตร น้อยกว่าการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถึง 30 เท่า (Future, n.d.)

- ข้อมูลเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการเดินทางแต่ละประเภท

จากข้อมูล พบว่า การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากที่สุด อยู่ที่ 0.3810 รองลงมา คือ รถยนต์ส่วนบุคคล อยู่ที่ 0.09 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร/คน รถไฟฟ้า 0.047 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร/คน รถโดยสารประจำทาง 0.0300 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร/คน รถแท็กซี่ 0.0240 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร/คน รถไฟ 0.0083 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร/คน และการขี่จักรยานที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ใด ๆ โดยข้อมูลการแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จากการเดินทางต่อหน่วยระยะทางและหน่วยน้ำหนัก อาจมีการเปรียบเทียบกันได้ ดังเช่น

รถไฟ ปล่อย CO₂ 0.0083 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร/คน เมื่อเทียบกับรถยนต์ส่วนบุคคลที่ปล่อย 0.09 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร/คน หมายความว่า การใช้รถไฟแทนรถยนต์ส่วนบุคคลสามารถลดการปล่อย CO₂ ได้ 91%

[= (0.09 กิโลกรัม - 0.0083 กิโลกรัม) / 0.09 กิโลกรัม

= 0.0817 กิโลกรัม / 0.09 กิโลกรัม

= 0.91]

ทั้งนี้ หากเทียบกับการเดินหรือปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล พบว่า การเดินเป็นกิจกรรมทางกายที่ไม่ต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นจึงไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ความท้าทายในการเพิ่มแรงจูงใจ เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมทางกาย

การสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเกิดความสนใจในการสร้างคาร์บอนเครดิตจากการเดินเป็นความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาและความพยายามที่ลงทุนไป ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นพบว่า การเดินวันละหมื่นก้าวเพื่อสะสมคาร์บอนเครดิตหนึ่งตัน อาจต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี เพื่อแลกกับเงิน 107 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับความพยายามที่ต้องใช้

สาเหตุที่ทำให้แรงจูงใจลดลงมีหลายประการ ทั้งมูลค่าคาร์บอนเครดิตต่อหน่วยที่ต่ำ ระยะเวลาในการสะสมคาร์บอนเครดิตที่ยาวนาน และการรับรู้ผลตอบแทนที่ไม่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้คนขาดแรงจูงใจในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าคาร์บอนเครดิตต่อหน่วย ซึ่งราคา 107 บาทต่อตันคาร์บอนเครดิตในปี 2022 (Krungthai COMPASS, 2022) อาจดูไม่น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับเวลาที่ต้องเสียไป

เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงในหลายด้าน เริ่มจากการปรับปรุงกลไกการให้รางวัล โดยอาจเพิ่มมูลค่าคาร์บอนเครดิต การให้รางวัลอื่น ๆ นอกเหนือจากเงิน (Furrow, 2015) นอกจากนี้ การสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ก็มีความสำคัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนร่วม จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการวัดที่น่าเชื่อถือ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้ผู้คนในสังคมมั่นใจว่ากิจกรรมที่ทำนั้น มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง การดำเนินการในทุกด้านเหล่านี้จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการสร้างคาร์บอนเครดิตจากการเดินมากขึ้น หากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างสังคมที่ยั่งยืนต่อไป

การแลกเปลี่ยนการเดินวันละหมื่นก้าวเป็นเวลา 4 ปีกับเงิน 107 บาท เป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องในระบบการสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านแรงจูงใจที่ไม่เพียงพอ ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูงและเวลามีค่า การลงทุนด้านเวลาและพลังงานที่มากเช่นนี้เพื่อผลตอบแทนที่ไม่ได้เป็นเงินจำนวนที่มากนัก อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า ปัญหานี้ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคในระบบคาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะเป็นกลไกการให้รางวัลที่ไม่น่าดึงดูด มูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่ต่ำเกินไป ตลอดจนกระบวนการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่ซับซ้อน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ประชาชนทั่วไปขาดแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมทางกาย และอาจส่งผลเสียต่อความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว ดังนั้น หากต้องการให้แนวคิดและระบบนี้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงทั้งในแง่ของผลตอบแทน และความสะดวกในการเข้าร่วม

 

ข้อเสนอทางนโยบาย เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต

การบูรณาการนโยบายคาร์บอนเครดิตและนโยบายด้านสุขภาพ
นอกจากจะช่วยให้ประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว
ยังช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม

 

ข้อเสนอทางนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคาร์บอนเครดิตสามารถทำได้ผ่าน 3 ข้อเสนอหลัก ดังนี้

1. เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ค่าครองชีพสูงและเวลามีจำกัด การปรับโครงสร้างระบบคาร์บอนเครดิตให้มีความน่าสนใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยการกำหนดราคาขั้นต่ำของคาร์บอนเครดิตที่สอดคล้องกับค่าครองชีพจริง จะเป็นแรงจูงใจที่ดึงดูดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หรืออาจพัฒนาระบบรางวัลแบบขั้นบันได ที่เพิ่มผลตอบแทนตามระดับการมีส่วนร่วม เช่น ผู้ที่เดินครบ 10,000 ก้าวต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน จะได้รับสิทธิพิเศษอื่น ๆ ซึ่งการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของโครงการ

นอกจากนี้ การร่วมมือกับภาคเอกชนเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันระบบคาร์บอนเครดิตให้เติบโต เช่น การกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางกายของประชาชน เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะช่วยสร้างความต้องการในตลาด และผลักดันให้ราคาคาร์บอนเครดิตเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากประชาชนโดยตรง จะช่วยกระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลและองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ ก็สามารถเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

มากไปกว่านั้น การบูรณาการกลไกตลาดกับนโยบายภาครัฐเข้าด้วยกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เมื่อผู้กำหนดนโยบายสามารถออกแบบระบบที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความพยายามที่ลงทุนไป การบูรณาการนี้จะไม่เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

2. การลดความซับซ้อนของกระบวนการ ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้งานง่าย จะช่วยให้การซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ผู้คนจะสามารถแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่สะสมได้เป็นเงินหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ส่วนลดค่าสาธารณูปโภค หรือคะแนนสะสมสำหรับบริการสาธารณะ การสร้างแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายและน่าสนใจ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้รับมานั้น มีมาตรฐานและสามารถตรวจสอบได้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เพราะเห็นผลตอบแทนที่ได้รับอย่างเป็นรูปธรรม

3. การบูรณาการระบบคาร์บอนเครดิตกับนโยบายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน สามารถทำได้โดยผู้กำหนดนโยบายควรพัฒนาโครงการที่ให้คาร์บอนเครดิตสำหรับกิจกรรมทางกาย เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน พร้อมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามกิจกรรม และสะสมคะแนนคาร์บอนเครดิตได้ เพื่อให้การมีส่วนร่วมในระบบเป็นเรื่องสนุกและง่ายสำหรับการเข้าร่วม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เช่น การสร้างเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าที่ปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ การดำเนินการเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ชีวิตแบบแอคทีฟมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมในที่สุด

 


เอกสารอ้างอิง

Anna Laycock. (2018). Walking Drastically Cuts Your Carbon Footprint – And Helps Your Waistline. Retrieved August 6, 2023, from https://blueandgreentomorrow.com/environment/walking-drastically-cuts-carbon-footprint-helps-waistline/

Brand, C., Götschi, T., Dons, E., Gerike, R., Anaya-Boig, E., Avila-Palencia, I., de Nazelle, A., Gascon, M., Gaupp-Berghausen, M., Iacorossi, F., Kahlmeier, S., Int Panis, L., Racioppi, F., Rojas-Rueda, D., Standaert, A., Stigell, E., Sulikova, S., Wegener, S., & Nieuwenhuijsen, M. J. (2021). The climate change mitigation impacts of active travel: evidence from a longitudinal panel study in seven European cities. Global Environmental Change, 67.

Furrow, C. B. (2015). Motivating proenvironmental behavior: Examining the efficacy of financial incentives. Master's thesis, Virginia Polytechnic Institute and State University. Blacksburg, VA.

Future. (2022). How much carbon - and money - you can save by biking. Retrieved August 6, 2023, from https://www.future.green/futureblog/save-carbon-biking

Guo, S., Liu, G. & Liu, S. (2023). Driving factors of NOX emission reduction in China’s power industry: based on LMDI decomposition model. Environ Sci Pollut Res 30, 51042–51060. https://doi.org/10.1007/s11356-023-25873-1

Hirschmann, (2023). The Role of Citizens in Producing and Consuming Their Own Renewable Energy. In Renewable Energy for a Sustainable Future: Current Environmental Issue Study Resources - Part A (pp. 166-171). 2024 NCF-Envirothon, New York.

Krungthai COMPASS. (2022). ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองพลังงานหมุนเวียน: 2 กลไกสำคัญ นำธุรกิจไทยสู่ Net zero emission. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2567 จาก https://krungthai.com/Download/news/MediaFile_484carbon_credit.pdf

Prapan Leenoi. (2566). คาร์บอนเครดิต กลไกพิชิตเป้าหมายความยั่งยืน. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2567 จาก https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/carbon-credit-2023

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (2563). คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2567 จาก https://actionforclimate.deqp.go.th/downloads/2517/

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก. (ม.ป.ป.). กิจกรรมชดเชยคาร์บอน. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2567 จาก https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=WTI5dVkyVndkRjl2Wm1
aelpYUjBhVzVu

SHARE

ผู้เขียน
พนิตชญา ลิ้มศิริ


อัญญารัตน์ คณะวาปี


ภาพประกอบโดย
ณัฏฐนันท์ ศิริโกสุม


นิธิพัฒน์ ประสาทกุล